KEF XQ-10 2-way bookshelf speakers

KEF XQ-10 2-way bookshelf speakers

KEF XQ-10 2-way bookshelf speakers
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

KEF XQ-10 2-way bookshelf speakers


ผลการรับฟัง KEF ได้ระบุไว้ในโบรชัวร์สำหรับ XQ10 ว่า ‘Accomplished bookshelf speaker’ ซึ่งมีความหมายถึง ‘ระบบลำโพงวางหิ้งที่ได้รับการออกแบบอย่างบรรลุผล’ นี่เป็นนัยยะบอกใบ้อะไรไว้หรือเปล่า เพราะทำไมในรุ่น XQ20 ซึ่งก็มีขนาดใหญ่ไปกว่า XQ10 ไม่มากนัก จึงได้ระบุไว้ ‘เต็มขั้น’ ว่า ‘Full bandwidth two-way stand mount/bookshelf speaker’ ซึ่งแปลความได้ว่า ‘ระบบลำโพงวางหิ้ง/วางบนขาตั้งแบบ 2-ทางครอบคลุมตลอดช่วงความถี่ตอบสนอง’ ฤา KEF จะหมายถึงว่า XQ20 มีความเหมาะสมเป็นได้ทั้งระบบลำโพงวางหิ้ง หรือวางบนขาตั้ง ส่วน XQ10 นั้นเป็นได้เพียงระบบลำโพงวางหิ้งเท่านั้น...กระนั้นหรือไม่...เป็นคำถามที่อยู่ในใจผม ซึ่งต้องการคำตอบจากการใช้งานจริง
 
ผมจึงทดลองตั้งวาง XQ10 ทั้งใน 2 ลักษณะ โดยครั้งแรกตั้งวาง XQ10 ไว้บนหลังตู้เก็บของเพื่อลองใช้งานแบบ bookshelf (สูงจากพื้นประมาณ 25 นิ้ว) แต่มิได้วางชิดติดผนังโดยเว้นห่างออกมาจากผนังหลังลำโพงราวๆ 10 นิ้ว และห่างจากผนังด้านข้างลำโพง 42 นิ้ว ซึ่งพบว่า คุณลักษณ์ทางเสียงให้ความมีเนื้อหนัง อิ่มฉ่ำ พร้อมทั้งละอองอณูเนื้อเสียงที่ละเอียดดีมากๆ ให้ความไหลลื่นและตอบสนองเสียงเบสได้เข้มข้นสะใจ แม้จะไม่หนักหน่วงขนาดกระแทก-กระทั้นอวัยวะภายใน ช่วงย่านเสียงกลางและสูงนั้นชัดเจน สดใส พละพลิ้วและโปร่งลอย ทว่าการจับตำแหน่งชิ้นดนตรี และการรับรู้สภาพเวทีเสียงออกจะขาดความถอยลึกไปไม่น้อย แม้จะแผ่กว้างและบ่งบอกระยะความสูงของตำแหน่งเสียงได้ดีทีเดียว

จากนั้นจึงนำ XQ10 มาตั้งวางบนขาตั้งเพื่อลองใช้งานแบบ stand mount โดยใช้ขาตั้งไม้ตันความสูง 26 นิ้ว และคงระยะห่างจากผนังด้านข้างแต่ละด้านไว้ที่ 42 นิ้ว ส่วนระยะห่างจากผนังหลังลำโพงนั้นเท่ากับ 30 นิ้ว ซึ่งระยะห่างระหว่างระบบลำโพงทั้งสองข้างก็จะอยู่ใกล้ๆ 56 นิ้ว และตำแหน่งนั่งฟังจะอยู่ห่างจากแนวเส้นตั้งวางระบบลำโพงราวๆ 93 นิ้ว ครานี้สุ้มเสียงที่รับฟังได้จาก XQ10 เป็นดังนี้ครับ 
 
ลักษณะน้ำเสียงของ XQ10 ในด้านการตอบสนองความถี่เสียงกลาง-สูงนั้นนับเป็นจุดโดดเด่นที่สำคัญ โดยเป็นเสียงที่มีความกลมกลืนต่อเนื่องนวลเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน สดใส สะอาด มีมวลมีน้ำหนัก (แรงกระทบ-ปะทะ) ให้ความมีตัวตน มีลมหายใจ พร้อมด้วยคึกคัก กระฉับกระเฉง ไม่โฉ่งฉ่าง ฟังแล้วรู้สึกคึกคัก รุกเร้าใจ สามารถให้การจำแนก-แยกแยะเสียงดนตรีที่ซ้อนทับกันนั้นได้แจ่มชัดมาก การรับฟังจึงได้รายละเอียดเสียงที่ ‘ครบ’ ยิ่งขึ้นกว่าที่เคย ส่วนช่วงย่านความถี่ต่ำบอกได้เลยว่า เสียงเบสจาก XQ10 นั้นมิได้มีไว้ให้สั่นคลอน-อัดดันตับไตหัวใจไส้พุงของคุณ ทว่าจะให้จังหวะจะโคนที่แม่นยำ มีการเก็บตัวที่ดี ไม่มีอาการรุ่มร่ามที่ฟังดูเป็นเบสบวมๆ กลวงๆ ลวงหูแม้แต่น้อย
 
XQ10 นั้นเยี่ยมยอดทั้งในด้านความกลมกล่อม นวลเนียน ละเมียดละไมของสรรพเสียง รวมถึงสมรรถนะการถ่ายทอด-บ่งบอกจินตภาพและสภาพเวทีเสียงที่ดูจะมีความโดดเด่นมากเป็นพิเศษ (เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถอดหน้ากากออกในขณะรับฟัง) สามารถให้การรับรู้ถึงสภาพเสียงที่นอกจากจะแผ่กว้าง–จนสามารถสร้างความรู้สึกโอบล้อมของบรรยากาศเสียงแล้ว ยังถอยลึกเข้าไปหลังตำแหน่งตั้งวางระบบลำโพงเป็นปริมณฑลเสียงอยู่หลังตำแหน่งตั้งวางลำโพง สามารถจำแนกแยกแยะแถวชั้นของตำแหน่งชิ้นดนตรีได้อย่างมีอาณาบริเวณเป็นอิสระ ปราศจากการเบียดบัง กลบซ้อนทับกัน ทั้งยังไล่ระดับความสูง/ความเตี้ยของสรรพเสียงได้อย่างสมจริง –ราวเป็นเสียง 3 มิติพร้อมด้วยมวลอากาศรายรอบของสภาพบรรยากาศเสียง

อีกทั้งสรรพเสียงที่ XQ10 ถ่ายทอดออกมานั้นยังเปี่ยมด้วยรายละเอียด ให้การจำแนกแยกแยะลักษณะเสียงจำเพาะ-เฉพาะตัวของแต่ละเสียง (timbre) ได้อย่างดีทีเดียว ทั้งยังสามารถส่งมอบการผุดโผล่ของรายละเอียดเสียงระยิบระยับ รวมทั้งสัญญาณเสียงฉับพลันได้อย่างทันทีทันใด ให้ทั้งความจะแจ้ง-แจ่มชัด-สดใส พร้อมการเปิดโปร่ง-โล่งกระจ่าง ไร้สภาพ ‘หมอกควัน’ ปกคลุม ลักษณะเสียงโดยรวมมีมวลมีน้ำหนักให้ความชัดเจนในทุกสรรพเสียง พร้อมด้วยความอวบอิ่ม-ฉ่ำชุ่ม แม้จะไม่ถึงขนาดอบอวล แต่ก็มีมวลบรรยากาศห้อมล้อมไม่แห้งผาก
 
เรา-ท่านสามารถรับฟังเสียงหมู่เครื่องสาย (ไวโอลิน-วิโอลา-เชลโล) ได้น้ำหนัก-เนื้อหนังของเสียงอย่างสมจริง ในขณะที่ช่วงย่านความถี่เสียงสูงให้ความพละพลิ้ว เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา และยืดขยายปลายหางเสียงออกไปได้ไกลมาก ไม่มีการอัดอั้น หรือโรยตัว (roll-off) อย่างรวดเร็วจนหดห้วน หางเสียงสูงๆ อย่างฉิ่ง-ฉาบ-เหล็กสามเหลี่ยมให้ความกังวาน-ทอดตัวไปยาวไกล มีความพละพลิ้วลอยตัว บ่งบอกเสียงลมพ่น-กัดหูน้อยๆ ของเครื่องดนตรีประเภท brass และเสียงลมเป่า-เป็นละอองของเครื่องดนตรีประเภท woodwind ได้น่าทึ่งมาก         

คงต้องบอกว่า ด้วยศักยภาพของ XQ10 ที่รับรู้ได้นั้น ทาง KEF น่าจะออกแบบมาให้เหมาะสำหรับกลุ่มผู้ฟังที่เน้นการรับฟังแบบ ‘พินิจพิเคราะห์’ หรือ serious listening มากกว่ากลุ่มผู้ฟังแบบ ‘เอาเพลิน’ หรือ music lover และเมื่อดูจากขนาดของตัวขับเสียงที่ใช้ (5.25 นิ้ว) ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนสำหรับตัวขับแบบ ‘UNI-Q’ ของ KEF แต่เป็นขนาดที่เท่ากันกับไดรเวอร์รุ่น B110 ซึ่งเคยใช้อยู่ใน LS 3/5A) ประกอบกับขนาด-ปริมาตรภายในตัวตู้ที่ดูจะจงใจให้ใกล้เคียงกับ ‘LS 3/5A’ ผนวกรวมกับการใช้ข้อความ ‘Accomplished bookshelf speaker’ ที่ระบุไว้ในโบรชัวร์สำหรับ XQ10 แต่เพียงรุ่นเดียว

ซึ่งผมสรุปผลการใช้งานได้ว่า คุณลักษณ์เสียงจากการตั้งวางบนชั้นวางหนังสือ หรือหลังตู้เก็บของนั้น มีความใกล้เคียงกับการตั้งวางบนขาตั้ง จะแตกต่างกันก็ตรงเรื่องของอิมเมจ-ซาวนด์สเตจนี่แหละ จึงน่าจะ ‘ฟันธง’ ได้ว่า ทาง KEF ต้องการบ่งบอกนัยยะถึงสมรรถนะของ XQ10 นั้นเป็นเสมือน mini-monitor แน่นอน (เพราะในอดีต ‘LS 3/5A’ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อใช้เป็น mini-monitor เพื่อตรวจเช็กการถ่ายทอดเสียงนอกสถานที่ ซึ่งต้องถูกติดตั้งชิดผนังกั้นในรถตู้ที่มีพื้นที่จำกัด) เมื่อนับย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1974 ที่ ‘LS 3/5A’ ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก็ครบรอบ 35 ปีพอดิบพอดี
 
คุณลักษณ์ KEF ได้ทำการพัฒนาตัวลำโพง ‘ต้นแบบ’ ของ UNI-Q มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1988 หลังจากทาง NASA ได้พัฒนาแม่เหล็กชนิดใหม่เป็นผลสำเร็จได้ไม่นาน โดยใช้ชื่อเรียกขานรูปแบบการทำงานไว้ว่า Co-incident drive unit เพื่อแสดงถึง ‘ความโดดเด่น’ ในลักษณะการทำงานของตัวลำโพงแบบนี้ที่สามารถให้ ‘ความสอดคล้องต้องกัน’ ของเสียงได้ตลอดช่วงย่าน เนื่องจากใช้ทวีตเตอร์ (ตัวขับเสียงสูง) ติดตั้งอยู่ใน ‘ใจกลาง’ มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ (ตัวขับเสียงกลาง/ต่ำ) ทำให้นี่เป็นครั้งแรกของโลกจริงๆ ที่ได้ก่อให้เกิดตัวลำโพงในแบบ ‘single point source’

ซึ่งแวดวงนักออกแบบลำโพงต่างก็ยอมรับกันมานานแล้วว่า ตัวลำโพงในแบบ ‘point source’ นั้นสามารถให้ความสอดคล้องต้องกันของจินตภาพ (image) และสภาพเวทีเสียง (soundstage) รวมทั้งความกลมกลืนกันของเสียงได้ดีเยี่ยมยิ่งกว่าระบบลำโพงแบบธรรมดาที่แยกการติดตั้งทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ไว้ต่างหากจากกัน (แม้จะอยู่ใกล้ชิดติดกันก็ตาม) ในลักษณะระบบลำโพงแบบหลายทาง (2-ทางขึ้นไป)

ทั้งนี้แม้ทวีตเตอร์จะอยู่ในลักษณะ ‘ร่วมแกน’ เดียวกันกับมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ทว่า Co-incident drive unit ของ KEF จะใช้ระบบแม่เหล็กที่แยกจากกันเป็นอิสระ (ทวีตเตอร์จะ ‘มิได้’ ใช้ระบบแม่เหล็ก ‘เดียวกัน-ร่วมกับ’ มิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ เหมือนอย่างที่ตัวลำโพงแบบ Co-axial จำเป็นต้องใช้) ซึ่งนี่เองที่เปรียบเสมือน ‘หัวใจ’ ในการทำงานของ Co-incident drive unit ที่ส่งผลลัพธ์ทางเสียงแตกต่างอย่างมากจากตัวลำโพงแบบ Co-axial ที่มีเทคโนโลยีระดับต่ำกว่ามากทีเดียว

ด้วยความที่ทวีตเตอร์ของ Co-incident drive unit จะถูกติดตั้งอยู่ตรงกลางตำแหน่งวอยซ์คอยล์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์พอดี มิได้ถอยลึกเข้าไปในแกนกระบอกวอยซ์คอยล์ ระบบแม่เหล็กสำหรับทวีตเตอร์ของ Co-incident drive unit นั้น จึงมีขนาดใหญ่เกินกว่าขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางวอยซ์คอยล์ของตัวขับเสียงกลาง/ต่ำไม่ได้ นี่แหละคือ ‘ความยาก’ ของ Co-incident drive unit

เคล็ดลับความสำเร็จของ Co-incident drive unit (ซึ่งต่อมาใช้ชื่อเรียกขานกันทางการค้าว่า ‘UNI-Q’ Speaker) อยู่ที่วิศวกรของ KEF สามารถบรรจุแม่เหล็กขนาดเล็ก ที่มีค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กสูงมาก ลงไปไว้ในช่องว่างกลางกระบอกวอยซ์คอยล์ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ทำให้สามารถติดตั้งทวีตเตอร์ไว้ตรงตำแหน่ง ‘เสมอแนว’ วอยซ์คอยล์ หรือ ‘คอ’ (neck) ของตัวมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ได้พอดี ดังนั้นความต่างทางค่าเวลาของ ‘จุดกำเนิดเสียง’ ทั้งสอง (ทวีตเตอร์และมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์) จึงเป็น ‘ศูนย์’ ประหนึ่งว่า เสียงทุกเสียงตลอดช่วงย่านความถี่ตอบสนองนั้นเปล่งออกมาจากตัวลำโพงเพียงตัวเดียวที่มีสภาพเป็น single-point source อย่างแท้จริง

ผลลัพธ์ทางเสียงที่เปล่งออกมาจากตัวลำโพงแบบ single-point source นี้จะมีความสมานเสมอกัน-ประจวบเหมาะกัน ‘พอดี’ ณ ค่าเวลาที่เสียงนั้นๆ ก่อเกิดขึ้นมาอย่างแท้จริง อีกทั้งการที่ทวีตเตอร์ถูกติดตั้งลงไปอยู่ในใจกลางของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ยังก่อให้เกิดข้อดีประการที่ 2 ควบคู่กันไปด้วย นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘MATCHED DIRECTIVITY’ ซึ่งเมื่อทวีตเตอร์ลงไปอยู่ในใจกลางของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ก็เท่ากับว่าทวีตเตอร์นั้นมี ‘ตัวกรวย’ ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ที่ขนาบล้อมรอบอยู่นั่นแหละ เป็นเสมือน ‘มือที่เราป้องปากเวลาตะโกน’ จึงสามารถช่วยควบคุม ‘ทิศทาง’ ของเสียงที่เปล่งออกมาจากทวีตเตอร์นั้น ให้คลื่นเสียงพุ่งออกไปข้างหน้า พร้อมๆ กับถูกรวบรวมพลังงานเสียง อย่างเดียวกับที่โทรโข่ง หรือปากฮอร์นนั้นทำหน้าที่ของมัน เสียงช่วงความถี่สูงจึงเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้เสียงความถี่สูงๆ นั้นมีความชัดเจนขึ้นด้วย

ฉะนี้นี่เองที่ ‘ลำเสียง’ ของช่วงความถี่สูง จึงมีลักษณะแผ่ออกเช่นเดียวกับ ‘ตัวกรวย’ ของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ ซึ่งช่วยให้พื้นที่ในการรับฟังเสียงช่วงความถี่สูงนั้นกว้างขวางใกล้เคียง หรือเท่าเทียมกับช่วงความถี่กลางและต่ำตามไปด้วย การรับฟังเสียงนอกแนวแกนกระจายเสียงของตัวทวีตเตอร์ (off-axis dispersion) ที่มักเป็นข้อด้อยของตัวลำโพงโดยทั่วไปนั้น จึงยังคงไม่ต่างไปจากการรับฟังอยู่ในเส้นแนวแกนกระจายเสียง ความถนัดชัดเจนของรายละเอียดเสียงช่วงความถี่สูงๆ ที่รับฟังก็จะไม่ขาดตกบกพร่องไป และยังสามารถรับฟังได้อย่างกว้างขวางทั่วทั้งพื้นที่ที่รับฟังเสียง (listening area)

อีกทั้งเสียงความถี่สูงๆ ที่เปล่งออกมาจากทวีตเตอร์ก็ยัง ‘ผสมผสาน’ ไปกับเสียงช่วงความถี่กลางและต่ำตั้งแต่ต้นทาง (เพราะมีจุดกำเนิดคลื่นเสียงที่อยู่ร่วมแนวเดียวกัน) จนทำให้ความถี่เสียงตลอดทั้งช่วงย่านนั้นมี ‘ความกลมกลืน’ เป็นเนื้อเดียวกันเลยทีเดียว การแยกแยะต่อสภาพจินตภาพเสียง หรือ stereo imaging จึงให้ความสมจริงยิ่งขึ้นกว่าระบบลำโพงแบบ multi-point source และด้วยข้อดีของ ‘UNI-Q’ Speaker ที่ KEF พัฒนาขึ้นจึงทำให้ได้มาซึ่งความกลมกลืนกันของเสียง รวมถึงความชัดเจนของจินตภาพและเวทีเสียงที่โดดเด่นกว่าระบบลำโพงธรรมดาทั่วไป โดยมิได้จำกัดบริเวณตำแหน่งนั่งฟังว่า จะต้องอยู่กึ่งกลางระหว่างลำโพงซ้าย-ขวาเท่านั้น (นั่งขยับไปทางใดทางหนึ่งมากกว่ากันมิได้) จึงจะเป็น ‘sweet spot’ ที่เหมาะกับการรับฟังระบบเสียงสเตอริโอได้คุณภาพดีที่สุดอย่างเช่นแต่เดิมมา นี่เองที่ KEF จึงได้ใช้สำนวนว่า ‘UNI-Q : GREAT SOUND ALL AROUND THE ROOM’

KEF นั้นได้ทำการพัฒนาหลักการ UNI-Q Speakers นี้อย่างต่อเนื่องมาเข้าเจนเนอเรชั่นที่ 4 เป็นปีที่ 20 กว่าแล้วในทุกวันนี้ กระทั่ง KEF ได้นำ UNI-Q Speakers ไปบรรจุเป็น ‘main drivers’ หรือตัวลำโพงหลัก ที่ KEF นำไปใช้งานครอบคลุมอยู่ในแทบจะทุกระดับระบบลำโพงใช้งาน นับตั้งแต่ Reference series, XQ series และ iQ series (เว้นเฉพาะ C series เท่านั้น) กันเลยทีเดียว

XQ series นั้นมีศักดิ์ศรีระดับรองจาก Reference series จึงได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีที่สำคัญหลายอย่างต่อยอดมาจาก Reference series ซึ่งถือเป็น ‘flagship’ ของ KEF ดังนั้น XQ series จึงเสมือนเป็น ‘ทางเลือก’ สำหรับผู้ชื่นชอบความเป็นที่สุดของคุณภาพภายใต้ปัจจัยราคาที่ย่อมเยาลงมา โดยที่ XQ series นั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 5 รุ่นซึ่งมี XQ10 นี้เป็นรุ่นน้องเล็กสุด ที่มีขนาดมิติภายนอกตัวตู้ 330x190x247 ม.ม. (ไล่เลี่ยกับ LS 3/5A ในอดีต) น้ำหนักตัว 6.4 กก.ต่อข้าง ระบบตัวตู้เปิด (bass reflex) แบบ 2 ทาง ตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์จะมีขนาด 5.25 นิ้ว (130 ม.ม.) ในขณะที่ตัวลำโพงทวีตเตอร์ (ซึ่งฝังอยู่ในตัวลำโพงมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์) เป็นแบบ alu- minium dome จะมีขนาด 0 นิ้ว (19 ม.ม.) พร้อมสิ่งที่เรียกว่า ‘tangerine’ waveguide ติดตั้งอยู่ด้านหน้าตัวโดม เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนตัวของคลื่นเสียงให้มีสภาวะที่สมดุลไม่ถูกมวลอากาศจากการเคลื่อนตัวของมิดเรนจ์/วูฟเฟอร์ในขณะทำงานมารบกวน-ป่วนปั่น
 
XQ10 สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองได้ตั้งแต่ 63 เฮิรตซ์ ขึ้นไปจนถึง 55,000 เฮิรตซ์กันเลยทีเดียว (-/+3 ดีบี) จุดตัดกรองช่วงความถี่ที่ 2,000 เฮิรตซ์ ค่าความไวเสียง 86 ดีบี ค่าความต้านทานปกติ 8 โอห์ม พร้อมรองรับอัตรากำลังขับได้ในช่วง 15–100 วัตต์ ที่สำคัญได้รับการ magnetic shielded อย่างดี (ด้วยจุดประสงค์ครอบคลุมการใช้งานได้ทั้ง audiophile และ home theatre)
 
โครงสร้างตัวตู้ของ XQ10 ถูกขึ้นรูปจากวัสดุ MDF (Medium Density Fiberboard) ที่ให้ค่าความแกร่งสูงทว่ามวลต่ำ โดยมีรูปทรงตัวตู้ที่มิได้เป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าตรงๆ เช่นระบบลำโพงธรรมดาทั่วไป หากมีรูปทรงที่ถูกลบมุมจนโค้งมนละม้ายคล้าย ‘หยดน้ำ’ เมื่อมองจากด้านบน ผนังตัวตู้ด้านข้างจึงมีลักษณะเป็น ‘ทรงโค้ง’ เรียวเข้าหากันไปทางด้านท้ายตัวตู้ ทำให้ตัวตู้ลำโพง XQ10 นั้น ‘ไร้’ ซึ่งด้านขนาน อีกทั้งโครงสร้างภายในยังได้รับการเสริมด้วย ’วัสดุคาดโครง’ เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของตัวตู้โดยรวม

ประโยชน์สำคัญในการมีตัวตู้ที่เป็นทรงโค้ง ซึ่งก่อผลดีกว่าทรงกล่องสี่เหลี่ยมก็คือว่า ลักษณะผิวพื้นที่เป็น ‘ทรงโค้ง’ จะมีค่าการรับแรงกดได้มากกว่าลักษณะผิวพื้นแนวตรง ด้วยการที่ลักษณะผิวพื้นทรงโค้งจะมีการกระจายตัวหรือเฉลี่ยแรงกดออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้าน อีกทั้งการไร้ซึ่งด้านขนานนั้นยังช่วยให้ลดผลทาง ‘คลื่นสั่นค้าง’ (standing wave) ลงไปอย่างมากด้วย เพราะด้านที่ขนานกันจะส่งผลสะท้อนของคลื่นเสียงไป-มาไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งเป็นผนังตู้ลำโพงด้วยแล้วก็จะทำให้ผนังตัวตู้นั้นแหละส่งเสียงแทรกซ้อนปนปลอมออกมาผสมกับคลื่นเสียงที่เปล่งออกมาจากตัวลำโพง กลายเป็นอาการคัลเลอร์-เจือสีสันที่ยากต่อการแก้ไข คุณภาพเสียงที่ได้ก็จะขาดความจริงแท้แห่งต้นฉบับเสียงไป
 
ทาง KEF ได้ให้แท่งเหล็กแหลม (spikes) มา 6 แท่งสำหรับ XQ10 ทั้ง 2 ตู้ พร้อมกันนี้ก็ยังมอบแผ่นยางสำหรับวางรองใต้ตู้ที่จัดทำส่วนโค้งส่วนเว้าตามลักษณะสัดส่วนตัวตู้ไว้เป็นอย่างดีมาอีกตู้ละแผ่น ทำให้เวลาวาง XQ10 ไว้บนแผ่นยางนี้จะมีแรงหนืด-ยึดตัวตู้ลำโพงไว้ให้มีความมั่นคงสูงมากในขณะตั้งวาง อีกทั้งคุณสมบัติของยางนั้นโดยธรรมชาติมีความหยุ่นตัวอยู่แล้ว จึงช่วยซึมซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี ซึ่งแบบนี้ถูกใจผมมาก และเลือกใช้แบบนี้ตลอดการลองฟัง ขอแนะนำว่า ควรเลือกใช้อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นว่าเหมาะสมสำหรับการใช้งานของคุณ ส่วนขั้วต่อสายลำโพงนั้นเป็นแบบ Binding Posts ขนาดใหญ่ที่ได้รับการชุบเคลือบทองอย่างดี จำนวน 2 ชุดพร้อมต่อการใช้งานในลักษณะของ Bi-wired 

อนึ่งคู่มือการใช้งานของ XQ10 เน้นการอธิบายด้วยภาพ ทำให้เข้าใจได้ง่าย แม้จะมีคำบรรยายน้อยมาก โดยได้ระบุตำแหน่งตั้งวางไว้ว่า ควรห่างจากผนังหลังลำโพงอย่างน้อย 9 นิ้ว และควรจะห่างจากผนังด้านข้างแต่ละข้างให้มากกว่า 36 นิ้ว ขอให้ลองขยับปรับตั้งตำแหน่งและรูปแบบการตั้งวาง ในห้องฟังของท่านว่า จะใกล้/ไกลผนังหลังห้องฟังมาก/น้อยขนาดไหน โดยอิงตามข้อแนะนำในการตั้งวางระบบลำโพงที่ระบุไว้ในคู่มือเป็นแนวทาง
 
ราคา  : 77,900 บาท
ตัวแทนจำหน่าย : Home Hi-fi Co., LTD
โทร.0-2864-1317,0-2864-3141

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook