5 สิ่งเกี่ยวกับ Prompt Pay (พร้อมต์เพย์) ที่เราต้องรู้

5 สิ่งเกี่ยวกับ Prompt Pay (พร้อมต์เพย์) ที่เราต้องรู้

5 สิ่งเกี่ยวกับ Prompt Pay (พร้อมต์เพย์) ที่เราต้องรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Prompt Pay (พร้อมต์เพย์)กลายเป็นกระแสที่สังคมพูดถึง ถือเป็นผลงานภาครัฐที่กระทบกับสังคมวงกว้างจริงๆ ถึงวันนี้กระแสก็ยังมีทั้งลบและบวก ขนาดคนไอทีด้วยกันเองยังแตกออกเป็นสองส่วน ไม่ต้องนับคนจากสาขาอื่นๆ แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเรา บทความนี้ไม่อาจหาญให้คำตอบ และไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างใด เพียงเขียนตามองค์ความรู้ที่ได้รับมาตลอด 20 ของการเป็นนักข่าวสายไอที และนี่คือ 5 สิ่งที่เราต้องรู้ครับ

     1. พร้อมพ์เพย์ ไม่ใช่บัตรเอทีเอ็ม ไม่ใช่บัตรเครดิต ไม่ใช่แอพพลิเคชัน เข้าใช้พร้อมพ์เพย์ไม่มีอะไรให้ติดไม้ติดมือ เป็นเพียงการไปลงทะเบียนเพื่อเชื่อมต่อสามสิ่งนี้รวมกันคือ เลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์มือถือ และบัญชีธนาคาร

     ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ เราบันทึกเลขโทรศัพท์ของเพื่อนไว้ในโทรศัพท์อยู่แล้ว แต่เวลาจะโอนเงินเราต้องมีเลขบัญชีของเพื่อนอีก บริการใหม่ๆ ของแบงค์จึงมีการผูกสองเบอร์นี้เข้าไว้ด้วยกัน แค่รู้เบอร์เพื่อนก็โอนผ่านเน็ตกันได้แล้ว แต่ค่าโอนก็ยังมีอยู่ เราจึงรู้กันว่า 30% ของรายได้ของธนาคารก็มาจากค่าโอนนี่แหละ ยิ่งโอนผ่านเอทีเอ็มยิ่งโดนเยอะสุด

     คราวนี้ถ้าภาครัฐจะโอนเงินไปหาประชาชน ก็เลยต้องผูกเลขบัตรประชาชนเข้าไป และความตั้งใจของรัฐก็คือ เลขบัตรประชาชนนี่แหละต่อไปจะกลายเป็นเบอร์ที่ทำธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์

     2. พร้อมพ์เพย์ มันจะปลอดภัยหรือ? ก่อนอื่นคำว่าปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัว หรือ security กับ privacy ต้องแยกกันนะครับ อย่าเอามาปนกัน มันอธิบายคนละอย่าง เรื่องความปลอดภัยนี่ระบบทุกอย่างในโลกไม่มีใครการันตีปลอดภัย 100% แน่นอน ไอ้ที่แน่นอนมันก็มีวันพลาดได้ด้วยเงื่อนไขร้อยแปดพันประการ

     แต่จากการทำข่าวไอทีภาครัฐมานาน ระบบบัตรประชาชนโดยกรมการปกครองของไทยนี่ไปคว้ารางวัลระดับโลกมามากมาย ต้องถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศโลกที่ทำระบบบัตรประชาชนได้ดีที่สุด

     และล่าสุดกรมการปกครองยังทำระบบ Linkage Center ให้หน่วยงานรัฐเกือบ 160 แห่งมาดึงข้อมูลบัตรประชาชนไปใช้ และยังแจกเครื่องอ่านบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ให้แต่ละหน่วยไปใช้งาน เพื่อสองอย่างครับ คือ ต่อไปประชาชนที่ติดต่อกับภาครัฐไม่ควรจะต้องเอาสำเนาบัตรประชาชนมายืนยันอีกต่อไป ยื่นบัตรประชาชนสแกนกันเข้าไป เครื่องก็ไปดึงข้อมูลมาให้เจ้าหน้าที่ได้เห็นแล้ว ไม่เหมือนยื่นสำเนา เจ้าหน้าที่ได้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ กองเป็นขยะในตู้เอกสาร

     อันที่สองก็คือ การสร้างมาตรฐานการเขียนแอพฯ ภาครัฐที่จะให้บริการประชาชนต่อไป จะต้องสามารถดึงข้อมูลเลขบัตรประชาชน 13 หลักนี้ไปใช้ในรูปแบบเดียวกัน จะต่างหน่วยงานต่างเขียนไม่ได้ เดี๋ยวมั่ว
อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องรู้ไว้ก็คือ การเชื่อมต่อของหน่วยงานรัฐกับกรมการปกครองเพื่อดึงข้อมูลเลข 13 หลักไปใช้นั้นทำงานอยู่บนเครือข่าย GIN หรือ Government Information Network

     ซึ่งเป็นระบบปิด ส่วนระบบของโอเปอเรเตอร์มือถือก็เป็นระบบปิด และระบบธนาคารก็คือระบบปิด ระบบของกรมการปกครอง คนของมหาดไทยก็ดูได้เฉพาะในส่วนของที่ตนเองดูแล เช่นเดียวกับค่ายมือถือก็ดูได้แค่โทรเข้ากี่นาที โทรออกกี่นาที โทรไปค่ายไหน ใช้เน็ตไปเท่าไหร่ ส่วนแบงค์ก็ดูได้ว่าเงินเหลือเท่าไหร่ มีการโอนเข้า โอนออกเท่าไหร่อย่างไร เมื่อไหร่ ไม่สามารถดูได้ว่าเราไปโอนให้ใครไปซื้ออะไรมา

     ที่สำคัญคือ หมายเลขบัตรประชาชนเรามอบให้ทุกธนาคารที่เราไปเปิดบัญชีอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับการเปิดใช้บริการโทรศัพท์มือถือ เลขบัตรของเราไปอยู่ในทุกที่ที่เราติดต่อด้วยอยู่แล้ว หลายคนยังส่งไปดูดวงเลยด้วยซ้ำ มีบางคนเอาขึ้นประกาศใน social network ก็ถมไป ในส่วนตัวผม ผมให้ความมั่นใจระบบรักษาความปลอดภัยของระบบนี้ 80% ครับ

     3. พร้อมพ์เพย์ มันจะทำให้ละเมิดความเป็นส่วนตัว จนต้องเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กระนั้นหรือ? สิ่งที่หลายคนกลัวก็คือต่อไปภาครัฐจะรู้หมดว่าเราทำอะไรที่ไหนอย่างไร แล้วความเป็นส่วนตัวเราจะหายไป แค่ทำบัตรเอทีเอ็มซื้อประกันกับแบงค์ก็มีนายหน้าสารพัดสารเพโทรมารบกวนขายประกัน ขายโน่นขายนี่ไม่รู้อะไรต่อมิอะไรตั้งมากมาย ข้อมูลจากโอเปอร์มือถือก็มีพวกขายเกม ขายของออนไลน์ มารบกวนเราจนน่าเบื่ออยู่แล้ว ส่วนตัวผมไม่ค่อยเจอพวกนี้นะครับ ถ้าเราไม่ทำตัวไปสนใจมัน จนมันจับพฤติกรรมเราได้ว่าเราชอบ

     จากที่ผมไปดูงานต่างประเทศ ด้านหน่วยงานรัฐมามากมาย หลายประเทศเข้าไปวุ่นวายกับข้อมูลของประชาชนมากกว่ารัฐบาลไทยอย่างมาก แต่จุดประสงค์ก็คือเขาพยายามเอาระบบดิจิตอลไปช่วยในการให้บริการประชาชนได้ง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ผลสุดท้ายการเข้าใช้บริการต่างๆ ก็ต้องยืนยันตัวตน และบัตรประชาชนก็เป็นหลักฐานการยืนยันขั้นต้น ต่อจากนั้นจะมีพิน หรือระบบตรวจสอบอื่นๆ ก็แล้วแต่

     แต่ที่ผมเห็นก็คือ รัฐบาลของแต่ละประเทศนั้นกลัวเรื่องข้อกล่าวหานี้เหลือเกิน เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ระบบบริการภาครัฐที่จะเข้าถึงประชาชนจะต้องค่อยๆ ทำ และต้องไม่ทำกระโตกกระตาก ไม่งั้นโดนกล่าวหาแล้วจะต้องเสียเวลามาแก้ ซึ่งอาจทำให้บริการเหล่านั้นล่าช้าออกไป ผมว่าเคสนี้ก็เป็นอีกเคสตัวอย่างของรัฐบาลไทยอีกแบบหนึ่งที่จะสร้างบริการใหม่ๆ ต้องฝ่าไปให้ได้ และผมเชื่อว่าฝ่าไปได้ ดูอย่างเสียภาษีออนไลน์ เสียภาษีผ่านมือถือ เรายังผ่านฉลุยมาแล้วจะกลัวอะไร

     สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ ยิ่งเราใช้เทคโนโลยีมาก ความเป็นตัวตนเราจะยิ่งเสียไปมากขึ้น เราใช้บริการกูเกิลแมป เท่ากับเราก็บอกว่าเราอยู่ที่ไหนให้เขารู้, เราใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ก็บอกคนอื่นว่าเพื่อนเราเป็นใคร เรามีสังคมแบบไหน เรากำลังคิดอะไรอยู่ บางรายถึงกับเช็คอินตำแหน่งตัวเองซะด้วยซ้ำ

     บทสรุปตรงนี้ผมบอกเลยว่า ถ้าเราอยู่ในสังคมยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก ความเป็นส่วนตัวเราจะหายลงไปเรื่อยๆ เพียงแค่ให้แยกแยะระหว่างความเป็นส่วนตัวกับศักดิ์ศรีมันคนละเรื่องก็เท่านั้น ในส่วนนี้คะแนนความเป็นส่วนตัวผมให้เหลือแค่ 50% ครับ

     4. พร้อมพ์เพย์ไม่ต้องบังคับใช้ได้หรือไม่ ใครพร้อมก็ใช้ใครไม่พร้อมก็ไม่ต้องใช้หรือเปล่า? จะว่าไปที่บอกว่างานนี้แล้วแต่ความสมัครใจมันไม่จริงเท่าใด สถานการณ์ตอนนี้คือกึ่งบังคับ นั่นคือพวกราชการถูกบังคับให้ใช้ทั้งหมด เพราะเงินเดือนที่จะจ่ายก็จะจ่ายผ่านทางระบบนี้แล้ว อันนี้ผมเห็นใจครับเพราะระบบรัฐนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายให้แบงค์ฟรีๆ มาเยอะแล้ว ระบบนี้เป็นการตัดค่าใช้จ่ายภาครัฐลงดังนั้นรัฐคงบังคับให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดเข้าระบบเป็นเรื่องธรรมดา

     ส่วนชาวบ้านอย่างเรานี่กึ่งบังคับเลยครับ เพราะหากจะเอาเงินภาครัฐ ไม่ว่าจะคืนภาษีโน่นนี่ ก็ต้องจ่ายผ่านระบบนี้ ใครไม่สมัครใจจะใช้ก็ต้องลำบากในชีวิตมากขึ้น ผมก็แนะนำว่าไปทำไว้เถอะครับ แค่รับโอนอย่างเดียวก็คุ้มแล้ว แต่ผมบอกเลยนะครับ คุณจะมีบริการใหม่ๆ ที่จะมาเชื่อมกับพร้อมพ์เพย์มากขึ้นๆ จนคุณไม่สามารถปฏิเสธมันได้แน่นอน

     สำหรับประเด็นที่ว่า คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีบัญชีธนาคารจะทำอย่างไร? ครับประเด็นนี้ก็เหมือนกับที่เคยมีคนกล่าวว่า ประเทศไทยถนนลูกรังยังเป็นคอนกรีตไม่หมดอย่าคิดมาทำรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง การที่คนไม่มีบัญชีธนาคารไม่ใช่เหตุผลที่บ้านเราไม่ควรมีระบบเอทีเอ็ม หรือไม่มีระบบพร้อมพ์เพย์นะครับ ดังนั้นใครไม่มีก็ต้องพยายามให้มีนะครับ เปิดบัญชีธนาคารไม่ได้ยากเย็นแล้ว

     สรุปประเด็นนี้ การกึ่งบังคับผมเห็นว่าเป็นความจำเป็นครับ เอาไป 70%

     5. อนาคตพร้อมพ์เพย์กับอนาคตของการเงินอิเล็กทรอนิกส์ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร? บอกตรงๆ นี่ถือว่าเป็นระบบเงินแบบใหม่ ที่มีไม่กี่ประเทศในโลกเลือกใช้ เพราะระบบนี้จะเกิดขึ้นได้ระบบเลขบัตรประจำตัวของประเทศนั้นต้องเข้มแข็งเสียก่อน และเชื่อได้ว่าจะเกิดระบบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเงินเข้ามาผูกเข้ากับระบบนี้จะมีมากขึ้น

     สิ่งที่วิเคราะห์กันในวงในก็คือ ระบบเพย์เม้นท์เกตเวย์ของภาคเอกชนจะกระทบในระยะยาว ค่าธรรมเนียมที่แบงค์เคยได้จะหดหายลง แต่จะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นเข้ามาแทนที่ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ระบบการเงินภาครัฐจะเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน คนที่ทำบัญชีจะน้อยลง ระบบการเก็บเงินระบบบัญชีจะเป็นอัตโนมัติมากกว่าอัตโนมือเหมือนปัจจุบัน

     ประเด็นนี้ผมยังไม่มีข้อสรุป มีแต่ข้อวิเคราะห์ และดูแนวโน้ม สิ่งที่จะเกิดขึ้นขึ้นกับความใจกล้าของทั้งภาครัฐและประชาชนไทยว่าจะ Disrupt ตัวเองเพื่อก้าวไปอีกขั้นได้มากน้อยแค่ไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook