เทคนิคการถ่ายภาพแบบ ชัดตื้น/ชัดลึก

เทคนิคการถ่ายภาพแบบ ชัดตื้น/ชัดลึก

เทคนิคการถ่ายภาพแบบ ชัดตื้น/ชัดลึก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ภาพชัดตื้นหรือลึก (shallow/deep depth of field) คำว่าตื้น/ลึกหมายถึงช่วงความลึกของภาพที่จะคมชัดนั่นเอง ลองนึกถึงสถานการณ์สองแบบ แบบแรกคุณอยากถ่ายรูปคนครึ่งตัว โดยต้องการให้คนในรูปเด่นกว่าวิวด้านหลัง ไม่ว่าวิวด้านหลังจะเป็นฝาผนังห้องสีหม่นๆ หรือมีของอะไรก็ไม่รู้รกรุงรังไปหมด หรือมีคนเดินไปเดินมา ที่อาจจะทำให้ภาพออกมาดูไม่ดี เราก็อยากเน้นให้คนที่เราถ่ายชัดๆ ในขณะที่ภาพด้านหลังเบลอๆ แบบนี้เราควรจะถ่ายภาพแบบชัดตื้น นั่นคือช่วงความลึกที่ภาพจะชัดจะน้อย อีกสถานการณ์หนึ่ง คุณไปเที่ยวเจอวิวทิวทัศน์สวยๆ อยากถ่ายเก็บรูปวิวให้คมชัดทุกส่วน ไม่งั้นเดี๋ยวแม่น้ำชัดแต่ภูเขาด้านหลังมัว ไม่ก็ป้ายดิสนีย์ชัด แต่ตึกที่เป็นลวดลายการ์ตูนกับมัว ภาพก็ขาดความน่าสนใจไป แบบนี้เราต้องเลือกถ่ายแบบชัดลึก นั่นคือไม่ว่าของอะไรอยู่ห่างจากกล้องแค่ไหนก็จะชัดหมด (เลนส์แต่ละตัวจะมีสเปกว่าระยะโฟกัสต่ำสุดมีค่าเท่าไร นั่นหมายความว่าของที่อยู่ใกล้เกินไปอาจโฟกัสไม่ได้ แต่ของที่อยู่ห่างกว่านั้นสามารถโฟกัสชัดหมด) การถ่ายภาพชัดเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะให้ชัดตื้นหรือชัดลึกจะเป็นสิ่งที่ทำให้คนดูเข้าใจว่าคนถ่ายต้องการสื่ออะไรในรูปบ้าง ตัวอย่างภาพ มาดูตัวอย่างกันดีกว่า รูปนี้ถ่ายกุหลาบแห้งบนโต๊ะที่มีข้าวของวางเต็มไปหมด ผมไม่อยากให้คุณรู้ว่าโต๊ะรกแค่ไหน ก็เลยตั้งถ่ายชัดตื้นไว้ โดยโฟกัสที่ subject คือช่อกุหลาบ ด้วยวิธีนี้เวลาคนมองก็จะเห็นภาพดอกกุหลาบเป็นจุดเด่นของภาพ รู้สึกว่าภาพมีมิติมากขึ้น และละความสนใจของฉากไปได้เยอะ แล้วจะถ่ายยังไง สำหรับคนที่เริ่มถ่ายรูป จำง่ายๆว่ายิ่งเปิดหน้ากล้องกว้าง ภาพยิ่งชัดตื้น เปิดหน้ากล้องแคบลง ภาพจะชัดลึก (จริงรายละเอียดมีมากกว่านี้ เอาไว้ผมจะมาอธิบายเรื่อง exposure ภายหลัง เรื่องมันยาว) การตั้งการเปิดหน้ากล้อง จะสังเกตจากตัวเลขที่ตามหลังค่า f อย่างเช่น f/2.2, f/4.6, f/1.8 ที่ผมเขียนกำกับแต่ละรูปข้างบน โดยค่าตัวเลขยิ่งน้อย ภาพจะชัดตื้น ค่ายิ่งมาก ภาพจะชัดลึก ดังนั้นถ้าต้องการถ่ายภาพชัดตื้น ก็ตั้งการเปิดหน้ากล้องด้วยค่า f ให้ต่ำๆเท่าที่เลนส์จะตั้งได้ เช่น f/1.8, f/2.8 ในขณะที่ถ้าถ่ายวิวทิวทัศน์ ควรตั้งค่า f สูงๆ เช่น f/8.0 ขึ้นไป เลนส์ที่ดีๆ(และทำให้ราคาแพง) มีช่วงในการตั้งค่า f ได้กว้าง เลยทำให้สามารถถ่ายภาพได้หลากหลายขึ้น แต่ถ้ากล้องคุณไม่สามารถตั้งค่า f ได้เองล่ะ อาจใช้วิธีการเซตโหมดการถ่ายรูปเอา อย่างเช่นโหมด landscape ที่มีสัญลักษณ์เป็นรูปภูเขา กล้องจะตั้งไปที่โหมดชัดลึก ในขณะที่ถ้าอยากถ่ายชัดตื้น ลองตั้งไปที่โหมด portrait สัญลักษณ์เป็นหน้าคน หรือมาโคร สัญลักษณ์ดอกไม้ ก็อาจจะทดแทนกันได้ ถ่ายชัดตื้นโฟกัสที่ตรงไหน ถ้าถ่ายชัดลึก ทุกจุดของภาพควรจะต้องชัดหมด ดังนั้นโฟกัสตรงไหนก็ไม่ควรแตกต่างกัน ปกติเค้าก็จะโฟกัสที่ตรงกลางภาพ แต่การโฟกัสภาพชัดตื้นจะท้าทายกว่า เพราะถ้าโฟกัสผิดตำแหน่ง ภาพก็จะเบลอง่าย จำไว้ว่าเวลาถ่ายหน้าคน จุดที่คนมักจะมองก่อนคือดวงตา ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ควรโฟกัสที่ตำแหน่งตาแล้วค่อย recompose ภาพอีกที ข้อควรระวังในการถ่ายชัดตื้น เนื่องจากภาพชัดตื้นมีความลึกของภาพที่จะคมชัดน้อย ถ้าไม่จัดภาพดีๆอาจทำให้คนดูคิดว่าภาพนี้เบลอได้ ดังนั้นการวางองค์ประกอบของภาพเป็นเรื่องสำคัญ มาดูตัวอย่างรูปถ่ายน้องสามคนในภาพ ที่แต่ละรูปโฟกัสที่แต่ละคน ดังนี้ รูปแรกโฟกัสที่น้องปอที่นั่งขวามือ รูปกลางที่น้องวิวที่นั่งตรงกลาง รูปสุดท้ายน้องโอที่อยู่ทางซ้ายมือ จะเห็นว่าโฟกัสที่ใครคนนั้งชัดแต่คนที่เหลือจะมัว รูปแรกเป็นรูปที่ดูออกมาดีที่สุด เพราะคนที่ชัดอยู่ด้านหน้าของภาพและเป็นจุดที่คนจะสังเกตก่อน การที่คนอื่นมัวทำให้คนที่นั่งหน้าสุดเด่นขึ้น ภาพที่สองแม้คนกลางชัดแต่คนหน้าจะมัว ทำให้ถ้าไม่สังเกต จะไม่รู้ว่าเราต้องการเน้นคนกลาง ยิ่งภาพสุดท้ายสองคนขวามือมัวเพราะเราไปโฟกัสคนหลัง ถ้ามองผ่านๆจะนึกว่าภาพทั้งภาพมัวไปเลย ดังนั้นการโฟกัสควรจะเน้นให้ subject ที่เราต้องการเน้นอยู่ด้านหน้า (หรือมีพื้นที่ในภาพมากกว่าองค์ประกอบอื่น) ในขณะที่เราอาจจะวางตำแหน่ง subject อยู่ตรงกลางหรือเยื้องข้างๆก็ได้ แต่อย่าให้อยู่ขอบเกินไป ก็จะได้ภาพที่ทำให้คนดูรู้ว่าเราต้องการถ่ายเน้นอะไร ตำแหน่งไหนแทนที่จะคิดว่าภาพนั้นเบลอ โต๊ะเก้าอี้ที่ตึกสหกรณ์ Illini วันหิมะตก ถ่ายที่ 1/800sec f/8.0 เปิดหน้ากล้องแคบเพื่อให้โต๊ะที่อยู่ที่ความลึกแตกต่างกันชัดเหมือนๆกัน แล้วเมื่อไหร่ควรจะถ่ายภาพชัดตื้น/ชัดลึก ถ้าของทุกอย่างในภาพอยู่ที่ระดับความลึกเท่ากันหมด ถ่ายชัดตื้นหรือลึกก็ไม่มีความแตกต่าง แต่ถ้า subject ในภาพแต่ละชิ้นอยู่ที่ความลึกแตกต่างกัน เราควรจะใช้หลักยังไง หลักง่ายๆคืออยากเน้นอะไรก็ถ่ายให้ตรงนั้นชัด ถ้าเน้น subject ไม่ว่าจะเป็นคน ดอกไม้ แมลง ก็ถ่ายชัดตื้น โดยจัดให้ subject ที่ชัดในภาพกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพ เวลาคนดูมองภาพ สายตาจะได้มองไปที่ subject นั้นๆ แต่ถ้าต้องการถ่ายเน้นวิวก็ควรถ่ายแบบชัดลึกจะได้เห็นรายละเอียดของภาพครบ เอ๊ะแล้วถ้าคนก็อยากเน้น วิวก็สวย จะถ่ายแบบไหนดี คำตอบคือ แล้วแต่ความพอใจคุณเองครับ ข้อควรระวังของการถ่ายชัดตื้นคือ การถ่ายรูปคู่ที่คนสองคนในภาพอยู่คนละระนาบความลึก ถ้าตั้งกล้องชัดตื้นไป อาจทำให้คนใดคนหนึ่งชัด อีกคนมัวโดยไม่ได้ตั้งใจ บางครั้งเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเปิดหน้ากล้องกว้าง เช่น ถ่ายในห้องที่ไม่สว่างมาก ควรจะแนะนำให้คนที่อยู่ในภาพยืน/นั่งห่างจากกล้องเท่าๆกัน ถ้าทำไม่ได้อาจจำเป็นต้องใช้แฟลชช่วย จะได้ไม่ต้องเปิดหน้ากล้องกว้างเกินไป ทุกคนในภาพจะได้ชัดตามที่เราต้องการ หวังว่าบทความอันนี้จะเป็นไอเดียให้คุณถ่ายภาพสวยๆได้ไม่มากก็น้อยนะครับ นอกจากนี้ผมขอขอบคุณนายแบบนางแบบทุกคนมาไว้ ณ ที่นี่ด้วยครับ ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก http://camera.thaiza.com

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ เทคนิคการถ่ายภาพแบบ ชัดตื้น/ชัดลึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook