ฟิชแอนด์ฟิวเรียส! นักวิทย์อิสราเอล สอน ‘ปลาทอง’ ขับเคลื่อนพาหนะ

ฟิชแอนด์ฟิวเรียส! นักวิทย์อิสราเอล สอน ‘ปลาทอง’ ขับเคลื่อนพาหนะ

ฟิชแอนด์ฟิวเรียส! นักวิทย์อิสราเอล สอน ‘ปลาทอง’ ขับเคลื่อนพาหนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ได้ทำให้สิ่งที่เคยถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นความจริงขึ้นมา เมื่อนักวิทยาศาสตร์อิสราเอล ได้ฝึกฝนให้ปลาทองควบคุมทิศทางการเคลื่อนไหวของพาหนะ และปลดล็อคศักยภาพใหม่ของสัตว์น้ำชนิดนี้ขึ้นมา

ในระหว่างที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างเร่งพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติกันอยู่นั้นในตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอิสราเอล ได้พัฒนาพาหนะแบบที่เรียกว่า FOV หรือ fish-operated vehicle หรือพาหนะที่ขับเคลื่อนและควบคุมทิศทางได้ด้วยปลานั่นเอง

ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ben-Gurion University ได้ทดสอบรถหุ่นยนต์ซึ่งมีลักษณะเป็นถังน้ำสำหรับปลาที่ด้านบนและตั้งอยู่บนฐานที่มีล้อ พร้อมติดตั้งระบบเรดาร์ LiDAR หรือเทคโนโลยีตรวจจับระยะไกลซึ่งใช้ระบบแสงเลเซอร์เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งของ ”พาหนะถังปลา” ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งของปลาในตู้ ทั้งยังสามารถทำแผนที่สภาพโดยรอบและวัดระยะทาง พร้อมกับบรรจุปลาทองที่รับบทเป็นโชเฟอร์ควบคุมพาหนะทดลองดังกล่าวภายในตู้ปลาด้านบน เพื่อศึกษาว่าปลาทองนั้นจะสามารถช่วยนำทางบนบก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยเหมือนในน้ำได้หรือไม่?

ทีมนักวิทยาศาสตร์อิสราเอลกลุ่มนี้พบว่า องค์ประกอบของคอมพิวเตอร์ กล้องรอบทิศทาง ระบบเรดาห์ซึ่งเชื่อมโยงและแปลงข้อมูลจากตำแหน่งของปลาในตู้ให้เป็นทิศทางการเคลื่อนไหวของพาหนะ รวมทั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและตัวล้อรถที่เคลื่อนที่ได้รอบทิศทาง ได้ช่วยปลดล็อคทักษะใหม่ที่คาดไม่ถึงของปลาทองได้

ในการศึกษาทักษะการขับรถของปลาทองนี้ ทีมวิจัยใช้ปลาทอง 6 ตัว โดยแต่ละตัวจะได้รับการฝึกฝนทักษะในการควบคุมและขับเคลื่อนพาหนะตู้ปลานี้ทั้งหมด 10 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งที่ปลาทองสามารถควบคุมและนำทางพาหนะดังกล่าวไปถึงจุดหมายปลายทางซึ่งก็คือกำแพงอีกด้านหนึ่งของห้องที่ทีมวิจัยกำหนดไว้โดยมีป้ายสีเป็นสัญลักษณ์แสดงอยู่ เหล่าโชเฟอร์ปลาทองก็จะได้รับอาหารเป็นรางวัลตอบแทน

ชาชาร์ กิวอน (Shachar Givon) หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เป็นเรื่องน่าประหลาดใจมากที่ปลาทองในการศึกษานี้ใช้เวลาเพียงไม่นานในการเรียนรู้เทคนิคการควบคุมและขับเคลื่อนพาหนะด้วยการว่ายไปมาและเปลี่ยนตำแหน่งของตัวเองในถังปลาด้านบน

ถึงแม้ในตอนแรกเหล่าโชเฟอร์ปลาทองในการทดลองดูจะสับสนอยู่บ้างและไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ปลาทองเหล่านี้ก็ปรับตัวได้ไวและรู้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนไหวไปมาของพวกมันกับทิศทางของพาหนะทดลองเพื่อมุ่งหน้าไปยังที่หมายเพื่อให้ได้รางวัลตอบแทน

นอกจากนี้ ทีมวิจัยอิสราเอลยังพบว่า ปลาทองบางตัวสามารถขับเคลื่อนพาหนะได้ดีกว่าเพื่อนฝูงเสียด้วย

โรเกน เซเกฟ (Ronen Segev) อาจารย์ด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาเปิดเผยด้วยว่า ปลาทองในการศึกษานี้มีทักษะในการ “ขับรถ” ที่แตกต่างกันไป โดยบางตัวสามารถขับรถได้ยอดเยี่ยม บางตัวควบคุมรถได้ปานกลาง และบางตัวก็ไม่ค่อยชำนาญในการขับเคลื่อนพาหนะเสียเท่าไหร่นัก

การศึกษาที่เปิดโลกใหม่เรื่องทักษะการขับเคลื่อนพาหนะของปลาทองนี้สะท้อนว่า ปลามีความสามารถด้านการรับรู้สำหรับการนำทางนอกเหนือจากสภาพแวดล้อมในน้ำตามธรรมชาติของพวกมัน และเป็นการเปิดโลกด้านองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับทักษะการนำทางที่จำเป็นของสัตว์ต่างๆ ด้วย

เซเกฟ เพิ่มเติมว่า มนุษย์เราอาจคิดว่าตัวเองนั้นแสนพิเศษ และหลายคนอาจคิดว่าปลานั้นเป็นแค่สัตว์ทั่วๆไป แต่แท้จริงแล้วยังมีสัตว์อีกมากมายที่มีทักษะซึ่งมีความสำคัญและมีความชาญฉลาดอยู่อีกมาก

และดูเหมือนว่าการศึกษานี้จะไม่หยุดอยู่แค่ปลาทองเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ทดสอบกับหนู สุนัข และปลาชนิดอื่นๆ มาแล้ว

โดยการศึกษาปลาทองขับรถครั้งนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Behavioral Brain Research ซึ่งทีมวิจัยเห็นว่ายังต้องมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อขยายผลด้านทักษะของสัตว์ในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนขึ้น รวมทั้งการศึกษาในอนาคตที่อาจต้องมีการทดสอบว่าสัตว์บกจะสามารถนำทางในน้ำได้ด้วยหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook