กสทช. เดินหน้าลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ ใช้ได้ทั้งวิธีตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ

กสทช. เดินหน้าลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ ใช้ได้ทั้งวิธีตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ

กสทช. เดินหน้าลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ ใช้ได้ทั้งวิธีตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำนักงาน กสทช. เดินหน้าลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ ใช้ได้ทั้งวิธีตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ เริ่ม 15 ธ.ค. นี้พร้อมกันทุกค่ายมือถือทั่วประเทศ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ และแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายเริ่มจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยวิธีอัตลักษณ์

 istock-162241030istockphoto.com

ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล และป้องกันการแอบอ้างหรือปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดได้ โดยการตรวจสอบอัตลักษณ์ทำได้ทั้งการตรวจสอบใบหน้า (face recognition) หรือสแกนลายนิ้วมือ (finger print) ขึ้นอยู่กับว่าจุดรับลงทะเบียนให้บริการแบบใด โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ทั้งแบบรายเดือน และแบบเติมเงิน มีกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2560 พร้อมกันทุกโอเปอเรเตอร์ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงกรณีบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยด้วย

การลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์เป็นการส่งเสริมนโยบายของของรัฐบาลในเรื่องการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ และต้องมีการปรับปรุงการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจะมีการเปรียบเทียบใบหน้า (face recognition) หรือ ลายนิ้วมือ (finger print) ของผู้ซื้อซิมการ์ดกับข้อมูลที่เก็บในบัตรประชาชนฉบับจริง โดยหากข้อมูลมีความถูกต้องตรงกัน จึงจะอนุญาตให้มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการและเปิดใช้งานซิมการ์ดได้ ดังนั้น ประชาชนที่ต้องการเปิดซิมใหม่ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงไปด้วยเพื่อให้จุดให้บริการตรวจสอบข้อมูล อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบอัตลักษณ์แล้วไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ให้ผู้ใช้บริการติดต่อศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมการเปิดใช้งานซิมการ์ดต่อไป

“เมื่อมีการลงทะเบียนซิมการ์ดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลของผู้ใช้บริการจะถูกจัดส่งตรงไปยังฐานข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่จุดให้บริการ ซึ่งประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกจัดเก็บเป็นความลับและปลอดภัยอย่างแน่นอน

ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการดำเนินการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีประสิทธิภาพ มีการพิสูจน์ตัวตนได้ และยังช่วยในเรื่องความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของสังคมด้วย” นายฐากร กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook