ความสามารถที่ “เทคฯ คอมพานี” มองหาจากคนรุ่นใหม่

ความสามารถที่ “เทคฯ คอมพานี” มองหาจากคนรุ่นใหม่

ความสามารถที่ “เทคฯ คอมพานี” มองหาจากคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราในยุคปัจจุบัน เป็นโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ล้วนมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ในวันนี้เทคโนโลยียังมีอิทธิพลมากขนาดนี้ แล้วในวันข้างหน้าที่มันฉลาดขึ้น เทคโนโลยีจะครองโลกมากขนาดไหน

นั่นทำให้กลุ่มแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มแรงงานทักษะที่ได้เปรียบกลุ่มแรงงานอีกหลาย ๆ กลุ่มในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู ทว่าในตลาดแรงงานก็มีคนกลุ่มนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าพวกเขาต้องแข่งขันกันเอง เพราะตำแหน่งการจ้างงานมีที่จำกัด ในกลุ่มคนที่มีทักษะหลัก ๆ เหมือนกัน คนที่โดดเด่นที่สุดต่างหากคือคนที่จะได้ไปต่อ!

ฉะนั้น การหาผู้ร่วมคนงานใหม่มามีส่วนร่วมในการสร้างทีมที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว นอกจากความสามารถทางเทคนิค ประสบการณ์ และความสามารถอื่น ๆ ที่ยังจำเป็นอยู่ ก็มีสิ่งที่จำเป็นกว่านั้น ลองคิดง่าย ๆ ว่าหากเราเป็นผู้ที่มีอำนาจในการเลือกคนเข้าทำงาน เราจะใช้อะไรตัดสินเลือกผู้สมัครงาน 1 จาก 2 คน ที่มีประวัติการศึกษาในกระดาษไม่ต่างกัน แต่เมื่อเรียกมาสัมภาษณ์แล้ว คนหนึ่งมีในสิ่งที่อีกคนหนึ่งไม่มี หรือมีดีกว่า

สิ่งที่จะทำให้ 2 คนนี้แตกต่างกันได้ คือ ทัศนคติ ความคิด และบุคลิกลักษณะ ทั้งหมดนี่กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในกระบวนการสัมภาษณ์งานที่ผู้สัมภาษณ์มองหาในคนที่ถูกสัมภาษณ์ แล้วใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณสมบัติของแรงงานด้านเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

istock-1215119911

เมื่อบริษัทด้าน “เทคฯ คอมพานี” อันหมายถึงกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี อย่าง Google, Line, Facebook, True Digital หรือบริษัทที่นำเข้าเทคโนโลยี อย่าง Tencent กลายเป็นบริษัทที่ทรงอิทธิพลไปทั่วโลกรวมถึงในเมืองไทย ดังนั้น กลุ่มบริษัทด้านเทคโนโลยีจึงต้องมองหาคนที่มีความสามารถโดดเด่นมาร่วมงาน แล้วมีความสามารถใดบ้างที่คนทำงานรุ่นใหม่จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ได้ทำงานร่วมกับบริษัทเหล่านี้ นี่คือ 10 ความสามารถที่คนที่นั่งอยู่อีกฟากโต๊ะสัมภาษณ์งานคาดหวังว่าจะได้จาก “ว่าที่พนักงานคนใหม่”

1. พลังงาน

สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งที่บริษัทมองหา หลังจากคัดประวัติแล้วเรียกผู้สมัครมาสัมภาษณ์งาน คือ พลังงานในตัว เพราะพลังบวกในการทำงานในบริษัทเทคโนโลยี เป็นตัวขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพสำคัญมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวเร็ว เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอยู่ทุกวัน บริษัทจะมองหาคนที่กระตือรือร้น มีแรงบันดาลใจ มีไฟ มีทัศนคติเชิงบวก และพร้อมเสมอต่อการปรับตัว ในเมื่อเทคโนโลยียังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง บุคลากรก็ต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน

2. การสื่อสาร

สิ่งที่บริษัทใช้ประเมินผู้สมัครงานจากขั้นตอนการสัมภาษณ์ คือ ทักษะในการสื่อสาร นี่อาจเป็นจุดพลิกในกระบวนการจ้างงานของผู้สมัครคนดังกล่าวก็ได้ ในการทำงาน ถ้าพูดจาสื่อสารกับใครไม่รู้เรื่อง การทำงานก็จะยิ่งยากลำบาก เพราะฉะนั้น เมื่อนั่งอยู่ในห้องสัมภาษณ์ ให้ตั้งใจฟังคำถาม ตอบให้ตรงคำถามอย่างมีเหตุผล พูดให้ชัดเจน และหลีกเลี่ยงคำที่สื่อถึงผลประโยชน์มากจนเกินงาม ถ้าสามารถทำได้ดีในการสนทนากันแบบเห็นหน้า ทางบริษัทก็มั่นใจได้ระดับหนึ่ง ว่าการสื่อสารด้วยข้อความหรือตัวอักษรแบบที่ไม่เห็นหน้ากัน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

3. ความถูกต้อง

อย่าเริ่มโกหกตั้งแต่วินาทีแรกที่ใส่ข้อมูลลงในเรซูเม่ เราไม่มีทางสื่อออกมาได้ดีกับอะไรที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งนั่นอาจจถูกจับโป๊ะเอาได้ว่าเขียนประวัติเกินจริงมา ความจริงแล้วไม่ได้รู้อะไรลึกซึ้งแบบนั้นเลย ส่วนใหญ่บริษัทด้านเทคโนโลยียอมรับความหลากหลายได้ เพียงแค่เดินเข้าห้องสัมภาษณ์ไปแบบมั่นใจและให้คุณค่ากับความเป็นตัวของตัวเอง พลังในตัวก็จะเปล่งประกายออกมาให้เห็นเอง สิ่งสำคัญคือการนำเสนอตัวเองในแบบที่เราเป็น ว่าถึงแม้บุคลิกเราจะเป็นเช่นนี้ แต่เราไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เราพร้อมที่จะรับมือเสมอ นี่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานทำอย่างแน่นอน

4. ถือตัวให้น้อยลง

ไม่มีใครที่ชอบคนขี้โม้โอ้อวดตัวเอง มีวิธีอื่นที่ใช้บอกคนอื่นได้ว่าเราเนี่ยเจ๋งแค่ไหน โดยที่ไม่ต้องป่าวประกาศอวดภูมิ แค่แสดงความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ ให้เห็นรายละเอียดการแก้ปัญหาและการพัฒนาปรับปรุง มากกว่าการมุ่งเน้นผลลัพธ์ แต่ถ้าจะให้ผลลัพธ์ชัดเจน อาจต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้มายืนยัน บริษัทต้องการคนฉลาด กระตือรือร้น และไม่ถือตัวในการทำงานหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นมาทำงาน โดยเฉพาะคนที่คิดแตกต่างและนำเสนอมุมมองที่หลากหลายได้ ที่สำคัญ อย่าลืมอธิบายว่าเราเหมาะที่จะร่วมงานกับองค์กรอย่างไร ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างไร

5. มีแรงขับเคลื่อนในตัว

แรงขับเคลื่อนในตัวไม่ได้จบตรงที่ปลุกตัวเองให้ลุกจากเตียงได้ทุกเช้า แต่มันคือความทะเยอทะยาน ความคิดในเชิงแข่งขัน ซึ่งถ้าไม่มีแรงขับเคลื่อนเหล่านี้ก็ยากที่จะทำงานที่ท้าทายได้ ก่อนที่บริษัทจะจ้างงาน เขาต้องการรู้จักตัวตนที่แท้จริงของเราว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกแย่ อะไรที่เป็นความปรารถนา และใช้อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนตัวเองไปหาความสำเร็จ เป็นผู้เล่นที่ดีในทีมที่อยากเห็นทีมชนะไหม ที่สำคัญคือต้องมีวินัย และเปิดรับวิธีใหม่ ๆ ในการทำงานให้ดีขึ้น ยิ่งใครมีความปรารถนาสูง พวกเขาก็จะแสดงความมุ่งมั่นออกมาอย่างสูงเช่นกัน เพื่อที่จะให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

6. ความเป็นมืออาชีพ

ความเป็นมืออาชีพถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ บริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็วกำลังมองหาผู้ร่วมงานที่เข้ามาช่วยให้บริษัทเดินไปข้างหน้า พร้อม ๆ ไปกับการพัฒนาและฝึกฝนตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเน้นขึ้นบันไดไปสู่ตำแหน่งผู้จัดการให้เร็วที่สุด เพราะเราสามารถประสบความสำเร็จในฐานะผู้ร่วมงานธรรมดาได้ จึงจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พยายามให้ดีที่สุดตามสายงานที่รับผิดชอบ นั่นอาจจะต้องไปเข้าเรียน อบรม หรือสัมมนาเพิ่มเติมในหลักสูตรที่สนใจ หรือหลักสูตรที่ใช้ประโยชน์กับสายงานได้

7. ความหลงใหล

ไม่ใช่ความเพ้อเจ้อแต่อย่างใด ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ แต่รู้ว่ามีและใช้งานได้ ความหลงใหล ถือเป็นการสร้างความแตกต่างและเป็นสัญญาณของความสำเร็จในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทเทคโนโลยีด้านการชำระเงินหรือสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเติบโต ความหลงใหลควรแสดงออกตั้งแต่การสัมภาษณ์ เช่น เสนอแนวคิดและการปรับปรุงต่าง ๆ อย่ากลัวว่าจะแสดงออกนอกหน้าเหมือนทำงานอยู่ที่นี่แล้ว เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว บริษัทต้องการพนักงานร่วมทีมคนใหม่มาสานต่อความสำเร็จอย่างไม่หยุดยั้ง

8. ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ

คือความสามารถในการใช้สัญชาตญาณ โดยทั่วไปการเติบโตมักต้องแข่งขันทั้งจากคู่แข่งและเวลา ในขณะเดียวกันเราต้องเป็นผู้เล่นที่ดีในทีม หากแสดงความสามารถในการเป็นผู้นำในกระบวนการบางอย่างได้ก็ควรทำ นี่เป็นอีกสิ่งที่บริษัทต้องการเห็นจากเรา มีวิสัยทัศน์ กล้าเสี่ยง ตัดสินใจเร็ว คิดริเริ่ม ใช้ประสบการณ์ที่มีมาปรับปรุงประสิทธิภาพงาน เริ่มจากกระบวนการเล็ก ๆ และอาจไปถึงการสร้างทีม สร้างผลกำไรใหม่ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการคิดจากเป้าหมายสุดท้าย นี่คือคนที่เหมาะจะทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีการเติบโตสูง และปรารถนาที่จะเติบโต

9. ความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence : EI) มีความสำคัญต่อการทำงานมากกว่าที่คิด เผลอ ๆ มีค่ามากกว่า IQ เสียอีก ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์สูง ๆ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มีระดับความฉลาดทางอารมณ์ต่ำ เพราะมันเป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของตนเองและอารมณ์ของผู้อื่น และจัดการทั้งสองอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี รู้ว่าเมื่อใดควรเสี่ยงเมื่อใดควรเลี่ยง และถึงจะล้มเหลว ก็มีความมุ่งมั่นมากพอที่จะกลับมายืนอีกครั้ง ซึ่งนี่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะพาไปสู่ความสำเร็จ

10. ความลงตัวภายในทีม

การทำงาน หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานเป็นทีม ซึ่งความลงตัวมักขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและรูปแบบของการทำงาน บริษัทแต่ละบริษัทมีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราต้องมั่นใจว่าความสามารถของเราเข้ากับสไตล์บริษัทนี้จริง ๆ ก็เหมือนกับการออกเดท ที่ถ้าไปไม่รอดก็ต้องเลิกรา นั่นแปลว่าเราไม่จำเป็นต้องฝืนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับองค์กรมากขนาดนั้น ถ้าดูแล้วว่าเราไม่เหมาะกับทีมนี้จริง ๆ ยอมรับและไม่ต้องกลัวที่จะปล่อยมือ ในกระบวนการจ้างงาน ทัศนคติและแรงจูงใจระหว่างผู้สมัครงานกับบริษัทต้องไปด้วยกันได้ ถึงจะต่อกันติดและไปต่อด้วยกันได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook