อินเทลย้ำ ไม่เปลี่ยนจุดยืนเรื่องเอาต์ซอร์ส

อินเทลย้ำ ไม่เปลี่ยนจุดยืนเรื่องเอาต์ซอร์ส

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ซีอีโออินเทลยืนยัน อินเทลยังคงนโยบายเดิม เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ สำหรับการเอาต์ซอร์สงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า เช่น จีน อินเดีย และมาเลเซีย แม้จะมีความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯในการยับยั้งนโยบายดังกล่าวก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานเมื่อวันพุธที่ 7 มีนาคม 2004 ว่า การเอาต์ซอร์สงานไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองของสหรัฐฯ เพราะปีนี้เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯใหม่ เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันครบวาระการทำงาน และประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) ก็ต้องการเรียกคะแนนเสียงจากชาวสหรัฐฯให้ได้มากที่สุด ด้วยการสนองตอบแทบทุกความต้องการของประชาชน ช่วงที่ผ่านมา ชาวอเมริกันไม่ค่อยพอใจในนโยบายเอาต์ซอร์สของอินเทลนัก ทั้งๆที่ปัจจุบันสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นมาก ทั้งตัวเลขกำไรและราคาหุ้น เครก แบร์เร็ตต์ (Craig Barrett) ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทอินเทล กล่าวว่า นโยบายเอาต์ซอร์สไม่ใช่เรื่องใหม่ อินเทลมีนโยบายเช่นนี้มานานแล้ว แต่เพิ่งจะกลายเป็นประเด็นร้อนก็เพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ "เอาต์ซอร์สกลายเป็นประเด็นร้อนตามหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน" แบร์เร็ตต์กล่าวและว่า "คุณคงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่จริงๆมันมีมานานแล้ว หลายทศวรรษ แต่ที่เพิ่งกลายเป็นข่าวก็เพราะอยู่ในช่วงเลือกตั้ง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ" เขากล่าวว่า อินเทล ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์โปรเซสเซอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะยังคงนโยบายเอาต์ซอร์สไว้เหมือนเดิม โดยเฉพาะการเอาต์ซอร์สงานไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งอินเทลมีโรงงานอยู่ในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ในมาเลเซียซึ่งรัฐบาลเพิ่งประกาศโครงการเร่งด่วนในการเชื่อมเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของแต่ละโรงเรียนเข้าด้วยกัน อินเทลมีพนักงานอยู่ประมาณ 8,000 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของพนักงานอินเทลทั่วโลก นอกจากนั้น อินเทลยังมีโครงการลงทุนเป็นมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท) ในประเทศจีน ซึ่งขณะนี้กำลังมีปัญหากันอยู่ในเรื่องมาตรฐานเครือข่ายไร้สาย "WAPI" ที่จีนต้องการใช้มาตรฐานของตัวเอง แทนที่จะใช้มาตรฐานสากล หรือมาตรฐาน IEEE ที่อินเทลให้การสนับสนุน ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อยอดขายของอินเทลโดยตรง แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน แบร์เร็ตต์แนะนำว่า หากคณะรัฐบาลของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการเพิ่มแชร์ของตัวเองในตลาดเอาต์ซอร์สโลกแล้ว ก็จำเป็นต้องเน้นในเรื่องการฝึกอบรมทรัพยากรบุคคลให้มากเป็นพิเศษ เพื่อให้แรงงานรุ่นใหม่มีคุณภาพและมีจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการ "ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราตั้งเป้าไว้ว่าจะติดตั้งคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนให้ได้ 10 ล้านเครื่อง และติดตั้งเทคโนโลยีไร้สายให้ได้ 100,000 โรงเรียน โดยประโยชน์ที่ได้จากการทำงานร่วมกันก็คือ เราสามารถฝึกอบรมครูจำนวน 1 ล้านคนให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ดีได้ และสามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี" เขากล่าว คาดว่าใน 10 ปีข้างหน้า จะมีการเอาต์ซอร์สงานออกจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ไปยังภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะอินเดีย, จีน และมาเลเซีย มากกว่า 6 ล้านตำแหน่ง ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนพนักงานรุ่นเก่าที่เกษียนอายุการทำงาน ตามรายงานจากบริษัทเอทีเคียร์นีย์ (A.T. Kearney) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาด ขอขอบคุณ ผู้จัดการออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook