Smart Tech, Smart Country ประเทศไทย 4.0

Smart Tech, Smart Country ประเทศไทย 4.0

Smart Tech, Smart Country ประเทศไทย 4.0
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้เขียน : บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์

เมื่อถึงคราวที่ประเทศเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง แผนนโยบายการขับเคลื่อนด้านอุตสาหกรรมก็มีแนวทางพัฒนาปรับเปลี่ยนไปตามวิถีของเวลา ยิ่งแนวโน้มของเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เริ่มมีความฉลาด และข้อมูลของผู้บริโภคที่เป็นดั่งขุมทรัพย์มหาศาลได้เคลื่อนตัวไปอยู่บนโลกดิจิทัล ทำให้เราสามารถคาดการณ์ได้ทันทีว่า ในอนาคตต่อจากนี้ไป คำว่า ดิจิทัล (Digital) และเทคโนโลยี (Tech) จะมีกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจของทุกประเทศต่อจากนี้ไป ประเทศไทยก็คงหนีไม่พ้น

ประเทศไทย 4.0 หรือ Thailand 4.0 คือแนวคิดที่ต่อยอดจากแผนนโยบายเดิมที่ประเทศไทยเคยผลักดันในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมหนัก ที่ล้วนแล้วแต่ลงแรงแข็งขันมาตลอด จนกระทั่งแผนนโยบายในเรื่อง Digital Economy ก็ได้เข้ามาเป็นแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนการผลิตที่ยังคงเป็นรูปแบบการผลิตแบบเดิม แต่สร้างมูลค่าให้สูงขึ้น นั่นคือ การใส่ความสร้างสรรค์ โดยมีกลไกเทคโนโลยีเป็นพลังขับเคลื่อน ให้เป็นไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ "Value-Based Economy" เปลี่ยนสินค้าและอุตสาหกรรมให้ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี โดยมีจุดขายที่ความสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

Domain ขอบเขตอุตสาหกรรมของประเทศไทย 4.0ที่ต้องผลักดันและเห็นคุณค่า อุตสาหกรรมหลักของ Thailand 4.0 หรือ Economy 4.0 นั้นยังคงอยู่ในขอบเขตเดิมคือ การผลักดันส่วนต่อไปนี้

• Agriculture ภาคการเกษตรเพราะเป็นกลุ่มขับเคลื่อนพื้นฐานของประเทศไทยมาโดยตลอด

• Health and Beauty ธุรกิจด้านความสวยความงาม สุขภาพสปา เป็นต้น

• Auto and Machine Industry ธุรกิจการผลิตยานยนต์ภาคอุตสากรรมหนัก การขนส่ง Logistics

• Digital Content ธุรกิจที่ถูกยุบรวมและมีบทบาทในช่วงปีหลังมานี้ เป็นพลังขับเคลื่อนกลุ่มที่เรียกว่า Startup ที่มีความชัดเจนในเรื่องของนวัตกรรม และการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีคือ ธุรกิจบันเทิงภาพยนตร์ ข่าวสาร รายการ การศึกษา (EdTech) และกลุ่มพัฒนารูปแบบธุรกิจ FinTech เช่น ประกัน การเงิน เป็นต้น

Smart Farm, Smart Food

Agriculture หรือการเกษตร ต้องเพิ่มการทำ Smart Farm เป็นส่วนแรกที่เป็นพื้นฐานของประเทศ และเป็นแผนนโยบายการพัฒนามาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในยุคนี้การเกษตร หรืออุตสาหกรรมการเกษตรนั้น กลับเป็นส่วนที่ต้องพึ่งพาข้อมูลจาก Big Data มากขึ้น เพราะต้องใช้ข้อมูลในแง่ของการวิเคราะห์ตลาด ความต้องการสำหรับวางแผนการผลิต โดยข้อมูล Big Data ที่อยู่มากมายบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น จะมีส่วนที่ตอบโจทย์ในเรื่องของความต้องการของผู้บริโภคตั้งแต่มุมกว้าง และสามารถปรับปรุงให้เป็น Smart Data ที่เจาะจงในตัวผู้บริโภครายบุคคลให้เตรียมพร้อม สำหรับการทำ Smart Farm & Functional Food และ Smart Food ที่มีผลต่อโภชนาการ โดยการเพิ่ม Data Driven ผ่านกิจกรรมทางการตลาดบนผลิตภัณฑ์สำรวจความพึงพอใจให้กลายเป็นข้อมูลเชิงวิเคราะห์

กรณีศึกษามากมายในส่วนของ Food's Security ที่ประเทศสิงค์โปร์1 และเนปาล เคยโดดเด่นในการทำวิจัยส่วนนี้ และเพิ่มการต่อยอดที่การขายผ่านดิจิทัลแคมเปญของ ConAgra Food เป็นต้น การเริ่มต้นของการทำ Smart Farm และ Smart Food นั้น ประเทศไทยมีรากฐานการเกษตรที่ดีอยู่แล้ว อาจจะเพิ่มที่ตัวบุคลากร หรือหน่วยงานที่ต้องปรับตัวเป็น Smart Farmer ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการที่อยู่ในระบบอินเทอร์เน็ต และติดต่อสื่อสารผ่านระบบไอทีได้ เบื้องต้นคือ การทำระบบสารสนเทศที่เป็นรูปแบบของ KM (Knowledge Management) และ Communication Center ให้กับเกษตรกรให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี และตระหนักในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการเกษตรให้ได้ ส่วนนี้เป็นสิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องมีการบูรณาการของการใช้ไอทีและเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็นสาขาหนึ่ง ควบคู่ไปกับการเกษตรขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรการเรียน

ธุรกิจทางด้านสุขภาพ ความงาม หรือการเป็น Health Tech ลงไป ไอเดียเรื่องของ Telemedicine การรักษาโรคแบบทางไกล คือ การนำเทคโนโลยีด้านไอทีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบสื่อการสอนลงแอพพลิเคชั่น หรือ Smart TV แล้วใช้รูปแบบธุรกิจ Subscription Model มีลักษณะเก็บเงินรายเดือนใช้บริการได้ไม่จำกัด และเกิดการจ่ายจริงเมื่อมีเคสที่สำคัญ เช่น เมื่อต้องการคำแนะนำจากแพทย์ประจำโดยไม่ต้องเดินทาง เป็นต้น กรณีศึกษาอย่างแอพพลิเคชั่น Doctor On Demand สามารถตอบโจทย์ใน Health Tech ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยราคา Subscription Model อยู่ที่ 40 เหรียญดอลลาห์สหรัฐ แต่ก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้เพราะความต้องการตลาด และปัจจัยของผู้บริโภคยินดีที่จะจ่าย ไม่แน่การใช้แนวคิด Machine Learning อย่างเจ้า Chat BOT มาโต้ตอบและประมวลผลปัญหาของผู้ป่วยเบื้องต้นก็อาจจะกลายเป็นธุรกิจหนึ่งที่สามารถทำเงินมากมายและลดค่าที่ปรึกษาให้กับแวดวงนี้อีกด้วย

กลุ่มของ Auto Tech ยานยนต์ หรือวิศวกรรมนั้น อยู่ใน Domain ที่ไปได้ไกล ตั้งแต่การทำ Smart Industry โดยการใช้หุ่นยนต์ Robotics มาขับเคลื่อนการผลิตแทนคน Smart Logistics การขนส่งอัจฉริยะ ผ่าน Smart Devices จำพวก Internet of Things ที่อุปกรณ์สามารถพูดคุยกัน ที่สำคัญภาคการศึกษาสามารถเริ่มต้นขับเคลื่อนได้ทันที เช่น Smart Home และ Smart Car ที่มีชุดพัฒนาและตัวจำลองที่ใกล้เคียงของจริงอย่าง Android Car ของระบบปฏิบัติการ Android และ Nest API2 ที่เป็นอุปกรณ์แจ้งเตือนได้ตั้งแต่อุณหภูมิบ้าน เวลาเข้าออก เปิด-ปิด จับสัญญาณควัน โดยสามารถศึกษาได้ด้วยตัวเอง และสถาบันการศึกษาก็มีเวทีให้ทดสอบความสามารถมากมายในการลงมือปฏิบัติจริง

อย่างที่กล่าวว่า Google Nest API เป็นอุปกรณ์ที่สามารถตอบโจทย์เรื่องของการทำ Smart Home หรือ Smart Office ได้ เพราะอุปกรณ์ก็เป็นสิ่งที่สถาบัน หรือองค์กรสามารถหยิบมาใช้ได้ และนักศึกษาหรือผู้ที่สนใจสามารถศึกษาได้เองผ่าน เว็บไซต์ https://codelabs.developers.google.com/codelabs/nest-cloud-nodejs/index.html#0 เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีส่วนของ Internet of Things หรือ IoT มากมายที่เริ่มกระจายตัวเข้ามาในประเทศไทยและมีกลุ่มนักพัฒนา และองค์กรสนับสนุนต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น กระจายตัวไปตามสถาบันการศึกษาและหน่วยงานพัฒนาบุคลากรเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ปีที่ผ่านแล้วเกือบเท่าตัว

กลุ่มของดิจิทัลคอนเท็นต์ นั้นยังคงอยู่ในเรื่องของความบันเทิง เช่น ภาพยนตร์, E-book, เกม และสื่อการเรียนรู้ EdTech เพียงแค่ต้องบูรณาการทั้งหมดแล้วรวมกันให้เกิดการพัฒนาความคิดและการแก้ปัญหา โดยเฉพาะในแวดวง EdTech การศึกษาสมัยใหม่นั้น เริ่มใช้แนวคิด Extreme Gears พวกอุปกรณ์ดิจิทัลอย่าง นาฬิกาอัจฉริยะ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต เป็นเครื่องมือหนึ่งให้นักเรียนนักศึกษาใช้เป็นช่องทางการศึกษา และรูปแบบสื่อการเรียนรู้ใหม่ๆ ก็ถูกจับลงในลักษณะของคอนเทนต์ที่ย่อยง่าย เช่น ภาพยนตร์, Infographic และเกม แน่นอนว่า Data Driven เป็นสิ่งสำคัญ3 เช่นเดิม ถึงขั้นที่นิตยสาร EdTech Magazine ระบุให้ผู้เรียนมีการใช้ Gadget ทั้งหมดเป็นการติดต่อระหว่างผู้สอน เพื่อนฝูง ข้อมูลทางการศึกษา และรายงานการจัดการผลการเรียนแจ้งเตือน เชื่อมโยงทุกสิ่งเป็น การตรวจสอบ Modern Campus ทีเดียว

นอกเหนือจากการศึกษาแล้ว E-Services และ FinTech ก็เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเป็นจุดเปลี่ยนขยายธุรกิจที่เรียกว่า Startups ไอเดียที่พบเจอในตอนนี้ของ E-Services คือ การใช้ Machine Learning หรือ Ai ปัญญาประดิษฐ์ ก็คือเจ้า Chat BOT อีกนั่นแหละในการเก็บข้อมูลวิเคราะห์ปัญหา แล้วตอบปัญหาผู้บริโภคได้ทันทีจากองค์ความรู้ที่สะสม เป็นต้น รูปแบบที่น่าสนใจในการทำ FinTech นั้นคือส่วนของ Demand ที่ผู้บริโภคต้องการ คือการเข้าถึงพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่เน้นเทคโนโลยี แอพพลิ-เคชั่น และอุปกรณ์ ที่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของเงินให้สามารถจับจ่ายใช้สอยได้บนมือเพียงข้างเดียวและไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญ Fin Tech เองก็ได้รับการสนับสนุนมากมายจากธนาคารชั้นนำในประเทศไทยที่เน้นเงินทุนให้กับ Tech Startup ที่สนใจเข้ามาสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกของการจับจ่ายใช้สอยให้ง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยอยู่นั่นเอง

Smart People

เมื่อสถาบันการศึกษาถูกยกให้เป็นด่านหน้าของการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศไทย 4.04 ซึ่งตัวผมเองก็อยู่ในฐานะของคนที่คลุกคลีในแวดวงธุรกิจและแวดวงการศึกษา ก็คงจะหนีหนีไม่พ้นจากการพัฒนาคน ทั้งคนภายในองค์กรและกลุ่มของนักเรียนนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ ยิ่งใครที่อยู่ในสถานะเดียวกันกับผม ย่อมจะเข้าใจดีว่า การเป็นด่านหน้าของวงการอุตสาหกรรมในประเทศไทย การเตรียมความพร้อมของบุคลากรออกสู่ตลาดงาน กลายเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น จากที่เคยหยิบยกในเรื่องของตลาดการศึกษา ทั้งระดับพื้นฐาน และระดับอุดมศึกษา ที่ต้องปรับรูปแบบการสอนให้กลายเป็น Student Center ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดของผู้เรียนในศตวรรตที่ 21 ระบบการศึกษาจึงการเป็นกลไกสำคัญที่ต้องเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ทัศนคติของตัวผู้สอน หลักสูตรและเนื้อหา และที่สำคัญคือ ด้านการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่เป็นการลงมือทำมากกว่าการสอบวัดผลในกระดาษคำตอบ แล้วไปจัดการในเรื่องของการเข้าในสารสนเทศ และวิเคราะห์ประเมินปัญหา (Critical Thinking & Problem Solving) ประเมินสถานการณ์ และแนวทางการรับมือเมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาในการทำงาน ให้แก่ผู้เรียนให้ดีขึ้นมากกว่าความรู้ในตำราที่ปรากฏในเนื้อหาหลักสูตร

จะว่าไปแล้ว นี่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่เริ่มมาได้สักระยะแล้วในประเทศไทย ที่เหลือก็คือ ศึกษาและเรียนรู้ให้มากกว่าเดิม ที่สำคัญต้องตัดสินใจลงมือทำ จะว่าไปแล้ว Thailand 4.0 ก็คือเส้นทางไปสู่ความเป็น Smart Country นี่เอง

อ้างอิง

A Case study of Singapore's Smart Governance of Food
Nest API, Home Automation, Internet of Things, http://www.programmableweb.com/api/nest
The Modern Campus Technology Checklist, EdTech Magazine, http://www.edtechmagazine.com/higher/article/2016/07/modern-campus-technology-checklist
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 212
หรือทาง http://www.digitalagemag.com/

ข้อมูลผู้เขียน

บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ ปริญญาโทสาขาไอที สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, ปัจจุบันควบตำแหน่งเจ้าของบริษัท เดย์เดฟ จำกัด รับออกแบบ และพัฒนา แอพพลิเคชันและเกมบนสมาร์ทโฟน และ ตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต

บทความประชาสัมพันธ์นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 212 เดือนสิงหาคม 2559

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook