รีวิว ASUS A7J

รีวิว ASUS A7J

รีวิว ASUS A7J
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


Specification

ASUS A7J

กลับมาเจอกันอีกแล้วนะครับ ตามที่ได้นัดกันแล้วว่าเราจะมาดูโน้ตบุ๊ก Dual Core กัน Review นี้ก็เป็น Dual Core ตัวที่ 2 แล้วนะครับ



เราขอนำเสนอโน้ตบุ๊ก ASUS A7J ซึ่งเป็น AV Notebook รุ่นใหญ่ของ ASUS ใหญ่แค่ไหนก็เอาเป็นว่า หน้าจอ Wide Screen ขนาดใหญ่ถึง 17 นิ้ว!!! นะครับ เราจะมาดูกันว่า โน้ตบุ๊กตัวนี้บรรจุขุมพลังความแรงอะไรไว้บ้างตามมาเลยครับ

Specification

A7J ตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊ก ตัวแรง จากผู้ผลิตโน้ตบุ๊กชั้นนำอย่าง ASUS ที่ว่าตัวแรงเพราะโน้ตบุ๊กตัวนี้บรรจุ สุดยอดขุมพลังความแรงไว้เลยละครับ ไม่ว่าจะเป็น CPU Intel Core Duo ที่มีความเร็ว 1.83 GHz ซึ่งเป็นความเร็วที่สูงมากเท่าที่สรรหาได้ในประเทศไทย พ่วงมากับแรมขนาด 1GB แบบ DDR2 ทำงานแบบ Dual Channel การ์ดจอก็ใช้รุ่น ATi Mobility Radeon X1600 ซึ่งเป็นการ์ดที่เร็วที่สุดในขณะนี้ เป็นไงครับ นี่แค่เบาะๆ พอหอมปากหอมคอเท่านั้นเองครับ สำหรับ Spec ในรายละเอียดอ่านดูด้านล่างได้เลยครับ

ข้อมูลจำเพาะของ ASUS A7J

CPU Intel Core Duo T2400 (1.83 GHz)
Ram 1GB DDR2
Chipset i945PM
VGA ATi Radeon X1600 (GDDR3 256MB)
HDD 60 GB SATA
Optical DVD RW
Display 7 inch 1440 x 900 (Clear Screen)
Network
- i3945ABG (IEEE 802.11A,B,G)
- Ethernet 10/100/1000
- 56Kbps Modem
- IR
Port
- 5 x USB 2.0
- IEEE 1394 (4 pin)
- Card Reader (Memory Stick, SD, MMC, XD)
- Headphone Out
- Mic In
- Line in
- TV Out (S-Video)
- VGA Out
- DVI
- Express Card
- AV in
- Antenna in
Weight 4 kg.

CPU-Z


CPU ของ A7J เป็น Intel Core Duo T2400 ทำงานที่ 1.83GHz หรือเอา Intel Core Solo รุ่น T1400 2 ตัวมาต่อกัน (ง่ายดีเนอะ) และมีชุดคำสั่ง SSE3 ซึ่งเพิ่มมาจาก Pentium M


ชิพเซ็ตที่ใช้บนเมนบอร์ดตัวนี้เป็น i945PM มีระบบบัส PCI-Express 16x สำหรับการ์ดจอด้วย


RAM มีอยู่แผงเดียวขนาด 512 MB แต่ทำงานแบบ Dual Channel จึงคาดว่ามี Ram ฝังอยู่บน Mainboard อีก 512 MB

Build & Design

ต้องบอกก่อนว่าโน้ตบุ๊กตัวที่ทีมงานใช้ทดสอบเป็นโน้ตบุ๊กตัวต้นแบบ อาจมีการประกอบไม่เรียบร้อยเท่ากับตัวที่วางขายในท้องตลาด และการใช้งานบางฟังก์ชั่นยังไม่สมบรูณ์เท่าไหร่นะครับ


A7J ตัวนี้เมื่อดูจากภายนอกทั้งรูปร่างและขนาด ให้ความรู้สึกว่าเป็นโน้ตบุ๊กที่บึกบึน และจริงดังคาดตัวถังใช้วัสดุพวกโลหะเคลือบสีบรอนซ์เมทัลลิคตามสไตล์ ASUS ส่วนประกอบตัวถังค่อนข้างแน่นหนา ไม่พบจุดที่น่าจะเสียหายง่าย ตอนปิดฝาเครื่องเราจะเห็นปุ่มกดสำหรับสำหรับฟังเพลงอยู่ด้านหน้าเครื่อง แต่เครื่องที่เราได้รับยังไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นนี้ได้ครับ


เมื่อเปิดฝาซึ่งค่อนข้างแข็งไปหน่อย เราจะพบกับจอภาพขนาดใหญ่ และเหนือจอภาพจะมีกล้อง Webcam และMicrophone สำหรับ Video Conference ส่วนบริเวณคีย์บอร์ดจะมีสำโพงอยู่ 2 ชุดขนาบข้างซ้ายขวา

ช่องต่อปลั๊กไฟอยู่ทางด้านขวา ทำให้เสียบปลั๊กไฟได้ง่าย ช่องระบายความร้อนอยู่ทางด้านหลัง โดยขณะทดสอบโน้ตบุ๊กตัวนี้เราได้ลองเอามือมาอังลมดู ปรากฏว่า ร้อนครับ ... น่าจะมาจากความ ร้อนแรง ของ X1600 ด้วย

และ... โน้ตบุ๊กตัวนี้มีปัญหาไฟดูดครับ (แต่ดูดจี๊ดๆ เหมือนมดกัดนะครับ เพราะถ้าดูดแรง กระผมคงไม่ได้มานั่งเขียนบททดสอบอยู่ตรงนี้แล้วล่ะ) ซึ่งจุดที่ผู้ทดสอบโดนไฟดูดอยู่บริเวณลำโพงข้างๆ คีย์บอร์ด แถวๆที่วางมือใกล้ๆลำโพง ทำให้ผู้ทดสอบรู้สึกกลัวขึ้นมาชั่ววูบ แต่เพื่อชาว TechXcite ทีมงานเรา สู้โว้ยยย!!! เหตุที่มีไฟรั่ว อาจเป็นเพราะเครื่องที่ทดสอบเป็นเครื่องต้นแบบก็ได้นะครับ

LCD Display

เมื่อเปิดฝา A7J เราก็ตื่นเต้นกับจอ LCD ขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าใหญ่มากๆ ซึ่งเป็นแบบจอใสหรือจอกระจกขนาด 17 นิ้ว!!! ความละเอียด 1440 x 900 ทำให้มีพื้นที่ในการทำงานบน Desktop มาก โดยภาพไอคอนและตัวอักษรมีขนาดใหญ่พอดีๆ ไม่ต้องซูมขยายหรือนั่งจ้องให้เมื่อย

ในเรื่องมุมมองของหน้าจอ LCD ก็ต้องยอมรับว่า A7J ทำได้ดีทั้งมุมมองซ้ายขวา และมุมบนล่างเพราะสีแทบไม่เพี้ยนเลย แต่อาจมีปัญหาเรื่องแสงสะท้อนบ้างเมื่อไม่ได้มองจอ LCD ตรงๆ ซึ่งยังถือว่าเป็นจอ LCD ที่หาตัวจับยากเลยทีเดียว

ความเจ๋งมันไม่ได้หมดแค่นี้ มันอยู่ที่ภาพครับ จอของ A7J มีอัตราการตอบสนองที่รวดเร็ว และให้ภาพที่มีความคมชัดสูงมาก สีดำก็ดำจริง สีขาวก็สว่างชัดเจน จากการทดสอบได้ผลดังนี้ครับ


จากตารางจะเห็นว่าค่า Contrast Ratio ที่สูงมาก และความสว่างของสีดำมีค่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานของจอ LCD ที่มีความสว่างของสีดำไม่ควรเกิน 0.40 0.50 cd/m2


จอ LCD ของ A7J สามารถแสดงสีสรรได้ดีเยี่ยม และสามารถแสดงเฉดสีได้มาก ซึ่งแสดงด้วยกรอบสีเหลี่ยมสีขาว ส่วนกรอบสีส้มหมายถึง ขอบเขตสีในระบบ sRGB

Touchpad


Touchpad ของ A7J ก็เป็นเหมือน Touchpad สำหรับจอ Widescreen ธรรมดาที่กว้างกว่า Touchpad ของโน้ตบุ๊กจอปกติ จากการลองใช้งานให้ความรู้สึกใช้ง่าย แม่นยำ ลื่นสบายมือ ส่วนปุ่มกดแทนการคลิกเมาส์ค่อนข้างแข็งไปนิด

Keyboard


ในส่วน Keyboard เป็นแบบ Full Size 88 Key มีการตอบสนองมือรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีปุ่ม Instance Key หรือปุ่ม Short Cut สำหรับเปิดโปรแกรมอย่างรวดเร็วด้วยกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว ซึ่งผู้ใช้สามารถกำหนดได้ว่ากดปุ่มไหนแล้วเปิดโปรแกรมอะไร แต่เครื่องที่นำมาทดสอบไม่ได้สรีนตัวภาษาไทยมาให้นะครับ

Port Connection

A7J เป็นเครื่องที่มี Port เชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น USB ที่มีมาให้ถึง 5 Port และมีช่อง DVI สำหรับจอ LCD อีกด้วย เอาเป็นว่ามาไล่ดูทีละด้านเลยดีกว่าครับ


ด้านหน้า มีปุ่มสำหรับเปิดเพลงจากโปรแกรม Audio DJ และมีช่องรับสัญญาณ IR จาก Remote Control


ด้านซ้ายมี Card Reader สำหรับ Memory Stick / SD / MMC, ช่อง Express Card, IR, IEEE 1394 แบบ 4 Pin, ช่อง Headphone out, Mic in, Line in, AV in (Video & Audio In ต้องต่อกับกล่องรับสัญญาณอีกที), Antenna in (ช่องรับสัญญาณ TV, FM), USB, Modem, Ethernet และมีสวิทซ์เลื่อนปิด/เปิดสัญญาณ Wireless Lan


ด้านขวามี DVD Writer และช่องต่อปลักไฟ


ด้านหลังมี USB 4 Port และ Port กลุ่ม Display ล้วนๆ คือ DVI, VGA Out (D-Sub), TV Out (S-Video) และช่องระบายความร้อน

การวาง Port ของ A7J ค่อนข้างหนักไปทางด้านซ้าย และจุดสังเกตคือ Port USB นั้นกองอยู่ข้างหลังถึง 4 Port เหมือนกับ PC ที่มี Port ด้านหลังเยอะ แต่กลับไม่มี Port USB ด้านขวาซึ่งมักใช้เสียบเมาส์หรือ Flash Drive เวลาหิ้วโน้ตบุ๊กไปไหนมาไหน

อื่นๆ สัพเพเหระ

เนื่องจาก A7J เป็น AV Notebook และเป็นรุ่น Heavy Weight เสียด้วยสิ ทำให้ไม่เหมาะกับการเคลื่อนย้ายด้วยการหิ้วหรือสะพายเพราะน้ำหนัก 4 กก. สามารถทำให้ไหล่ผู้ชายทรุดได้ ขนาดก็เป็นเรื่องที่ทำให้การพกพายากขึ้นไปอีก เพราะมันใหญ่เกินไปที่จะถือด้วยมือข้างเดียว


จากการออกแบบ Notebook รุ่นนี้ ผู้ผลิตต้องการให้ A7J เป็นเครื่องกลุ่ม Desktop Replacement ด้วย เพราะจำนวน Port ที่มีมาให้อย่างเหลือเฟือ การวาง Port USB จำนวนมากไว้ด้านหลังเหมือนกับเครื่อง Desktop

บังเอิญว่าทีมงานยังไม่ได้รับอุปกรณ์เสริมใดๆมากับตัวเครื่องเลย (อีกแล้ว) จริงๆแล้ว A7J มี Remote Control เป็นอุปกรณ์เสริม แต่ทางทีมงานไม่แน่ใจว่าเครื่องที่ขายในประเทศไทยจะมี Remote แถมมาด้วยหรือเปล่า รวมถึงกล่องรับสัญญาณ AV และกล่องสายอากาศสำหรับรับสัญญาณ TV กับ วิทยุซึ่งสามารถต่อกับ A7J ได้ ถ้า ASUS แถมมาให้ทั้งหมด A7J จะกลายเป็น AV Notebook ที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว

ความบันเทิงจาก AV Notebook ไม่ได้มีแค่ภาพที่บาดตา บาดใจอย่างเดียว แต่ต้องมีเสียงที่คมชัดด้วย A7J ตัวนี้มีลำโพง 2 ชุดอยู่ด้านข้างคีย์บอร์ด จากการทดลองฟังเสียงอยู่ในระดับปานกลางถึงค่อนข้างดี คือมีความละเอียดของเสียงดี มีความสมดุลระหว่างเสียงเบส เสียงแหลม แต่กำลังขับของลำโพงไม่มากนักนัก และเมื่อเปิดเสียงดังขึ้นเสียงจะเริ่มแตกโดยที่คนทั่วไปรู้สึกได้


ลูกเล่นของ A7J อีกอย่างคือกล้อง WebCam ขนาด 1.3 MPixel ซึ่งถ่ายรูปออกมาคุณภาพประมาณกล้องมือถือที่ความละเอียดเดียวกัน อัตราการตอบสนองค่อนข้างรวดเร็ว ที่ผมชอบคือระบบ White Balance ที่ทำออกมาได้ดีเลยทีเดียว (แม้ภาพจะออกแดงนิดๆ) ทางทีมงานแนะนำว่าอย่าจ้องภาพนี้นาน อาจเป็นอันตรายต่อสายตาท่านได้นะครับ

ต้องบอกอีกครั้งคือ ทีมงาน TechXcite ไม่สามารถทดสอบฟังก์ชั่นทั้งหมดได้เนื่องจากทางทีมงานไม่ได้รับอุปกรณ์ทั้งหมดเช่น Remote Control และโปรแกรมสนับสนุนการทำงานของโน้ตบุ๊กตัวที่ได้รับมายังไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เช่น Music DJ เป็นต้น อย่างไรก็ตามทีมงานพยายาม รีด ข้อมูลทุกอย่างเท่าที่ทำได้มานำเสนอให้กับพวกเราชาว TechXcite ครับ

Software & Utility


โปรแกรมที่ ASUS แถมมาก็จะมีพวก Utility เล็กๆน้อย เช่น โปรแกรม ASUS NB Probe ซึ่งเป็นโปรแกรม System Manager


อย่างตัวนี้เป็นการตรวจสอบอุณหภูมิของ CPU ถ้าอุณหภูมิสูงถึงขีดที่กำหนดไว้จะมีการส่งเสียงเตือนออกทางลำโพง


Utility อีกตัวหนึ่งที่ ASUS ให้มาก็คือ Splendid Video ซึ่งทำหน้าที่ปรับสีหน้าจอ ซึ่งสามารถปรับได้ตามความต้องการไม่ว่าจะปรับตาม Profile หรือปรับค่าแบบละเอียดเลยก็ได้

นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม Power 4 Gear ซึ่งเป็นโปรแกรมจัดการพลังงาน ซึ่งเราสามารถเลือก Profile การทำงานได้ เช่น ต้องการสมรถนะสูง หรือต้องการประหยัดแบตแบบสุดๆ

PassMark Performance Test


สมรรถนะโดยรวมของเครื่อง A7J ตัวนี้ไม่น้อยเลยนะครับ โดยคะแนนที่ 516.7 ซึ่งอยู่หัวแถวของโน้ตบุ๊กกลุ่ม Dual Core ด้วยกัน

PC Mark 05


PC Mark 05 ก็ได้คะแนนสูงเช่นกัน คือ 3957

SiSoft Sendra Disk Performance


ความเร็วฮาร์ดดิสก์ของ A7J ยังไม่โดนใจเรานัก (เพราะอุปกรณ์ตัวอื่นแรงหมด) โดยความเร็วอยู่ที่ 29MB/s ซึ่งสอดคล้องกับคะแนนฮาร์ดดิสก์ ของ PC Mark05 ที่อยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น

3DMark 03


คะแนน 3D ของ A7J นั้นอยู่ในระดับดีมาก ซึ่งต้องยกประโยชน์กับ X1600 ตัวเก่งของเรา

3DMark 05


3D Mark 05 ก็ยังทำคะแนนได้ดีที่ 3713

3DMark 06

พอเจอ 3DMark 06 สุดโหด Frame rate เลยหด ทำให้คะแนนหล่นลงไป แต่ A7J ก็ทำคะแนนมากกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปมาก


A7J ทำคะแนนได้ 1538 ในขณะที่โน้ตบุ๊กทั่วไปจะมีคะแนนไม่ถึง 1000

Quake4

คะแนน Quake4 Demo ของ A7J นั้นพุ่งกระฉูดเลยครับ ผลคะแนนดังนี้

Resolution: 800×600
Demo: guru5.demo
Quality: Medium
Aspect Ratio: [16:9]
Antialiasing: None
Anisotrophic filtering: None
Symmetric MultiProcessing (SMP) enabled
Score = 72.3 FPS

Resolution: 1024×768
Demo: guru5.demo
Quality: Medium
Aspect Ratio: [16:9]
Antialiasing: None
Anisotrophic filtering: None
Symmetric MultiProcessing (SMP) enabled
Score = 56.0 FPS

อาจเป็นเพราะความแรงของ CPU T2400 และ X1600 ทำให้คะแนนทิ้งห่างโน้ตบุ๊กที่ใช้ X1400 อย่างเห็นได้ชัด

CD/DVD Speed


Optical Drive ที่ติดมากกับ A7J เป็น Super Drive หรือ DVD Writer ปกติยี่ห้อ TSST หรือ Toshiba Samsung Storage Technology


ความเร็วในการอ่านแผ่น CD ค่อนข้างสูงเลยละครับ เฉลี่ยประมาณ 19.71x หรือประมาณ 2.96 MB/s ซึ่งใกล้เคียงกับ Spec ของไดร์ฟ


อ่าน DVD ก็รวดเร็วเหมือนกัน ความเร็วเฉลี่ย 4.29x หรือประมาณ 5.94 MB/s

Battery Eater

แบตเตอรี่ที่ติดมากับ A7J เครื่องนี้จ่ายไฟฟ้า 14.8 V ได้ 4800 mAh หรือเก็บพลังงานได้ 71 Wh ซึ่งถือว่าเป็นแบตเตอรี่ที่มีความจุสูงกว่าแบตเตอรี่สำหรับโน้ตบุ๊กทั่วไป


เราทดสอบโน้ตบุ๊ก A7J ในเรื่องระยะเวลาในการทำงานด้วยแบตเตอรี่ แต่โปรแกรมของเรากลับ Error ในช่วง 4 นาทีสุดท้ายทั้ง 2 ครั้ง (รู้สึกเหมือนทีมบอลของเราโดนยิงประตูช่วงทดเวลา) ทำให้เราไม่สามารถสรุปค่าออกมาได้แน่นอนว่า เครื่องนี้ใช้แบตได้ทนแค่ไหน

แต่จากข้อมูล 4 นาทีสุดท้ายที่เราได้รับสามารถคำนวณอัตราการใช้พลังงาน ทำให้เราสามารถประมาณระยะเวลาที่ A7J ทำงานได้ด้วยพลังงานแบตเตอรี่ได้ โดยค่าที่ได้อยู่ประมาณ 60 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้น แต่อาจเป็นเพราะโปรแกรมที่ใช้ทดสอบจะอัดงานให้โน้ตบุ๊กทำงานที่ 100% ตลอดเวลา จึงทำให้ต้องใช้ไฟฟ้ามากกว่าการใช้งานปกติ และหน้าจอขนาดใหญ่รวมถึงชิป X1600 ที่อาจมีการใช้พลังงานมากเป็นพิเศษ

Conclusion

A7J เป็นโน้ตบุ๊กตัวแรงสุดๆ ประเภท Desktop Replacement และเป็น AV Notebook สมรรถนะสูงที่น่าสนใจตัวหนึ่งเลยครับ ตั้งแต่ตัวถังที่แข็งแรง จำนวน Port เชื่อมต่ออุปกรณ์อื่นๆที่มีมาให้มากมายหลายแบบ CPU Intel T2400 และ X1600 ที่แรงสุดๆ และหน้าจอ LCD ก็ชัดมากๆ อัตราการตอบสนองรวดเร็ว ทำให้ A7J สามารถทำงานกราฟิก หรืองาน 3D ได้สบายๆ หรือเป็นเครื่องเล่นเกมชั้นดีได้ด้วย

แต่ผมยังเสียดายที่ให้ฮาร์ดดิสก์น้อยไปหน่อย (60 GB) แล้วถ้าได้ลำโพงดีกว่านี้ก็จะกลายเป็น AV Notebook ที่สมบรูณ์แบบทั้งภาพและเสียง ยิ่งถ้าไม่มีปัญหาไฟดูดมันจะยอดมากเลย


สุดท้าย คงไม่มีคำไหนที่จะบรรยายโน้ตบุ๊ก A7J ได้ดีกว่า AV Notebook รุ่นใหญ่ Hi-Performance

จุดเด่น :

+ โครงสร้างแข็งแรง
+ จอ LCD มุมมองกว้าง ภาพคมชัด สีสันสดใส
+ Graphic Chip แรงสุดๆ เท่าที่จะหาได้ในตลาด
+ Port มีจำนวนมหาศาล เหลือเฟือเหลือใช้
+ เป็นโน้ตบุ๊คที่มีประสิทธิภาพสูงมาก

ข้อสังเกต :

- ไฟดูด ให้ตกใจเป็นระยะๆ
- น้ำหนักมากถึงมากที่สุด
- ลำโพงขับเสียงได้ไม่ถึงใจ
- ควรมี Port USB ด้านข้าง หรือด้านหน้ามากกว่านี้
- ฮาร์ดดิสก์ไดร์ว ความจุน้อยไปหน่อย

สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ

อัลบั้มภาพ 32 ภาพ ของ รีวิว ASUS A7J

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook