ผู้บริหารสื่อโซเชียล พาเหรดตอบคำถามรัฐสภาสหรัฐฯ กรณีเลือกตั้ง 2020

ผู้บริหารสื่อโซเชียล พาเหรดตอบคำถามรัฐสภาสหรัฐฯ กรณีเลือกตั้ง 2020

ผู้บริหารสื่อโซเชียล พาเหรดตอบคำถามรัฐสภาสหรัฐฯ กรณีเลือกตั้ง 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้บริหารของบริษัทสื่อสังคมออนไลน์รายใหญ่หลายบริษัท ตอบคำถามจากคณะกรรมาธิการพาณิชย์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ ในวันพุธ โดยขอให้รัฐสภาสหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้มาตรการปกป้องดูแลเนื้อหาที่เหมาะสมต่อไป แม้มีสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนกล่าวหาว่าสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้มีอคติในการเสนอเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตนเอง

ตามปกติแล้ว บริษัทสื่อออนไลน์เหล่านี้ต่างได้รับการปกป้องในด้านการนำเสนอเนื้อหาในสื่อของตนภายใต้มาตรา 230 ของกฎหมายว่าด้วยความเหมาะสมในการสื่อสารโทรคมนาคม ปี ค.ศ. 1996 (1996 Communications Decency Act) แต่นักการเมืองพรรครีพับลิกันบางคนกล่าวหาว่า มาตรา 230 นี้ช่วยให้บริษัทออนไลน์รายใหญ่ อย่างเช่น เฟสบุ๊ค และทวิตเตอร์ สามารถเซนเซอร์เนื้อหาบางอย่างตามทัศนคติทางการเมืองได้ และส่งอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลของผู้ใช้ผ่านสื่อเหล่านั้น

ประธานาธิบดีทรัมป์ ทวีตข้อความในวันพุธ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 230 โดยระบุว่า ในช่วงสองสัปดาห์มานี้ ตนได้เรียนรู้อย่างมากเรื่องการคอร์รัปชั่นของสื่อต่าง ๆ และยิ่งบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ปัญหานี้ก็ยิ่งเลวร้าย

อย่างไรก็ตาม นายแจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ กล่าวว่า มาตรา 230 คือปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสื่อรายเล็กสามารถแข่งขันในระดับโลกได้ การยกเลิกกฎหมายนี้จะเป็นการทำลายการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตของบริษัทสื่อต่าง ๆ ทำให้เหลือเพียงบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะอยู่รอด

นายดอร์ซีย์ ได้นำเสนอทางเลือกที่สามารถทำได้เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คือการอนุญาตให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์สามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า จะใช้ระบบคัดเลือกเนื้อหาของทวิตเตอร์หรือของบริษัทอื่น ในการคัดกรองเนื้อหาที่ผู้ใช้รายนั้นสามารถดูได้

บรรดาสมาชิกพรรครีพับลิกัน กล่าวหาว่าทวิตเตอร์ไม่ยอมเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาโจมตีนายโจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยทวิตเตอร์ได้บล็อกลิงค์ที่เชื่อมต่อกับบทความของนิวยอร์กโพสต์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องการใช้อำนาจมิชอบของนายไบเดนระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือบุตรชายที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นระหว่างนั่งในตำแหน่งผู้บริหารบริษัทพลังงาน Burisma ในยูเครนในช่วงปี ค.ศ. 2014 - 2017​

ส.ว.เท็ด ครูซ จากพรรครีพับลิกัน กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นการแทรกแซงการเลือกตั้งในขณะที่เหลืออีกเพียงไม่กี่วันวันก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง

นายดอร์ซีย์ ได้กล่าวขอโทษต่อกรณีที่เกิดขึ้นว่าไม่ควรมีการบล็อกข้อความดังกล่าวที่ลิงค์ของนิวยอร์กโพสต์โดยตรง และได้มีการปรับปรุงนโยบายและการบังคับใช้ในเรื่องนี้แล้ว

ขณะเดียวกัน นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟสบุ๊ค ที่ได้มีการบล็อกการแชร์ข่าวดังกล่าวเช่นกัน กล่าวต่อคณะกรรมาธิการพาณิชย์ว่า คัดค้านการยกเลิกมาตรา 230 เพราะจะทำให้บริษัทสื่อออนไลน์ต้องรับผิดชอบต่อทุกเนื้อหาที่ปรากฎในแพลตฟอร์มนั้น ซึ่งจะมีผลให้มีการเ๙นเ๙อร์เนื้อหาต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี และจะทำให้การลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ลดลง

ด้านนายซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของกูเกิล กล่าวกับคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่า กูเกิลมีแนวทางการทำงานที่ไม่มีอคติทางการเมือง ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนั้นขึ้นจะถือเป็นการขัดกับหลักการดำเนินธุรกิจและจุดประสงค์หลักของกูเกิล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook