Netflix เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการในภาษาไทย

Netflix เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการในภาษาไทย

Netflix เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ พร้อมให้บริการในภาษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Netflix ผู้นำบริการเครือข่ายทีวีทางอินเทอร์เน็ตระดับโลก เปิดตัวบริการในภาคภาษาไทยอย่างเป็นทางการ ด้วยอินเทอร์เฟซและหน้าปกเนื้อหาเป็นภาษาไทย พร้อมซับไตเติ้ลไทยและมีพากย์ไทยในบางเนื้อหา พร้อมบุกตลาดไทยเต็มตัว

 

Netflix ก่อตั้งในปี 2540 ในฐานะเว็บเช่า DVD ภาพยนตร์ออนไลน์ ก่อนเริ่มพลิกธุรกิจมาให้บริการออนไลน์สตรีมมิ่งในปี 2550 ซึ่งปัจจุบันเติบโตจนมีสมาชิกกว่า 100 ล้านคนใน 190 ประเทศในปัจจุบัน จุดเด่นของ Netflix คือการลงทุนเพื่อสร้างเนื้อหาของตัวเองเพื่อฉายเฉพาะบน Netflix ซึ่งที่ผ่านมาลงทุนสร้างเนื้อหาไปกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีเนื้อหาชื่อดังมากมายอย่าง House of Cards, Stranger Things และ Orange in the New Black รวมๆ แล้วมีเนื้อหาที่สร้างเองมากกว่า 400 เรื่อง ยาวรวมกันมากกว่า 1,000 ชั่วโมง

กดเพื่อดูรีวิวซีรี่ส์เด่นใน Netflix โดยแบไต๋ไลฟ์สไตล์ มาเผือกเรื่องในวัง (บัคกิ้งแฮม) กับ The Crown (2016) มงกุฏเฉือนคม ชวนเปิบพิสดาร กับครอบครัว แฮมมอนด์ใน Santa Clarita Diet (2017-) นายหน้าเขมิบคน ผจญสารพัดความโชคร้ายของพี่น้องโบเดอแลร์ใน A Series of Unfortunate Events (2017-) อยากให้เรื่องนี้ไม่มีโชคร้าย Sense 8 (2015-) 8 จิตสัมผัส ซีรีส์ปรัชญาไซไฟ จากผู้กำกับ เดอะเมทริกซ์ ปราบอธรรมกับทนายบอดมหากาฬใน Daredevil (2015-) แดร์เดวิล มนุษย์อหังการ เผยฮีโร่สะเทือนบู๊ลิ้มคนสุดท้ายของ เดอะดีเฟนเดอร์ Iron Fist (2017-) กำปั้นเหล็กตันมหาประลัย ก่อนฮิพฮอพจะรันวงการใน The Get Down (2016-) แร็พท้าโลก เจาะคดีเด็ดฮีโร่ใน Jessica Jones(2015-) นักสืบสาวแสบ..พลังสลาตัน ฝ่าอิทธิพลมืดกับ LUKE CAGE (2016) คนจริง..คงกระพัน แฉความลับทีละม้วนใน 13 Reasons Why (2017) 13 บันทึกลับหัวใจสลาย

นอกจากเนื้อหาที่สร้างเองแล้ว ยังมีเนื้อหาจากผู้ผลิตอื่นๆ ทั้งซีรี่ส์เกาหลี (อาจยังมีไม่มากนัก) ซีรี่ส์ต่างประเทศอื่นๆ รวมถึงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดให้เลือกชมด้วย ซึ่งยังไม่ใช่ภาพยนตร์ที่ใหม่มากชนิดออกพร้อมแผ่น

นอกจากเด่นเรื่องเนื้อหา เทคโนโลยียังล้ำ

Netflix นั้นลงทุนกับเรื่องเทคโนโลยีเยอะมาก เพราะเป็นบริการสเกลใหญ่ ตอบสนองผู้ใช้ทั่วโลก เซิร์ฟเวอร์จึงแยกออกเป็น 2 ระบบหลักๆ คือระบบ Logic หรือประมวลผลเนื้อหา มี algorithm จัดเรียงลำดับตามเรื่องที่ผู้ใช้น่าจะสนใจ รวมถึงจัดการระบบสมาชิกต่างๆ ซึ่งส่วนนี้จะทำงานอยู่บนบริการ Amazon Web Service และอีกส่วนคือเนื้อหาของภาพยนตร์และซีรี่ส์ทั้งหมด จะเก็บในอยู่ CDN หรือ Content Delivery Network ทั่วโลก เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเปิดวิดีโอได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง Netflix จะเลือก bitrate ที่เหมาะสมกับอุปกรณ์และความเร็วเครือข่ายให้อัตโนมัติ

 

นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถดู Netflix ได้จากหลากหลายอุปกรณ์มากกว่า 1000 รุ่น (น่าจะเป็นบริการที่มีอุปกรณ์รองรับมากที่สุดในโลกแล้ว) ตั้งแต่อุปกรณ์ iOS, Android, Windows 10 ที่สามารถดูและดาวน์โหลดเนื้อหามาดูภายหลังได้ สมาร์ททีวีที่ติดตั้งแอป Netflix และยังมีสมาร์ททีวีในกลุ่ม Netflix Recommended TV ที่ออกแบบมารองรับบริการนี้เลย (ในไทยมีของ Sony, Samsung และ LG) นอกจากนี้ยังสามารถดูผ่านเครื่อง PlayStation 4, Nintendo 3DS และอุปกรณ์อย่าง Apple TV หรือ Chromecast ก็ดู Netflix ได้หมดครับ เป็นการลงทุนพัฒนาแอปแบบปูพรมมากๆ เพื่อให้ผู้ใช้ดูง่ายที่สุด

สก๊อตต์ มิเรอร์ รองประธานฝ่าย Device Partner Ecosystem

ไฮไลท์เด็ดคือคุณภาพภาพครับ เนื้อหาใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ Netflix สร้างเอง สามารถเลือกคุณภาพได้สูงสุดคือ 4K HDR เพื่อใช้ประสิทธิภาพทีวีราคาแพงของคุณให้เต็มที่ที่สุด ให้ภาพรายละเอียดสูงสุดและสามารถแสดงสีสันได้มาก แต่แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตที่ใช้ก็ต้องเร็วพอนะครับ ซึ่งความละเอียดสูงสุดนี้ต้องการความเร็วเน็ตอย่างน้อย 25 Mb/s

รายได้หลักมาจากค่าสมาชิกอย่างเดียว ไม่มีการโฆษณาหรือขายข้อมูล

ปัจจุบัน Netflix ให้บริการ 3 แพ็กเกจหลัก ซึ่งแตกต่างกันในแง่คุณภาพของภาพ แพ็กเกจแพงสุดก็มีความละเอียด 4K ให้เลือก และจำนวนอุปกรณ์ที่สามารถชมพร้อมกันได้ครับ ซึ่งถามว่าค่าบริการนี้แพงไหม ก็ถือว่าแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งในตลาดไทยอย่าง iflix ที่คิดเดือนละ 100 บาท หรือ Hollywood TV ที่คิดเดือนละ 199 บาท แต่จุดนี้ก็แล้วแต่คนชอบเลยครับ เพราะสุดท้ายก็วัดกันที่เนื้อหาว่าบริการไหนจะมีหนังหรือซีรี่ส์ที่เราอยากดูมากกว่ากัน

แต่แน่นอนว่าเมื่อเราเสียเงินชมเนื้อหาแล้ว เนื้อหาทั้งหมดของ Netflix จึงไม่มีโฆษณามาคั่นอีก และผู้บริหารยืนยันว่าไม่มีการขายข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้แน่นอน

ตลาดเมืองไทยนั้นน่าสนใจ เพราะผู้ชมดูจากทีวีมากกว่าสมาร์ทโฟน

เดวิท เบิร์ท รองประธานฝ่ายวางแผนและวิเคราะห์คอนเทนต์

Netflix เผยว่าหลังจากเริ่มให้บริการในไทยตั้งแต่ปี 2559 พบว่าผู้ชม 40% จะดูผ่านทีวี ซึ่งสอดคล้องกับผู้ใช้ Netflix ทั่วโลกที่ดูเนื้อหาผ่านทีวีเป็นหลักเช่นกัน (ราว 65% ของผู้ใช้ทั้งหมด) และมีผู้ใช้ในไทยเพียง 15% ที่ดูผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งคนไทยจะดูผ่านอุปกรณ์ 3-5 ตัว แล้วแต่ว่าอยู่ในช่วงเวลาไหน

ซึ่งข้อมูลของ Netflix นี้ขัดกับข้อมูลของ iflix ที่ผู้ใช้ในไทย 69% ดูเนื้อหาผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งมีเพียง 3% เท่านั้นที่ดูผ่านจอโทรทัศน์ ก็แสดงให้เห็นความจริงหลายประการในไทย

Netflix ลงทุนกับแอปในอุปกรณ์ต่างๆ มากกว่า เมื่อคนมีทางเลือก ก็จะดูเนื้อหาเหล่านี้ในจอใหญ่อย่าง TV มากกว่าสมาร์ทโฟน ผู้ใช้ในช่วงที่ผ่านมาของ Netflix เป็นกลุ่ม Power User ที่รู้จักบริการนี้จากต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งผู้ใช้กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีอุปกรณ์อย่างสมาร์ททีวีเพื่อชมมากว่าประชากรไทยทั่วไป กลุ่มผู้ใช้ Netflix ในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับประสบการณ์การรับชม จึงสามารถลงทุนใช้บริการนี้ และดูผ่านอุปกรณ์อย่างจอทีวีขนาดใหญ่ได้

ก็ถือว่าตลาดออนไลน์สตรีมมิ่งในไทยนั้นร้อนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิม เมื่อยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Netflix ลงตลาดไทยเต็มตัว แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดกลับไม่ใช่การแย่งลูกค้ากันเองระหว่างบริการต่างๆ แต่เป็นการดึงลูกค้าให้ออกจากของเถื่อนมาให้ได้มากกว่าครับ

ก็ดูรายละเอียดและสมัครใช้บริการได้ที่ Netflix.com ครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook