คนสื่อเตรียมรับผลกระทบอินเทอร์เน็ตต่องานสื่อสารมวลชน

คนสื่อเตรียมรับผลกระทบอินเทอร์เน็ตต่องานสื่อสารมวลชน

คนสื่อเตรียมรับผลกระทบอินเทอร์เน็ตต่องานสื่อสารมวลชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่ออินเทอร์เน็ต หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า โลกออนไลน์ เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนผู้คนมากขึ้นย่อมต้องส่งผลกระทบต่อวงการต่างๆ ไม่มากก็น้อย หรือ แม้กระทั่งวงการสื่อสารมวลชนดังจะเห็นได้จากทรรศนะของวิทยากรผู้คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงสื่อสารมวลชนที่ได้มาสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนในโลกอนาคต บนเวทีการสัมมนาที่จัดโดยบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ อ.ส.ม.ท. ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ที่ได้นำเสนอไปเมื่อครั้งที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของการสัมมนาที่ IT-Digest ได้นำเสนอไปแล้ว ยังไม่จบลงเพียงแค่นั้น ดังนั้น ในครั้งนี้ เราจะนำเสนอเนื้อหาจากการสัมมนาในส่วนที่เหลือกันต่อ พร้อมทั้งมุมมอง ความคิดเห็นและกรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาโดยผู้เข้าร่วมการสัมมนา ทั้งจากในส่วนของผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ เว็บไซต์และสถาบันการศึกษา ในฐานะผู้ผลิตบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนเข้าสู่ตลาดวิชาชีพทุกๆ ปี

วันนั้น นายปรเมศร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทยและเจ้าของเว็บไซต์กระปุกดอทคอม กล่าวเอาไว้บนเวทีสัมมนาว่า เห็นด้วยที่ว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อเสริมจากหนังสือพิมพ์ วิทยุและทีวี แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า คนทั่วโลกจะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพื่อดูทีวี แต่สำหรับประเทศไทยนอกจากอินเทอร์เน็ตจะเป็นสื่อเสริมแล้วยังจะเป็นสื่อฉุกเฉินอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากเมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่สื่อหลักไม่สามารถให้ความกระจ่างได้คนไทยจะเข้าไปหาข้อเท็จจริงในอินเทอร์เน็ต

ช่วงเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน เครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรด เซ็นเตอร์ ซีเอ็นเอ็นได้ปรับเว็บไซต์เป็นเท็กซ์หมดเลยเพื่อให้เข้าได้เร็วขึ้นตามความต้องการของคนที่ไม่รู้เกิดอะไร ส่วนในไทยวันที่ 19 กันยายน ช่วงทีวีมีรายการไม่ปกติคนก็จะเข้าไปหาข้อมูลในเว็บ และอะไรที่ไม่สามารถเผยแพร่ทางสื่อปกติได้ ทางทีวีได้ ไม่สะดวกที่จะออกก็จะมาออกทางเว็บ นายก ส.ผู้ดูแลเว็บฯ กล่าว และว่า ด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันยังทำให้คนนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตมากด้วย

นายปรเมศร์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตจะแพร่หลายมากกว่าที่ผ่านมา แต่ปลายปีนี้ เราอาจจะได้เห็นไวแมกซ์ หรือ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย ที่เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งอันจะทำให้จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น เพราะอินเทอร์เน็ตสามารถวิ่งเข้าถึงผู้ใช้งานจุดสุดท้าย หรือ ผู้ใช้งานตามบ้าน ได้เลย โดยไม่ต้องวางโครงข่าย หรือ รอให้สายโทรศัพท์เข้าถึง เพียงเสาไวแมกซ์ประมาณ 2,500 ต้น ก็น่าจะครอบคลุมทั่วประเทศ

นายก ส.ผู้ดูแลเว็บฯ ยังกล่าวถึงแนวโน้มของอินเทอร์เน็ตในอนาคตว่า เทคโนโลยีเว็บ 2.0 จะเปลี่ยนมุมมองของคนทำเว็บจากการเป็นถังใส่ข้อมูลเป็นการแบ่งให้ทำแอพลิเคชันบนเว็บไซต์ สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยน แปลงไป คือ ทำให้ตัวเองกลายเป็นสื่อและทำสื่ออกมาหลากหลาย รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายคนเชื่อมเข้ากับคนผ่านเครือข่าย เช่น บล็อกและไดอารี่ อันเป็นสื่อใหม่ที่ในอนาคตมีแนวโน้มจะเป็นสื่อที่มีพลังสูง

ส่วน ดร.อนุภาพ ถิรลาภ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารสื่อสารไทย มองว่า สื่อสารมวลชนในโลกอนาคตเป็นธุรกิจที่อาจ จะเจ๊งได้แม้ในโลกนี้ สื่อทีวีและวิทยุจะไม่เคยเจ๊งเลย สำหรับสาเหตุที่อาจจะทำให้สื่อสารมวลชน โดยเฉพาะทีวีและวิทยุเจ๊งนั้น เป็นเพราะการแพร่ภาพและรับฟังเสียงเริ่มมีสื่ออื่นๆ เข้ามาทดแทน แต่ในประเทศที่เริ่มปฏิรูปแล้วจะปรับตัวและยังแข่งขันได้ โดยต้องทำไปทั้งด้านโครงข่าย เนื้อหาและการบริหาร

ผู้อำนวยการสถาบันบริหารสื่อสารไทย แสดงความเห็นต่อว่า ในอนาคตโครงข่ายการสื่อสารจะเหลือเพียงโครงข่ายเดียวโดยไม่มีการแยกการออกอากาศออกมา แต่จะเป็นหนึ่งในโครงข่ายการสื่อสาร รวมทั้งเป็นไร้สายทั้งไวร์เลส หรือ โมบายมากขึ้น ส่วนเนื้อหาจะเป็นตัวชี้ขาดของกำไร คือ การฉายซ้ำของเนื้อหา เพราะแม้วันนี้ ถ้าทำรายการเท่ากันก็ขายได้ แต่ถ้าช่องทางการออกอากาศหมดข้อจำกัดไป ตรงนี้ จะเป็นปัญหาใหญ่ทันที

นอกจากนี้ ดร.อนุภาพ ยังบอกว่า ในอนาคตธุรกิจการสื่อสารมวลชนจะแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในสื่อทีวีและวิทยุที่จะมีผู้แข่งขันหน้าใหม่เยอะมาก เช่น ทีวีและวิทยุผ่านดาวเทียม นอกจากนั้น ผู้ผลิตสื่อจากต่างประเทศก็จะเป็นคู่แข่งที่น่าสนใจ ไม่นับรวมถึงผู้ผลิตเนื้อหาและผู้จัดรายการที่จะเป็นคู่แข่งกับเจ้าของฟรีทีวี เพราะคนกลุ่มนี้ จะสามารถลงทุนเปิดฟรีทีวี หรือ สื่ออื่นๆ เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญในการผลิตได้

พร้อมกับภาวะเช่นนี้ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารสื่อสารไทย มีความคิดเห็นว่า จำเป็นจะต้องแข่งขันกันที่การบริหารจัดการทั้งตัวสื่อและเนื้อหา เช่น การฉายซ้ำและการส่งขายต่างประเทศ แต่แน่นอนเมื่อมีการแข่งขันมากขึ้นเนื้อหาก็จะถูกกำกับมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่จะเข้มงวดมากน้อยแค่ไหนต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายที่กำลังมีการแก้ไข ส่วนกฎเกณฑ์ด้านโครงข่ายจะผ่อนคลายลงแน่นอน ขณะที่เรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องแสดงออกและรับผิดชอบ

ขณะที่ นางจำนรรค์ ศิริตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเอสแอล จำกัด ที่เข้าร่วมตลอดการสัมมนา กล่าวถึงการปรับตัวของผู้ผลิตรายการต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับวงการสื่อสารมวลชนในอนาคตว่า ผู้ผลิตคอนเทนท์ทีวีคงจะ ต้องปรับตัวและคิดไปถึงว่า จะมีสื่ออะไรเข้ามา โดยไม่ทำคอนเทนท์เพื่อทีวีอย่างเดียว รวมทั้งจะต้องดีไซน์และผลิตคอนเทนท์ให้เหมาะสมกับสื่อ เช่น ทีวีบนโทรศัพท์มือถือคอนเทนท์จะต้องมีขนาดใหญ่ สีสีนสดใสและชัดเจน

ส่วน นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้บริหารเครือเนชั่น เล่าถึงประสบการณ์ว่า หนังสือพิมพ์ยอดขายไม่เพิ่มนานแล้ว ส่วนรายได้จากโฆษณาก็ลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะโฆษณาย่อยเกี่ยวกับสมัครงาน เช่นเดียวกับต่างประเทศทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ที่เชื่อกันว่า อีก 3 ปีข้างหน้า โฆษณาผ่านอินเทอร์เน็ตจะแซงหนังสือพิมพ์ ดังนั้น สื่อและคนทำสื่อจะต้องทำตัวเป็นมัลติมีเดีย คือ มีเครื่องมือและพร้อมผลิตเนื้อหาสำหรับทุกสื่อ รวมทั้งสื่อออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก

ด้าน นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เล่าถึงการปรับตัวของสถาบันการศึกษาต่อความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับวงการสื่อสารมวลชนว่า ถึงเวลาแล้วที่สถาบันการศึกษาจะต้องหันมาผลิตบุคลากรให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง เพราะเมื่อดูแล้วยังปรับตัวช้าอยู่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตเอง และมหาวิทยาลัยอีกประมาณ 5-6 แห่ง ได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรหนังสือพิมพ์ออนไลน์และสื่อมัลติมีเดียอื่นๆ แล้ว

ทั้งหมดนี้ เป็นทรรศนะจากวิทยากรผู้คร่ำหวอดในแวดวงสื่อสารมวลชน พร้อมทั้งมุมมอง ความคิดเห็นและกรณีศึกษาที่ถูกหยิบยกขึ้นมาจากผู้ผลิตสื่อหนังสือพิมพ์ ทีวี วิทยุ เว็บไซต์และสถาบันการศึกษาต่อการปรับตัวเพื่อเตรียมรับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในยุคอินเทอร์เน็ต ที่ถือว่า เป็นธรรมดาของสรรพสิ่งในโลกที่จะต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพราะหากไม่ปรับตัวก็ต้องถดถอย โดยเฉพาะในยุคที่ผู้บริโภคมีสื่อทางเลือกมากขึ้น...

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ คนสื่อเตรียมรับผลกระทบอินเทอร์เน็ตต่องานสื่อสารมวลชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook