ปลายทางของซุปฯ ตาร์เด็กโลกโซเชียล อาจแย่กว่าซุปฯ ตาร์เด็กในอดีต

ปลายทางของซุปฯ ตาร์เด็กโลกโซเชียล อาจแย่กว่าซุปฯ ตาร์เด็กในอดีต

ปลายทางของซุปฯ ตาร์เด็กโลกโซเชียล อาจแย่กว่าซุปฯ ตาร์เด็กในอดีต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอนดี้ วอร์ฮอล์ ผู้กำกับภาพยนตร์ และโปรดิวเซอร์ชื่อดังที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของรสนิยมทางศิลปะที่เรียกกันว่า “Pop Art” เคยกล่าวเอาไว้ในปี 1968 ว่า “ในอนาคตข้างหน้าผู้คนจะมีชื่อเสียงใน 15 นาที” เป็นคำทำนายที่มาก่อนกาลถึง 50 ปี และเป็นคำทำนายที่เป็นจริง เพราะทุกวันนี้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นนักแสดง หรือบุคคลที่ชื่อเสียง ก็สามารถโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืนได้จากโลกโซเชียลมีเดีย

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ โลกโซเชียลทุกวันนี้ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใด เหล่า Influencer หรือเซเลบฯโลกโซเชียล ล้วนแล้วแต่มีอายุที่น้อยลง และทำให้กลายเป็นปัญหาที่เหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยากังวลว่า ปลายทางของซูเปอร์สตาร์เด็กในโลกโซเชียลนั้น อาจลงท้ายไม่ต่างจากซูเปอร์สตาร์เด็กที่เคยแจ้งเกิดในภาพยนตร์ หรือรายการโทรทัศน์ ทำไมพวกเขาถึงมองแบบนั้นเรามาดูบทวิเคราะห์จาก www.insider.com ที่รวบรวมความคิดเห็นของนักจิตวิทยาชื่อดังซึ่งพูดถึงกรณีนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจ

การใช้ชีวิตท่ามกลางสายตาที่จับจ้องนั้นยากที่จะทำให้มีชีวิตที่มีความสุขได้

เริ่มต้นด้วยการเติบโตจากความเป็นเด็กที่ต้องถูกจับจ้องตลอดเวลา ดร. ซิคารัน แมคมาน จิตแพทย์ชื่อดังผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Psychology of Social Media” ได้กล่าวเอาไว้ว่า “การเกิดขึ้นของซูเปอร์สตาร์เด็กในโลกโซเชียลนั้นอาจจะยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะลงเอยอย่างไร

แต่จากอดีตที่ผ่านมา เด็กที่ต้องรับมือกับชื่อเสียงเมื่ออายุยังน้อย มักจะมีเส้นทางในอนาคตที่ไม่ค่อยสวยนักคำอธิบายความคิดเห็นของ ดร.ซิคารัน แมคมานทำให้เข้าใจได้ว่าการแจ้งเกิดของ Influencer  วัยทีนทั้งหลายนั้นคือการถาโถมเข้ามาหาของชื่อเสียง เงินทอง และคำวิจารณ์จากทุกทิศทุกทาง เป็นการถาโถมที่ไม่ได้มาจากสังคมเพียงสังคมเดียว หากแต่เป็นในลักษณะ Worldwide

เมื่อเด็กวัยทีนต้องเผชิญหน้ากับชื่อเสียงที่ถาโถม พวกเขาจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญ พิมพ์ หรือโพสต์ใด ๆ ลงไปก็มีคนมาอวยมาให้ความสนับสนุน ยิ่งทำให้รู้สึกหลงใหลในคำชื่นชมที่ได้รับ โดยที่ไม่สามารถจำแนกได้ว่า คำชื่นชมเหล่านั้นทำให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองเป็นคนสำคัญชนิดที่มีความรู้สึกว่าโลกกำลังหมุนรอบตัวพวกเขาอยู่ แต่ถึงแม้จะได้รับเสียงเยินยออยู่บ่อยครั้ง

แต่คำวิจารณ์แรง ๆ หรือข้อความที่ทำร้ายความรู้สึกจากคนแปลกหน้า ก็นับว่าเป็นอาวุธทำลายล้างชั้นดีเพราะแท้จริงแล้วเหล่า Influencer วัยทีนนั้นล้วนเปราะบาง เพราะนอกจากวัยวุฒิที่ยังไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตมากพอแล้ว มุมมองและทัศนคติการใช้ชีวิตที่ยังเด็กเกินไปทำให้ ข้อความทำร้ายความรู้สึกเพียงแค่ข้อความเดียว ก็สามารถทำให้ Influencer อายุน้อยทั้งหลายจมดิ่งลงไปได้

การเสพติดโซเชียลมีเดียนั้นสร้างปัญหาให้กับเด็ก GEN Z ไม่ว่าจะมี Follower 500 หรือ 5 ล้าน

Gen Z คือ คำนิยามล่าสุดของคนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน หมายถึงคนที่เกิดหลังจากปี ค.ศ. 1995 หรือปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เด็ก ๆ กลุ่ม Gen Z นี้จะเติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อม มีความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และเรียนรู้ได้เร็ว ขณะเดียวกันรูปแบบของโซเชียลมีเดียนั้นกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของพวกเขา

แต่ผลร้ายข้างเคียงของ โซเชียลมีเดีย คือการมองชีวิตแบบถูกเปรียบเทียบมีผลต่อการสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง (Self-esteem) กับผู้ใช้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้ที่ยังเป็นเด็กหรือวัยรุ่น ด้วยข้อความ หรือ การตอบกลับของเพื่อนในสังคมออนไลน์ ที่มักทำให้เด็กนั้นรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่พอใจในรูปร่างหน้าตา และมักจะเปรียบเทียบตนเองจากภาพที่เห็นในสื่อสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ ทุกแพลตฟอร์มจะมีลักษณะคล้ายกันคือ”การทำให้มีตัวตน” เมื่ออัลกอริธึ่มของแต่ละแพลตฟอร์มนั้นต่างจำกัดการเห็นของเนื้อหา หากเนื้อหานั้นยังไม่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มาก จนกระทั่งเนื้อหานั้นได้รับความสนใจจากคนหมู่มากหรือที่เรียกว่า “แมส” แล้วนั้น “การมีตัวตน” ของแอคเคาท์นั้นก็จะปรากฏขึ้นและขยายต่ออย่างรวดเร็ว

และ “การมีตัวตนนั้น” จะมาพร้อมกับข้อความสรรเสริญเยินยอ จนทำให้เจ้าของแอคเคาท์ตัวลอย และในเวลาเดียวกัน เมื่อพวกเขาสามารถถูกกระชากลงจากความสุขได้โดยง่ายจากข้อความในเชิงลบ หรือหยาบคาย ซึ่งความรู้สึกทั้งดีและร้ายที่มาพร้อมกันนั้นล้วนส่งผลต่อความรู้สึกของเด็กที่กลายเป็น Influencer ในโลกโซเชียล เหนืออื่นใดประสบการณ์ชีวิตอันน้อยนิดทำให้พวกเขาไม่รู้วิธีรับมือว่าควรทำอย่างไร ส่งผลต่อความรู้สึกโดยตรง และหลายคน กลายเป็นโรคซึมเศร้าในชีวิตจริง ดังนั้น คนตามที่ 500 หรือ 5 ล้าน ก็ส่งผลต่อจิตใจของพวกเขาได้ในระดับเดียวกัน

การทำให้เหล่าเยาวชน Gen Z รอดพ้นจากความเลวร้ายในสถานะเซเลบฯโลกโซเชียล

หนทางที่ดีที่สุดในการทำให้เหล่าเยาวชน Gen Z รอดพ้นจากความเลวร้ายในสถานะเซเลบฯ โลกโซเชียลคือการดึงชื่อเสียงของพวกเขามาใช้ในทาง “ที่ดี” การนำเอาชื่อเสียงที่ได้รับมาใช้ในทางที่ดีและเกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น คือหนทางที่ดีที่สุดในการปกป้องเหล่า Influencer วัยใส เมื่อพวกเขานำเอาชื่อเสียงที่มีในโลกโซเชียลมาช่วยสร้างความตระหนักรู้ในสังคม

และเป็นการนำเอาสิ่งที่พวกเขาเจอมาบอกกล่าวกับสังคม เพื่อให้เกิดความระมัดระวังมากขึ้นในการใช้โซเชียลมีเดียทั้งนี้นักจิตวิทยา ได้กล่าวถึงการใช้ชื่อเสียงในการสร้างเรื่องที่ดีต่อสังคมนั้น ถือว่าเป็นการพัฒนาทางด้านอารมณ์ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และจะทำให้พวกเขารู้สึก ภาคภูมิใจในตนเองรู้สึกว่าตัวเองมีค่าต่อสังคมมากขึ้น

ดังเช่นในกรณีของ ชาร์ลี่ และดิกซี่ย์ ดาเมลิโอ สอง Influencer ชื่อดังจาก TikTok ที่ได้ร่วมงานกับยูนิเซฟ ด้วยการบอกถึงความรู้สึกสนุกที่ได้ใช้ TikTok ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น ที่มีคนเห็นความสามารถของเธอ เหนืออื่นใดคือได้เงินด้วยนับว่าเป็นเรื่องที่ดี

แต่ในการมีชื่อเสียงเธอก็ต้องพบกับข้อความที่ส่งมาแสดงความเกลียดชังพวกเธอ พูดถึงรูปร่างของพวกเธออย่างสนุกปาก ซึ่งนับว่าเป็นประสบการณ์อันเลวร้ายเพราะพวกเธอ อายุเพียง 15-16 ปีเท่านั้น ซึ่งข้อความแห่งความเกลียดชังนั้นทำให้พวกเธอรู้สึกแย่กับตัวเองมาก และ การได้มาบอกกับทุกคนในโครงการของยูนิเซฟ นั้นทำให้พวกเธอรู้สึกดีเป็นอย่างยิ่ง

และทั้งหมดนี้คือบทวิเคราะห์จาก นักจิตวิทยาที่เว็บไซต์ Insider เรียบเรียงเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมในปัจจุบัน ที่เราคงต้านกระแสโซเชียลมีเดียไม่ได้แต่จะทำอย่างไร ให้เด็กที่โตมากับโลกในลักษณะนี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook