ไม่เที่ยวแล้วบนโลก ยุคนี้ต้องเที่ยวอวกาศ! ทริปราคาหูฉี่ที่มีคนยอมจ่าย

ไม่เที่ยวแล้วบนโลก ยุคนี้ต้องเที่ยวอวกาศ! ทริปราคาหูฉี่ที่มีคนยอมจ่าย

ไม่เที่ยวแล้วบนโลก ยุคนี้ต้องเที่ยวอวกาศ! ทริปราคาหูฉี่ที่มีคนยอมจ่าย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นเวลากว่า 6 ทศวรรษแล้ว ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีบนโลกใบนี้ (ในช่วงเวลานั้น) สามารถนำพา “มนุษย์” ให้เดินทางขึ้นไปสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรก ซึ่งหลายคนอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่ามนุษย์คนแรกที่ได้เดินทางขึ้นไปสู่ห้วงอวกาศและวงโคจรโลก ทั้งยังสามารถเดินทางกลับสู่โลกได้อย่างปลอดภัยนั้นเป็นใคร!

มนุษย์คนแรกที่เป็นตำนานของโลกและแวดวงการศึกษาอวกาศ คือ “ยูริ กาการิน” (Yuri Gagarin) นักบินอวกาศชาวโซเวียต ผู้เดินทางไปอวกาศด้วยยาน Vostok I เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2504 (1961) หากนับถึงปัจจุบันเวลาก็ล่วงเลยมาถึง 61 ปี เหตุการณ์นั้นนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการการบินอวกาศสากล จนทำให้เกิดการแข่งขันด้านอวกาศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักบินอวกาศก็ยังคงทำงานอย่างเต็มที่เพื่อศึกษาข้อมูลที่น่าสนใจของอวกาศ และไขความลับต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือวงโคจรของโลกใบนี้

จากเป้าหมายเดิมของการสำรวจอวกาศ ที่เน้นหาคำตอบของข้อสงสัยและไขความลับของสรรพสิ่งที่อยู่นอกวงโคจรของดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ ทว่าในเวลาไม่ถึงศตวรรษ นับตั้งแต่มนุษยชาติประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์กลุ่มแรก ๆ ออกไปนอกวงโคจรของโลก ปัจจุบันเรื่องของอวกาศไปไกลกว่านั้นมากแล้ว เพราะทุกวันนี้มันกลายเป็นเรื่องของ “ธุรกิจท่องเที่ยว” ใช่แล้ว! ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ทำให้ “ทัวร์อวกาศ” หรือ “การเที่ยวนอกโลก” เป็นจริงขึ้นมา โดยการท่องเที่ยวอวกาศในเชิงพาณิชย์เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2021 แล้ว!

สำหรับการท่องเที่ยวอวกาศ คือ การเดินทางขึ้นไปยังอวกาศ หรือก็คืออาณาเขตที่อยู่นอกโลก เพื่อนันทนาการ การพักผ่อน และธุรกิจ ปัจจุบันมีบริษัทท่องเที่ยวอวกาศหลายบริษัทที่ทำธุรกิจพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวนอกโลกจริงจัง ดังนั้น ในยุคนี้ คำพูดที่บอกว่า “จะไปเที่ยวนอกโลก” จึงไม่ใช่คำพูดเพ้อฝันเลอะเทอะอีกต่อไปแล้ว หากติดตามข่าวสาร ก็จะทราบว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปเที่ยวนอกโลกมาแล้วและก็กลับกันมาแล้วจริง ๆ คือ SpaceX ที่ได้ปล่อยเที่ยวบินโดยสารลูกค้าเอกชนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา ในชื่อภารกิจ Ax-1 หรือ Axiom-1

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเดินทางไปเที่ยวนอกโลกคงไม่ได้ทำได้ง่าย ๆ แบบที่นึกอยากจะไปก็เก็บกระเป๋าแล้วออกเดินทางเหมือนการเที่ยวบนโลกปกติ เอาเข้าจริง ขนาดการเดินทางเที่ยวรอบโลกก็ยังไม่ใช่กิจกรรมดาษดื่นแค่คิดอยากจะไปก็ไปได้เลย มันมาพร้อมกับ “ค่าใช้จ่ายมูลค่ามหาศาล” และความอันตรายในรูปแบบที่หาไม่ได้บนโลก ทว่ามันก็เป็นการเดินทางที่เพื่อนร่วมโลกของเราหลายคนยอมจ่าย

เที่ยวนอกโลก คนธรรมดาทั่วไปก็ไปได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบินอวกาศ

ว่ากันตามจริง ทริปเที่ยวนอกโลกก็ดูจะเป็นการเที่ยวที่ใคร ๆ ก็อยากจะลองเดินทางไปดูกับตาตัวเอง เพราะมันก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่ครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้บอกกับใคร ๆ ว่าเคยไปเที่ยวนอกโลกมาแล้ว แบบเดียวกับการโอ้อวดว่าได้ไปเที่ยวต่างประเทศที่นั่นที่นี่นั่นแหละ ถึงอย่างนั้น การไปเที่ยวต่างประเทศ ประเทศไหน ๆ ก็อาจจะไม่ได้แตกต่างกันมากหากมองว่าเป็นระบบนิเวศที่มนุษย์อาศัยอยู่ ในทางกลับกัน คนทั่วไปต่างก็ไม่มีภาพในหัวหรอกว่าอวกาศเป็นอย่างไรเพราะไม่เคยเห็นหรือมีประสบการณ์สัมผัสด้วยตาตัวเอง เนื่องจากในอดีตมีเพียงมนุษย์ไม่กี่คนที่ได้มีโอกาสอยู่ (ทำงาน) นอกโลก นี่แหละ ความแตกต่างมันอยู่ตรงนี้ มันจึงเป็นเรื่องที่วิเศษมากหากเราเคยไปนอกโลกมาแล้ว

ซึ่งในเวลานี้ ความฝันของมวลมนุษยชาติที่จะได้ไปนอกโลกก็เข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือจะบอกว่ามันกลายเป็นความจริงสำหรับคนบางคนไปแล้วก็ได้เช่นกัน บางคนที่ว่าเป็นคนทั่วไป ไม่ใช่นักบินอวกาศโดยอาชีพ ได้ลองนั่งจรวดและหลุดออกไปนอกวงโคจรของโลกมาแล้ว ได้เห็นกับตาว่าห้วงอวกาศเป็นอย่างไร ได้สัมผัสกับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง ที่มวลสารทุกอย่างเบาหวิวไร้น้ำหนักล่องลอยกระจัดกระจายไปทั่ว ซึ่งในความเป็นจริง มนุษย์โลกไม่มีวันจะได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้แน่ ๆ หากใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินใบนี้

อย่างไรก็ดี หากคิดฝันอยากจะไปเที่ยวอวกาศ มันก็มีลักษณะร่วมกับการเที่ยวบนโลกนี่แหละ คือ “ต้องมีเงิน” เงินก้อนอภิมหาศาล ไม่ใช่เงินก้อนหลักหมื่นแบบที่เก็บไปเที่ยวยุโรปหรืออเมริกาอย่างแน่นอน หากอ้างอิงจากเหล่าเศรษฐีที่ไปเที่ยวนอกโลกกันมาแล้ว หลักล้านก็เอาไม่อยู่ด้วยซ้ำไป

ถึงอย่างนั้น ไม่ใช่แค่มีเงินมหาศาลอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะสามารถไปท่องเที่ยวอวกาศ ไปเห็นทัศนียภาพของโลกได้ เพราะการจะไปอวกาศที่สภาพแวดล้อมแตกต่างจากโลกมากมันก็มีมาตรฐานของมันอยู่ ในเรื่องของสภาพร่างกายที่ต้องสมบูรณ์แข็งแรง หลัก ๆ คือต้องผ่านการฝึกฝนการใช้ชีวิตในสภาวะที่ไร้น้ำหนักมาก่อน

ปัจจุบัน การท่องเที่ยวอวกาศสำหรับคนธรรมดาทั่วไป (ที่มีเงิน) มีด้วยกัน 2 แบบ คือ

  • การท่องเที่ยวทางอวกาศแบบวงโคจร (Suborbital flight) เป็นการบินขึ้นไปในทางตรง ไม่ได้มีการโคจรรอบโลก (ขึ้นไปในแนวดิ่ง) บริษัทที่ให้บริการการท่องเที่ยวลักษณะนี้ ได้แก่ Scaled Composites, Virgin Galactic และ Blue Origin
  • การท่องเที่ยวทางอวกาศแบบโคจรหลัก (Orbital space tourism) เป็นการบินสู่วงโคจรโลก ข้อมูลระบุว่าปัจจุบันจะเพียง Space Adventures และ SpaceX เท่านั้นที่ทำได้

บริษัทไหนบ้างที่มีความสามารถพาคุณไปอวกาศ (ถ้าคุณมีเงินจ่าย)

ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศมีการแข่งขันกันมาระยะหนึ่งแล้ว จากการที่หลาย ๆ บริษัทที่เป็นกลุ่มผู้เล่นแรก ๆ ในสนามนี้พยายามที่จะพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการพาผู้โดยสารที่เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่นักบินอวกาศขึ้นไปสู่อวกาศให้ได้ ในปี 2021 พบว่ามีบริษัทที่มีความพร้อมในด้านนี้อยู่จำนวน 6 บริษัท ที่จะพาคุณไปเที่ยวอวกาศได้ ขอเพียงแค่คุณมีเงินมากพอที่จะซื้อตั๋วราคาหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ

Virgin Galactic เป็นบริษัทที่จะพาคุณไปทัวร์อวกาศระยะสั้น โดยจะพาคุณบินขึ้นไปที่ความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเล ทว่าเป็นที่ที่จะได้สัมผัสกับสภาวะไร้น้ำหนัก และเห็นทัศนียภาพของโลกในฐานะดาวเคราะห์สีน้ำเงิน แม้จะเป็นเวลาไม่กี่นาที คุณแค่ต้องมีเงินค่าตั๋วประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมค่าธรรมเนียมในการจองคิวอีก 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

SpaceX เป็นบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวกับการขนส่งทางอวกาศในหลายแบบ ทั้งบริการปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศ บริการพานักบินไปปฏิบัติการที่สถานีอวกาศนานาชาติ แต่เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวจริงจัง SpaceX มีโปรเจกต์ที่ใช้ชื่อว่า dearMoon ซึ่งเป็นเที่ยวบินแบบส่วนตัวพาชมรอบดวงจันทร์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 6 วัน โดยโปรเจกต์ได้รับการสนับสนุนจาก Yusaku Maezawa มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่น

Axiom Space เดิมเป็นบริษัทที่รับงานก่อสร้างส่วนประกอบของสถานีอวกาศเชิงพาณิชย์บนสถานีอวกาศนานาชาติ โดยมี  NASA เป็นผู้ว่าจ้าง โดยส่วนประกอบส่วนนี้ก็จะใช้สำหรับอยู่อาศัยเพื่อรองรับการท่องเที่ยว รวมถึงมีการต่อเติมในส่วนของห้องวิจัยสำหรับบริษัทเอกชน และส่วนที่ให้ชมวิวอวกาศแบบ 360 องศาอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ในความร่วมมือกับ SpaceX เช่นกัน

Blue Origin บริษัทของมหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง Amazon อย่าง Jeff Bezos ลักษณะเป็นทัวร์ระยะสั้น ๆ คล้ายกับ Virgin Galactic บินรอบวงโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลไม่กี่นาทีก่อนกลับมายังโลก

Boeing เราอาจคุ้นหูกับเครื่องบินโบอิ้งที่บินให้บริการบนโลก แต่จริง ๆ แล้วโบอิ้งก็ทำในส่วนของยานอวกาศเช่นกัน ในปี 2021 Boeing เตรียมที่จะทดสอบปล่อยยาน Boeing Starliner ซึ่งเป็นยานอัตโนมัติไร้คนขับ มีเป้าหมายในการพานักบินไปส่งถึงสถานีอวกาศนานาชาติ

Space Adventures เป็นอีกบริษัทที่ผ่านประสบการณ์ให้บริการเที่ยวบินส่วนตัวไปยังสถานีอวกาศนานาชาติมาแล้ว อย่างการบินด้วยยานอวกาศโซยุซ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2021 เป็นจะเป็นการพานักธุรกิจชาวญี่ปุ่น 2 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งค่าเดินทางอยู่ที่คนละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ใน รายงานตลาดการท่องเที่ยวอวกาศทั่วโลก 2022 มีการปรากฏชื่อของบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ลงเล่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอวกาศ ได้แก่

  • Airbus Group SE
  • Axiom Space
  • Blue Origin
  • Boeing
  • Orion Span
  • Space Adventures
  • SpaceX
  • Virgin Galactic
  • Zero2Infinity
  • ZERO-G

เที่ยวนอกโลก เที่ยวที่ไหน ยังไง

หลายคนอาจมีคำถามว่าออกไปเที่ยวนอกโลก นอกจากไปสัมผัสกับบรรยากาศความเป็นนอกโลก ทดลองอยู่ในสภาวะไร้น้ำหนักที่ทุกอย่างเบาหวิวจนล่อยได้ ไปเยี่ยมชมสถานีอวกาศ หรือแค่อยากมองเห็นโลกจากข้างนอกในมุมของดาวเคราะห์ทรงกลมสีน้ำเงินดวงหนึ่งก่อนที่กลับมายังพื้นโลก การเที่ยวอวกาศ ยังจะไปที่ไหนได้อีก เรื่องนี้อยู่ที่ความทะเยอะทะยานอย่างไม่หยุดหย่อนของบรรดาเจ้าของบริษัททัวร์อวกาศ ว่าพวกเขามีความฝันสูงสุดคืออะไร แล้วจะตอบสนองอะไรลูกค้าบ้างในฐานะที่ยอมจ่ายเงินมหาศาลให้ขนาดนั้น

อย่าง SpaceX อาณาจักรอีกแห่งหนึ่งของ Elon Musk นอกจากการสร้างรถพลังงานไฟฟ้าใช้บนโลก เขายังมีความฝันสูงสุดที่อยากเปิดเที่ยวบินเช่ายานอวกาศแบบเหมาลำ สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวไปยังดวงจันทร์และดาวอังคาร ลองนึกภาพมนุษย์โลกสวมชุดเหมือนนักบินอวกาศ เดินย่อง ๆ กึ่งล่องลอยกันเป็นหมู่คณะบนดวงจันทร์และดาวอังคารดูสิ! รวมถึงความพยายามที่จะย้ายถิ่นฐานมนุษย์ส่วนหนึ่งไปอยู่บนดาวอังคาร เขาอยากที่จะไปสร้างดินแดนใหม่บนดาวเคราะห์สีแดงดวงนั้นเลยด้วยซ้ำไป! โดยใช้ยานพาหนะของบริษัทเขานี่แหละในการลำเลียงทุกอย่างขึ้นไปอวกาศ

การไปเที่ยวอวกาศก็ยังเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนทั่วไป

แม้ว่าปัจจุบัน คนธรรมดาที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และนักบินอวกาศจะสามารถขึ้นไปสัมผัสอวกาศได้แล้ว แต่คนธรรมดานั้นก็จะต้องเป็น “มหาเศรษฐี” ด้วย ต้องมีเงินร้อยล้านพันล้าน (ดอลลาร์สหรัฐ) เพราะฉะนั้น หากเรายังเป็นมนุษย์เงินเดือนที่แค่จะลาพักร้อนไปเที่ยวต่างจังหวัดก็ยังยากเลย แถมต้องเก็บออมเงินใส่กระปุกนานหลายเดือนกว่าจะได้เที่ยว อวกาศก็ยังคงเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรามากเกินไปอยู่ดี สำหรับใครหลายคน มันอาจเป็นความฝันที่เป็นจริง แต่กับอีกหลาย ๆ คนที่เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ คงทำได้แค่ฝันถึงต่อไป

ความสำเร็จของบริษัทต่าง ๆ ที่สามารถทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศที่เคยเป็นเพียงฝันจนเป็นจริงได้นั้น เป็นสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่การท่องเที่ยวอวกาศกลายเป็นเรื่องปกติ (ของคนมีเงินเยอะ) ในไม่ช้านี้ ต้องบอกว่าเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้คนธรรมดาสามารถเข้าใกล้การเดินทางไปยังอวกาศแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในอนาคตที่การท่องเที่ยวจะไม่ถูกจำกัดอยู่แค่บนพื้นโลกก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด ซึ่งมันก็คงจะมีผลทำให้ทริปท่องเที่ยวอวกาศจะมีราคาลดลง (แต่ก็ใช่ว่าใครจะไปก็ได้) ยุคแห่งการท่องเที่ยวอวกาศเริ่มต้นขึ้นแล้ว ถ้าอยากตามยุคสมัยให้ทันล่ะก็ ลองเปลี่ยนแผนจากเก็บเงินเที่ยวยุโรปหรืออเมริกา ไปเป็นการเที่ยวอวกาศแทนดูก็ดีเหมือนกัน!

แต่ก็อย่างว่าแหละนะ แค่เห็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยังอวกาศ เชื่อว่าหลายคนจะปล่อยให้การเดินทางเที่ยวนอกโลกเป็นแค่ความฝันต่อไป มุมานะเก็บเงินเที่ยวยุโรปเที่ยวอเมริกาแบบเดิมสบายใจกว่าเยอะเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook