รู้จักกับโปรเจ็ค Natick ทำไม Microsoft ถึงต้องการตั้ง Data Center ใต้ทะเล ?

รู้จักกับโปรเจ็ค Natick ทำไม Microsoft ถึงต้องการตั้ง Data Center ใต้ทะเล ?

รู้จักกับโปรเจ็ค Natick ทำไม Microsoft ถึงต้องการตั้ง Data Center ใต้ทะเล ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Data Center หรือศูนย์ข้อมูล คือสถานที่หรือห้องที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นที่เก็บ Server ต่าง ๆ ที่นอกจากจะต้องมีความปลอดภัยในระดับสูงแล้ว Data Center จะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้น ปัจจัยหลักสำหรับ Data Center นั่นก็คือ พลังงานไฟฟ้า นั่นเอง อีกทั้ง Data Center จะต้องมีระบบรักษาความเย็น เพื่อควบคุมอุณหภูมิของห้องให้เย็นตลอดเวลา เนื่องจาก Server ที่ถูกเก็บในห้องดังกล่าว มีการประมวลผลทั้งวันทั้งคืนและมีจำนวนมาก จึงก่อให้เกิดความร้อนได้ไม่ยาก ทำให้บริษัทที่มี Data Center เป็นของตนเอง มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูง ด้วยเหตุนี้ ทาง Microsoft จึงได้ผุดโปรเจ็ค แก้ปัญหาค่าไฟ ด้วยการย้าย Data Center ไปอยู่ใต้ทะเลเสียเลย

ทีมโปรเจ็ค Natick ประกอบด้วย (ซ้ายไปขวา) Eric Peterson, Spencer Fowers, Norm Whitaker, Ben Cutler, Jeff Kramer

สำหรับโครงการนี้ มีชื่อว่า Project Natick ที่ทาง Microsoft ตั้งขึ้นมาเพื่อวิจัยการสร้าง Data Center สำหรับทำงานใต้ทะเลหรือมหาสมุทร โดยได้เริ่มร่างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2014 ก่อนจะลงมือปฏิบัติจริงในปี 2015 หลัก ๆ ก็คือ เพื่อลดการใช้พลังงานจาก Data Center ซึ่งปกติแล้ว จะมีค่าใช้จ่ายจากระบบระบายความร้อนค่อนข้างสูง ทำให้ Microsoft เกิดไอเดียที่จะใช้ ระบบระบายความร้อนจากน้ำ ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไป

โดยแคปซูล Leona Philpot เป็น Data Center ตัวแรกที่ทำงานใต้ท้องทะเล ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับตัวละครจากเกม Halo บน Xbox ภายในบรรจุคอมพิวเตอร์ประเภท Cloud Infrastructure จากนั้นได้ถูกนำไปทดสอบและติดตั้งในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากชายฝั่งทะเลของสหรัฐฯ ประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ความลึก 30 ฟุต ซึ่งทาง Microsoft เผยว่า วัสดุที่ใช้สร้างแคปซูลนั้น ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และใช้งานได้อย่างยาวนานถึง 20 ปี แต่ทุก ๆ 5 ปีจะถูกนำขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนเซิฟเวอร์ตัวใหม่ ก่อนจะนำกลับลงไปใต้น้ำอีกครั้ง

เพราะเหตุใด ทาง Microsoft ถึงเลือกเก็บ ศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center ไว้ใต้ทะเล? ปกติแล้ว Data Center จะประกอบไปด้วยอุปกรณ์และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำให้เซิฟเวอร์เหล่านี้สามารถทำงานได้ตามปกติในแต่ละวันแล้ว ส่วนหนึ่งของพลังงานไฟฟ้าจะถูกใช้กับระบบระบายความร้อน โดยการที่จะทำให้ Data Center มีอุณหภูมิที่เย็นตลอดเวลานั้น ถือว่าเป็นปัญหาหนึ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างเช่น Facebook หรือ Google ต้องเจอ และเลือกที่จะย้ายแหล่งเก็บ Data Center ไปยังประเทศที่มีอุณหภูมิเย็นตลอดเวลา (Facebook มี Data Center อีกแห่งที่ตอนเหนือของประเทศสวีเดน)

ด้วยเหตุนี้ ทำให้ Microsoft ผุดโปรเจ็คที่จะย้าย Data Center ไว้ใต้ทะเล เนื่องจากความเย็นของน้ำทะเลในบริเวณดังกล่าว จะช่วยให้เซิฟเวอร์มีความเย็นตลอดเวลา ช่วยลดต้นทุนการในเรื่องของระบบระบายความร้อนได้ อีกทั้งยังสามารถใช้พลังงานคลื่นมาเป็นพลังงานทดแทนในการช่วยผลิตกระแสไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากในเรื่องของการประหยัดพลังงานแล้ว การสร้าง Data Center สักแห่ง นอกเหนือจากเรื่องของความเย็นแล้ว จะต้องตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่รบกวนประชาชนและคนรอบข้าง ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ Data Center จะต้องไปตั้งในจุดที่ห่างไกลผู้ใช้อินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก ส่งผลทำให้ใช้เวลาในการตอบสนองของเซิฟเวอร์ช้าลงตามไปด้วย ยิ่งไปกว่านั้น จากการสำรวจพบว่า เกือบ 50% ของประชากรโลก มีที่พักอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือทะเล ฉะนั้น การย้าย Data Center ลงใต้ทะเล จึงเหมือนเป็นการย้ายตำแหน่งให้ใกล้ผู้ใช้มากขึ้นไปอีกนั่นเอง

นอกจากนี้ การย้าย Data Center ลงใต้ทะเล ยังปลอดภัยต่อภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นบนพื้นดิน อีกทั้งการโยกย้ายก็มีความสะดวกมากกว่า ต่างจาก Data Center แบบเดิม ๆ ที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีความยุ่งยากในการเคลื่อนย้ายมากกว่า

ความร้อนของ Data Center จะทำให้อุณหภูมิของท้องทะเลในบริเวณนั้นสูงขึ้นหรือไม่? จากการตรวจสอบและตรวจวัดของเรือปฏิบัติการ พบว่า ไม่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากทะเลเป็นระบบเปิดและหมุนเวียน กระแสน้ำมีการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ทำให้ความร้อนไม่กระจุกตัวอยู่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง

ทดสอบครบ 105 วันแล้ว

ปัจจุบัน โปรเจ็ค Natick เฟสแรกผ่านไปได้ด้วยดี และเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว (สิงหาคม - พฤศจิกายน 2015) รวมระยะเวลาในการทดสอบทั้งสิ้น 105 วัน โดยแคปซูล Leona Philpot ได้ถูกนำขึ้นจากน้ำ และส่งกลับไปยัง Redmond เพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบ อย่างไรก็ดี ในตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลว่า โปรเจ็ค Natick เฟสสอง จะเริ่มขึ้นเมื่อใด และจะแตกต่างจากเฟสแรกอย่างไรบ้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook