เผยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยหลังเกิดซิปป้า

เผยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยหลังเกิดซิปป้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักข่าวไทย : ไอซีที เผยคุณสมบัติผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิปป้า ต้องมาจากธุรกิจไอซีที เข้าใจธุรกิจซอฟต์แวร์ คิดนอกกรอบ พร้อมวาดภาพประเทศไทยหลังมีซิปป้าต้องเห็นการตลาดเชิงรุกในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที กล่าวถึงการจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ หรือ ซิปป้า (SIPA) จะต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ มีความคิดนอกกรอบ ทำงานได้เร็วคล่องตัวเหมือนภาคเอกชน เพราะซิปป้าเป็นองค์กรใหม่ที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมให้เติบโต และมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ที่สำคัญจะต้องมีประสบการณ์ในภาคเอกชนด้านไอซีที และต้องเข้าใจภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ สำหรับขั้นตอนการตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้สอบถามมายังกระทรวง เพื่อยืนยัน ซึ่งกระทรวงฯ ก็ได้ยืนยันแล้ว จึงรอเพียงการต้องทูลเกล้าถวายฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากนั้นต้องลงในราชกิจจานุเบกษา จึงจะเข้าสู่กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการและผู้อำนวยการซิปป้า นพ.สุรพงษ์ ระบุว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ จะมีหน้าที่แตกต่างจากเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ปาร์ค ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.รอม หิรัญพฤกษ์ เป็น ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน ซึ่งได้เปรียบเทียบซอฟต์แวร์ปาร์ค เป็นเหมือนกับการนิคมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่สร้างสาธารณูปโภค สร้างกลไกให้โรงงานที่อยู่ซอฟต์แวร์ปาร์ค รวมถึงดำเนินกิจกรรม ดูแลฝึกอบรม ดูแลความปลอดภัย ในขณะที่ซิปป้าจะเป็นเหมือนบีโอไอ ทำหน้าที่ดูแลนโยบายใหญ่ทางด้านซอฟต์แวร์ของประเทศ รวมถึงเป็นผู้ดำเนินการตกลงกับผู้สนใจมาลงทุนเรื่องเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในไทย ส่วนปัญหาที่ซอฟต์แวร์พาร์ค และซิปป้า อยู่คนละกระทรวงไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะในอนาคตการจัดตั้งซอฟต์แวร์ปาร์คจะทำได้ง่ายและมีจำนวนมาก โดยเอกชนก็สามารถตั้งซอฟต์แวร์ปาร์คเองได้ เช่น ซอฟต์แวร์ปาร์คเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลจะต้องสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ตั้งซอฟต์แวร์ปาร์คมากกว่ารัฐบาลตั้งเอง ทั้งนี้ ภาพการเปลี่ยนแปลงหลังจากมีซิปป้า จะทำให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกในการทำตลาดในตลาดโลก เช่น การรวมกลุ่มของภาครัฐและเอกชนที่จะมารวมกลุ่มกันพัฒนาคน ทำให้เกิดโครงการพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การเชื่อมสถาบันการศึกษากับเอกชน โดยภาพสุดท้าย อาจะทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรม เหมือนไมโครซอฟท์ อย่างไรก็ตาม ซิปป้า จะต้องเป็นหน่วยงานที่มี พ.ร.บ.ของตัวเอง มีการบริหารแบบคล่องตัว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook