รีวิว Samsung i600

รีวิว Samsung i600

รีวิว Samsung i600
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แรกเห็น เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Samsung ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือ 3 ซีรี่ส์ใหม่ในงาน ITU Telecom World 2006 ที่ฮ่องกง ซึ่งทั้ง 3 ซีรี่ส์ได้แก่ Samsung Ultra Music, Samsung Ultra Video และ Samsung Ultra Messaging โดยเปิดตัวซีรี่ส์ละ 1 รุ่นคือ Samsung F300, Samsung F500 และ Samsung i600 ตามลำดับ และรุ่นที่นำเข้ามาเปิดตัวในบ้านเราก่อนเลยก็คือรุ่น Samsung i600 โทรศัพท์มือถือ Smart Phone ในตระกูล Samsung Ultra Messaging รูปทรงของ Samsung i600 เป็นแบบ Bar Type หรือแบบแท่ง คล้ายรุ่น i320 แต่รุ่นนี้ออกแบบแบบเป็นเหลี่ยมมากกว่า ส่วนความบางนั้นหนากว่ารุ่นก่อนหน้านี้เพียง 0.3 มิลลิเมตรเท่านั้น รูปลักษณ์ภายนอกเครื่อง เริ่มจากด้านบนมีปุ่มเปิดปิดเครื่อง ถัดลงมาด้านหน้าเครื่องเป็นหน้าจอแสดงผลแบบแนวนอนซึ่งเป็นหน้าจอสี TFT LCD 65,536 สี ความละเอียด 320x240 พิกเซล ขนาด 2.3 นิ้ว ถัดจากหน้าจอเป็นปุ่มควบคุมการใช้งาน ปุ่มกดตัวเลขและตัวอักษรต่างๆ ในรูปแบบแป้นพิมพ์ QWERTY นอกจากนี้ที่บริเวณด้านข้างเครื่องก็ยังมีปุ่มสำหรับใช้งาน พร้อมช่องต่างๆ โดยด้านซ้ายมีปุ่มปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียง กับช่องสำหรับเสียบชุดหูฟัง สายชาร์จไฟแบตเตอรี่ และสาย Sync ในช่องเดียวกันพร้อมฝาผิดกันฝุ่นเข้า ส่วนด้านขวามีช่องสำหรับใส่การ์ดหน่วยความจำภายนอก, ปุ่ม Jog Dial และปุ่มย้อนกลับ/ใช้งานกล้องดิจิทัล พลิกมาด้านหลังเครื่องจะเห็นเลนส์ของกล้องดิจิทัลพร้อมกระจกเงา และยังมีช่องลำโพงสำหรับฟังเพลง ทดลองใช้งาน การใส่ SIM Card ในการใส่ SIM Card ของเครื่อง Samsung i600 เริ่มจากการถอดฝาหลังออกมาก่อน โดยใช้มือจับตัวเครื่องในแนวนอนไว้แล้วพลิกมาด้านหลัง แล้วใช้นิ้วโป้งกดที่ปุ่มที่อยู่ตรงกลางด้านบนของฝาหลังดันเลื่อนออกมาเพื่อปลดล็อค และหยิบออกจากเครื่อง สำหรับช่องใส่ SIM Card ของเครื่องรุ่นนี้อยู่บริเวณตรงกลางด้านบนเหนือช่องใส่แบตเตอรี่ ให้นำ SIM Card ใส่เข้าไปในช่องตามรูปสัญลักษณ์ที่อยู่ด้านล่างแล้วดันเลื่อนเข้าไปจนสุด เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำแบตเตอรี่และฝาหลังใส่กลับเข้าไปตามเดิม และทำการเปิดเครื่องเพื่อใช้งานต่อไป การเปิด-ปิดเครื่อง ตำแหน่งปุ่มเปิด-ปิดของเครื่อง Samsung i600 อยู่บริเวณด้านซ้ายบนของเครื่องมีสัญลักษณ์วงกลางขีดกลาง ให้กดค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาทีแล้วปล่อยนิ้วที่กด เครื่องก็จะติดพร้อมตัวอักษร The Ultra messaging พร้อมภาพโลโก้ Samsung Fun Club ตามด้วย Windows Mobile จากนั้นเครื่องจะทำการค้นหาสัญญาณเครือข่าย ก่อนที่จะเข้าสู่หน้าจอหลักพร้อมใช้งาน สำหรับหน้าจอหลัก Home Screen ประกอบด้วยภาพวอลเปเปอร์ พร้อมด้วยสัญลักษณ์แสดงระดับแบตเตอรี่กับระดับสัญญาณเครือข่ายอยู่ตรงบริเวณด้านขวาบนสุด ถัดลงมาเป็นแถบไอคอนเมนูที่เพิ่งใช้งานไป ตามด้วยชื่อเครือข่ายที่ใช้งาน สถานะ Wi-Fi วันที่และเวลา รายละเอียดการนัดหมาย โปรไฟล์ที่ใช้งาน ข้อความ SMS/MMS ที่ได้รับ ส่วนแถบที่อยู่ด้านล่างสุดของหน้าจอจะเป็นชื่อของเมนู Soft Key ซ้าย/ขวา ซ้ายจะเป็นชื่อเมนู Start และขวาจะเป็นชื่อเมนู Contacts และที่พิเศษคือสามารถเปลี่ยนหน้าจอ Home Screen ได้ 10 รูปแบบ โดยเข้าไปที่เมนู Settings>Display>Home Screen ปุ่มกดและความเหมาะมือ ปุ่มกดการใช้งานประกอบด้วย 2 ส่วนหลักคือ ส่วนของปุ่มควบคุมการใช้งานเครื่อง ประกอบด้วยปุ่ม Navigator Key แบบ 5 ทิศทาง, ปุ่ม Soft Key ซ้าย/ขวา, ปุ่ม Home, ปุ่มย้อนกลับ, ปุ่มโทรออก/รับสาย, และปุ่มวางสาย อีกส่วนจะเป็นส่วนปุ่มกดตัวอักษรและตัวเลขซึ่งดีไซน์แบบ QWERTY โดยมีตัวอักษรภาษาอังกฤษครบทุกตัว และมีกรอบเส้นสีขาวเน้นสำหรับใช้งานกดปุ่มตัวเลขโดยเฉพาะทำให้กดใช้งานง่าย แต่ถ้ากดปุ่มตัวอักษรภาษาอังกฤษจะค่อนข้างยากนิดนึง เพราะขนาดของปุ่มที่เล็ก นอกจากนี้ยังมีปุ่มที่อยู่ด้านข้างเครื่อง เริ่มจากด้านซ้ายมีปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียง ส่วนด้านขวามีด้วยกัน 2 ปุ่มคือ ปุ่ม Jog Dial สำหรับหมุนเลื่อนดูเมนูต่างๆ กับปุ่มย้อนกลับแต่ถ้ากดค้างไว้ก็จะเข้าสู่การใช้งานกล้องดิจิทัล ด้านความเหมาะมือนั้นถือว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ที่มีขนาดบาง แถมด้วยน้ำหนักที่เบา ทำให้ถือจับใช้งานได้สบายมือ ไม่มีปัญหาอะไร แต่อาจจะมีปัญหาบ้างเฉพาะตรงที่เวลากดใช้งานพิมพ์ตัวอักษรเท่านั้น เมนูใช้งาน การเข้าสู่เมนูของเครื่อง Samsung i600 ทำได้โดยกดที่ปุ่ม Soft Key ด้านซ้ายมือซึ่งเป็นเมนู Start ซึ่งหน้าตาของเมนูการใช้งานเลือกแสดงผลได้ 2 แบบคือ แบบ Grid กับแบบ List โดยเข้าไปที่เมนู Settings>Display>Start Menu Style สำหรับรายละเอียดของเมนูหลักๆ ที่แสดงทั้งหมดมีดังนี้ Contacts หรือสมุดโทรศัพท์ สำหรับดูหมายเลขโทรศัพท์พร้อมทั้งเพิ่มรายชื่อผู้ติดต่อใหม่ Messaging เป็นเมนูรับ-ส่งข้อความแบบ SMS, MMS และ Outlook E-Mail Organizer เมนูใช้งานออร์แกไนเซอร์ ประกอบด้วย นาฬิกาปลุก ปฏิทินสำหรับจดบันทึกนัดหมายต่างๆ วันสำคัญ บันทึก สิ่งที่ต้องทำ ข้อความเสียง และนาฬิกาโลก Call History เป็นเมนูสำหรับดูประวัติการใช้งานโทรศัพท์ทั้งเบอร์ที่โทรออก เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย และเบอร์ที่รับสาย Window Media เมนูเล่นไฟล์มัลติมีเดียผ่านโปรแกรม Window Media Player Camera เมนูใช้งานกล้องดิจิทัล Settings เมนูสำหรับตั้งค่าการใช้งานต่างๆ ของเครื่อง Internet เป็น Browser สำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้ง WWW และ WAP ActiveSync เป็นเมนูสำหรับใช้เชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ เพื่อรับ-ส่งข้อมูล File Explorer เมนูสำหรับจัดการไฟล์ต่างๆ Picsel Viewer เมนูสำหรับอ่านและดูไฟล์เอกสาร Utilities เมนูรวมโปรแกรมช่วยในการใช้งานของเครื่อง Accessories เมนูรวมโปรแกรมที่ช่วยในการทำงาน ได้แก่ เครื่องคิดเลข, Download Agent, My SIM Message ฯลฯ Games เมนูเกม ซึ่งมีเกมมาให้ 2 เกมคือ Bubble Breaker และ Solitaire Contents Manager เมนูสำหรับจัดการ Content ต่างๆ ที่มีอยู่ในเครื่อง Internet Sharing เมนูสำหรับใช้งานเครื่องเพื่อใช้เป็นโมเด็มเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต Podcast เมนูสำหรับใช้งานบริการ Podcast RSS Reader เมนูใช้งานโปรแกรม Rss Reader สำหรับดึงข่าวจากเว็บไซต์มาอ่านผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Voice Assist เป็นเมนูสำหรับใช้งานคำสั่งเสียง คุณสมบัติการใช้งาน ด้านการโทร ในด้านการใช้งานโทรศัพท์นั้นเริ่มด้วย Contacts หรือสมุดโทรศัพท์ ใส่รายละเอียดต่างๆ ของผู้ติดต่อได้ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ, นามสกุล, เบอร์ที่ทำงาน, เบอร์มือถือ, เบอร์บ้าน, เสียงเรียกเข้าเฉพาะ, รูปถ่าย, อีเมล์, IM ฯลฯ เรียกว่าเป็นสมุดโทรศัพท์ที่เก็บบันทึกข้อมูลได้ครบถ้วนเลยทีเดียว และเลือกให้แสดงชื่อหรือบริษัทก่อนเวลาที่ต้องการดูได้ พร้อมทั้งตั้งค่าให้แสดงทั้งหมดหรือเฉพาะกลุ่มได้อีกด้วย สำหรับการเช็คประวัติการโทรในเมนู Call History สามารถเลือกแยกรายการได้ไม่ว่าจะเป็นรายการทั้งหมด สายที่ไม่ได้รับ สายที่โทรออก สายที่โทรเข้า หรือจะดูเฉพาะบุคคลจากสมุดรายชื่อ ว่ามีรายการโทรเข้าออกเท่าไร โดยเลือกที่ Menu>Filter ซึ่งแต่ละรายการจะแสดงช่วงเวลา วันที่ และระยะเวลาในการโทรครั้งนั้นๆ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบระยะเวลาในการโทรทั้งหมด และระยะเวลาในการโทรล่าสุดได้ใน Menu>View Timers ด้านการรับ-ส่งข้อความ การรับส่งข้อความนั้นอยู่ในเมนู Messaging รองรับการรับส่งข้อความแบบ SMS/MMS และ Outlook Email โดย SMS สามารถพิมพ์ข้อความได้สูงสุด 160 ตัวอักษร ส่วน MMS นั้นสามารถแนบไฟล์ภาพ เสียง และวิดีโอส่งไปให้ผู้รับได้ในขนาดสูงสุด 295 KB และสำหรับการใช้งานอีเมล์นี้รองรับการใช้งานอีเมล์ในรูปแบบ POP3/IMAP และยังรองรับการใช้งานเทคโนโลยี Push Mail สำหรับอีเมล์ โดยสามารถดาวน์โหลดอีเมล์เข้าเครื่องได้โดยอัตโนมัติและในทันที พร้อมทั้งมีโปรแกรมอ่าน RSS reader สำหรับดึงข่าวสารต่างๆ จากเว็บไซต์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมาอ่าน ด้านออร์แกไนเซอร์ ในส่วนของออร์แกไนเซอร์นั้นมีนาฬิกาปลุก ปฏิทินสำหรับนัดหมายต่างๆ เลือกแสดงผลได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบรายเดือน และรายสัปดาห์ ซึ่งการสร้างบันทึกนัดหมายใหม่ สามารถใส่รายละเอียดต่างๆ ได้ดังนี้ หัวข้อ วันเวลาที่เริ่ม วันเวลาสิ้นสุด สถานที่ ตั้งเตือนทุกๆ เวลา สถานะ ความสำคัญ เพิ่มเติม Notes รวมทั้งกำหนดวัน D-Day หรือวันสำคัญได้อีกด้วย และในส่วนของ Task หรือบันทึกสิ่งที่ต้องทำก็มีมาให้ใช้งานด้วยเช่นกัน ด้านมัลติมีเดีย เริ่มที่การถ่ายภาพมีกล้องดิจิทัลมาให้ 2 ตัว ตัวแรกอยู่ด้านหน้าเครื่องเป็นกล้องดิจิทัลระดับ VGA สำหรับใช้งาน Video Call ส่วนอีกตัวหนึ่งอยู่ด้านหลังเครื่องเป็นกล้องดิจิทัล CMOS ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ โดยภาพนิ่งเลือกความละเอียดของภาพสูงสุด 1280x960 พิกเซล ซูมดิจิทัล เลือกโหมดการถ่ายได้ 3 แบบคือ Single Shot, Multi Shot และ Mosiac Shot ปรับตั้งค่าคุณภาพของภาพ สมดุลสีขาว เปลี่ยนสีเอฟเฟกต์ ใส่กรอบรูป และตั้งเวลาในการถ่ายได้ ส่วนวิดีโอ ถ่ายพร้อมเสียงโดยเลือกความละเอียดได้สูงสุด 320x240 พิกเซล โดยเลือกบันทึกได้ทั้งแบบ Normal ไม่จำกัดเวลาจนกว่าหน่วยความจำจะเต็ม กับแบบ Limit for MMS สำหรับส่ง MMS ในรูปแบบไฟล์ WMV ด้านคุณสมบัติมัลติมีเดียอื่นๆ ก็มีโปรแกรม Windows Media Player เวอร์ชัน 10 สำหรับรับชมไฟล์วิดีโอและฟังเพลงได้ โดยสนับสนุนไฟล์ประเภท WMA, MP3, AAC, AAC+, ASF, WAV และ WMV รวมถึงการ Streaming หรือการชมวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต พร้อมฟังก์ชัน Equalizer สำหรับปรับแต่งเสียงเลือกได้ 15 แบบ และลำโพงเสียงคู่ 3D Stereo Sound ในตัว นอกจากนี้ยังฟังก์ชัน Podcast ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงหรือการนำไฟล์เสียงขึ้นไปเก็บบนเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้สนใจดาวน์โหลดมาฟัง ไฟล์เสียงที่ถูกเก็บไว้ใน Podcast ไม่จำเป็นต้องเป็นไฟล์เพลงเสมอไป เจ้าของเว็บไซต์สามารถประยุกต์ใช้กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับเสียง หรืออาจทำในรูปแบบ Audio Weblog หรือเว็บล็อกที่ใช้เสียงพูดแทนตัวหนังสือได้ ด้านการเชื่อมต่อ การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นทำได้โดยผ่านทางโปรแกรม Internet Explorer Mobile ดูได้ทั้ง WWW รวมถึง WAP ทำได้ด้วย WAP 2.0 Browser ผ่านเครือข่าย GPRS Class10, EDGE, WLAN (802.11 b/g) และ HSDPA ในเครือข่าย 3G ด้วยเร็ว 1.8 Mbps ส่วนการเชื่อมต่อรับส่งข้อมูลกับอุปกรณ์อื่นนั้นทำได้ทั้งการเชื่อมต่อไร้สายผ่านทาง Bluetooth 2.0 EDR รองรับ Bluetooth Stereo Music Profile (A2DP) กับผ่านทางสายดาต้าลิงค์แบบ mini USB พร้อมด้วยโปรแกรม ActiveSync สำหรับเชื่อมต่อเพื่อโอนถ่ายข้อมูลต่างๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ้ค สำหรับหน่วยความจำเครื่องมาพร้อมกับหน่วยความจำภายในแบบ 128 MB Flash ROM, 64 MB RAM เพิ่มหน่วยความจำแบบภายนอกได้อย่าง microSD ได้สูงสุด 2 GB นอกจากนี้ตัวเครื่องยังใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows Mobile Version 5.0 โดยใช้ CPU ARM926EJ OMAP1710 Processor ที่ช่วยประมวลผลในการทำงานของเครื่องได้อย่างรวดเร็วและไม่ติดขัด เชิงเทคนิค การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง Samsung i600 ได้ทำการทดสอบการถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัล CMOS ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล โดยเริ่มจากการถ่ายภาพนิ่งในโหมด Single Shot เลือกขนาดของภาพสูงสุดในขนาด 1280x960 พิกเซล พร้อมเลือกคุณภาพแบบ Super Fine ซึ่งภาพที่ได้จากการถ่ายมีความชัดเจนดีในระดับหนึ่ง และเมื่อลองส่งรูปภาพเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ภาพที่ได้ก็มีความชัดเจนเช่นกัน ส่วนในโหมดวิดีโอนั้น ได้ทำการทดสอบโดยเลือกขนาดของภาพสูงสุดในขนาด 320x240 พิกเซล เลือกคุณภาพแบบ Fine ผลจากการทดสอบปรากฏว่าภาพและเสียงที่ถ่ายออกมานั้นมีความชัดเจนด้วยเช่นกัน ระยะเวลาเปิดเครื่อง แบตเตอรี่ของเครื่องรุ่นนี้เป็นแบบ Li-ion ขนาดความจุ 1,200 mAh ตามข้อมูลระบุว่าสามารถเปิดเครื่องรอรับสายได้นาน 305 ชั่วโมง และใช้สนทนาต่อเนื่องได้นาน 8 ชั่วโมงครึ่ง จากการใช้งานจริง โดยชาร์จแบตเตอรี่เต็มแล้วใช้งานเริ่มจากใช้สายสนทนาราว 30-40 นาที แบบไม่ต่อเนื่อง และเปิดหน้าจอใช้งานโปรแกรมต่างๆ กว่า 2 ชั่วโมง ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 1-2 วัน ซึ่งก็นับว่าการใช้พลังงานอยู่ในระดับพอใช้ครับ แต่ถ้าจะให้ดีแนะนำให้หาสายชาร์จในรถ หรือแบตเตอรี่สำรองหากต้องการใช้งานต่อเนื่องยาวนานขึ้นครับ อุปกรณ์เสริม ในส่วนของอุปกรณ์ที่มีอยู่ในกล่องประกอบด้วยตัวเครื่อง Samsung i600, แบตเตอรี่แบบ Li-ion ขนาด1,200 mAh จำนวน 1 ก้อน, สายชาร์จไฟแบตเตอรี่, สาย USB Cable สำหรับชาร์จไฟ และ Sync ข้อมูลกับเครื่องคอมพิวเตอร์, ชุดหูฟังสเตอริโอ, แผ่น CD ROM โปรแกรม, ใบรับประกัน และคู่มือการใช้งาน Samsung i600 เป็นโทรศัพท์มือถือ Smart Phone ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows Mobile 5 ในกลุ่ม Samsung Ultra Messaging ที่นอกจากโดดเด่นในเรื่องของขนาดที่บางแล้ว ยังถือเป็น Smart Phone เครื่องแรกของ Samsung ที่รองรับเครือข่าย HSDPA สามารถรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว และยังรองรับฟังก์ชันฮิตอย่าง RSS Reader และ Podcast อีกด้วย โดยรวมแล้วก็เป็น Smart Phone ที่น่าสนใจอีกรุ่นหนึ่ง รูปทรง 8 ง่ายต่อการใช้งาน 7.5 คุณสมบัติการใช้งาน 8 สมรรถนะเชิงเทคนิค 8.5

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ รีวิว Samsung i600

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook