รีวิว Nokia N70 Music Edition

รีวิว Nokia N70 Music Edition

รีวิว Nokia N70 Music Edition
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในที่สุดก็ถึงเวลาที่ทาง Nokia (โนเกีย) จะนำเอา N-Series อย่าง N70, N73 และ N91 มาปัดฝุ่นใหม่ดูไฉไล พร้อมกับใส่ Music Edition พ่วงท้าย แล้วพ่นสีใหม่เป็นสีดำที่ดูแล้วน่าจับต้องมากๆ ทีเดียว นอกจากนี้ก็มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็นสำหรับการทำงานแบบเครื่องฟังเพลงสักเล็กน้อยเท่านี้ก็ลงตัวแล้วสำหรับมิวสิคโฟนตัวเก่งตัวใหม่ โดย Nokia N70 ที่เรานำมาทดสอบนี้ดูดีขึ้นด้วยสีดำด้าน ที่ให้ความรู้สึกได้ถึงความหรูหราน่าสัมผัส เรียกว่าโดนตาตั้งแต่แรกเห็นเลยทีเดียว ซึ่งนอกจากสีสันที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นสีเงินแล้ว เจ้า N70 Music Edition ตัวนี้ก็ถูกเพิ่มการ์ดความจำเสริมที่แถมติดกล่องมาให้เป็น 1 GB แต่สำหรับฟีเจอร์อื่นๆ นั้นก็ยังไม่ต่างจากตัวเดิม แต่จะว่าไปแล้วเจ้า N70 ตัวเดิมนั่นก็พรั่งพร้อมไปด้วยฟีเจอร์ และฟังก์ชั่นเด็ดๆ มากมายอยู่แล้ว เอาเป็นว่ายังไงก็แล้วแต่ เจ้า N70 Music Edition ใหม่นี้ก็ดูน่าสนใจอยู่ดี แกะกล่องลองเครื่อง สัมผัสแรก อีกหนึ่งจากกลุ่ม N-Series Music Edition ที่ถือว่ายังรักษามาตราฐานของตัวแรกไว้ได้อย่างครบเครื่อง ไม่ว่าจะด้วยรูปลักษณ์ที่ลงตัวจนใครๆ เห็นแล้วก็ต่างปรารถนาอยากจะครอบครองด้วยขนาด 108.8 x 53 x 24 มิลลิเมตร น้ำหนัก 126 กรัม ที่ถือว่าได้ใจเหล่าบรรดาแฟนๆ โนเกียเป็นที่สุด ที่สำคัญสีสันที่ดำสนิทเช่นนี้ก็ถือว่าดูดีกว่าไปอีกแบบครับ ส่วนเรื่องวัสดุตัวเครื่องนั้นก็ยังคงรักษามาตรฐานจากตัวสีเงินรุ่นก่อนไว้ได้อย่างดี ด้านหน้า ส่วนที่น่าสนใจของ N70 ก็คงจะหนีไม่พ้นด้านหน้าเครื่องที่มีการติดตั้ง ทั้งตัวเซนเซอร์รับแสงสำหรับการเปิด-ปิดไฟตัวเครื่องให้การทำงานของแสงไฟหน้าจอเป็นไปตามสภาวะแสงที่ถูกต้องแม้ในยามใช้งานกลางแจ้งแสงแดดจ้า โดยตัวเซนเซอร์รับแสงนี้จะติดตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตัวหนังสือ N70 นั่นเองครับ ส่วนต่อมาก็คือกล้องตัวที่สองสำหรับการใช้งานวิดีโอคอลเพื่อการสนทนาแบบเห็นภาพบนเครือข่าย 3G จุดเด่นต่อมาก็คือหน้าจอแสดงผลสีขนาดประมาณ 2.1 นิ้ว ที่ถือว่ากำลังพอดีกับสายตา และส่วนสุดท้ายก็คือส่วนของชุดแผงปุ่มกด ที่ยังคงแบ่งการใช้งานไว้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นปุ่มซอพท์คีย์ซ้าย-ขวาที่ทำหน้าที่ได้ตามใจผู้ใช้หรือจะเป็นปุ่มโทรออก/รับสายสีเขียว กับปุ่มวางสาย/ยกเลิกคำสั่งสีแดง ที่ถูกขั้นกลางด้วยปุ่มเมนูแบบ 5 ทิศทาง ที่สำคัญยังมีปุ่มเข้าเมนูหลัก และปุ่มดินสออยู่ทางซ้ายมือ รวมถึงปุ่มลัดเข้าใช้งานเครื่องเล่นเพลงและป่มุ C อยู่ทางขวามือซึ่งปุ่มเหล่านี้ก็จะถูกขั้นกลางด้วยปุ่มกดตัวเลขและตัวอักษรอย่างครบถ้วน ที่สำคัญก็คือปุ่มเหล่านี้จะมีแสงไฟส่องสว่างสีฟ้าสวยงามเอาไว้ใช้ในยามค่ำคืนได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียวครับ ด้านหลัง ซึ่งนอกจากจะมีฝาหลังที่เป็นหน้ากากเลื่อนเพื่อใช้งานกล้องในตัวแล้ว มันยังเป็นส่วนที่สามารถช่วยป้องกันเลนส์กล้องเป็นรอยได้เป็นอย่างดี เพราะจะมีฝาเลื่อนปิดหน้ากล้องในตัวด้วย ซึ่งข้างๆ เลนส์กล้องถ่ายรูปนั้นจะมีการติดตั้งหลอดไฟแฟลชสำหรับใช้ถ่ายภาพในที่ๆ มืดหรือมีแสงน้อยได้ดีทีเดียว ส่วนปุ่มที่เห็นอยู่ด้านล่างของฝาสไลด์เปิด-ปิดหน้ากล้องนั้นก็คือปุ่มสลักปลดล็อกฝาหลังนั่นเองครับ ด้านข้าง (ซ้ายมือ) ด้านนี้จะไม่มีปุ่มกด หรือช่องเสียบต่อใดๆ ทั้งสิ้น ด้านข้าง (ขวา) จะมีทั้งช่องรองรับการ์ดความจำเสริมแบบ MMC พร้อมฝาปิดกันฝุ่นละออง และถัดจากช่อง MMC นั้นจะเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้องสำหรับการลั่นชัตเตอร์เพื่อถ่าย หรือบันทึกภาพ ด้านบน ในส่วนนี้จะมีปุ่มกดเปิด-ปิดเครื่อง (Power Switch On/Off) และช่องลำโพงซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ส่วนรูที่อยู่ข้างๆ นั้นจะเป็นรูสำหรับใช้ร้อยสายคล้องคอครับ ด้านล่าง มีทั้งช่องเสียบต่อสายชาร์จแบตเตอรี่ขนาด 1 มิลลิเมตร และช่องเสียบต่อแบบ Pop-port เปิดฝาหลัง/ใส่ซิมการ์ด ทำได้โดยต้องใช้ปลายนิ้วกดลงที่ปุ่มปลดล็อกฝาหลังพร้อมกับใช้นิ้วที่กดนั้นดันตัวฝาหลังลงด้านล่าง ตัวฝาหลังก็จะขยับหลุดออกมาได้ง่ายแล้วครับ ซึ่งตัวฝาหลังนั้นจะหลุดออกมาพร้อมกับฝาปิดหน้ากล้อง หลังจากนั้นก็จะเห็นตัวแบตเตอรี่อยู่ด้านใน ซึ่งหากต้องการจะถอดแบตเตอรี่ออก หรือต้องการเปลี่ยนซิมการ์ดก็ให้ใช้ปลายนิ้วงัดที่ด้านล่างตัวแบตเตอรี่ขึ้น เมื่อกอดตัวแบตเตอรี่ออกได้แล้วก็จะเห็นทั้งช่องใส่ซิมการ์ด แบบมีถาดรองรับพร้อมฝาโลหะแบบยกเปิดอยู่ด้านใน ส่วนการใส่ซิมการ์ดให้ถูกต้องนั้นต้องสังเกตเอารอยบากของซิมการ์ดเช่นเคยครับ และที่สำคัญอย่าลืมปิดเครื่องก่อนถอดแบตเตอรี่นะครับ เครื่องเสียข้อมูลหายแล้วจะยุ่งนะครับ อย่าลืมครับ ทดสอบการใช้งาน เริ่มการใช้งาน โดยการกดไปที่ปุ่มพาวเวอร์สวิทช์ที่อยูตรงส่วนหัวด้านบนตัวเครื่อง กดค้างไว้สักครู่เครื่องก็จะเริ่มทำงานโดยแสดงชื่อ Nokia หลังจากนั้นก็จะมีภาพเคลื่อนไหวเป็นรูปคนจับมือ พร้อมเสียงมาตราฐานของโนเกีย สักครู่ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลัก โดยทั้งหมดนี้จะกินเวลาประมาณ 35 นาทีในกระบวนการ เปิดเครื่อง หน้าจอ ส่วนของจอแสดงผลนั้นจะเป็นแบบ TFT 262,144 สี 176 x 208 พิกเซล หรือประมาณ 2.1 นิ้ว ซึ่งค่อนข้างตอบสนองต่อการแสดงภาพและข้อมูลต่างๆได้ชัดเจนทีเดียว แม้กระทั่งการใช้งานในสภาวะแสงแดดจ้าก็ตาม หน้าจอก็แสดงผลให้เห็นได้ชัดเจนดีทีเดียว นอกจากนี้แล้วส่วนของการปรับตั้งค่าการใช้งานหน้าจอนั้นจะมีรูปแบบและการตั้งค่าการใช้งานตั้งแต่การเลือกตั้งภาพพื้นหลังแบบสี (Wallpaper), ภาพพักหน้าจอ (Screen savers), เปิด-ปิดข้อความต้อนรับ (Welcome note/logo), ตั้งค่าโหมด พร้อมทำงาน (Standby mode), โหมดสแตนด์บายแบบพิเศษ (Active standby), ตั้งเลือกการแสดงเมนูในโหมดสแตนด์บาย (Active standby apps.), ตั้งเวลาสำหรับโหมดประหยัดพลังงาน (Power saver time-out สูงสุด 30 นาที), เลือกตั้งเวลาปิดไฟหน้าจอ (Light time-out สูงสุด 60 วินาที), ปรับความสว่าง (Brightness), เลือกแสดงรูปแบบเวลาและวันที่ (Time&Date) รวมถึงการตั้งค่าเลือกรูปแบบของเมนู (Theme) พร้อมสามารถดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าการล็อกปุ่มกดได้ ก็คือให้กดที่ปุ่มซ็อพท์คีย์ด้านซ้ายมือแล้วตามด้วยปุ่ม * ได้เลยครับ (วิธีนี้ใช้ได้ทั้งการล็อกและปลดล็อก) รูปแบบเมนู เป็น User Interface แบบ ซีรี่ย์ 60 แพล็ตฟอร์มของ Symbian OS ที่ถือว่าตอบสนองต่อการสั่งงานเมนูได้ดีพร้อมกับเพิ่มความสะดวกด้วยเมนูสแตนด์บายแบบพิเศษ (Active standby menu) ด้วยการแสดงแถบบาร์เมนูที่สามารถให้ผู้ใช้เรียกดูหรือตั้งค่าแสดงเมนูต่างๆ ได้ตามใจชอบ (สามารถเลือกตั้งค่าการแสดงเมนูแบบพิเศษได้ โดยเข้าที่ Menu > Tools > Settings > Phone > Standby mode > Active standby On/Off.และยังสามารถตั้งค่าเมนูบนปุ่ม Navi-keys ซ้าย-ขวา หรือเลือกตั้งค่าแสดงเมนูพิเศษได้ตามใจชอบใน Active standby apps. ด้วยการเข้ามาตั้งค่าในเมนูนี้ด้วย) สามารถเลือกการแสดงเมนู และรองรับภาษาเขียนได้ทั้งไทย, อังกฤษ และ อัตโนมัติ (อังกฤษ) สามารถเข้าไปตั้งค่าเลือกภาษาเมนูโดยเข้า Menu > Settings > Phone > General > เลือก Phone language สำหรับภาษาเมนูเครื่อง (หากเลือกเปลี่ยนภาษาเมนูแล้วเครื่องจะ ดับเพื่อ Reboot ใหม่ทันที) หากเลือกWriting language ก็จะเปลี่ยนภาษาเขียน และยังสามารถเลือกตั้งค่าการใช้งาน ระบบ Predictive text ได้ในการเข้ามาตั้งค่าในเมนูนี้ด้วย ส่วนเมนูหลักๆนั้นจะมีให้เลือกใช้งานมากมายดังต่อไปนี้ - Messaging เมนูข้อความ เป็นเมนูสำหรับการใช้งานจัดการเกี่ยวกับข้อความต่างๆโดยจะมีเมนูย่อยๆด้านในทั้ง สร้างข้อความ (New message), ถาดเข้า (Inbox), แบบร่าง (Draft), ถาดออก (Oubox), รายการที่ส่ง (Sent), รายการที่จัดเก็บ (My folders), รายงานการส่ง (Report)พร้อมคำสั่งใช้งานพวก อีเมล, สนทนา, ข้อความเสียง, ข้อความข้อมูล, คำสั่งขอใช้บริการ, ลบข้อความ และการตั้งค่าข้อความเป็นต้น - Contacts เมนูรายชื่อ สำหรับการเลือกใช้สมุดบันทึกเบอร์โทร ที่มีตั้งแต่ ชื่อ, สถานะของผู้ใช้, รายชื่อที่สมัครข้อมูล, การตั้งค่า, กลุ่ม, โทรด่วน, เบอร์ส่วนตัว, ลบรายชื่อทั้งหมด และการตั้งค่า PTT options เป็นต้น - Calendar เมนูปฏิทิน สำหรับใช้งานปฏิทิน และบันทึกรายวัน, รายสัปดาห์ รวมถึงการตั้งค่าปฏิทินแบบบันทึกการเตือนต่างๆ - Radio เมนูวิทยุ สำหรับใช้งานฟังวิทยุ เอฟเอ็มด้วยโปรแกรม Visual Radio - Gallery เมนูคลังภาพ สำหรับการเลือกเข้าดู ภาพและวิดีโอ (Image&Video), แทร็ค (Tracks), คลิปเสียง (Sound clips), ลิงค์ต่างๆ ( Links), ไฟล์ทั้งหมด (Allfiles) - Imaging เมนูภาพ สำหรับเข้าใช้งานกล้อง (Camera), โปรแกรมตัดต่อหนัง (Movie director), เครื่องเล่น RealPlayer และโปรแกรม Image print ก็อยู่ในนี้ - Clock เมนูนาฬิกา สำหรับใช้งานนาฬิกาบอกเวลา, นาฬิกาปลุก, นาฬิกาโลกเลือกแบบฟอร์แม็ทแสดงวันที่ และเวลาได้หลากหลาย - Web เมนูเว็บ สำหรับข้อมูลและการพิมพ์ URL เพื่อเชื่อมต่อเข้าเว็บไซต์ได้ทันที - My own เป็นเมนูสำหรับการตั้งค่าและโปรแกรมเสริมส่วนตัวทั้ง การเลือกใช้งาน ข้อความทันใจ (IM), ดูข้อมูลการใช้สาย (Log), โปรแกรม Go to, เครื่องเล่นเพลง (Music), เกมส์ Card Deck, เกมส์งู (Snakes), เกมส์ Snowboard, โปรแกรม Snap และ Srennshot สำหรับใช้จับภาพหน้าจอ, เกมส์ moorhen และ FExplorer สำหรับค้นหาไฟล์ หรือโปรแกรมรวมถึงโฟลเดอร์ต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องปฏิทิน (Calendar), นาฬิกา (Clock), พุช ทู ทอร์ค (PTT), ข้อความด่วน (IM), ตัวแนะนำ (Tutorial), ใช้งานปุ่ม (Actv. Keys), ไลฟ์บล็อก (Lifeblog), โปรแกรมจับภาพหน้าจอ (Scrnshot), โปรแกรมเล่นไฟล์ DivX player - Office เมนูออฟฟิซ สำหรับใช้งานเครื่องมือผู้ช่วยงานออฟฟิซอย่าง บันทึก (Notes), เครื่องคิดเลข (Calculator), เครื่องแปลงหน่วย (Converter), บันทึกเสียง (Recorder), สิ่งที่ต้องทำ (To-do) - Tools เมนูเครื่องมือ สำหรับการเข้าใช้งานเครื่องมือส่วนตัวต่างๆไม่ว่าจะเป็น ตัวจัดการ (Application manager), ถ่ายโอน (Transfer), รูปแบบ (Profiles), การตั้งค่า (Settings), ลักษณะ (Themes), คำสั่งเสียง (Voice command), เสียง (Voice mail), โทรด่วน (Speed Dial), หน่วยความจำ (Memory), จัดการแอปพลิเคชั่น (Manager), ตัวจัดการไฟล์ (File manager), ใช้งานปุ่มกด (Active keys), วิธีใช้ (Help), เกี่ยวกับ (About) สำหรับใช้ดูข้อมูลตัวเครื่อง - Connect เมนูเชื่อมต่อ (Connectivity) สำหรับการใช้งานกับเครื่องมือเชื่อมต่อต่างๆทั้ง บลูทูธ (Bluetooth), ตัวเชื่อม (conn.mgr.), ตัวจัดการอุปกรณ์ (Dev.mgr.), ซิงค์ (Sync) เสียงเรียกเข้า รองรับเสียงเรียกเข้าได้แบบ MP3, AMR, True Tones, AAC, eAAC+, MIDI ในระดับ 40 โพลีโฟนิก นอกจากนี้ยังสามารถเลือกรูปแบบการเตือนต่างๆได้มากมายในการตั้งค่ารูปแบบ (Profile) ทั้งการเลือกตั้งสถานการณ์ใช้แบบ ทั่วไป (General), เงียบ (Silent), ประชุม (Meeting), นอกสถานที่ (Outdoor), วิทยุติดตามตัว (Pager), ออฟไลน์ (Offline) สามารถเลือกเข้าที่ตัวเลือก (Option) เพื่อการตั้งค่ารูปแบบการเตือนพวก เสียงเรียกเข้าตั้งได้ทั้ง Line 1 และ 2, ตั้งค่าเสียงวิโอคอลโทน, เลือกรูปแบบการเตือน แบบดังต่อเนื่อง/ดังขึ้นเรื่อยๆ/ดังหนึ่งครั้ง/ปี๊บหนึ่งครั้ง/เงียบ, เลือกระดับความดัง, แบบเสียงเตือนข้อความ, แบบเสียงเตือนอีเมล, แบบเสียงเตือน IM, เปิด-ปิดระบบเตือนแบบสั่น, เลือกเปิด-ปิดและระดับความดังของเสียงปุ่มกด, เปิด-ปิดเสียงเตือน, เลือกปลุกสำหรับทุกสายเป็นต้น ส่วนการเซ็ตเพลงเรียกเข้านั้นก็เลือกเข้าแบบต่างๆ นั้นสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ทั้งที่เมนู Gallery หรือ Music ก็ได้เลือกฟังเพลงที่ชอบแล้วตั้งค่าเป็น Ringtone ได้ทันทีโดยกด Options > Set as ringtone เพื่อตั้งเป็นเสียงเรียกเข้าครับ สมุดโทรศัพท์ สามารถลงบันทึกรายการเพิ่มเบอร์และเลขหมายโทรศัพท์ได้ทั้งในตัวโทรศัพท์ หรือจะเลือกบันทึกลงในซิมการ์ดก็ได้ รวมถึงเลือก Copy ข้อมูลทั้งหมดในซิมลงเครื่องก็ได้ด้วย ส่วนการบันทึกลงรายการสร้างรายชื่อใหม่ลงเครื่องนั้นสามารถลงได้ทั้ง ชื่อ, นามสกุล, บริษัท, ตำแหน่ง หรือหน้าที่การงาน,เบอร์มือถือ, เบอร์บ้าน, ใส่ค่าวิดีโอคอล, Fax, Email (สามารถกดตัวเลือก Option เพื่อเพิ่มรายละเอียด Add detail หรือ Add thumbnail ต่างๆ ได้ตามใจชอบ) ได้อีกมากมาย ทั้งนี้แต่ละรายการสามารถตั้งกลุ่ม และเสียงเรียกเข้าเฉพาะบุคคลได้ด้วย รวมถึงการเลือกแก้ไขตัวไอคอนหน้าข้อมูลแต่ละหัวข้อใน Edit lable ได้ด้วย การเชื่อมต่อ มีระบบเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลได้หลายรูปแบบตั้งแต่การเชื่อมต่อโอนถ่ายข้อมูลไร้สาย ผ่านทั้ง บลูทูธ (Bluetooth v.2.0) ที่ช่วยให้เราสามารถโอนถ่ายข้อมูลไปยังอุปกรณ์อื่นที่รองรับด้วยระบบไร้สายได้อย่างคล่องตัวและยังเหมาะสำหรับหารสั่งพิมพ์ภาพด้วยระบบ BPP ได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยระบบไร้สายแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อด้วยสาย Data USB Cable ด้วยอินเตอร์เฟซแบบ Pop-Port ผ่านช่อง USB 2.0 ก็ได้ มีระบบ Remote over-the-air (OTA) สำหรับการซิงโครไนซ์ข้อมูลสมุดโทรศัพท์, To do list และบันทึกในปฏิทิน ผ่านระบบ SyncML หรือหากต้องการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยระบบ Multi Browsing WAP 2.0/xHTML/HTML และสามารถรับ-ส่งข้อความทั้งแบบ SMS, MMS, Email (SMTP/POP3/IMAP4) รวมถึงการรองรับรูปแบบการสนทนาในแบบ Chat IM และ PTT ผ่าน EDGE class 10/GPRS Class 10 และ WCDMA 2100 ได้ด้วย กล้องถ่ายรูป ติดตั้งกล้องถ่ายรูปดิจิตอลในตัวระดับ 2 ล้านพิกเซลมาพร้อมกับระบบการซูมหน้ากล้องแบบดิจิตอล ได้ถึง 20 เท่า (Digital Zoom 20x) มีระยะ Focus ใกล้สุดที่ประมาณ 3-5 เซนติเมตร (ซึ่งอาจจะไม่ชัดเท่าใดนัก) กล้องสามารถเลือกการบันทึกได้ทั้งแบบภาพนิ่ง (JPEG, GIF, EXIF2.2, WBMP, BMP (W-BMP), MBM, PNG) และภาพวีดีโอเคลื่อนไหวพร้อมเสียง (H.263, MPEG-4 ) แบบภาพนิ่งสามารถปรับตั้งการถ่ายภาพ (Image setup) ด้วยการเลือก (Scene) แบบ อัตโนมัติ/ผู้ใช้กำหนดเอง/Portrait/Landscape/Night/Sport, เลือกตั้งค่าไฟแฟลช (Flash) แบบออโตแมติก/On-Force/ปิด, ตั้งค่าสมดุลแสงสีขาว (White balance) แบบ AWB/Daylight/Cloudy/Tungsten/Fluorescent, ตั้งจับเวลาภายใน (Self-timer), เลือกโทนสี (Colour tone) แบบปกติ/Sepia/B&W/Negative สามารถเข้าการตั้งค่า (Settings) เพื่อเลือกคุณภาพของภาพ (Image quality) แบบ Low สำหรับขนาดที่ส่ง MMS/Medium สำหรับขนาด 6x4 นิ้ว/Maximum กับขนาดภาพ 2 ล้าน หรือ 10x8 นิ้ว, เลือกโหมดซูม (Extended zoom On/Off), เลือกแสดงภาพที่ถ่ายก่อน (Show captured image), เลือก Add to album, เลือกพื้นที่จัดเก็บ (memory in use), เลือกตั้งค่าชื่อภาพ (Default image name) รวมถึงการเลือกถ่ายภาพแบบหลายช็อต (Sequence mode) สูงสุด 6 ช็อต, ส่วนการบันทึกภาพแบบวีดีโอนั้นสามารถปรับตั้งค่า Video setup แบบเลือก Scene/White balance/Colour tone และตั้งค่า Video settings เพื่อเลือกบันทึกเสียง (Audio recording On/Off, เลือกคุณภาพวิดีโอ (Video quality) แบบ Low สำหรับ MMS/Normal สำหรับการเล่นในโทรศัพท์มือถือ/High สำหรับใช้เล่นในโทรศัพท์หรือเครื่อง PC ได้แบบคมชัด ส่วนการตั้งค่าอื่นๆ นั้นก็จะเหมือนในการถ่ายภาพนิ่ง และที่สำคัญโหมดการถ่ายรูปนี้ยังให้ผู้ใช้ได้ใช้กล้องตัวที่สอง (Secondary camera) ที่อยู่ด้านหน้าถ่ายภาพบันทึกวิดีโอได้ด้วย เครื่องเล่นมีเดียต่างๆ นอกจากจะมีกล้องถ่ายรูปมาให้เลือกใช้งานแล้วยังมีเครื่องเล่น RealPlayer สำหรับการเลือกดูวิดีโอและสื่ออื่นๆ ได้ในไฟล์ (Decoding) .3gp and .mp4, MPEG-4 video, H.263, AMR audio, RealMedia (Real Video and Real Audio), MP3, AAC, eAAC+, AAC+, WMA ส่วนเครื่องบันทึกเสียง (Recorder) ที่มีมาให้นั้นสามารถบันทึกเสียงสนทนาขณะใช้สายหรือบันทึกเสียงอื่นๆ ที่ต้องการได้ในไฟล์ฟอร์แม็ต AMR audio และยังมีโปรแกรม Visual Radio สำหรับใช้ฟังวิทยุ FM มาให้ด้วย เครื่องเล่นเพลง ในเมนู Music จะเป็นเครื่องเล่นเพลง (Music Player) ที่สามารถรองรับไฟล์เพลงประเภท MP3, AMP, AAC, eAAC+, WMA และไฟล์อื่นๆ ได้อีกมากมายพร้อม มีระบบเล่นสุ่ม (Shuffle), เล่นซ้ำ (Repeat) พร้อมกับการเลือกจัดเรียงเพลงให้แสดงได้เป็นแบบแสดงทั้งหมด (All songs), เพลงที่ชอบ (Playlist), เรียงตามชื่อศิลปิน (Artists), เรียงตามชื่ออัลบั้ม (Albums), แสดงเพลงที่เล่นล่าสุด (Recently added), หรือเข้าสู่เพลงที่เล่นอยู่ (Go to now playing) รวมถึงการเล่นเพลงแบบใช้งานเมนูอื่นได้ด้วยการเลือก Play in background การรองรับไฟล์ฟอร์แม็ตต่างๆ สำหรับเครื่อง N70 Music Edition นี้จะรองรับไฟล์ฟอร์แม็ตต่างๆ ได้หลากหลายตั้งแต่ MP3, AAC, Real Audio, WAV, Nokia Ring Tones, AMR, AMR-WB, AMR-NB, AU, MIDI, H.263, JPEG, JPEG2000, EXIF 2.2, GIF 87/89, PNG, BMP (W-BMP), MBM, MPEG-4 และ eAAC+ ซึ่งถือว่าค่อนข้างรองรับไฟล์ต่างๆ ได้หลากหลายจริงๆ ครับ หน่วยความจำรองรับ นอกจากจะมีพื้นที่ของหน่วยความจำในเครื่องอยู่ 64 MB แล้ว ยังสามารถเพิ่มการ์ดความจำแบบ MMC ได้สูงสุดถึง 1 GB ด้วย (มีแถมให้ในกล่อง) ข้อสังเกต จะว่าไปแล้ว N70 Music Edition เครื่องนี้ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจาก N70 ตัวเดิมเท่าใดนัก ที่ต่างออกไปก็มีเพียงสีตัวเครื่องที่หันมาใช้สีดำ แล้วเพิ่มการ์ดหน่วยความจำ miniSD ขึ้นเป็น 1GB ก็เท่านั้น อ่อ! แล้วก็ชุดหูฟังที่ดูจะเหมาะกับการฟังเพลงมากขึ้น นอกนั้นยังเหมือนเดิมทุกๆ อย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะบอกกล่าวกันไว้ก่อนก็คืออุปกรณ์ในกล่องที่มีนั้นควรจะต้องมีเลยก็คือ ตัวเครื่อง Nokia N70 Music Edition, แบตเตอรี่ BL-5C 1 ก้อน, สายชาร์จแบตเตอรี่, หูฟังสเอตรีโอ, สายดาต้า (Pop-Port), การ์ดความจำเสริม miniSD 1 GB พร้อมตัว Adapter แปลงเป็น SD, คู่มือผู้ใช้ และ CD โปรแกรมของ Nokia N70 Music Edition ซึ่งหากมีไม่ครบตามนี้ควรทวงถามจากผู้ขายนะครับ เพราะบางที่นำเอาอุปกรณ์ที่ควรจะแถมมาแยกขายเพิ่มราคา ก็ฝากไว้ด้วยนะครับ ก่อนจะรับเครื่องก็ควรตรวจสอบดูเสียก่อนจะดีที่สุดครับ สรุปผลการทดสอบ ความน่าสนใจนั้นจะอยู่ที่สีสันที่ถูกเปลี่ยนมาเป็นสีดำสนิทซึ่งดูแล้วหรูหราขึ้นผิดหูผิดตากว่าตัวเดิมเยอะ ที่สำคัญเรื่องการฟังเพลงนั้นดูจะดีขึ้นด้วยชุดหูฟังที่เหมาะกับการฟังเพลงกว่าแต่ก่อนเยอะครับ แถมด้วยตัวการ์ดความจำเสริมที่แถมให้ในกล่องนั้นก็ถูกเพิ่มเติมเป็น 1 GB เลยทีเดียว เรียกว่าจุเพลงได้เยอะขึ้นกว่าเดิม ส่วนความสามารถทางด้านกล้องถ่ายรูป และอื่นๆ นั้นยังคงมาตรฐานเดิมไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงการออกแบบที่ยังคงเดิมไม่ต่าง อะไรจากรุ่นเดิมนักนอกจากสีดำของตัวเครื่อง นอกนั้นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เรื่องการใช้งานนั้นก็ยังอยู่ในมาตรฐานเครื่อง N-Series รวมถึงคุณภาพด้วย ส่วนเรื่องราคานั้นถือว่าค่อนข้างถูกอยู่พอสมควร หากเทียบกับฟังก์ชั่น และของแถมในกล่อง

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ รีวิว Nokia N70 Music Edition

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook