มารู้จักการ์ดหน่วยความจำ..กันดีกว่า

มารู้จักการ์ดหน่วยความจำ..กันดีกว่า

มารู้จักการ์ดหน่วยความจำ..กันดีกว่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
นอกจากที่เราจะอยู่ในโลกของดิจิตอลเราก็ยังคงต้องอยู่ในยุคสมัยของข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นการจะตัดสินใจ หรือจะทำอะไร ข้อมูลข่าวสารล้วนเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น แน่นอนที่สุดในเมื่อข้อมูล ข่าวสาร เป็นสิ่งสำคัญ การจะจัดเก็บ หรือบันทึกข้อมูล ก็ถือว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน ในอดีตเราบันทึกข้อมูลต่างๆด้วยการจดบันทึกลงในกระดาษ ต่อมาเมื่อเราใช้คอมพิวเตอร์เราก็บันทึกลงไปบนแผ่นดิสก์ แต่สำหรับในยุคนี้พ.ศ.นี้ การ์ดหน่วยความจำ หรือ"Flash Memory" ถูกนำมาใช้งานกับอุปกรณ์ดิจิตอลยุคใหม่แทบทุกจะประเภท ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ, กล้องดิจิตอล, พีดีเอ, เครื่องบันทึกเสียง ,เครื่องเล่นเพลง เป็นต้น ซึ่งเจ้าเครื่องมือเหล่านี้ จะขาดเรื่องของหน่วยบันทึกข้อมูล หรือหน่วยความจำไปไม่ได้ เพราะยิ่งนับวัน ขนาดของข้อมูลเหล่านั้น ก็จะมีขนาดใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรูปแบบของหน่วยความจำที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบันก็คือ การ์ดหน่วยความจำ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการผลิตการ์ดหน่วยความจำออกมาในรูปแบบต่างๆอย่างมากมาย เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญการ์ดหนวยความจำในสมัยนี้ ก็ดันมีหลายมาตรฐาน แถมยังมีหลายประเภท จนทำให้เราสับสนว่า การ์ดหน่วยความจำแบบไหน ประเภทใดที่เหมาะกับอุปกรณ์ของเรา หรือหลายครั้งที่เราเสียตังค์ควักกระเป๋าซื้อมาแล้วกลับใช้งานกับอุปกรณ์ของเราไม่ได้ ทำให้เราเสียตังค์ไปฟรีๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียตังค์ฟรี และให้เราเลือกซื้อการ์ดหน่วยความจำได้เหมาะสมกับการใช้งาน เรามาทำความรู้จักกับ การ์ดเหล่านี้กันดีกว่าว่า แต่ละตัวมีลักษณะ และมีคุณสมบัติอย่างไร คอมแพ็ค แฟลช หรือซีเอฟ การ์ด (Compact Flash Card/CF Card) คอมแพ็คแฟลช หรือซีเอฟ การ์ด ถูกพัฒนา และผลิตขึ้นครั้งแรกโดย บริษัท แซนดิสก์(SanDisk) ในปี ค.ศ.1994 คอมแพ็ค แฟลชนั้นเป็นการ์ดหน่วยความจำประเภทหนึ่งที่ถูกผลิตใช้งานมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของหน่วยความจำประเภท แฟลช เมมโมรี่ จึงถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุด และก็ยังถือว่าเป็นการ์ดหน่วยความจำชนิดหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ซีเอฟการ์ด มักจะถูกนำมาใช้กับกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพมากเป็นพิเศษ เพราะมีจุดเด่นในเรื่องของราคาที่ย่อมเยาว์กว่าเมื่อเทียบกับขนาดความจุที่ได้มา กับการ์ดหน่วยความจำประเภทอื่นๆ เอ็มเอ็มซีหรือมัลติมีเดีย การ์ด(MMC Card/MultiMediaCard) เอ็มเอ็มซีหรือมัลติมีเดีย การ์ด ถูกนำออกสู่สาธารณะชนครั้งแรกในปี ค.ศ.1997 โดย บริษัท Siemens AG และ SanDisk ซึ่ง เอ็มเอ็มซี การ์ด นั้นมีขนาดที่เล็กกว่าซีเอฟ การ์ด โดยขนาดของ เอ็มเอ็มซี การ์ด นั้นใกล้เคียงกับสแตมป์ไปรษณีย์ ในยุคแรกเอ็มเอ็มซี การ์ด นั้นใช้ Interface ในการโอนถ่ายข้อมูลแบบ 1-bit Serial แต่ต่อมาในเวอร์ชันใหม่ จะสามารถโอนถ่ายข้อมูลได้ 4 bits หรือ 8 bits ในเวลาเดียวกัน เอ็มเอ็มซี การ์ด นั้นสามารถนำไปใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ เอสดี การ์ด (SD Card) ได้ด้วย โดยอุปกรณ์ที่นำ เอ็มเอ็มซี การ์ด ไปใช้งานนั้นก็มักจะเป็นอุปกรณ์พกพาขนาดเล็กต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ, เครื่องพีดีเอ, เครื่องเล่นเพลง MP3 หรือกล้องดิจิตอล ซึ่งในปัจจุบันขนาดความจุสูงสุดของ เอ็มเอ็มซี การ์ด ที่มีวางจำหน่ายทั่วไปแล้วนั้นจะอยู่ที่ 2GB อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด(RS-MMC Card/Reduced Size MultiMediaCard) อาร์เอส-เอ็มเอ็มซีการ์ด เป็นการ์ดหน่วยความจำที่พัฒนาขึ้นมาด้วยพื้นฐานของ เอ็มเอ็มซี การ์ด ให้มีขนาดที่เล็กลงประมาณครึ่งหนึ่งในด้านยาว แต่ก็ยังมีความกว้างเท่าขนาดเดิม ซึ่งเอ็มเอ็มซี การ์ดนั้นนำมาใช้กับ โทรศัพท์มือถือ โนเกีย 7610 เป็นรุ่นแรก แต่ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ หลายรุ่นหลายยี่ห้อต่างก็หันมาใช้ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด แทนที่จะเลือกใช้ เอ็มเอ็มซี การ์ด และในอนาคตคาดว่าจะเข้ามาแทนที่ในที่สุด ในแง่ของการใช้งานปกตินั้นเราสามารถนำอาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด ไปใช้งานแทน เอ็มเอ็มซี การ์ด ได้ทันที เพราะโดยทั่วไปเมื่อคุณซื้อ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด มา ก็มักจะมีตัวแปลง หรือสล็อต(MMC Adapter) ขนาดเท่ากับ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด มาให้ด้วย ดีวี อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด (DV RS-MMC Card/Dual Voltage Reduced Size MultiMediaCard) หรือ เอ็มเอ็ม ซี โมบาย(MMC Mobile) ดีวีอาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด หรือ เอ็มเอ็มซี โมบาย นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากพื้นฐานของการ์ดหน่วยความจำแบบ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด มีขนาดเท่ากันทุกประการ แต่มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อที่จะให้ตัวการ์ดสามารถใช้แรงดันไฟได้ 2 ระดับ คือ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ จึงทำให้สามารถประหยัดพลังงานได้มากขึ้นกว่าเดิม โดยโทรศัพท์มือถือ รุ่นแรกที่นำ เอ็มเอ็มซี โมบายมาใช้ก็คือ โนเกีย 6630 และต่อมาหลังจากนั้น โทรศัพท์มือถือ ตระกูล ซิมเบียน สมาร์ท โฟน(Symbian Smart Phone Series 60 UI)ของโนเกีย อีกหลายรุ่น ก็มีการพัฒนาให้รองรับ เอ็มเอ็มซี โมบาย อาทิ โนเกีย 6681, 6680, N70 หรือ N90 เป็นต้น อย่างไรก็ดีถ้าหากโทรศัพท์มือถือ รุ่นใดที่ระบุว่าต้องใช้การ์ดหน่วยความจำแบบ ดีวี อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด ก็จะไม่สามารถนำ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด แบบธรรมดามาใช้ได้ เนื่องจากโทรศัพท์มือถือเหล่านี้ จะมีแรงดันไฟสำหรับการ์ดหน่วยความจำเพียง 1.8โวลต์ เท่านั้น ในขณะที่ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซีธรรมดาจะใช้แรงดันไฟมากถึง 3.3โวลต์ เอ็มเอ็มซี ไมโคร หรือไมโคร มัลติมีเดีย การ์ด(MMCmicro Card/Micro MultiMediaCard) เอ็มเอ็มซีไมโคร หรือไมโคร มัลติมีเดีย การ์ด เป็นพัฒนาการอีกขั้นของ เอ็มเอ็มซี การ์ด ซึ่งถูกพัฒนาให้มีขนาดเล็กและใช้พลังงานน้อยลง โดย เอ็มเอ็มซี ไมโครนั้นมีขนาดที่เล็กพอๆ กับปลายนิ้วมือเลยทีเดียว หรือมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ดเท่านั้น และ เอ็มเอ็มซี ไมโครนี้ก็ยังมีคุณสมบัติการทำงานแบบ Dual Voltage ได้อีกด้วย กล่าวคือสามารถทำงานได้ที่แรงดันไฟ 2 ระดับ ที่ 1.8โวลต์ และ 3.3โวลต์ บริษัทซัมซุง ในฐานะที่เป็นผู้คิดค้น พัฒนา และทดสอบการใช้งาน เอ็มเอ็มซี ไมโคร ก็ได้ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ มีความน่าเชื่อถือสูงในเรื่องประสิทธิภาพการใช้งานในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลของเอ็มเอ็มซี ไมโครนั้นอยู่ที่ 10Mb ต่อวินาที และความเร็วสูงสุดในการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 7Mb ต่อวินาที นอกจากนี้ยังกันฝุ่นกันไฟกระชาก ทำงานได้ในสภาวะของอุณหภูมิที่ต่างกัน ที่สำคัญมันยังถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อเอาไว้ใช้งานกับโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์พกพาขนาดเล็กชนิดอื่นๆได้หลากหลาย เราจึงสามารถนำ เอ็มเอ็มซี ไมโครไปใช้งานกับอุปกรณ์ใดๆ ที่มีสล็อตสำหรับ เอสดี, เอ็มเอ็มซี หรือ อาร์เอส-เอ็มเอ็มซี การ์ด ได้อย่างไม่มีปัญหา โดยอาศัยตัวอะแด็ปเตอร์(Adapter)ในการแปลงขนาด คุณๆคงจะเห็นภาพและพอเข้าใจถึงการ์ดหน่วยความจำ ในตระกูลคอมแพ็ค แฟลช หรือซีเอฟ การ์ด และในตระกูล เอ็มเอ็มซี หรือมัลติมีเดีย การ์ด กันบ้างแล้ว คราวหน้าเราจะมาทำความรู้จักกับการ์ดหน่วยความจำในตระกูลเอสดี การ์ด รวมทั้งมินิ เอสดี และไมโคร เอสดี ด้วยครับ

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ มารู้จักการ์ดหน่วยความจำ..กันดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook