รีวิว Nokia E65

รีวิว Nokia E65

รีวิว Nokia E65
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ความน่าสนใจในกลุ่ม E-Series ของ Nokia (โนเกีย) นั้นจะอยู่ที่การเน้นรูปแบบใช้งานไปทางด้านงานธุรกิจซะมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการรองรับการเชื่อมต่อที่หลากหลาย ทั้งแบบไร้สาย และใช้สาย เพื่อการซิงโครไนซ์ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้การติดต่อสื่อสารได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาด้วยเสียง ภาพ ทางอีเมล์ หรือแม้กระทั่งอินเตอร์เน็ต โพรโตคอลเองก็ตาม เหล่านี้จะมีมาให้ใช้งานได้ค่อนข้างจะครบถ้วนตามความจำเป็นอยู่แล้ว ซึ่งก็นับรวมถึงเครื่องเล่นมีเดียที่จำเป็นต่างๆ ด้วย อย่าง Nokia E65 ที่เรานำมาอวดโฉมทดสอบกันในวันนี้ก็เช่นกัน นอกจากจะเน้นหนักไปที่การติดต่อสื่อสาร และการเชื่อมต่อแบบหลายช่องทางแล้ว ฟังก์ชั่นปุ่มกดในเครื่องก็ดูจะเป็นที่น่าสนใจมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งด้วย จากการติดตั้งชุดปุ่มเมนูลัดเพื่อการประชุม หรือติดต่อสื่อสารไว้ให้ใช้งานที่ด้านหน้าเครื่องได้อย่างสะดวกว่องไวเพียงคลิกเดียว รวมไปถึงการรองรับการโทรผ่าน VoIP บน WLAN ก็ถือว่าน่าสนใจไม่เบา นอกจากนี้มาตรฐานกล้องดิจิตอลในตัวก็ยังอยู่ในระดับ 2 ล้านพิกเซลที่พอจะเก็บรายละเอียดอย่างชัดเจน แจ่มแจ๋วๆ ได้อย่างสบายทีเดียว ซึ่งเราต้องไปดูกันในเชิงลึกกว่านี้แล้วว่า E65 นั้นจะมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง แกะกล่องลองเครื่อง สัมผัสแรก ด้วยการออกแบบที่คำนึงถึงเวลาใช้งานจริงเป็นหลัก จึงทำให้ Nokia E65 เครื่องนี้มีองค์ประกอบโดยรวมแล้วเข้าที่เข้าทางทีเดียว ตั้งแต่รูปทะนงแบบฝาสไลด์ที่มีความโค้งมนอย่างลงตัวรับกับการสัมผัสของฝ่ามือได้ดีทีเดียว นอกจากนี้วัสดุที่ถูกนำมาประกอบเครื่องก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม ทั้งแผ่นโลหะที่กรอบหน้าจอ จนถึงตัวเครื่องที่ถูกฉาบเคลือบไว้ด้วยสียางอย่างดี ช่วยให้ทนทานมากขึ้น โดยด้านหน้าตัวเครื่องนั้นนอกจากแผ่นโลหะของกรอบจอภาพแล้ว ดูเหมือนว่าการจัดวางปุ่มกดก็ช่วยให้ตัวโทรศัพท์ดูโดดเด่นขึ้นมาได้ อย่างชุดปุ่มกดที่มีการออกแบให้ลงตัวกว่ารุ่นก่อนๆ มาก นอกจากนี้ใกล้ๆ กับช่องลำโพงหูฟังนั้นก็จะมีตัว Light Sensor เอาไว้ช่วยวัดแสงเพื่อให้ใช้งานควบคู่ไปกับไฟหน้าจอได้อย่างแม่นยำ และยิ่งเมื่อสไลด์แผงปุ่มกดตัวเลข และตัวอักษรลงมาคุณก็จะพบกับปุ่มกดขนาดใหญ่ขึ้น ชัดเจนขึ้น เหมาะกับทุกขนาดนิ้ว และยิ่งไปกว่านั้นยังเพิ่ม-ลดแสงไฟปุ่มกดมาให้ใช้งานยามค่ำคืนหรือที่มืดเมื่อ Light sensor ทำงาน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการออกแบบเพื่อช่วยประหยัดพลังงานไฟได้ฉลาดแยบยลดีทีเดียว ส่วนด้านหลังเครื่อง นั้นแน่นอนว่าจะต้องมีกล้องหลักระดับ 2 ล้านพิกเซลมาให้ใช้งานอย่างไม่ต้องเดาให้เสียเวลา พร้อมกับตัวฝาหลังที่มีปุ่มปลดล็อกในตัวด้วยการออกแบบให้ตัวฝาหลังนั้นให้อารมณ์ได้คล้ายกับใช้หนังขัดมันชั้นดี กับตัวยางเคลือบที่มีการเลียนแบบลายหนังจิงโจ้ได้เหมือนจริงทีเดียว สำหรับด้านข้างนั้นต้องเน้นทางด้านขวามือเพราะจะมีทั้งช่องลำโพง แล้วก็ปุ่มกดอย่างปุ่ม Voice key สำหรับใช้งานคำสั่งเสียง, ปุ่ม Edit (รูปดินสอ) และปุ่ม Volume ปรับเสียงลำโพงต่างๆ ส่วนปุ่มเพาเวอร์สวิทช์ที่ใช้เปิด-ปิดเครื่องนั้นก็จะอยู่ตรงส่วนหัวเครื่อง ตามด้วยด้านล่างตัวเครื่องนั้นจะมีช่องอินฟราเรด (IrDA port) ซึ่งเป็นแถบสีดำซ่อนอยู่ ตามด้วยช่องเสียบต่อแบบ Multi-Slot ตั้งแต่ช่องเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่, สายดาต้าแบบ Pop-port ไปจนถึงใช้เสียบต่อหูฟังด้วยเช่นกัน ช่องรองรับการ์ดความจำ จะถูกซ่อนไว้ด้านในฝาหลัง บริเวณใกล้ๆ กับช่องรองรับซิมการ์ดนั่นเอง สังเกตไม่ยาก และใช้วิธีการถอดเปลี่ยนแบบ Click-lock คือใช้การกดตัว microSD ทั้งการถอดออก และใส่เข้าครับ สะดวกดีทั้งยังสามารถให้ผู้ใช้ได้ถอดเปลี่ยนตัว microSD โดยไม่ต้องปิดเครื่องก็ได้ด้วย ทดสอบการใช้งาน เริ่มการใช้งาน โดยการกดไปที่ปุ่มพาวเวอร์สวิทช์ที่อยูตรงส่วนหัวเครื่อง กดค้างไว้สักครู่เครื่องก็จะเริ่มทำงานโดยแสดงชื่อ Nokia หลังจากนั้นก็จะมีภาพเคลื่อนไหวเป็นรูปคนจับมือ พร้อมเสียงมาตรฐานของโนเกีย สักครู่ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลัก โดยทั้งหมดนี้จะกินเวลาประมาณ 10 วินาทีในกระบวนการ เปิดเครื่อง หน้าจอ ส่วนของจอแสดงผลนั้นจะเป็นแบบ TFT 16 ล้านสี 240 x 320 พิกเซล หรือความกว้างประมาณ 2.2 นิ้ว ซึ่งค่อนข้างตอบสนองต่อการแสดงรายการได้คมชัดสีสดเต็มตาดีทีเดียว แม้กระทั่งการใช้งานในสภาวะแสงแดดจ้า หรือในที่มืดก็ทำได้อย่างดี เพราะมีระบบ Light Sensor คอยปรับชดเชยแสงไฟหน้าจอได้ตามค่าแสงตามจริง นอกจากนี้แล้วส่วนของการปรับตั้งค่าการใช้งานหน้าจอนั้นจะมีรูปแบบและการตั้งค่าการใช้งานตั้งแต่การเลือกตั้งภาพวอลเปเปอร์, สกรีนเซพเวอร์, เปิด-ปิดข้อความต้อนรับ, ตั้งค่า Standby mode, เลือกแสดง Active standby, ตั้งเลือกการแสดงเมนูในโหมดสแตนด์บาย (Active standby apps.) เป็นต้น ซึ่งก็รวมถึงการตั้งค่าเลือกรูปแบบของเมนู (Theme) พร้อมสามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ด้วย รูปแบบเมนู จะเป็นแบบอินเตอร์เฟซ ของซีรี่ย์ 60 3rd Edition ซึ่งก็จะเป็นแพล็ตฟอร์มของ Symbian OS ที่เป็นมาตรฐาน พร้อมกับเพิ่มความสะดวกด้วยระบบสแตนด์บายแบบพิเศษ (Active standby menu) สำหรับแสดงแถบบาร์เมนูที่สามารถให้ผู้ใช้เรียกดูข้อมูลพวก ข้อความ, สมุดโทรศัพท์,Email, Application, ปฏิทินรวมถึงการเรียกเข้าฟังเพลงบนหน้าจอหลักได้ทันทีอีกด้วย และยังสามารถตั้งค่าเมนูบนปุ่ม Navi-keys ซ้าย-ขวาได้ในการเข้ามาตั้งค่าในเมนูนี้ด้วย) ส่วนหน้าตาของเมนูนั้นจะมีให้เลือกทั้งแบบตาราง (Grid) และแบบรายการ (List) แยกออกเป็นหลายเมนูหลัก และเมนูย่อยในตัว สามารถเลือกการแสดงภาษาเมนู และรองรับภาษาเขียนได้ทั้งไทย, อังกฤษ และ อัตโนมัติ (อังกฤษ) (หากเลือกเปลี่ยนภาษาเมนูแล้วเครื่องจะ ดับเพื่อ Restart ใหม่ทันที) หากเลือกWriting language ก็จะเปลี่ยนภาษาเขียน และยังสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งาน ระบบ Predictive text ได้ในการเข้ามาตั้งค่าในเมนูนี้ด้วย สัมผัสปุ่มกด ทั้งนี้ตัวปุ่มกดต่างๆ นั้นได้ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษให้ใช้งานได้อย่างคล่องตัว และสะดวกที่สุด ด้วยขนาดที่ใหญ่เหมาะต่อทุกขนาดปลายนิ้วสัมผัส ตั้งแต่ปุ่มซอพท์คีย์ซ้าย-ขวาที่ถูกออกแบบไว้บนกรอบสีเหลี่ยมควบคู่ไปกับปุ่มรับสาย/โทรออกสีเขียว และปุ่มวางสาย/ยกเลิกรายการสีแดง โดยที่ปุ่มรับสาย และวางสายนั้นก็จะถูกขั้นกลางด้วยปุ่มเข้าใช้งานเมนูหลัก และปุ่มตัว C สำหรับยกเลิกรายการในเมนู นอกไปจากนี้ก็จะมีปุ่มลัดเข้าสู่เมนูอื่นๆ เช่นปุ่ม Conference key (รูปหูโทรศัพท์และสัญลักษณ์กลุ่มคน) สำหรับใช้สนทนา หรือประชุมแบบหลายสาย ถัดลงมาในฝั่งเดียวกันก็จะเป็นปุ่ม Own key (รูปดาวสี่แฉก) สำหรับเข้าใช้งาน หรือตั้งค่าปุ่มเมนูส่วนตัว ส่วนทางขวามือก็จะมีปุ่ม Contact key (รูปสมุดโทรศัพท์) สำหรับเข้าใช้งานสมุดรายชื่อเบอร์โทรต่างๆ และถัดลงมาในฝั่งเดียวกันก็จะเป็นปุ่ม Mute key (ปุ่มรูปหูโทรศัพท์พร้อมสัญลัษณ์ขีดทับ) สำหรับกดเพื่อเปิด หรือปิดไมโครโฟนในขณะสนทนาได้ โดยปุ่มเมนูที่กล่าวมาทั้งหมดจะล้อมรอบปุ่มเมนูแบบ 5 ทิศทางซึ่งจะอยู่ตรงกลาง ที่ให้ผู้ใช้สามารถตั้งค่า Short Cut แบบสี่ทิศทางได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้พวกปุ่มตัวเลข และตัวอักษรนั้นก็มีขนาดใหญ่ และตัวอักษรต่างๆ ชัดเจนดี ที่สำคัญยังมีไฟปุ่มกดที่ทำงานร่วมกับตัว Light Sensor อยู่ด้วยเรียกว่าหากมีแสงไฟเพียงพอไฟปุ่มกดก็จะดับ แต่ถ้าอยู่ในที่มืดตัวไฟปุ่มกดก็จะแสดงโดยอัตโนมัติ นับว่ามีความสะดวกต่อผู้ใช้ทีเดียว การเชื่อมต่อ มีให้ค่อนข้างครบเครื่องทีเดียวทั้งระบบเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลได้หลายรูปแบบตั้งแต่การเชื่อมต่อโอนถ่ายข้อมูลไร้สาย ผ่านทั้ง บลูทูธ (Bluetooth 1.2) และช่องอินฟราเรด (IrDA port ที่ความเร็ว 115 kbps) ที่ช่วยให้เราสามารถโอนถ่ายข้อมูลไปยังอุปกรณ์อื่นที่รองรับด้วยระบบไร้สายเหล่านี้ได้อย่างทันอกทันใจ นอกจากนี้ผู้ใช้ก็ยังสามารถเชื่อมต่อด้วยสาย Data Cable แบบ Pop-Port ผ่านช่อง USB บนเครื่อง PC ก็ได้เช่นกัน มีระบบ Remote over-the-air (OTA) สำหรับการซิงโครไนซ์ข้อมูลสมุดโทรศัพท์, To do list และบันทึกในปฏิทิน ผ่านระบบ SyncML หรือหากต้องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยระบบ Nokia Browsing xHTML (HTT Stack)/HTML/Wap 2.0 และยังสามารถรับ-ส่งข้อความทั้งแบบ SMS, MMS, Email (SMTP/POP3/IMAP/IMAP4) สามารถแนบไฟล์ (Attach) หรือเปิดดูไฟล์ jpeg, 3gp, MP3, .ppt, .doc, excel, .pdf ได้ด้วยโดยผ่าน EDGE class 32 และ GPRS Class 32 และที่โดดเด่นที่สุดนอกจากจะรองรับระบบ 3G (WCDMA 2100) แล้ว ระบบ WLAN (WLAN: 802.11b, 802.11g* ) หรือแลนไร้สายนั้นก็สามารถรองรับได้ ซึ่งก็ช่วยให้คุณได้ใช้ระบบการโทรผ่านอินเตอร์เน็ต (VoIP ผ่าน WLAN) ได้อย่างสบายด้วย กล้องถ่ายรูป เป็นกล้องถ่ายรูปดิจิตอลในตัวระดับ 2 ล้านพิกเซล สามารถเลือกการบันทึกได้ทั้งแบบภาพนิ่ง (Image:JPEG, GIF, EXIF, WBMP, BMP, MBM, PNG) และภาพวีดีโอเคลื่อนไหวพร้อมเสียง (Video:3GPP, H.263, MPEG-4 (AMR) ) โดยการถ่ายภาพแบบภาพนิ่งนั้นสามารถปรับตั้งการถ่ายภาพได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปิด-ปิดโหมดกลางคืน (Night mode), โหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง (Sequence mode), ตั้งจับเวลา (Self-timer) แบบ 10/20 และ 30 วินาที, ปรับ Adjust สำหรับสมดุลสีขาว (White balance ) ทั้งแบบอัตโนมัติ/Sunny/Incandescent/Fluorescent หรือจะเลือกปรับ โทนสี (Cplour tone) แบบปกติ/ซีเปีย/ขาว-ดำ/เนกาตีฟ รวมถึงการเข้าการไปตั้งค่า (Settings) เพื่อเลือกคุณภาพ (Image quality) แบบพื้นฐาน/ปกติ/สูง, เลือกแสดงภาพที่ถ่ายก่อนบันทึกได้ (Show captured image), เลือกขนาดความคมชัดรูปภาพ (Image resolution) ตั้งแต่ 640x480 / 1600x1200 ส่วนการบันทึกภาพแบบวีดีโอนั้นสามารถปรับตั้งค่าการบันทึกได้ทั้งการเลือกความยาว (Length) สั้น/สูงสุด, เลือก Video resolution ที่ 128x96 / 176x144 และ 352x288 โดยการถ่ายภาพทั้งสองแบบนั้นสามารถตั้งค่าการเลือกได้ว่าจะบันทึกลงเครื่องหรือการ์ดความจำก็ได้ ทั้งนี้โดยรวมแล้วถือว่าคุณภาพ และความคมชัดของกล้องนั้นอยู่ในระดับคมชัดสมจริงทีเดียว เรียกว่าใครอยากได้กล้องถ่ายรูปสวยๆ ไม่หลอกตากละก็ E65 ตัวนี้ก็ทำได้ไม่เลวทีเดียว เครื่องเล่นสื่อ หรือเมนู Media นั้นนอกจากจะมีกล้องถ่ายรูปมาให้เลือกใช้งานแล้วก็ยังมีเครื่องเล่น RealPlayer สำหรับการเลือกดูวิดีโอ และสื่ออื่นๆ ได้ในไฟล์ (Decoding) 3GPP, MPEG-4 video, H.263, AMR audio, RealMedia (Real Video and Real Audio) นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องเล่น Music Player สำหรับการฟังเพลงทั้งไฟล์ MP3, AAC เป็นต้น พร้อมกันนี้ในเครื่องเล่นเพลงยังมีโหมดการตั้งค่าการเล่นต่างๆ มาให้ไม่ว่าจะเป็น การตั้งค่าเล่นซ้ำ (Loop) / การตั้งเล่นสุ่ม (Random) ไปจนถึงการปรับ Equalizer ได้ทั้งแบบ Defualt/Bass booster/Classical/Jazz/Pop และ Rock นอกจากนี้การเข้าสู Track list หรือตั้งเป็นเสียงเรียกเข้าก็ทำได้ง่ายๆ อีกด้วย ส่วนโปรแกรม Flash Player นั้นก็ยังมีมาให้สำหรับเล่นแอนิเมชั่นที่สร้างจากไฟล์แฟลชต่างๆ รวมถึงมี Gallery สำหรับเข้าไปดูอัลบั้มภาพ และวิดีโอ และที่ขาดไม่ได้ก็คือเครื่องบันทึกเสียง (Recorder) นั้นสามารถบันทึกเสียงสนทนาขณะใช้สายได้ในไฟล์ฟอร์แม็ต AMR audio ซึ่งก็นับรวมการบันทึกคำสั่งเสียงในฟอร์แม็ตของ EFR, FR, AMR NB, HR อีกด้วย จุดเพิ่มเติมที่น่าสนใจ อย่างพวกโปรแกรมในเมนู Office นั้นก็จะมีทั้งโปรแกรม File mgr สำหรับจัดการไฟลล์ต่างๆ ทั้งในเครื่อง และในเมมรี่การ์ด, Search สำหรับการค้นหาไฟล์แบบเร่งด่วนในเครื่อง และในเมมโมรี่การ์ด, Team Suite สำหรับจัดกลุ่มการโทร หรือการส่งข้อความติดเพื่อการติต่อต่างๆ , Quick office สำหรับงานเอกสาร, Note สำหรับบันทึกเตือนความจำต่างๆ , Converter สำหรับการคำนวนมาตราช่าง ตวง วัด, Msg. Reader สำหรับการช่วยอ่านออกเสียงข้อความเมสเซจต่างๆ , Scr. export เป็นโปรแกรมสกรีนเอกซ์พอร์ต สำหรับการโอนถ่ายหน้าจอไปยังอุปกรณ์อื่นๆ เช่นเครื่องฉายสไลด์ หรือมอนิเตอร์สำหรับการบรรยายเป็นต้น, Printer หรือ HP Printer สำหรับการสั่งพิมพ์ภาพ ผ่านบลูทูธ นอกจากนี้ก็มีเครื่องมือ หรือโปรแกรมพื้นฐานอย่างนาฬิกา, โปรแกรมอ่าน PDF หรือ Adobe Reader ที่หลายๆ คนคุ้นเคย, โปรแกรม Zip สำหรับใช้ซิป หรือคลายซิปไฟล์ต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโปรแกรม Speech สำหรับการเลือกภาษาพูด หรือเลือกแสดงเสียงแบบ Ellen สำหรับเสียงผู้หญิง และ Martin สำหรับเสียงผู้ชายรวมถึงเลือกกำหนด Speed ความเร็ว และโวลุ่มในการพูด, มี Voice command สำหรับการสั่งงานด้วยเสียง แล้วก็ยังมี Voice aid สำหรับช่วยฝึกการออกเสียงเพื่อใช้สั่งงานใน Voice command อีกด้วย และที่สำคัญก็ยังมีโปรแกรม Position , Navigator และ Landmark สำหรับการใช้งาน GPS ที่กำลังนิยมในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขณะนี้ด้วย ส่วนโปรแกรม Setting wizard นั้นก็ยังมีให้ใช้งานพร้อมกับการเพิ่มโปรแกรม Own key สำหรับการตั้งค่าปุ่มกดแบบส่วนตัวได้อีกด้วย และยิ่งไปกว่านั้นใน E65 เครื่องนี้ก็ยังมีแอ็ปพลิเคชั่นเพิ่มเติมสำหรับกลุ่ม E-Series มาให้เฉพาะด้วยไม่ว่าจะเป็น Podcasting สำหรับช่วยค้นหา สมัครสมาชิก และดาวน์โหลด Podcast แบบ Over the air ได้ และโปรแกรม Nuance ZOOMS ทำหน้าที่คล้ายกับแว่นขยายรายการที่แสดงบนหน้าจอให้ใหญ่ขึ้น ชัดเจจนขึ้นตามที่ผู้ใช้ต้องการอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะกับคนสายตาสั้น หรือสายตาไม่ปกตินั้น โปรแกรมนี้โดนใจสุดๆ ครับ ข้อสังเกต โดยจุดเด่นของเจ้า Nokia E65 เครื่องนี้โดยรวมแล้วจะเป็นโทรศัพท์มือถือที่เน้นคุณลักษณะพิเศษทางด้านงานธุรกิจเป็นหลัก แต่ก็ยังเสริมความบันเทิงต่างๆ มาให้อย่างครบถ้วนเช่นกัน ทั้งนี้จุดเด่นน่าจะอยู่ที่ฟังก์ชั่นปุ่มกดต่างๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการโทรสนทนาเพื่อการประชุมเป็นหลัก นอกจากนี้การเพิ่มฟังก์ชั่นคำสั่งเสียงเข้าไปก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้ที่เป็นนักธุรกิจได้อย่างเต็มร้อย และที่สำคัญการเชื่อมต่อต่างๆ ทั้งแบบไร้สาย และใช้สายนั้นค่อนข้างจะครบถ้วนทีเดียว โดยเฉพาะกับการรองรับ WLAN ที่ผู้ใช้สามารถโทร VoIP ผ่าน WLAN ได้อย่างสะดวกอีกด้วย สรุปผลการทดสอบ เรียกได้ว่าเป็นบิสซิเนสโฟนที่มีความน่าสนใจไม่น้อย ด้วยฟังก์ชั่นที่เอื้ออำนวยต่อการใช้งานที่เน้นไปทางด้านงานธุรกิจ ประชุมผ่านมือถือ หรือการติดต่อด้วย Email ไปจนถึงการโทร VoIP ผ่าน WLAN ก็ยังทำได้ และแถมด้วยเครื่องมือมีเดียเพื่อความบันเทิงระดับสูงก็มีมาให้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกับกล้องถ่ายรูปนั้นคุณภาพเข้าขั้นกล้องดิจิตอลลุ่นใหญ่เลยทีเดียว เรียกว่าหากใครที่เป็นนักธุรกิจ หรือต้องการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่เน้นรูปแบบ Multi-Communication แล้วละก็ Nokia E65 เครื่องนี้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดี และคุ้มค่าต่อการใช้งานที่สุดในขณะนี้แล้วครับ เอื้อเฟื้อเครื่องทดสอบ : Nokia (Thailand)/ Aziam Burson-Marsteller

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ รีวิว Nokia E65

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook