ภัยเงียบของแบตเตอรี่เถื่อน เรื่องที่คุณไม่เคยรู้

ภัยเงียบของแบตเตอรี่เถื่อน เรื่องที่คุณไม่เคยรู้

ภัยเงียบของแบตเตอรี่เถื่อน  เรื่องที่คุณไม่เคยรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือกลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญอุปกรณ์หนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยสถิติการใช้งานโทรศัพท์มือถือล่าสุด ระบุว่าปี พ.ศ.2559 คนไทยมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมากถึง 83 ล้านคน โดยใช้สำหรับติดต่อสื่อสาร, ทำธุรกรรมทางการเงิน, เพื่อความบันเทิงและผ่อนคลาย รวมถึงการซื้อขาย-แลกเปลี่ยน เป็นต้น จนอาจกล่าวได้ว่าเมื่อโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ย่อมส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างแน่นอน

      ปัญหาที่พบมากในการใช้โทรศัพท์มือถือ คือ แบตเตอรี่เสื่อม ซึ่งมีหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การใช้งานโทรศัพท์มือถือขณะชาร์จไฟแบตเตอรี่, การใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน และการใช้งานแบตเตอรี่ปลอม เป็นต้น ซึ่งการใช้งานที่ผิดวิธีอาจนำมาซึ่งอันตรายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของเราได้

      เนคเทคจึงได้นำข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอันตรายและวิธีการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐานมานำเสนอ เพื่อเป็นแนวทางในการร่วมกันป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานแบตเตอรี่เถื่อน

      แบตเตอรี่เป็นแหล่งเก็บพลังงานของโทรศัพท์มือถือ ประกอบด้วยหลากหลายชิ้นส่วน ทั้งวงจรทางอิเล็กทรอนิกส์ และสารเคมีหลากหลายชนิด แบตเตอรี่เถื่อน คือ แบตเตอรี่ที่ไม่ผ่านการรับรองคุณภาพ ไม่มีกลไกป้องกันแผงวงจรซึ่งเป็นมาตรฐานโดยทั่วไป อาจมีการใช้สารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและนำมาจัดจำหน่ายในราคาถูกกว่าปกติ การนำมาใช้งานจึงเสี่ยงต่อการลัดวงจร ไฟไหม้ และระเบิดได้

      นอกจากนี้แบตเตอรี่เถื่อนยังเสี่ยงต่อการรั่วซึมของสารเคมีที่บรรจุอยู่ภายใน เนื่องจากในแบตเตอรี่มีสารเคมีมากมายเป็นส่วนประกอบหลากหลายชนิด โดยพิษของสารเคมีในแบตเตอรี่ที่มีต่อร่างกายของเรามีดังนี้

      1. แคดเมียม ซึ่งหากสะสมในร่างกายในปริมาณถึงระดับหนึ่งก็จะก่อให้เกิดโรคไตวายได้ และเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งโดยการสูดดม

      2. ตะกั่ว เป็นสารก่อมะเร็ง และมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบย่อยอาหาร ไต โลหิต หัวใจ การพัฒนาของทารกในครรภ์

      3. ลิเทียม ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูก ลำคอ ทำให้หายใจติดขัด ถ้ากลืนกินเข้าไปจะมีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เกิดอาการ เจ็บคอ ปวดท้อง และอาเจียนได้ ถ้าเข้าตาจะทำให้เกิดการระคายเคืองและอาจทำให้ตาบอด

      4. ทองแดง ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ และเป็นอันตรายหากกลืนกิน

      5. นิกเกิล เป็นสารก่อมะเร็ง เมื่อหายใจเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการหอบหืด หลอดลมอักเสบ หายใจติดขัดและทำให้ผิวหนัง อักเสบ และถ้ากลืนหรือกินเข้าไปอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

เมื่อทราบถึงโทษจากใช้งานแบตเตอรี่เถื่อนแล้ว เราจึงควรที่จะเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่ได้มาตรฐาน เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน และเพื่อสุภาพที่ดีของตัวผู้ใช้ ดู วิธีการเลือกซื้อแบตเตอรี่ที่ปลอดภัย

“เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมายรับรองคุณภาพ เพิ่มความอุ่นใจ… ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน”

ด้วยความห่วงใย จาก งานรับรองคุณภาพบริภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์

ภาพและบทความ โดย สุรสิทธิ์ เหลาภา, กรรวี แก้วมูล

ขอบคุณที่มา: www.nectec.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook