Google จัดกิจกรรมการศึกษา “The Anywhere School 2020” ออนไลน์ทั่วโลกครั้งแรก

Google จัดกิจกรรมการศึกษา “The Anywhere School 2020” ออนไลน์ทั่วโลกครั้งแรก

Google จัดกิจกรรมการศึกษา “The Anywhere School 2020” ออนไลน์ทั่วโลกครั้งแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Google จัดกิจกรรมด้านการศึกษา The Anywhere School 2020 ในรูปแบบออนไลน์พร้อมกันทั่วโลกขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพและอัปเดตอนาคตด้านการศึกษาจากผู้นำทางความคิดระดับโลก โดยแต่ละประเทศได้มาร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน  ซึ่งงานนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาสามารถเข้ามาร่วมรับฟังได้แบบเรียลไทม์ฟรีเป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ในวันที่ 12 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยมีการสรุปความคิดเห็น ความร่วมมือ และการส่งเสริมด้านการศึกษาจากผู้นำด้านความคิดจากประเทศไทยในประเด็นสำคัญดังนี้

แจ็คกี้ หวาง Country Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “ดิฉันในฐานะตัวแทน Google ประเทศไทย รู้สึกยินดีมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนทนาในครั้งนี้ เพื่อตอกย้ำในความมุ่งมั่นของ Google ที่มีต่อคนไทยและประเทศไทยในด้านการศึกษา ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจหลักของ Google ภายใต้คอนเซปต์ “Leave No Thai Behind” เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพนั้นยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 นับเป็นอุปสรรคครั้งใหญ่ที่สุดที่ส่งผลต่อระบบการศึกษาทั่วโลกจากที่เคยประสบมา 

ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่การระบาดของโควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงสุด องค์การยูเนสโกได้ประมาณการว่า 90% ของนักเรียนทั่วโลกต้องการเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ทางไกลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันทั้งครูและอาจารย์ก็ต้องเผชิญความท้าทายในการสอนทางไกล ในส่วนของผู้ปกครองและเด็กก็ต้องปรับตัวกับผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืน และต้องหันมาใช้การเรียนการสอนทางไกลรวมทั้งต้องวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนครั้งนี้ 

Google มุ่งมั่นที่จะทำทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนครู ผู้ปกครอง และนักเรียน ผ่านโครงการ Google for Education ซึ่ง Google ได้นำเสนอเครื่องมือต่างๆ ที่ออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น G Suite for Education และ Google Classroom  ซึ่งในช่วงที่โรงเรียนหลายๆ แห่งทยอยปิดการเรียนการสอน เราได้พยายามช่วยให้ผู้คนได้เข้าถึงเครื่องมือเหล่านี้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปัจจุบัน มีครูและนักเรียนที่ใช้ G Suite for Education จำนวนมากกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก และมีครูและนักเรียนใช้งาน Google Classroom มากกว่า 100 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากเดิมที่มีผู้ใช้งานเพียง 50 ล้านคนจากช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สำหรับโรงเรียนในประเทศไทยเราจะเห็นว่ามีการหันมาใช้ G Suite for Education มากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพเท่านั้นแต่รวมถึงโรงเรียนในต่างจังหวัดด้วย”

istock-458461721

คุณอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า “กพฐ. ทำหน้าที่ดูแลนักเรียนในระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่เป็นโรงเรียนของรัฐบาล  เราให้ความสำคัญในการเรียน การสอน รวมถึงข้อมูลและเครื่องมืออื่นๆ ที่เป็นสื่อการเรียนการสอนของครูที่สามารถทำผ่านระบบออนไลน์ 

Google เป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และเราได้ช่วยในการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาครูผ่านระบบ Google Classroom และ Google ยังได้จัดทำคลิปวิดีโอจำนวน 18 คลิป เพื่อส่งต่อให้คุณครูในพื้นที่เพื่อนำไปใช้เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์ ปัจจุบันมีครูและนักเรียนสนใจชมคลิปดังกล่าวมากกว่า 2 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

ในวันนี้ การเรียนของเด็กจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้นจากวันจันทร์ - วันศุกร์  นอกจากนั้นจะเห็นเด็กใช้เวลากับสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เราจึงได้ร่วมมือกับ Google จัดทำโครงการ “Be Internet Awesome” เป็นสื่อที่ให้ความรู้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างมั่นใจ และจะช่วยป้องกันภัยออนไลน์ที่อาจจะแฝงมาจากสื่อและสิ่งอันไม่พึงปรารถนา และในช่วงที่ยังไม่สามารถเปิดภาคเรียนได้เราได้ทดลองเตรียมความพร้อมโดยการนำเครื่องมือจาก Google เข้ามาช่วยในการสื่อสารการเรียนการสอนในระบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งทาง กพฐ. ได้สื่อสารและกำชับถึงผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาและทุกโรงเรียนว่าต้องเรียนรู้เครื่องมือเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลสื่อต่างๆ ให้เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่อง”

คุณชาตรี ประดุจชนม์ ผู้อำนวยการจากโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า “โรงเรียนของเรามีภารกิจจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-มัธยมศึกษาตอนปลาย โดยมีเป้าหมายและอุดมการณ์ที่ตั้งไว้สูง รวมถึงต้องดูแลในลักษณะขอโรงเรียนประจำ ที่มีการดูแลเด็กนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง ในการเรียนการสอนจึงมีความจำเป็นต้องแสวงหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาช่วยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

เมื่อต้นปีที่แล้วทางโรงเรียนได้ร่วมมือกับ Google ประเทศไทย โดยการนำ G Suite for Education  เข้ามาใช้เรื่องการเรียนการสอนเต็มรูปแบบ รวมทั้งนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อช่วยพัฒนาครูและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยครูของเราได้รับการเพิ่มพูนทักษะในการสร้างบทเรียนออนไลน์และนำไปสอนผ่าน Google Classroom

ส่วนในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ที่มีประกาศปิดโรงเรียนนั้น เราได้ร่วมมือกับโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ทั้ง 12 โรงเรียน โดยตกลงกันว่าจะสร้างบทเรียนออนไลน์และสอนผ่าน G Suite for Education โดยทำบทเรียนทุกรายวิชาและใช้สอนทุกระดับชั้น อีกทั้งได้ประชุมผู้ปกครองเพื่อชี้แจงการเรียนการสอนในระบบออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองทุกคนด้วยดี ผมประทับใจกับเครื่องมือของ Google โดยเฉพาะ Google Calendar ที่ใช้ในการนัดหมายประชุมกับครูผู้สอนและบุคลากรของโรงเรียน และสามารถแนบไฟล์เอกสารต่างๆ ทำให้ลดการใช้กระดาษในการประชุมแต่ละครั้งได้เป็นจำนวนมหาศาล และยังมี Google Meet ที่เราใช้ในการบรรยายสดที่เหล่าคุณครูเองก็ไม่ได้จินตนาการมาก่อนว่าการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านเทคโนโลยีนี้จะเป็นธรรมชาติได้ขนาดนี้ และวันนี้ ถึงแม้ว่าทางโรงเรียนได้มีการเปิดเรียนที่โรงเรียนตามปกติแล้ว เราก็ไม่ได้หยุดการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ยังใช้คู่ขนานไปด้วยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความพร้อมในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อีก”

คุณพิศณุ ศรีพล ผู้อำนวยการจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กล่าวว่า “โรงเรียนมีนักเรียนประมาณ 3,200 คน และเมื่อต้องจัดการเรียนการสอนตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเว้นระยะห่างและกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้อง จึงมีข้อตกลงกับผู้ปกครองว่าต้องกำหนดรูปแบบการเรียนเป็น 3 รูปแบบ เรียนที่บ้าน 100% เรียนที่โรงเรียน 100% โดยโรงเรียนจะเป็นผู้จัดรูปแบบการเรียนให้ โดยช่วงก่อนเปิดเทอมจึงมีการอบรมคุณครูและมีการประชุม โดยเราตัดสินใจใช้ Google Classroom ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทำให้การอบรมและการจัดประชุมแต่ละครั้งออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ”

คุณประจักษ์ น้อยเหนื่อย ครูประจำภาควิชาภาษาไทย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี กล่าวเสริมว่า “การเปลี่ยนรูปแบบการสอนเป็นระบบออนไลน์นั้นต้องพูดจริงๆ ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนระบบอย่างกะทันหันนั้นส่งผลหลายอย่าง และก็ขึ้นอยู่กับครูแต่ละท่านจะเปิดใจรับมากแค่ไหน รวมทั้งยังต้องดูว่ามีสื่อหรือเทคโนโลยีอะไรบ้างที่เป็นเครื่องมือสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะที่ผมเป็นครูที่ใช้งานจริงนั้น ผมมองว่าใช้ G Suite for Education มีประโยชน์มากทั้งการเรียนการสอนออนไลน์และสอนในห้องเรียน หรือสามารถใช้ในเวลาเดียวกัน”

พลเอกเอกชัย ศรีวิลาศ ประธานมูลนิธิครูดีของแผ่นดิน กล่าวว่า “ยุคนี้เป็นยุคดิจิทัล มีการใช้ระบบออนไลน์ทั้งด้านการบริหาร การเรียนรู้ และการศึกษา ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ในการเรียนการสอนที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ซึ่งระบบเรียนออนไลน์ช่วยเร่งให้เกิดความเร็วในการเรียนการสอน ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีอายุเท่ากันทั้งหมด รวมทั้งมีช่อง Youtube ที่ทำคลิปสอนหนังสือ หรือโรงเรียนที่เปิดสอนออนไลน์ ครูสามารถส่งลิงก์ข้อมูลให้นักเรียนได้ศึกษาก่อนเข้าเรียนจริงได้อย่างสะดวกสบาย 

ในปัจจุบัน เรายังต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและการเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ดังนั้น Google จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิฯ และกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการ “Be Internet Awesome” เพื่อให้เด็กอายุ 9-12 ปี และผู้ใหญ่ได้เรียนรู้ถึงสิ่งที่มาจากอินเทอร์เน็ตที่มีทั้งดีและไม่ดี อันไหนคือข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จที่ต้องระมัดระวังตลอดเวลา โดยเฉพาะข้อมูลส่วนตัวของเราที่ต้องการเก็บเป็นความลับ เด็กๆ อาจจะไม่ทราบว่าสิ่งที่เห็นหรือเข้าใจในความถูกต้องหรือไม่ก็สามารถสอบถามผู้ใหญ่ได้

ทางมูลนิธิครูดีของแผ่นดินพยายามสร้างครูและนักเรียนที่ดี วันนี้ ถ้าถามว่าต้องการให้เด็กดีหรือเก่ง จริงๆ ต้องดีและเก่งไปพร้อมๆ กัน โดยพยายามนำระบบออนไลน์เข้ามาช่วยในการอบรม ให้ข้อมูลครู ประเมินครู เพื่อให้ครูช่วยนำข้อมูลตรงนี้ไปเผยแพร่แก่เด็กต่อไป ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก็ให้การสนับสนุน  รวมทั้ง Google เองก็มีเครื่องมือมากมายและผมมั่นใจว่าเครื่องมือต่างๆ จาก Google นั้น จะช่วยให้เด็กและครูได้เรียนรู้ได้ให้เท่าทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่ผมรู้สึกยินดีมากที่  Google ได้ตระหนักและให้ความสำคัญว่า “เก่ง” อย่างเดียวไม่ได้ต้อง “ดี” ด้วย เพื่อสร้างสรรค์และแบ่งปันให้กับเพื่อนหรือคนอื่นๆ ที่ไม่รู้จัก สามารถนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไปในอนาคต”

และทั้งหมดนี้เป็นมุมมองจากผู้นำด้านความคิดจากประเทศไทยในงาน “The Anywhere School 2020” ในครั้งนี้ ซึ่ง Google หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในประเด็นต่างๆ นี้ต่อไป รวมทั้งจะเป็นประโยชน์และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกท่าน และ Google หวังว่าจะมีโอกาสได้ร่วมมือในรูปแบบนี้อีกเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook