iPower GO เปิดไอเดีย...ธุรกิจอุปกรณ์มือถือมีดีไซน์

iPower GO เปิดไอเดีย...ธุรกิจอุปกรณ์มือถือมีดีไซน์

iPower GO เปิดไอเดีย...ธุรกิจอุปกรณ์มือถือมีดีไซน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความประชาสัมพันธ์นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 207 เดือนมีนาคม 2559 ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

    "iPower Go" ร้านจำหน่ายเพาเวอร์แบงค์และอุปกรณ์มือถือ เกิดขึ้นโดย กวาง - ณัฐนันท์ นาคแก้ว และแตงกวา - กุลวรางค์ เจริญศรี สองเพื่อนที่มีโอกาสรู้จักกันเมื่อตอนไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งหลังจากที่ทั้งคู่เรียนจบและกลับมาประเทศไทย ได้จุดประกายการทำธุรกิจสินค้าไอทีผ่านคนรู้จักที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านอุปกรณ์ไอทีและการซ่อมโทรศัพท์มือถือ ทำให้ทั้งสองตัดสินใจเปิดธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไอทีร่วมกันขึ้น

 จากแบตเตอรี่สู่เพาเวอร์แบงค์

    ณัฐนันท์ เล่าว่า หลังจากที่ตัดสินใจทำธุรกิจ ในช่วงแรกมีสินค้าหลักเป็นแบตเตอรี่มือถือ ซึ่งเมื่อ 7 ปีก่อนถือเป็นยุคที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือนิยมเปลี่ยนแบตเตอรี่โทรศัพท์กันมาก จนกระทั่งมีการเข้ามาของสมาร์ทโฟน ทำให้พฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจจำหน่ายแบตเตอรี่มือถือหลายรายต้องปิดตัวลงเพราะผู้บริโภคไม่นิยมซื้อแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถืออีกต่อไป

    ณัฐนันท์ เล่าว่า ขณะนั้น สินค้าที่เราจำหน่ายจะเป็นแบตเตอรี่มือถือเสียส่วนใหญ่ รองลงมาคืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างเช่น สมอลทอร์ค โดยเราทำตลาดขายส่งและวางลูกค้าเป็นกลุ่มตลาดล่าง ซึ่งจะมีทีมเซลและตัวแทนจำหน่าย ที่กระจายสินค้าไปตามร้านขายโทรศัพท์มือถือต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เมื่อสมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามา พฤติกรรมการใช้มือถือของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ หรือตู้ต่างๆ ไม่สามารถขายอุปกรณ์มือถือได้เหมือนเดิม ส่งผลให้ธุรกิจเรามียอดขายลดลง เนื่องจากผู้บริโภคไม่นิยมเปลี่ยนแบตเตอรี่มือถืออีกแล้ว เพราะมองว่าการลงทุนซื้อมือถือเครื่องใหม่คุ้มค่ากว่า ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ หันมาจับกลุ่มสินค้าเพาเวอร์แบงค์และอุปกรณ์ต่างๆ ของสมาร์ทโฟน พร้อมทั้งมุ่งเข้าสู่ตลาดออนไลน์แทน

 ขายดีไซน์สินค้า...สร้างความแตกต่าง

    ด้วยความที่ทั้งสองเป็นผู้หญิงที่เข้ามาจับธุรกิจบนตลาดไอที ทำให้มองเห็นช่องว่างของตลาดสินค้าไอทีที่ส่วนใหญ่มักเน้นดีไซน์สำหรับผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้สีดำ เทา หรือเรื่องของน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก เมื่อธุรกิจต้องเปลี่ยนตัวสินค้าใหม่ ทั้งคู่จึงตัดสินใจนำดีไซน์และสีสันสดใสเข้ามาใส่บนชิ้นงานสินค้า ไม่ว่าจะเป็น เพาเวอร์แบงค์ สายชาร์จ ตัวป้องกันสายชาร์จ ที่เก็บหูฟัง หรือแม้แต่สติ๊กเกอร์สำหรับติดอะแดปเตอร์  เพื่อสร้างความแตกต่างจากสินค้าเดิมที่มีอยู่ในตลาด ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเหล่านี้กลายเป็นแฟชั่นไอเทมที่ไม่เหมือนใคร

    "อุปกรณ์ไอที เรียกได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวันไม่แพ้โทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่ผู้บริโภคมักจะพบบ่อยคือ ปัญหาสายชาร์จขาดหรือชำรุด ทำให้เราคิดค้นตัวป้องกันสายชาร์จที่ใส่งานดีไซน์ขึ้น จนกลายเป็นสินค้าอีกชนิดที่ได้รับความนิยมนอกจากเพาเวอร์แบงค์ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันสายชาร์จไม่ให้ขาดง่ายแล้ว สินค้าเรายังมีความสวยงามน่ารัก และมีราคาที่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้ ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ครอบคลุมทุกวัยที่ใช้สมาร์ทโฟนตั้งแต่วัยเรียนจนวัยทำงาน" กุลวรางค์ กล่าว

 อุดช่องว่างปัญหา สร้างความเชื่อมั่นลูกค้า   

    ส่วนปัญหาของการทำธุรกิจนั้น ณัฐนันท์ เล่าว่า มีเข้ามาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโรงงานไม่ได้คุณภาพ ซึ่งกว่าจะพบกับโรงงานที่สามารถทำธุรกิจในระยะยาวได้ ต้องผ่านการทดสอบจากสินค้ากว่าหลายหมื่นชิ้น เพื่อให้ได้สินค้าที่ดีมีคุณภาพก่อนส่งถึงลูกค้า

    "เทรนด์ผู้บริโภคสินค้าไอทีในยุคนี้นิยมเลือกใช้สินค้าที่มีคุณภาพ อย่างสายชาร์จจะเลือกที่มีคุณภาพดีแม้ว่าจะมีราคาสูง ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ในการสั่งสินค้าจากโรงงานจีน เราจะต้องสั่งในจำนวนหลักหมื่นชิ้น ซึ่งเมื่อเราขายสินค้าไปแล้วพบว่ามีปัญหากลับมา เราทิ้งสินค้าล็อตนั้นทั้งหมด เพราะรู้ดีว่าเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า เขาต้องอยากได้ของที่ดีมีคุณภาพ ฉะนั้นของที่คุณภาพไม่ดีย่อมขายไม่ได้แน่นอน หรือหากสินค้ามีปัญหาจริงๆ จะมีการรับประกันเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ทันที นอกจากนี้ในช่วงแรกของการทำออนไลน์ จะพบปัญหาเรื่องของออเดอร์สินค้าจากลูกค้า ซึ่งเราเปลี่ยนมาใช้วิธีรีเช็กออเดอร์โดยการส่งภาพสินค้าที่จะจัดส่ง พร้อมหน้ากล่องให้ลูกค้าดูและเก็บเป็นหลักฐาน ซึ่งช่วยป้องกันการส่งสินค้าผิดพลาดและป้องกันเหตุการณ์ลูกค้าทักท้วงของขาดหรือหายอีกด้วย" กุลวรางค์ กล่าวเสริม

 เตรียมรุกตลาดด้วยดิจิทัลคอนเทนต์

    กุลวรางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงต้นปีนี้จะมีแผนที่จะเปิดตัวเว็บไซต์ iPowerGo อย่างเป็นทางการ ซึ่งนอกจากจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าแล้ว ยังต้องการให้เป็นพื้นที่รวบรวมสินค้าไอทีใหม่ๆ ที่มีดีไซน์ โดยอาจเปิดให้ร้านค้าอื่นๆ นำสินค้าเข้ามาฝากขายได้ โดยจะต้องเป็นสินค้าที่ต่างชนิดและดีไซน์ที่แตกต่างกัน เช่น เคสโทรศัพท์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะมุ่งทำการตลาด โดยใช้คอนเทนต์ดิจิทัล เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่อีกด้วย

     "เรามองว่า เทรนด์การตลาดในปีนี้ มุ่งไปที่การทำดิจิทัลคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็นคลิปวีดีโอสั้น หรือกราฟิกต่างๆ เนื่องจากผู้บริโภคในปัจจุบันนิยมค้นหาข้อมูล และมีการอ่านรีวิวเปรียบเทียบสินค้าก่อนซื้อ รวมไปถึงการขอดูรูปภาพสินค้าเพิ่มเติม จึงเชื่อว่าหากเราสามารถทำคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ส่วนนี้ได้ จะทำให้การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคง่ายขึ้น และส่งผลให้ธุรกิจสามารถสร้างยอดขายได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะออกสินค้าใหม่ในทุกๆ ไตรมาส อย่างในช่วงเดือนมีนาคมนี้จะมีการออกสายชาร์จรูปแบบใหม่ เนื่องจากสินค้าเราเป็นงานแฟชั่นด้วย ทำให้เราต้องมีการคิดและผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดเสมอ เพื่อดึงดูดใจผู้บริโภค"

 สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 207 หรือทาง http://www.digitalagemag.com





แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook