วงการคอนเสิร์ตสหรัฐฯ ส่ายหน้าให้กับ “เทคโนโลยีจดจำใบหน้า”

วงการคอนเสิร์ตสหรัฐฯ ส่ายหน้าให้กับ “เทคโนโลยีจดจำใบหน้า”

วงการคอนเสิร์ตสหรัฐฯ ส่ายหน้าให้กับ “เทคโนโลยีจดจำใบหน้า”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิทธิส่วนบุคคลและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลายครั้งเกิดความไม่ลงรอยกัน เช่นเดียวกับ “ระบบจดจำใบหน้า” แม้หลายบริษัทในสหรัฐฯ อยากนำมาใช้เพื่อเพิ่มมาตรการความปลอดภัย โดยเฉพาะในมหกรรมดนตรีขนาดใหญ่ แต่กลับถูกต่อต้านเพราะมองว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล จนล่าสุดประกาศไม่ใช้เทคโนโลยีตัวนี้เพื่อสร้างความสบายใจให้กับแฟนเพลง

สำนักข่าว AP รายงานว่าผู้จัดคอนเสิร์ตรายใหญ่ในสหรัฐฯ ถอนแผนการใช้ “เทคโนโลยีจดจำใบหน้า” กับเหล่าแฟนเพลงในงานคอนเสิร์ต หลังเกิดข้อกังขาจากหลายฝ่าย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในที่สุดเทคโนโลยีนี้ก็จะถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

istock-925574662

บริษัท AEG Presents และบริษัท Live Nation สองบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการจัดคอนเสิร์ตของอเมริกาปฏิเสธการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้า แม้ก่อนหน้านี้จะมีท่าทีเตรียมจะใช้ระบบดังกล่าว และนี่อาจจะนับว่าเป็นชัยชนะของกลุ่มที่ออกมาต่อต้านเป็นเวลานานนับเดือน

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า คือกล้องที่เชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์และสามารถระบุตัวบุคคลได้จากใบหน้าหรืออัตลักษณ์เฉพาะทางกายภาพของแต่ละคน บริษัทจัดงานได้เคยพูดถึงการนำระบบนี้มาใช้ เพื่อช่วยคัดกรองผู้ร่วมกิจกรรมที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมงานได้อย่างสะดวก รวมถึงการนำเสนอสิทธิพิเศษให้กับลูกค้าประจำได้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่กังวลในเรื่องสิทธิความเป็นส่วนตัว เกรงว่านี่จะเป็นการรุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เพราะอาจเกิดการสอดแนมและวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแบบทันทีทันใด

ในเดือนมีนาคมพ.ศ. 2561 บริษัท Live Nation Entertainment ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท Ticketmaster ได้ออกมาประกาศความร่วมมือและร่วมลงทุนกับบริษัท Blink Identity ที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจากรัฐเท็กซัส โดยใจความตอนหนึ่งที่กล่าวถึงเทคโนโลยีดังกล่าวต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทคือ เพียงแฟนเพลงถือบัตรคอนเสิร์ตที่มีรูปตนเองก็จะ “เดินผ่านประตูเข้างานได้ทันที”

ทางด้านบริษัท AEG ผู้จัดงานคอนเสิร์ตใหญ่ของแคลิฟอร์เนียตอนใต้อย่างงาน Coachella และอีกหลากหลายงานสำคัญ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ในช่วงต้นปีนี้ว่า อาจจะทำการจัดเก็บใบหน้าของผู้เข้าร่วมกิจกรรม “เพื่อควบคุมการเข้าออก” และนำเสนอข้อมูลทางการตลาดให้ “สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละราย”

ทว่าทิศทางของทั้งสองบริษัทกลับเปลี่ยนไป เมื่อล่าสุดเดือนที่แล้ว นางเมลิซซ่า ออร์มอนด์ หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการดูแลกิจกรรมเฟสติวัล ของบริษัท AEG ส่งอีเมล์ถึงกลุ่มผู้คัดค้าน กล่าวอธิบายชัดว่า “ในทุกงานเทศกาลที่จัดขึ้นโดยบริษัท AEG จะไม่มีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าและไม่มีแผนที่จะนำมาใช้งาน”

บริษัท Live Nation กล่าวในทำนองเดียวกัน “ปัจจุบันไม่มีแผนที่จะใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าในกิจกรรมที่จัดขึ้นให้กับลูกค้าของเรา” โดยยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากอนาคตมีการใช้งานจริง จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องการใช้งานเท่านั้น ส่วนผู้ที่ไม่ยินยอมก็ยังสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตามปกติ

แรงกดดันต่อบริษัทผู้จัดมหกรรมคอนเสิร์ตในหสรัฐฯ ที่ทำให้ต้องออกมาเปิดเผยนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีจดจำใบหน้านั้น เกิดจากกลุ่มส่งเสริมสิทธิในโลกดิจิตอลอย่างกลุ่มไฟท์ฟอร์เดอะฟิวเจอร์ (Fight for the Future) ที่เรียกร้องให้บริษัทผู้จัดงานมหกรรมจำนวน 12 แห่งให้คำมั่นว่าจะไม่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในทางรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล และจะไม่ใช้ในทางเหยียดเชื้อชาติ

ทางด้าน นางแมรี่ ฮัสเค็ทท์ (Mary Haskett) CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท Blink Identity กล่าวว่าบริษัทต่อต้านแนวคิดการสอดแนมมวลชน โดยระบบที่ออกแบบมา ผู้ใช้งานสามารถถ่ายรูปเซลฟี่ (Selfie) จากมือถือ ส่งให้บริษัทเพื่อนำมาแปลงเป็นข้อมูลก่อนลบทิ้ง ผู้ที่ยินยอมใช้ระบบดังกล่าวอาจได้รับการตอบแทนเป็นการผ่านเข้างานในช่องทางพิเศษที่ไม่เสียเวลาต่อแถว แต่ในกลุ่มที่ต่อต้าน เชื่อว่ารูปภาพจะไม่ถูกลบทิ้ง แต่สุดท้ายจะถูกส่งไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหรือแม้กระทั่งส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ศูนย์วิจัย Pew Research Center ชี้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ให้การยอมรับเทคโนโลยีจดจำใบหน้าหากใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่หากการใช้งานนี้เกิดขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยี ตัวเลขความไว้วางใจอยู่ที่ 36% ในขณะที่หากการใช้งานดังกล่าวคือกลุ่มนักโฆษณาตัวเลขความเชื่อถือจะอยู่ที่เพียง 18% เท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook