รีวิว Asus F3H

รีวิว Asus F3H

รีวิว Asus F3H
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


Introduction to Asus F3H

เช้าวันหนึ่งนานมาแล้ว ได้มีกล่องกระดาษพัสดุจาก Asus มาที่ทีมงานเรา ดูจากสภาพภายนอกแล้ว เหมือนพึ่งตีตราจากสนามบินมาโดยคาดว่ามีต้นทางจากเมืองจีน (ให้ความรู้สึกว่าได้แตะของจากโรงงานกันเลย) เมื่อเกะกล่องออกมาเราก็ได้พบว่ามันเป็นโน้ตบุ๊ค F3H จาก Asus นั้นเอง

โน้ตบุ๊ค F3H รุ่นนี้ถ้าวางขายในท้องตลาดน่าจะเป็นรุ่นประมาณ F3H16DSM160 โดยโน้ตบุ๊คตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊คตัวแรกที่ใช้ชิพ Pentium Dual Core ซึ่งเป็นซีพียู Dual Core ที่ Intel แอบผลิตออกมาใช้กับโน้ตบุ๊คไม่กี่รุ่น (ผมหาข้อมูลชิพตัวนี้ในเว็บ Intel ไม่ได้เลย) ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ลองชิพใหม่ของ Intel กันว่ามันแรงแค่ไหน

Specification : Asus F3H





PC Wizard



อย่างที่เราได้บอกไว้ว่าโน้ตบุ๊คตัวนี้ใช้ชิพ Intel Pentium Dual Core ซึ่งเป็นชิพที่ค่อนข้างแปลกไปสักหน่อย ขนาดโปรแกรมที่ใช้ระบบของ CPUz ยังมองเห็นเป็น Intel Core Duo เลย โดยเท่าที่ตรวจสอบและดูจากลูกเล่นต่างๆ ของชิพ Pentium Dual Core T2060 ก็พอสันนิฐานได้ว่าน่าจะเป็นชิพรุ่นที่ถูกลดทอนความสามารถลงมาจาก Core Duo T2050 โดยมันมีความเร็ว 1.6 GHz มี FSB 533 MHz ถูกลด L2 Cache ลงเหลือเพียง 1 MB และไม่สามารถรันโปรแกรม 64 Bit ครับ



ผมยอมรับว่าโน้ตบุ๊คตัวนี้มีสเปคที่แปลกมากเพราะ CPU เป็น Dual Core รุ่นเล็ก แต่ดันให้ Ram มาตั้ง 1.5 GB กับฮาร์ดดิสก์ขนาดยักษ์ 160 GB ซึ่งผมคาดว่า F3H ที่มีการจัดสเปคแบบนี้ ไม่น่ามีขายในตลาดบ้านเรา เพราะถ้าจัดแบบนี้ราคามันก็คงไม่ถูก แล้วถ้าขายแพงทั้งๆที่ซีพียูกับการ์ดจอไม่แรงกระชากใจแล้วใครจะซื้อ แต่ช่างเถอะครับเราไปดูรายละเอียดของโน้ตบุ๊คตัวนี้กันเลยดีกว่า

Build & Design

เราได้กลับมาเล่นโน้ตบุ๊คตัวใหญ่กันอีกแล้วครับ สำหรับ F3H ตัวนี้เป็นโน้ตบุ๊คหน้าจอขนาด 15.4 นิ้ว ตัวถังของมันเป็นสีบรอนซ์เทาตามสไตล์โน้ตบุ๊ค Asus หลายๆรุ่น วัสดุที่ใช้ประกอบตัวถังภายนอกส่วนใหญ่เป็นพลาสติก ซึ่งไม่ค่อยติดรอยนิ้วมือเท่าไหร่ ขอบอกก่อนนิดนึงว่า F3 Series ไม่ใช่โน้ตบุ๊คสำหรับพกพาบ่อยๆ เพราะน้ำหนักตัวที่ประมาณ 2.8 กิโล คงทำให้คุณพกไม่สะดวกโดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวนะครับ



ถ้าตาไวสังเกตตรงส่วนฝาด้านที่ใกล้ๆ ข้อพับจะเห็นลายคล้ายๆ ลายสานของเส้นใย Carbon Fiber ใช่ไหมครับ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่พลาสติกธรรมดาที่มีลวดลายเหมือนกับ วัสดุเสริมแรงด้วย Carbon Fiber เท่านั้น

LCD Display

F3H ใช้จอ LCD ขนาด 15.4 นิ้ว แบบ Wide Screen ความละเอียด 1280x800 เคลือบจอแบบจอกระจก เท่าที่ลองใช้ก็รู้สึกว่าใช้งานได้สบายดีเพราะหน้าจอใหญ่ ไม่ต้องเพ่งมาก ด้านความละเอียดความคมชัดอยู่ในระดับมาตรฐาน



เราได้วัดค่าความสว่างและความคมชัด (Contrast Ratio) ของจอ LCD ก็ยังไม่โดดเด่น โดยค่าความคมชัดอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น และความสว่างของหน้าจอที่ไม่ค่อยสว่างมากนัก ผมต้องปรับความสว่างเกือบสุดถึงจะได้ความสว่างในระดับที่พอใจ จอ LCD ที่สว่างน้อยจะมีปัญหาเมื่อใช้งานไปนานๆ ความสว่างหน้าจอจะค่อยๆลดลง ดั้งนั้นถ้าใช้ไป 2-3 ปีแล้วปรับหน้าจอสว่างสุดบางทีมันก็ไม่สว่างอย่างที่เราต้องการ

Keyboard & Touchpad



คีย์บอร์ดของ F3H ตัวนี้เป็นเหมือนคีย์บอร์ดโน้ตบุ๊คทั่วไป ทั้งขนาดและการวางปุ่มแต่ตัวที่เราทดสอบยังไม่ได้สกรีนตัวอักษรภาษาไทยบนปุ่มคีย์บอร์ดเลย จากการใช้งานรู้สึกว่าเราสามารถพิมพ์งานได้ไม่ค่อยเมื่อยเพราะมันมีพื้นที่รองข้อมือมาก (คล้ายๆ Asus G1)



ส่วน Touchpad ตัวนี้เป็นสีเทาดำพื้นผิวลื่นฝืดกำลังดี แต่ปุ่มแทนคลิกเมาส์ที่เห็นเป็นแถบสีเงินใต้ Touchpad นั้นต้องกดลึกสักหน่อยถึงจะใช้งานได้ ถ้าให้กดบ่อยๆก็เมื่อยได้เหมือนกันครับ

Port Connection



ตัวเครื่องด้านหน้ามีสวิทซ์ระบบ Wireless, ปุ่มปลดล็อคฝาพับ, ช่องเสียบ Mic In, Headphone Out และช่อง Card Reader (SD, MMC และ MS)



ฝั่งมือขวาของเราจะมีช่อง Express Card/54, USB 2 ช่อง, FireWire (i-Link), TV-Out แบบ S-Video, VGA-Out, Modem และ Ethernet Lan

ฝั่งมือซ้ายของเรามีไดร์ฟ DVD-Writer



ทางด้านหลังมีช่องเสียบหม้อแปลง กับช่องเสียบ USB อีก 2 ช่อง

F3H มาตามสไตล์ Asus คือ มี Port มาให้เยอะค่อนข้างเยอะครับ อย่าง USB ที่ให้มา 4 Port และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้ไม่ยาก แต่ที่รู้สึกว่ายังขาดๆ ไปก็คือ DVI ซึ่งน่าจะติดมาด้วยกับโน้ตบุ๊คขนาด 15 นิ้วด้วยนะครับ

WebCam



F3H ตัวนี้ติดตั้งกล้อง WebCam พร้อมไมโครโฟนไว้เหนือหน้าจอ LCD มาให้ด้วย โดยถ่ายภาพนิ่งที่ความละเอียดสูงสุดได้ 1.3 MPixel (1280x1024)



เมื่อใช้งานร่วมกับโปรแกรม Lifeframe ของ Asus ก็จะมีหน้าตาดังภาพ สำหรับคุณภาพของภาพก็อยู่ประมาณกล้องถ่ายรูปติดโทรศัพท์มือถือขนาด 1 MPixel เหมือนกัน ดังนั้นถ้าใช้สำหรับคุณ Online แบบเห็นหน้า กล้อง Webcam ตัวนี้เหลือเฟือครับ

PC Marks 05



สำหรับผลการทดสอบแรกกับ PCMark 05 ก็ค่อนข้างตรงตามสเปคเครื่องเลยครับ ตั้งแต่คะแนน CPU ที่อ่อนกว่า CPU โน้ตบุ๊ค Core Duo ทั่วไป ตามมาด้วยคะแนนของแรมที่ไม่แรงอย่างที่คิดซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจาก FSB ที่ทอนลงมาเหลือเพียง 533 MHz เมื่อเทียบกับ 667 MHz ของชิพ Core Duo รุ่นอื่นๆ

ส่วนคะแนน Graphic นี่ข้ามไปได้เลยครับ เราคงหวังอะไรผลงาน 3D กับการ์ด GMA950 มากไม่ได้ แค่รัน Aero ของ Windows Vista ขึ้นก็เก่งแล้ว แต่ที่น่าแปลกคือ คะแนน HDD ที่มาแรงเกิดคาดซึ่งน่าจะเป็นผลของฮาร์ดดิสก์ความจุสูง 160 GB ของ Hitachi ตัวนี้แหละครับ

3D Mark 2005



ด้วยการ์ดจอ OnBoard อย่าง GMA950 ทำให้คะแนน 3D นั้นต่ำอย่างไม่ต้องสงสัย ความสามารถของการ์ดนี้เหมาะสำหรับงาน 2D แล้วก็เกม Online มากกว่า อ้อ GMA950 สามารถใช้ระบบ Aero ของ Vista ได้ด้วยนะครับ

HD Tune



สำหรับความเร็วฮาร์ดดิสก์เราวัดด้วย HD Tune ซึ่งความเร็วที่วัดได้สอดคล้องกับคะแนนที่ได้จาก PCMark05 โดยความเร็วเฉลี่ยที่วัดได้ประมาณ 33.7 ซึ่งจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของฮาร์ดดิสก์โน้ตบุ๊คเลยครับ

Nero Info



ดูจากรหัสของ DVD-Writer ของ F3H เหมือนกับว่าเป็นไดร์ฟของ LG โดยตัวไดร์ฟสามารถอ่านเขียนแผ่น CD, DVD, DVD-RAM ได้

Temperature



เป็นไปตามคาดครับ ว่า F3H เครื่องนี้แทบไม่ร้อนเลยจากการทดสอบให้เครื่องทำงาน 100% ที่ซีพียูร้อนเพียง 63 C เมื่อเทียบกับโน้ตบุ๊คชิพ Core 2 Duo ขนาด 14 นิ้ว ที่ซีพียูจะร้อนราวๆ 80 C แล้ว F3H ดูเย็นไปเลย เมื่อซีพียูไม่ร้อนมากก็หมายความว่าตัวเครื่องสูญเสียพลังงานไปเป็นความร้อนน้อย หรือว่าง่ายๆ ก็คือเครื่องน่าจะทำงานด้วยแบตเตอรี่ได้นานขึ้นนะครับ



นอกจากเครื่องไม่ร้อนแล้ว การวางช่องระบายอากาศก็ทำได้ค่อนข้างดีด้วยนะครับ โดยท่อระบายอากาศโน้ตบุ๊คตัวนี้อยู่ทางด้านหลัง และทางฝั่งมือขวาของเราไม่มีช่องระบายอากาศมาเป่ามือให้ร้อนเรียกได้ว่าใช้สบายๆ เย็นทั้งคน เย็นทั้งเครื่องครับ

Battery Eater

แบตเตอรี่ที่แถมมาด้วยคำนวณความจุพลังงานได้ประมาณ 53.3 Wh เป็นความจุที่ใกล้เคียงกับที่ใช้ในโน้ตบุ๊คขนาด 14 นิ้ว ซึ่งอาจดูน้อยไปสักนิดถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊ค 15 นิ้ว แต่อย่าลืมว่าโน้ตบุ๊ค F3H ไม่ได้ใช้ชิพกินไฟ ดังนั้นแบตใหญ่ๆ อาจไม่จำเป็นสำหรับโน้ตบุ๊ครุ่นนี้แต่เพื่อความชัวร์เราไปดูผลทดสอบกันเลยดีกว่าครับ

อ้อ เราทดสอบโดยใช้ Windows Vista นะครับ



กราฟนี้เป็นผลจากการจำลองให้เครื่องทำงานหนักตลอดเวลา แต่เนื่องจากปัญหาทางเทคนิคทำให้เราไม่สามารถทดสอบการทำงานด้วยแบตเตอรี่ได้อย่างเต็มที่ ดังกราฟที่ถูกตัดไปเมื่อพลังเหลือ 5% ซึ่งถ้าเราคำนวณระยะเวลาที่หาไปก็จะได้ระยะเวลาการทำงานที่ 1 ชั่วโมง 40 นาที



สำหรับกราฟนี้แทนการทำงานเบาอย่างเปิด Word หรืออ่าน E-Book ถ้าคำนวณพลังงานออกมา F3H จะทำงานได้ประมาณ 2 ชั่วโมง 43 นาที

จัดว่า F3H ตัวนี้แบตเตอรี่อึดใช้ได้ครับ ผมคิดว่าถ้าใช้งานทั่วไปก็น่าจะใช้งานได้ราว 2 ชั่วโมงกว่าๆ เท่าที่ดูจากสถิติที่เราเคยทดสอบมา โน้ตบุ๊คตัวนี้ทำคะแนนได้ค่อนข้างดีครับ คงน่าจะเป็นผลจากซีพียูรุ่นเล็ก และการ์ดจอ OnBoard จึงทำให้โน้ตบุ๊คตัวนี้น่าจะติดตราประหยัดไฟเบอร์ 5 ได้นะครับ

Conclusion

F3H (F3H16DSM160) โน้ตบุ๊ครุ่นใหญ่ตัวนี้มีความสามารถพื้นฐานทั่วไปอยู่ในระดับปานกลาง ถึงแม้ว่ามันจะไม่มีซีพียูที่เร็วฟ้าผ่าอะไร แต่โน้ตบุ๊คตัวนี้น่าจะใช้งานได้โดยไม่ต้อง Upgrade ใดๆ ตลอดอายุการใช้งาน เพราะทั้ง Ram 1.5 GB และฮาร์ดดิสก์ 160 GB ที่ให้มาชนิดที่ว่าเครื่อง Desktop PC ยังอาย



งานที่เหมาะสมกับโน้ตบุ๊คตัวนี้น่าจะเป็นงานระดับพื้นฐานอย่าง Office เล่น Net แล้วก็ดูหนังฟังเพลง งานกราฟิก 2D งานตัดต่อวิดีโอเล็กๆ โน้ตบุ๊คตัวนี้ทำได้ดีครับ ที่ F3H ทำไม่ได้คงเป็นเรื่องเกม 3D เพราะ F3H ตัวนี้ทำงาน 3D ได้ช้า (แต่ก็แรงเพียงพอสำหรับระบบ Aero ของ Windows Vista)



ซึ่งโน้ตบุ๊ค Asus F3H จัดว่าเป็นโน้ตบุ๊คแบบครบเครื่องสำหรับ ผู้ใช้งานทั่วไปที่ไม่ต้องการเล่นเกมประสิทธิภาพสูง แต่ต้องการปริมาณพื้นที่เก็บข้อมูล และหน่วยความจำจำนวนมาก แบบซื้อทีเดียวจบ ไม่ต้องหมกเม็ด เพิ่มเงินอัปเกรดแรม และฮาร์ดดิสก์เพิ่มเติมภายหลัง แต่ว่าจะมาขายในประเทศไทยหรือเปล่ายังไม่ทราบแน่ชัด

จุดเด่น

- เครื่องไม่ร้อน แม้ทำงานหนัก
- ทำงานด้วยแบตเตอรี่ได้ค่อนข้างนาน
- Port เชื่อมต่อค่อนข้างเยอะ และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานง่าย
- ฮาร์ดดิสก์ หน่วยความจำเหลือเฟือ

ข้อสังเกต

- การ์ดจอ On Board ไม่เหมาะสำหรับเล่นเกมส์ 3D
- ตัวเครื่องค่อนข้างหนัก
- ยังไม่แน่ว่าสเปคนี้ จะมีขายในไทย

ขอขอบคุณ
บริษัท อัสซุสเทค ประเทศไทย
โทร: 02-6518911-4 ต่อ 12, 14, 23
แฟกซ์: 02-6518915

สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ

อัลบั้มภาพ 30 ภาพ ของ รีวิว Asus F3H

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook