“บาทดิจิทัล” กำลังจะมา อย่างเรา ๆ ควรต้องรู้ไว้มากแค่ไหน

“บาทดิจิทัล” กำลังจะมา อย่างเรา ๆ ควรต้องรู้ไว้มากแค่ไหน

“บาทดิจิทัล” กำลังจะมา อย่างเรา ๆ ควรต้องรู้ไว้มากแค่ไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในขณะที่ใครหลายคนกำลังง่วนอยู่กับการอัปเดตแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อที่จะใช้ซื้อของโครงการคนละครึ่งหรือใช้จ่ายค่าโรงแรมในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน บางคนก็กำลังเรียนรู้วิธีสั่งอาหารเดลิเวอรี่โดยใช้คนละครึ่ง อีกนับหมื่นคนกำลังรู้สึกแย่ ที่จู่ ๆ เงินในบัญชีธนาคารก็หายไป บัตรเดบิต บัตรเครดิต ถูกตัดเงินเป็นค่าบริการอะไรก็ไม่รู้ เพราะตัวเองไม่ได้เป็นคนทำธุรกรรมเอง

บ้างก็กำลังศึกษาวิธีขุดบิตคอยน์ หรือการลงทุนคริปโทเคอร์เรนซี มีทั้งแบบน่าเชื่อถือและไม่น่าเชื่อถือ จนอาจจะยังไม่ทันได้เห็นข่าว ว่าประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงระบบการเงินรูปแบบใหม่ในไม่ช้า

การเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือ เรื่องของ “เงินบาทดิจิทัล” Central Bank Digital Currency (CBDC) ซึ่งหลายคนอาจจะได้ยินข่าวนี้มาบ้างแล้วแบบผ่าน ๆ หู แต่ไม่ได้สนใจอะไรมากเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง ขณะเดียวกันคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่รู้ข่าวนี้ ไม่รู้อะไรเลย ทั้งที่มันเกิดขึ้นจริงแล้ว และกำลังจะเริ่มทดลองใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้

ข้อมูลเบื้องต้น จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเรื่องนี้ลงวารสาร “การเงินธนาคาร” ฉบับเดือนตุลาคม เกี่ยวกับความคืบหน้าในการพัฒนาเงินบาทดิจิทัล ว่ามีแผนที่จะเริ่มทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลในช่วงไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปีหน้า (2565) ทั้งระบบออนไลน์และระบบออฟไลน์ โดยประชาชนจะสามารถเปลี่ยนเงินฝากเป็นเงินดิจิทัลได้ และแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินฝากได้ เหมือนกับที่จีนเคยทำ “หยวนดิจิทัล” ไปแล้วก่อนหน้า

ซึ่งถ้านับเวลาดี ๆ แล้ว จะพบว่าเหลืออีกเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปก็ยังไม่รู้จักกับมันเลยด้วยซ้ำว่า “บาทดิจิทัล” คืออะไร หากเป็นแบบนี้ คนทั่วไปจะไม่รู้สึกลำบากเอาแย่เหรอ หากต้องไปทำความรู้จัก และเรียนรู้วิธีใช้ในช่วงที่มันใช้งานจริงได้แล้ว น่าสนใจว่าประชาชนจะปรับตัวได้เร็วแค่ไหน โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุที่ทุกวันนี้บางคนยังกด ATM ไม่เป็น แต่ก็จำเป็นต้องกดให้เป็น เพราะเงินที่ภาครัฐช่วยเหลือมันอยู่ในนั้น ยังงงอยู่ว่าแอปฯ เป๋าตังมันใช้อย่างไร หรือคนหาเช้ากินค่ำบางคนที่โทรศัพท์มือถือยังเป็นแบบที่โหลดแอปฯ เป๋าตังมาใช้ไม่ได้อยู่เลย

istock-1069541922

บาทดิจิทัล คืออะไร

ก่อนอื่น ต้องรู้ก่อนว่า “บาทดิจิทัล” คือ สกุลเงินบาทที่ถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ เช่น บิตคอยน์ พัฒนาขึ้นมาโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้เป็นสกุลเงินดิจิทัลของไทย เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แทนการใช้เงินสดแบบเดิมที่อยู่ในรูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) ในยุคดิจิทัลแบบนี้

ในเมื่อเงินดิจิทัลนี้ถูกตราขึ้นในสกุลเงิน “บาท” ค่าเงินของมันก็จะเท่ากับเงินบาทแบบกระดาษและเหรียญที่เราใช้กันทุกวันนี้นี่เอง เพียงแต่กลายสภาพไปอยู่แบบดิจิทัลแทนที่จับต้องไม่ได้แทน โดยมีมูลค่าแบบ 1:1 จึงใช้แทนกันได้เลยเพราะมูลค่าเท่ากัน แน่นอนว่าพออยู่ในรูปของเงินดิจิทัล ประเทศไทยจะประหยัดต้นทุนเรื่องการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ลงไปได้มากพอสมควรในอนาคต ถ้าความต้องการเงินสดในรูปที่จับต้องได้ลดลง คนหันไปถือเงินในรูปดิจิทัล ที่ใช้จ่ายผ่านบัตรต่าง ๆ หรือสมาร์ทโฟนได้แทนเงินสด ก็ไม่จำเป็นต้องผลิตธนบัตรและเหรียญออกมาเพิ่ม

ส่วนเรื่องของค่าเงินนั้น แม้ว่าเงินบาทดิจิทัลจะอยู่ในรูปแบบเดียวกันกับบิตคอยน์หรือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลอื่น ๆ แต่ค่าเงินจะไม่ผันผวนขึ้นลงตามกลไกตลาดเหมือนเงินดิจิทัลสกุลอื่น เนื่องจากความผันผวนจะเป็นไปตามตลาดค่าเงินสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ แทน ต่างจากบิตคอยน์ที่มูลค่าจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกลไกตลาด ความต้องการซื้อต้องการขาย (ช่วงไหนที่มีความต้องการบิตคอยน์มากกว่าปริมาณบิตคอยน์ที่มีในระบบ มูลค่าบิตคอยน์ก็จะสูงขึ้น)

เดิม เงินบาทดิจิทัลเริ่มต้นพัฒนามาจาก “โครงการอินทนนท์” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธปท. และสถาบันการเงิน 8 แห่ง ที่ร่วมกันศึกษาและทดสอบการใช้สกุลเงินดิจิทัลในการชำระเงินระหว่างธนาคาร (Wholesale CBDC) รวมถึงได้ทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารกลางฮ่องกง (Hong Kong Monetary Authority: HKMA) ทำให้ปัจจุบัน ธปท. และ HKMA ได้ร่วมกับสถาบันการเงินสมาชิก กำลังดำเนินการขยายขอบเขตการทดสอบการโอนเงินระหว่างประเทศโดยใช้เงินบาท และเตรียมใช้กับประชาชนทั่วไปในอนาคต

การมาของเงินบาทดิจิทัล เราสามารถมองเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศไทยประการหนึ่งเลยก็ได้ เนื่องจากเป็นการพัฒนารูปแบบการใช้เงินของคนไทย จากเดิมเคยใช้เบี้ยเป็นเงินตรา ก็พัฒนามาเป็นเงินพดด้วง จนเข้าสู่ยุคที่ใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์แบบทุกวันนี้ ในปีหน้า ประเทศเราจะเริ่มมีเงินดิจิทัลใช้ เป็นเงินที่จับต้องไม่ได้ แต่รับรู้ร่วมกันว่ามี ซึ่งประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศต้น ๆ ในโลก ที่ปรับเปลี่ยนและสร้างสกุลเงินของชาติขึ้นมาได้แล้วออกใช้โดยธนาคารกลาง

ดังนั้น เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC เรียกได้ว่าเป็นอนาคตของการเงินในประเทศำไทย จากเงินเหรียญ เงินกระดาษ ไปเป็นเงินดิจิทัลที่เขียนขึ้นด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ แล้วใช้ซื้อของนู่นนั่นนี่โดยไม่ต้องสัมผัสกับเงินสดเลย

“เงินบาทดิจิทัล” ต่างจาก “เงินสด” อย่างไร

ทุกวันนี้ มีใครบ้างที่วัน ๆ ไม่ค่อยจะได้ใช้เงินสดแล้ว ซื้อข้าวก็ใช้สมาร์ทโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดจ่ายเอา จ่ายค่าโน่นนี่ ส่วนใหญ่ก็โอนจ่ายเอาผ่านแอปฯ ธนาคาร ซื้อของออนไลน์ก็กดจ่ายผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต เรียบร้อยตั้งแต่ในแอปฯ แม้แต่เงินเดือนที่ได้จากการทำงาน หลาย ๆ คนยังไม่ค่อยจะถอนออกมาพกติดตัวทีละมาก ๆ เหมือนเมื่อก่อนเลย การใช้จ่ายแบบที่คนไม่ค่อยใช้เงินสด เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีโรคระบาด คนหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด เพราะมันสกปรก ผ่านมือคนมานับร้อยนับพันคน รวมถึงการที่ธนบัตรปลอมระบาดเกลื่อนเมือง ซึ่งมันง่ายกว่ามาก

นี่จึงเป็นช่วงที่สังคมไทยได้เริ่มพัฒนาเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ตอบโจทย์คนอยากมีเงินแต่ไม่อยากสัมผัสเงิน คนที่กลัวได้แบงก์ปลอม และก็เพื่อความง่ายในการจับจ่ายใช้สอย ตรงที่ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากติดตัวให้เสี่ยงโดนล้วงกระเป๋าอีกต่อไป

จากเงินที่อยู่ในรูปเงินอิเล็กทรอนิกส์ ก็มาสู่ “เงินบาทดิจิทัล” มีลักษณะเดียวกันตรงที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่รับรู้ร่วมกันว่ามีอยู่จริง โดยนี่เป็นเงินที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และภาครัฐก็ต้องมีสินทรัพย์หนุนหลังเหมือนเงินสด อธิบายให้เห็นภาพ ก็คือ เงินทุก ๆ 100 บาทดิจิทัล ก็จะต้องมีเงินสด 100 บาทเก็บสำรองเอาไว้ในบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เสมอ ถ้าหากใครต้องการถือเงินบาทดิจิทัลในมือ ก็แค่ถือเงินสดหรือนำเงินฝากไปแลกกับสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย

ดังนั้น ก่อนที่ประชาชนอย่างเราจะถือเงินบาทดิจิทัลไว้ในมือได้ จะต้องเอาเงินสดไปฝาก/แลกเก็บไว้ในกระเป๋าเงินดิจิทัล แล้วเก็บเงินบาทดิจิทัลไว้ในแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ที่ทางธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ซึ่งลักษณะก็จะไม่แตกต่างอะไรกับแอปฯ การเงินที่เราใช้ ๆ กันในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ และในรูปของสมาร์ทการ์ด สำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีสมาร์ทโฟน เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือไม่มีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน

เงินบาทดิจิทัลต่างจากการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่คุ้นเคยหรือไม่

อย่างที่บอกว่าเราเริ่มคุ้นเคยกับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์มาสักพักแล้ว หลายคนใช้จ่ายเงินสดน้อยลงมาก ซึ่งเมื่อดูจากลักษณะแล้ว การถือเงินบาทดิจิทัลก็ดูจะไม่ต่างกับการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมที่เราใช้กันทุกวันนี้เท่าไรนัก เพราะมันก็เป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟน และใช้อินเทอร์เน็ตเหมือนกัน

แต่จริง ๆ เงินบาทดิจิทัลจะมีเรื่องของความปลอดภัยมากกว่า เนื่องจากบาทดิจิทัลเป็นเงินที่ได้รับการคุ้มครองจากธนาคารแห่งประเทศไทย อีกทั้งการทำธุรกรรมต่าง ๆ ก็จะอยู่บนเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความปลอดภัยสูง ข้อมูลต่าง ๆ บนบล็อกเชนยากที่จะโดนแก้ไข นอกจากนี้ ในอนาคตข้างหน้าเงินบาทดิจิทัลก็จะถูกพัฒนาให้แตกต่างจากการใช้จ่ายผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบเดิมมากขึ้น เพื่อให้ตามทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จนรองรับการทำธุรกรรมต่าง ๆ อย่างสะดวก ปลอดภัย และหลากหลายมากขึ้น

“เงินบาทดิจิทัล” ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ

เนื่องจากเงินบาทดิจิทัล ถูกสร้างขึ้นจากหน่วยงานภาครัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างจากคริปโทเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นโดยภาคเอกชน และวัตถุประสงค์ของการใช้งานก็ต่างกัน เพราะเงินบาทดิจิทัลมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ ค่าเงินเป็นไปตามเงินบาทแบบ 1:1 ไม่ได้มีมูลค่าผันผวนแบบคริปโทเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรมากกว่าการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

การที่เงินคริปโทเคอร์เรนซีหรือสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ มีมูลค่าผันผวนมากและยังไม่มีกฎหมายเงินตรารองรับให้ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ทำให้ผู้ถือเงินดิจิทัลไม่สามารถมั่นใจได้ว่าเงินที่ถืออยู่จะมีมูลค่าหรือมีอยู่จริง รวมถึงใครจะเป็นผู้รับรองให้ ดังนั้น เงินบาทดิจิทัล หรือ CBDC จึงถือเป็น “สกุลเงิน” ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง สามารถใช้เป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้

อีกประการคือ แม้ว่าเงินสกุลดิจิทัลจะพัฒนาและทำธุรกรรมด้วยระบบบล็อกเชนเหมือนกัน แต่บาทดิจิทัลถูกสร้างและควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ การทำธุรกรรมต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลบัญชี หน่วยงานภาครัฐจะรับรู้และตรวจสอบได้ หากเกิดกรณีที่มีการทุจริตเกิดขึ้นในกระบวนการการทำธุรกรรมทางการเงิน

บาทดิจิทัลก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

นอกจากข้อดีข้างต้น บาทดิจิทัลหรือ CBDC ก็มีข้อเสียแอบแฝงบางประการ ก็ตรงที่มันถูกสร้างขึ้นโดยหน่วยงานของรัฐ นั่นหมายความว่ารัฐมีอำนาจในการตรวจสอบรายการธุรกรรมต่าง ๆ ของประชาชนได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีอำนาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ของประชาชน ก็อย่างที่เราทราบกันดีว่าประเด็นการมอบข้อมูลความเป็นส่วนตัวกับรัฐบาลนั้น ประชาชนไม่ค่อยจะยินดีเท่าไรนัก (แต่รัฐบาลก็มีข้อมูลทะเบียนราษฎร์อยู่ในมืออยู่ดี)

ดังนั้น บาทดิจิทัลอาจจะทางเลือกหนึ่งในการจับจ่ายใช้สอย และรูปแบบการใช้เงินของเราในอนาคต เพราะมันสามารถใช้งานได้เหมือนกับเงินสดทุกประการ เพื่อให้เรานำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างอะไรจากการจ่ายเงินสด การโอนเงินผ่านแอปฯ ธนาคาร หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่เราใช้บนแอปฯ ต่าง ๆ

“เงินบาทดิจิทัล” ที่จะใช้ในปีหน้า จะมีลักษณะแบบไหน

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานว่าเงินบาทดิจิทัลจะมีลักษณะดังนี้

1. มีรูปแบบคล้ายเงินสดและไม่จ่ายดอกเบี้ย ผู้ใช้สามารถถือเงินบาทดิจิทัลได้ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ (สมาร์ทการ์ด) โดยจะมีลักษณะคล้ายเงินสดทุกประการ ซึ่งการที่เงินบาทดิจิทัลไม่มีดอกเบี้ย ก็เพื่อไม่ให้ผู้ใช้เงินมองเป็นทางเลือกในการฝากเงินแทนการฝากเงินด้วยเงินสดกับธนาคารพาณิชย์ เงินบาทดิจิทัลก็จะถูกนำไปจับจ่ายจริง ๆ ทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ โดยจะนำไปใช้ได้กับทุกแพลตฟอร์มในการชำระเงิน ตรงนี้จะต่างจากระบบการชำระเงินผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน เพราะใช้ได้เฉพาะแพลตฟอร์มที่รับชำระ

2. จะไม่สร้างภาระค่าธรรมเนียมให้กับผู้ใช้งาน ทำให้มีต้นทุนต่ำที่สุด และจะจำกัดปริมาณการถือหรือไถ่ถอน เพื่อป้องกันการถอนเงินจำนวนมากอย่างรวดเร็ว ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและยอดเงินฝากของประชาชน ที่อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤติ อีกทั้งยังป้องกันการฟอกเงินหรือการนำเงินไปทำกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย

3. ต้องผ่านตัวกลาง เช่น สถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในการแลกเปลี่ยนเงินบาทดิจิทัล เพื่อรักษาบทบาทของตัวกลางทางการเงินในปัจจุบัน

ข้อมูลจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook