รีวิว Samsung P310

รีวิว Samsung P310

รีวิว Samsung P310
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
แรกเห็น หลังจากที่ Samsung ค่ายโทรศัพท์มือถือชื่อดังจากแดนโสม ประเทศเกาหลีใต้ ได้ส่งโทรศัพท์มือถือรุ่น Samsung P300 ด้วยรูปทรงที่แปลกไปจากโทรศัพท์มือถือทั่วไปออกวางจำหน่ายไปเมื่อกลางปี 2006 ที่ผ่านมา โดยมีรูปทรงแบบ Card Phone เจาะกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นนักธุรกิจ มาวันนี้ Samsung ก็ได้เปิดตัวโทรศัพท์มือถือรูปทรงเดียวกันรุ่นที่สอง ด้วยดีไซน์ทันสมัยผสมผสานกับแฟชั่นได้อย่างลงตัว ในชื่อรุ่น P310 รูปทรงของ Samsung P310 เป็นแบบ Bar Type หรือแบบแท่ง ขนาดเท่ากับบัตรเครดิตซึ่งเป็นรุ่นที่สองต่อจากรุ่น P300 ของ Samsung ที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยรุ่นนี้ได้ปรับปรุงเรื่องหน้าตา และปุ่มกดแบบใหม่ ส่วนขนาดก็ยังคงเล็กเหมือนเดิม รูปลักษณ์ทั่วไปเริ่มจากด้านหน้าไล่จากด้านบนสุดเป็นแถบลำโพง ถัดลงมามีตัวอักษร SAMSUNG ถัดลงมาอีกเป็นหน้าจอ และใต้หน้าจอเป็นแผงปุ่มกดใช้งาน พลิกมาดูด้านหลังเครื่องจะเห็นเลนส์ของกล้องดิจิทัลพร้อมไฟแฟลช และตัวอักษร 2.0 MEGA อยู่ตรงมุมซ้ายบนของเครื่อง ถัดลงมามีตัวอักษร Samsung และตัวอักษร samsungmobile.com อยู่บริเวณตรงกลางด้านล่างของฝาหลังที่ใช้วัสดุที่ทำจากสแตนเลส ด้านซ้ายข้างเครื่องมีปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียง ส่วนด้านขวามีช่องสำหรับเสียบสายชาร์จไฟ ชุดหูฟัง และสายดาต้าลิงค์ในช่องเดียวกัน และปุ่มล็อคปุ่มกดและใช้งานกล้องดิจิทัลในปุ่มเดียวกัน ทดลองใช้งาน การใส่ SIM CARD ขั้นตอนในการนำ SIM Card เข้าไปในเครื่องรุ่นนี้จะแปลกกว่าโทรศัพท์มือถือรุ่นอื่นๆ ตรงที่เครื่องรุ่นนี้จะติดอยู่กับซองหนัง ให้ถอดเครื่องออกจากซองหนังก่อนโดยใช้นิ้วกดที่ปุ่มที่อยู่บริเวณด้านขวาของซองหนังแล้วดึงตัวเครื่องขึ้นมาจากซองหนัง จากนั้นให้ทำการถอดฝาหลังออกจากเครื่องโดยใช้นิ้วเลื่อนเหล็กที่อยู่ท้ายเครื่องเพื่อปลดล็อคแล้วหยิบฝาออกจากเครื่อง หลังจากนั้นให้ถอดแบตเตอรี่ออกจากเครื่องโดยใช้นิ้วงัดตรงส่วนที่ยื่นออกมาของด้านท้ายแบตเตอรี่ด้านใดด้านหนึ่งขึ้นมาและหยิบออกจากเครื่อง สำหรับช่องใส่ SIM Card นั้นอยู่บริเวณตรงกลางเหนือช่องใส่แบตเตอรี่ ให้นำ SIM Card ใส่เข้าไปในช่องโดยให้ด้านหัวตัดอยู่ด้านบน ซึ่งระหว่างช่องจะมีแถบเหล็กยึดตัว SIM Card ไว้ไม่ให้หลุดออกมา เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำแบตเตอรี่และฝาหลังใส่กลับเข้าไปตามเดิม การเปิด-ปิดเครื่อง ตำแหน่งปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง Samsung P310 นั้นใช้ปุ่มเดียวกันกับปุ่มวางสายรูปหูโทรศัพท์สีแดงใต้ปุ่ม C ด้านขวามือ ให้กดปุ่มนี้ค้างไว้ประมาณ 1-2 วินาที เครื่องก็จะเปิดขึ้นมาพร้อมชื่อรุ่น ตามด้วยโลโก้ Samsung Fun Clubและเสียงโพลีโฟนิกประกอบ จากนั้นเครื่องจะทำการค้นหาสัญญาณเครือข่ายก่อนเข้าสู่หน้าจอหลักพร้อมใช้งาน ภายในหน้าจอหลักพร้อมใช้งาน ประกอบด้วยภาพวอลเปเปอร์ พร้อมด้วยสัญลักษณ์แสดงระดับสัญญาณเครือข่ายอยู่ด้านซ้ายบนสุด ส่วนสัญลักษณ์แสดงระดับแบตเตอรี่อยู่ด้านขวา ถัดลงมาเป็นวันที่ และเวลา ตามด้วยแถบไอคอนเมนูสำหรับใช้งานโทรศัพท์ บันทึกข้อความ และใช้งานข้อความ ส่วนด้านล่างตรงกลางเป็นชื่อเครือข่ายที่ใช้งาน และด้านล่างสุดของหน้าจอเป็นชื่อของเมนู Soft Key ซ้าย-ขวา ด้านซ้ายเป็นเมนูหลัก ส่วนด้านขวาเป็นสมุดโทรศัพท์ ปุ่มกดและความเหมาะมือ ปุ่มกดใช้งานหลักของเครื่อง Samsung P310 แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นส่วนของปุ่มควบคุมการใช้งานต่างๆ ของเครื่องประกอบด้วย ปุ่ม Navigator Key แบบ 4 ทิศทาง, ปุ่ม OK/ใช้งาน WAP, ปุ่ม C, ปุ่มโทรออก/รับสาย, ปุ่มวางสาย/เปิดปิดเครื่อง และปุ่ม Soft Key ซ้าย-ขวา ซึ่งเป็นปุ่มสัมผัสแบบ Touch Sensitive ส่วนที่สองเป็นส่วนปุ่มกดตัวเลข ออกแบบแบบปุ่มคู่ใช้งานด้วยกัน นอกจากนี้ยังมีปุ่มที่อยู่ด้านข้างเครื่องทั้ง 2 ด้านอีก 2 ปุ่ม โดยด้านซ้ายเป็นปุ่มปรับเพิ่มลดระดับเสียง และด้านขวามีปุ่มล็อคปุ่มกดและสำหรับใช้งานกล้องดิจิทัลในปุ่มเดียวกัน ส่วนความเหมาะมือนั้น เมื่อลองถือใช้งานดูก็พบว่าถือได้อย่างสบายมือทั้งมือผู้ชายและผู้หญิง เพราะตัวเครื่องดีไซน์ให้มีขนาดเท่ากับบัตรเครดิต สามารถใช้งานได้ทั้งแบบอยู่ในซองหนังและไม่ได้อยู่ในซองหนังได้อย่างสะดวก เมนูการใช้งาน หน้าตาเมนูใช้งานแสดงผลเมนูเป็นภาพกราฟฟิกไอคอนให้เห็นทั้งหมดในหน้าเดียว โดยมีชื่อของเมนูแสดงให้เห็นตรงกลางด้านบนของหน้าจอ การเข้าสู่เมนูหลักของเครื่อง Samsung P310 ให้กดที่ปุ่ม Soft Key ด้านซ้ายมือ ส่วนเมนูหลักของเครื่องนั้นมีทั้งหมด 9 เมนูด้วยกันดังนี้ Call Log เมนูบันทึกข้อมูลการใช้งานการโทรต่างๆ รวมถึงเช็คเวลาที่ใช้งานไป และค่าโทรได้ Phonebook หรือสมุดโทรศัพท์ ประกอบด้วย Contact list ค้นหาเบอร์โทรตามตัวอักษร, Create contact บันทึกเบอร์ใหม่, Group ตั้งกลุ่มการโทร, Speed dial ตั้งเบอร์โทรด่วน, My name card นามบัตรส่วนตัว, Own number หมายเลขผู้ใช้ และ Management การจัดการข้อมูลในสมุดโทรศัพท์ Applications เมนูบันเทิงที่เก็บแอบพลิเคชันต่างๆ ได้แก่ Music player เครื่องเล่น MP3, Voice recorder บันทึกเสียง, Image editor การปรับแต่งรูปภาพ, Java world รวมเกมจาวา, World clock เวลาโลก, Alarm นาฬิกาปลุก, Calculator เครื่องคิดเลข, Convertor ตัวแปลงหน่วย, Timer ตั้งเวลา, Stopwatch นาฬิกาจับเวลา, Key management ระบบจัดการคีย์ และ Memo บันทึกย่อ Browser เป็นเมนูสำหรับใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วย WAP Browser และตั้งค่าการใช้งานอินเทอร์เน็ต Messages เมนูสำหรับรับ-ส่งข้อความทั้งแบบ SMS, MMS และ Email รวมทั้งมี Template และ Broadcast Message My Files เมนูสำหรับจัดการไฟล์มัลติมีเดียต่างๆ ได้แก่ รูปภาพ ไฟล์วิดีโอคลิป ไฟล์เพลง ไฟล์เสียง ไฟล์อื่นๆ และเช็คดูหน่วยความจำที่ใช้และเหลืออยู่ได้ Camera เมนูใช้งานกล้องดิจิทัล Settings เป็นเมนูสำหรับตั้งค่าการใช้งานของเครื่องประกอบด้วย การตั้งค่าวันและเวลา ตั้งค่าโทรศัพท์ ตั้งค่าหน้าจอ ตั้งค่าเสียงต่างๆ ตั้งค่าความสว่าง ตั้งค่าเครือข่าย ตั้งค่าใช้งานบลูทูธ ตั้งค่ารักษาความปลอดภัย ตั้งค่าการเชื่อมต่อ และรีเซ็ทเครื่องกลับไปตั้งค่าตามเดิม คุณสมบัติการใช้งาน ด้านการโทร เริ่มที่เมนู Contacts หรือสมุดโทรศัพท์ เก็บบันทึกรายชื่อพร้อมเบอร์โทรศัพท์ของผู้ติดต่อไว้ในเครื่องได้มากถึง 1,000 รายชื่อ โดยใส่รายละเอียดต่างๆ ได้ตั้งแต่ ชื่อ-นามสกุล, หมายเลขโทรศัพท์ทั้งเบอร์มือถือ บ้าน ที่ทำงาน และเบอร์แฟกซ์, Email Address นอกจากนี้ยังเลือกภาพประกอบรายชื่อเพื่อแสดงเป็นภาพคนโทรเข้าหรือโทรออกได้ (Picture CLI) พร้อมเสียงเรียกเข้าเฉพาะ และยังตั้งกลุ่มผู้โทร กับบันทึกย่อได้อีกด้วย ส่วนการดูรายละเอียดการโทรอยู่ในเมนู Call log ประกอบด้วย Recent contacts (รวมบันทึกรายละเอียดการโทรทั้งหมด), Missed calls (เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย), Dialled calls (เบอร์ที่โทรออก), และ Received calls (เบอร์ที่รับสาย) อย่างเป็นหมวดหมู่ ซึ่งแต่ละหมวดหมู่จะแสดงรายละเอียดการโทรอย่างละเอียด โดยบันทึกรายละเอียดในแต่ละหมวดได้อย่างละ 30 รายการ ด้านการรับ-ส่งข้อความ การรับ-ส่งข้อความต่างๆ เข้าไปใช้งานได้ที่เมนู Messages ซึ่งรองรับการส่งข้อความพื้นฐานในรูปแบบ SMS และ MMS ที่สามารถแนบไฟล์ภาพหรือวิดีโอ พร้อมเสียงและข้อความได้ และยังรองรับการรับส่ง Email ได้ โดยก่อนใช้งานจะต้องเข้าไปกำหนดรายละเอียดของ Account Mail และเข้าไปตั้งโปรไฟล์ที่เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตให้ตรงกับเครือข่ายที่ใช้ ส่วนค่าบริการนั้นคิดตามค่า GPRS ของผู้ให้บริการเครือข่าย ด้านมัลติมีเดีย คุณสมบัติด้านมัลติมีเดียเริ่มที่กล้องดิจิทัลความละเอียด 2.0 ล้านพิกเซล พร้อมไฟแฟลช ถ่ายได้ทั้งภาพนิ่งและวิดีโอ โดยภาพนิ่งถ่ายได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1600x1200 พิกเซล ซูมดิจิทัล 10 เท่า เลือกคุณภาพในการถ่าย เลือกโหมดถ่ายภาพได้ 3 แบบ ปรับสมดุลสีขาว เลือกใส่เอฟเฟค กรอบรูป และตั้งเวลาถ่ายได้ และเลือกให้มี Guideline หรือเส้นกะระยะของภาพ ซึ่งช่วยแบ่งหน้าจอเป็นช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆ เพิ่มเป็น 9 ช่อง ช่วยให้กะระยะของภาพได้ง่ายขึ้น ส่วนวิดีโอถ่ายพร้อมเสียงได้ที่ความละเอียดสูงสุดแบบ 352x288 พิกเซล ซูมดิจิทัล 10 เท่า โดยเลือกบันทึกได้ 2 โหมดคือ Normal กับ Limit of MMS ในรูปแบบไฟล์ MP4 และ 3GP ในส่วนของเครื่องเล่นมัลติมีเดียก็มี Music player หรือเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล โดยรองรับไฟล์เพลงในรูปแบบ MP3, AAC, AAC+ และ WMA ด้วยระบบเล่นเพลงซ้ำ เพลงแบบสุ่ม สามารถส่งต่อเพลงผ่านทาง Email หรือ Bluetooth ตั้งเป็นเสียงเรียกเข้าปกติและเสียงเรียกเข้าเฉพาะได้ พร้อมรองรับการเล่นไฟล์วิดีโอ โดยรองรับไฟล์วิดีโอในรูปแบบ 3GP และ MP4 รวมถึงมี Voice recorder โปรแกรมสำหรับบันทึกเสียงซึ่งบันทึกเสียงได้นานครั้งละ 1 ชั่วโมง และมี Image editor โปรแกรมสำหรับตกแต่งภาพให้ใช้งานอีกด้วย ด้านการเชื่อมต่อ ในส่วนของการเชื่อมต่อ ประกอบด้วยการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทำได้ด้วย WAP Browser เวอร์ชัน 2.0 ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีความเร็วสูง GRPS Class 10 และ EDGE ตัวเครื่องยังรองรับ Java Appilcation ทำให้เราดาวน์โหลดเกมหรือแอบพลิเคชันต่างๆ มาใช้งานบนเครื่องได้ สำหรับหน่วยความจำนั้นมีหน่วยความจำภายในแบบ Shared Memory ขนาด 80 MB และสามารถเพิ่มหน่วยความจำภายนอกแบบ microSD Card ได้ ส่วนการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ นั้นรองรับการเไร้สายอย่าง Bluetooth เวอร์ชัน 2.0 ซึ่งเชื่อมต่อกับชุดหูฟังแบบ Stereo Bluetooth Headset กับอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชัน Bluetooth ได้เช่น โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ้ค ฯลฯ หรือเชื่อมต่อผ่านทางสายดาต้าลิงค์แบบ USB พร้อมทั้งรองรับเทคโนโลยี PicBridge เพื่อสั่งพิมพ์ภาพผ่านมือถือได้อย่างสะดวกรวดเร็ว นอกจากนี้ยังเชื่อมต่อกับทีวีผ่านทางสาย TV-Out เพื่อดูภาพหรือวิดีโอได้ เชิงเทคนิค การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง การทดสอบฟังก์ชันพิเศษในเครื่อง Samsung P310 ได้ทำการทดสอบถ่ายภาพจากกล้องดิจิทัลความละเอียด 2.0 ล้านพิกเซล เริ่มจากการถ่ายภาพนิ่งในโหมดปกติ เลือกขนาดของภาพสูงสุดในขนาด 1600 x 1200 พิกเซล และคุณภาพของภาพแบบ Super fine โดยถ่ายในระยะใกล้ที่สุดในการ Focus กับวัตถุที่ถ่ายประมาณ 0.6 เมตร ผลปรากฏว่าภาพที่ถ่ายมามีความชัดเจนดี ส่วนการถ่ายภาพทั่วไปโดยรวมแล้วภาพที่ถ่ายมาอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการถ่ายวิดีโอนั้น ได้ทำการทดสอบโดยเลือกโหมด Normal ตั้งคุณภาพของภาพสูงสุดแบบ Super fine ในขนาด 352x288 พิกเซล ผลการทดสอบปรากฏว่าความสามารถในการบันทึกวิดีโออยู่ในระดับดีมาก ระยะเวลาในการเปิดเครื่อง ตามสเปกที่ให้มาระบุว่าสามารถเปิดเครื่องรอรับสายได้นานสูงสุด.ชั่วโมง และสนทนาต่อเนื่องได้นานสูงสุดชั่วโมง สำหรับแบตเตอรี่ที่ใช้ในตัวเครื่องเป็นแบตเตอรี่แบบ Li-Polymer ขนาด.mAh นอกจากนี้ยังมีแบตเตอรี่ที่อยู่ติดกับซองหนังซึ่งก็เป็นแบตเตอรี่ชนิดเดียวกันแต่มีขนาด.mAh เท่าที่ลองใช้งานในระยะเวลา 1 สัปดาห์ตั้งแต่เปิดเครื่องนั้น โดยใช้งานด้านเสียงไปประมาณ 30-40 นาทีต่อวัน และใช้งานอื่นๆ เช่น ถ่ายรูป, ใช้งาน WAP, ฟังเพลง เป็นต้น ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ประมาณ 2-3 วัน ซึ่งถือว่าเป็นที่น่าพอใจ ส่วนการชาร์จใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง อุปกรณ์เสริม อุปกรณ์ในกล่องของเครื่อง Samsung P310 ประกอบด้วยตัวเครื่อง, แบตเตอรี่ Li-PolymermAh จำนวน 1 ก้อน, อุปกรณ์ชาร์จแบตเตอรี่แบบพกพา, ซองหนังพร้อมแบตเตอรี่ Li-Polymer.mAh ชุดหูฟังสเตอริโอ, สาย TV-Out, สายดาต้าลิงค์แบบ USB, CD Rom โปรแกรมใช้งาน และคู่มือการใช้งาน จุดเด่นของ Samsung P310 เมื่อเทียบกับรุ่นแรก P300 รุ่นนี้ถือว่าดีไซน์ได้ทันสมัย และน่าใช้งานมากขึ้น แถมยังบางกว่า และมีขนาดเท่ากับบัตรเครดิต พร้อมปุ่มกด Soft Key แบบ Touch Sensitive รวมทั้งลูกเล่นด้านมัลติมีเดียที่พัฒนาขึ้นไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิทัลที่เพิ่มความละเอียดเป็น 2.0 ล้านพิกเซล และเพิ่มหน่วยความจำได้ โดยรวมแล้วก็น่าจะเหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ รีวิว Samsung P310

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook