Linn Akurate DS DIGITAL MUSIC PLAY

Linn Akurate DS DIGITAL MUSIC PLAY

Linn Akurate DS DIGITAL MUSIC PLAY
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Linn
Akurate DS
DIGITAL MUSIC PLAY


“..not only will the Akurate DS
immediately appeal to existing Akurate owners,
but the arrival of this breakthrough product
transforms the entire Akurate System into
a music system for the future.!”

 
HF  music downloading มิใช่ของใหม่ที่เพิ่งเกิด แต่มีมานานแล้วพร้อมกับกำเนิดคอมพิวเตอร์ก็ว่าได้ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านั้น music downloading, สิ่งนี้มิได้มีพลังดึงดูดความสนใจของนักเล่นเครื่องเสียงมากพอ เนื่องเพราะว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ที่ ‘คุณภาพของเสียง’ นั่นเอง
   
ที่ผ่านมานั้น ระบบการดาวน์โหลดเพลงและเล่นเพลงด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จำกัดตัวเองอยู่กับไฟล์เสียงแบบ low resolution อย่างเช่นไฟล์ MP3 ซึ่งให้คุณภาพเสียงต่ำกว่าฟอร์แมต PCM ระดับ 16bit เรโซลูชั่น/44.1kHz แซมปลิ้งเรต ที่ซีดีใช้อยู่มาก นั่นคือเหตุผลที่ทำให้นักเล่นฯ ระดับออดิโอไฟล์มองอุปกรณ์ประเภท Digital Player เหล่านี้เป็นแค่เครื่องเล่นฟังเพลงแบบพกพา เป็นแค่กิ๊ก ไม่ใช่แฟน ไว้ฟังแบบลำลอง ไม่ใช่เครื่องเล่นเพลงที่ใช้ฟังกันแบบจริงจังในห้องฟังเพลงเหมือนกับเครื่อง เล่นซีดีและเครื่องเล่นแผ่นเสียง..
 CD quality & above..!
หลังจากได้สัมผัส Akurate DS ตัวนี้แล้ว ต้องขอบอกว่า นี่คือระบบ music downloading ระบบแรกที่สามารถรองรับฟอร์แมตไฟล์เสียงที่ให้รายละเอียดสูงถึงระดับมาตรฐาน CD และสูงกว่านั้นได้ คือมันสามารถรองรับไฟล์เสียงที่มีความละเอียดตั้งแต่ 16 ถึง 24 บิต ที่เข้ารหัสมาด้วยอัตราแซมปลิ้งเรตถึง 3 ระดับทั้งในมาตรฐาน red book ของซีดีคือ  44.1kHz, 88.2kHz และ 176.4kHz และมาตรฐานระบบเสียงดิจิตอล-ออดิโอที่ใช้ในวงการโฮมเธียเตอร์คือ 48kHz, 96kHz และ 192kHz
   
สรุปก็คือว่า Akurate DS คือ D-to-A converter ที่สามารถแปลงสัญญาณเสียงดิจิตอลที่เข้ารหัสมาด้วยระดับความละเอียดตั้งแต่ 16-24 บิต และด้วยอัตราสุ่มความถี่ตั้งแต่ 44.1 – 192kHz นั่นเอง
 
ติดตั้ง+เซ็ตอัพ..
เจ้าหน้าที่ของ บ. เดโค้2000 สองท่านเดินทางมาพร้อม Linn Akurate DS และอุปกรณ์ที่จำเป็นอีกจำนวนหนึ่งเพื่อมาทำการติดตั้งระบบให้ผมทดสอบที่ห้องทดสอบเสียงของออฟฟิศ GM2000
    
เนื่องจาก Linn ออกแบบตัว Akurate DS ให้ทำหน้าที่แค่แปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาล็อกเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ขั้นตอนการ rip สัญญาณเพลงลงไปเก็บบนฮาร์ดดิสก์ NAS* จึงถูกปล่อยให้เป็นอิสระของผู้ใช้ในการดำเนินการ คุณสามารถเลือกได้ว่าจะใช้ NAS ยี่ห้อไหน? และจะเลือกฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุมาก-น้อยแค่ไหนก็ได้? ซึ่งสามารถคำนวณได้ง่ายๆ คือ ซีดีทั่วไปที่บรรจุสัญญาณเพลงหนึ่งอัลบั้ม (ประมาณ 10 เพลง แต่ละเพลงยาวประมาณ 4 นาที) จะคิดเป็นปริมาณข้อมูลทั้งอัลบั้มอยู่ราวๆ 500MB หาก rip เก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุเท่ากับ 500GB ด้วยไฟล์ข้อมูลแบบไม่สูญเสีย (lossless) อย่างไฟล์ FLAC คุณก็จะเก็บได้ประมาณ 1,000 อัลบั้ม (เนื่องจาก FLAC มีความสามารถในการแพ็คสัญญาณ PCM จากแผ่นซีดีให้เหลือพื้นที่ประมาณ 50% จากของเดิม) หรือถ้าคุณต้องการเก็บเพลงประมาณ 500 อัลบั้มก็สามารถเลือกฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุลดลงมาได้ครึ่งหนึ่งคือประมาณ 250GB ซึ่งก็จะมีราคาถูกกว่าพอสมควร
   
แต่ เนื่องจากระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ดีนั้นควรจะต้องมีการแบ็คอัพข้อมูลเอาไว้ ด้วย ซึ่งในกล่อง NAS แต่ละกล่องมักจะมี slot ให้คุณใส่ฮาร์ดดิสก์ได้มากกว่าหนึ่งลูก ในกรณีนี้หากคุณต้องการทำแบ็คอัพข้อมูลเอาไว้ด้วย คุณก็ควรจะใส่ฮาร์ดดิสก์ลงไป 2 ลูกเป็นอย่างต่ำ คือใช้ลูกหนึ่ง ส่วนอีกลูกหนึ่งเก็บแบ็คอัพข้อมูลเอาไว้ (ในบางระบบสามารถใช้ฮาร์ดดิสก์พร้อมกันได้ถึง 4 ลูกซึ่งจะให้การแบ็คอัพที่มีความอุ่นใจได้มากกว่า) และในกรณีที่คุณมีแผ่นเพิ่มมากขึ้นในอนาคตก็สามารถเพิ่ม NAS ลูกใหม่เข้ามาได้อีก ซึ่งระบบนี้สามารถใช้งานร่วมกับ NAS หลายลูก 
   
ตัว NAS ที่ บ. เดโค้2000 นำมาใช้ต่อในซิสเต็มนี้เป็นของยี่ห้อ NETGEAR รุ่น infrant ReadyNAS NV+ ซึ่งเป็น NAS ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์รองรับระบบการเชื่อมต่อที่เรียกว่า UPnP AV (Universal Plug & Play Audio & Video) ในตัว สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เอวีฯ ตัวอื่นที่มีซอฟต์แวร์ตัวนี้ได้ทันที และได้ติดตั้งฮาร์ดดิสก์มาเสร็จสรรพ 4 ลูก ลูกละ 250GB (รวมทั้งหมดเท่ากับ 1TB) มีความสามารถในการเก็บข้อมูลเพลงทั้งหมดเท่ากับ 750GB (มีไฟล์เพลงโหลดมาไว้แล้วหลายอัลบั้มด้วยกันพร้อมไฟล์เพลงแบบ High Resolution จำนวนหนึ่ง)อุปกรณ์ที่เรียกว่า Router จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการติดต่อสื่อสารและโยกย้ายถ่ายเทข้อมูล ระหว่างฮาร์ดแวร์แต่ละชิ้นที่ต่อเชื่อมอยู่ในระบบ ซึ่งทาง บ. เดโค้2000 ใช้ Router ของยี่ห้อ EnGenius รุ่น RSR-1220 เพื่อการนี้ มันเป็น Wireless Router ที่ใช้การสื่อสารแบบ Wi-Fi มีช่อง RJ45 จำนวน 4 ช่อง เพียงพอต่อการเซ็ตอัพระบบ LAN ขนาดวงเล็กๆ ที่ใช้งานเฉพาะเรื่องนี้เรื่องเดียว ส่วนตัวฮาร์ดแวร์ที่ทำตัวเป็นรีโมตไร้สายควบคุมสั่งงาน Akurate DS ในที่นี้ก็คือโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia รุ่น N800 (ทางโนเกียใช้ชื่อเรียกว่า Web Tablette_อัพเดต 18-06-08) ซึ่งเป็นรุ่นที่มีโปรแกรม UPnP AV ติดตั้งมาในตัว   
นอก จากอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เหล่านี้แล้วก็มีสาย LAN อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งโชคดีที่ว่าทางบริษัท จีเอ็มฯ เขาได้ทำการต่อเชื่อมสาย LAN ไว้ทั่วตึกและทำปลั๊กเชื่อมกระจายไปในแต่ละจุดของพื้นที่ภายในออฟฟิศรวมถึง ห้องฟังเพลงด้วย เราจึงสามารถเชื่อมโยง Akurate DS และตัว NAS ที่วางอยู่ในห้องฟังเข้ากับคอมพิวเตอร์ พีซีบนโต๊ะทำงานของผมที่วางอยู่นอกห้องห่างจากห้องฟังออกไปประมาณเกือบ ยี่สิบเมตรได้อย่างสบายๆ แต่เนื่องจากระบบ LAN ที่บริษัท จีเอ็มฯ เซ็ตอัพไว้นั้นวงใหญ่มาก เพราะใช้กับคอมพิวเตอร์ทั้งตึก เพื่อให้ง่าย เจ้าหน้าที่ของทาง บ. เดโค้2000 จึงตัดสินใจเซ็ตอัพให้ผมทดลองใช้เฉพาะวงเล็กๆ ไม่ไปพ่วงกับเน็ตเวิร์กของอาคาร ซึ่งพวกเขาใช้เวลาในการติดตั้งระบบไม่ถึงชั่วโมง ทุกอย่างก็พร้อมใช้งาน
 
คุณภาพเสียง
แน่ นอนเมื่อรู้ว่า Akurate DS ตัวนี้สามารถเล่นไฟล์เสียงที่ rip จากแผ่นซีดีได้ คุณก็ย่อมที่จะอยากรู้ว่า เสียงของมันจะต่างกันมั้ย.? ถ้าต่าง – ต่างกันอย่างไร.? ใครเสียงดีกว่ากัน.?
   
(a) 44.1kHz/16bit
ทางลินน์แนะนำให้ใช้ไฟล์ FLAC (Free Lossless Audio Coding) ในการ rip สัญญาณเพลงจากแผ่นซีดีลงไปเก็บบน NAS ซึ่งจริงๆ แล้ว มีการเข้ารหัสเสียงจากแผ่นซีดีได้ถึง 3 รูปแบบให้คุณเลือกเวลา rip เพลงจากแผ่นซีดีเพื่อนำมาใช้งานร่วมกับ Akurate DS ตัวนี้ คือ WAV, FLAC และ MP3 ซึ่งโดยทฤษฎีแล้ว WAV ไฟล์จะให้คุณภาพเสียงสูงสุด เพราะมันคือไฟล์ที่ cloning มาจาก PCM ที่บรรจุอยู่บนแผ่นซีดีโดยไม่มีการแพ็ค แต่เหตุผลที่ทางลินน์แนะนำ FLAC ไฟล์ก็เพราะว่ามันสามารถบีบแพ็คสัญญาณ PCM บนแผ่นซีดีให้มีขนาดเล็กลงได้ถึง 50% โดยเมื่อ unpacked ออกมาแล้วก็จะได้คุณภาพเสียงที่ ‘ใกล้เคียง’ กับคุณภาพเสียงที่ได้จากการอ่านจากสัญญาณ PCM โดยตรงมากที่สุด
   
FLAC vs. WAV
แต่เนื่องจากโปรแกรม Ripstation ที่ ใช้ rip สัญญาณจากแผ่นซีดีสามารถเลือก rip ออกมาเป็น WAV ไฟล์ได้ ผมจึงทดลอง rip จากแผ่นซีดีแผ่นเดียวกันออกมาเป็นไฟล์ทั้งสองแบบ แล้วฟังเทียบกันไปเลย ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ออกมา 2 ขยัก (1) อันแรกคือ FLAC ไฟล์ให้เสียงที่คล้าย WAV มาก แต่ WAV ให้เสียงที่ ‘คล้าย’ ฟังจากแผ่นซีดีจริงๆ มากกว่า (2) ในขณะเดียวกัน WAV ไฟล์ที่ฟังจาก Akurate DS ให้คุณภาพเสียง ‘ดีกว่า’ ฟอร์แมต PCM ที่ฟังจากแผ่นซีดีจริงๆ นิดหน่อย   

(1) เสียงที่ได้ยินจากไฟล์ FLAC นั้นคล้ายเสียงที่ได้ยินจากไฟล์ WAV มากทีเดียว เพียงแต่ผมพบว่า เสียงของทั้งสองไฟล์ฟอร์แมตนี้ยังมีความแตกต่างให้ได้ยิน โดยที่เสียงของไฟล์ WAV จะให้คุณภาพสูงกว่า แม้ว่าจะไม่ใช่ความแตกต่างในเปอร์เซ็นต์ที่สูงมากนัก แต่ก็พอฟังจับประเด็นได้ กล่าวคือ ไฟล์ WAV จะให้รายละเอียดของเสียงที่ระยิบระยับพร่างพรายมากกว่า สังเกตได้ตรงส่วนปลายๆ ของสเปคตรัม ได้แก่ความถี่ด้านบน (เสียงแหลม) และความถี่ด้านล่าง (เสียงทุ้ม) ซึ่งไฟล์ WAV จะให้การแยกแยะที่ดีกว่า สามารถฟังความแตกต่างของโน้ตดนตรีที่อยู่ในย่านทุ้มได้ชัดเจนมากกว่า โดยเฉพาะในขณะที่มีการบรรเลงของเครื่องดนตรีมากกว่าหนึ่งชิ้นพร้อมๆ กัน รู้จุดกำเนิดของหัวเสียงเบสและจุดจบสลายของปลายเสียงเบสได้ชัดเจนกว่า ในขณะที่ไฟล์เสียง FLAC จะแสดงความสับสนและขุ่นมัวในการแจกแจงประเด็นเดียวกันนี้อยู่บ้างเล็กน้อย ในย่านปลายของเสียงสูงก็เช่นกัน ไฟล์ FLAC จะให้การแตกตัวของปลายเสียงแหลมที่ห้วนสั้นกว่าไฟล์ WAV อยู่เล็กน้อย ซึ่งจะฟังไม่ต่างกันมากระหว่าง FLAC กับ WAV ในกรณีที่มีเครื่องดนตรีในย่านเสียงแหลมบรรเลงอยู่ไม่มากชิ้น ต่อเมื่อเป็นการบรรเลงในลักษณะเล่นพร้อมกันหลายชิ้นจะฟังออกได้ง่ายเลยว่า ไฟล์ FLAC ให้เสียงแหลมที่มีอาการสับสน ฟุ้งกระจาย และแตกซ่าน ผิดกับไฟล์ WAV ที่จะควบคุมการแตกตัวของปลายเสียงแหลมได้ดีกว่า แยกแยะรายละเอียดของทั้งหางเสียงและหัวเสียงของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น โน้ตดนตรีแต่ละโน้ต ออกจากกันได้เด็ดขาดกว่า อาการเซ็งแซ่ของเสียงแหลมที่เกิดกับไฟล์ FLAC จึงมีออกมาให้ได้ยินน้อยกว่า อีกทั้งไฟล์ WAV ยังให้หัวเสียง (อิมแพ็ค) ที่คมกว่า และให้คอนทราสต์ของไดนามิก-เร้นจ์ที่ต่อเนื่องกว่า จากดังไปค่อยและจากค่อยไปดังทำได้แนบเนียนนุ่มนวลกว่า ส่งผลต่อลักษณะเสียงของไฟล์ WAV ให้ออกมาพลิ้ว ละมุน และเป็นมิตรกับหูมากกว่า เสริมส่งความเป็นดนตรีได้มากกว่า

(2) เสียงของสัญญาณ PCM จากแผ่นซีดีเมื่อเล่นบนเครื่องเล่นซีดีมีโอกาสผันแปรไปเพราะปัจจัยรอบด้าน หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาคทรานสปอร์ต (แมคคานิค), ภาคดีทูเอฯ (คอมพิวเตอร์ อาร์คิเทค) หรือแม้แต่ภาคอะนาล็อกเอาต์พุต (อิเล็กทรอนิกส์) ล้วนมีส่วนทั้งสิ้น ซึ่งผลรวมของปัญหาเหล่านี้จะมีมากมีน้อยนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยในประเด็นของ ‘ราคา’ ของเครื่องเล่นซีดีตัวนั้นก็เข้ามามีส่วนอยู่ไม่น้อย ยี่สิบห้าปีที่ผ่านมานับแต่แรกกำเนิดฟอร์แมต CD จนถึงปัจจุบัน ภาคดีทูเอฯ กับภาคอะนาล็อกเอาต์พุตนั้นได้ถูกพัฒนาไปมาก ปัญหาในการลดทอนคุณภาพของสัญญาณ PCM ได้ถูกขจัดปัดเป่าไปจนเหลือน้อยเต็มทน หลังๆ มานี้ องค์ประกอบของเครื่องเล่นซีดีที่ ‘บริโภค’ ต้นทุนในการออกแบบเพื่อขจัดปัญหามากที่สุดก็คือภาคทรานสปอร์ต ต้นตอสำคัญของปัญหา ‘jitter’ ซึ่งถ้าต้องการให้ทรานสปอร์ตอ่านสัญญาณจากแผ่นออกมาให้ได้ครบถ้วนและถูกต้อง ก็ต้องใช้เวลานานในการอ่าน จนหมิ่นเหม่ต่อการเกิดปัญหาผิดพลาดคลาดเคลื่อนเรื่องของเวลา หรือปัญหาจิตเตอร์ขึ้นได้ เครื่องเล่นซีดีในยุคหลังๆ จึงหันมาเล่นกันที่จุดนี้มากขึ้น

จะดีกว่ามั้ยถ้าตัดทรานสปอร์ตทิ้งไปเลย.?
 
จริงๆ แล้ว ปัญหาของซีดี-ทรานสปอร์ตนั้นอยู่ที่ ‘เวลา’ มันถูกเวลาบังคับ เพราะต้องอ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลบนแผ่นซีดีให้ได้ในเวลาจำกัด เพราะต้องส่งต่อไปให้ภาคดีทูเอฯ แปลงเสียงในขั้นตอนต่อไป ไม่มีเวลามากพอที่จะทำการตรวจสอบ+แก้ไขสัญญาณที่อ่านมาให้ถูกต้อง จำเป็นต้องรีบปล่อยไป ถ้าเจอกับแผ่นซีดีที่มีสภาพดี ข้อมูลไม่ปนเปื้อนก็ดีไป แต่กับแผ่นที่สกปรก มีร่องรอยขูดขีด ซึ่งจริงๆ แล้วจะต้องใช้เวลาตรวจสอบและแก้ไขนานก็ไม่สามารถทำได้ อย่างนี้เสียงก็ออกมาแย่แน่นอน (ต้องใช้วงจร error correction เสริมแต่งสัญญาณเทียมแทนที่จุดที่สัญญาณเสียหายลงไป) ในการ rip สัญญาณ PCM จากแผ่นซีดีลงไปเก็บบน NAS นั้น ตัวทรานสปอร์ตของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการ rip นั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ถูกจำกัดเรื่องเวลาในการอ่านข้อมูล ในทางกลับกัน มันถูกออกแบบมาด้วยจุดประสงค์ที่เน้นความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลที่อ่านเป็น เป้าหมายสูงสุด เมื่อไม่ถูกจำกัดเวลาบีบให้ต้องอ่านเพื่อนำไปใช้ทันที แต่อ่านข้อมูลเพื่อเก็บ จึงควรจะวางใจได้ว่า ข้อมูลจากแผ่นซีดีที่ถูกอ่านโดยภาคทรานสปอร์ตคอมพิวเตอร์ที่ใช้ rip นั้นน่าจะมีความถูกต้องแม่นยำสูงกว่าข้อมูลที่ถูกอ่านโดยภาคซีดี-ทรานสปอร์ต ในตัวเครื่องเล่นซีดี และด้วยกรรมวิธีการแปลงสัญญาณของ music server ที่ใช้ระบบ network เป็นตัวส่งเคลื่อนข้อมูลจาก NAS มาที่ Akurate DS ในลักษณะของไฟล์ข้อมูล ‘ทั้งแทร็ค ทั้งก้อน’ พร้อมกัน ปัญหาความเหลื่อมคลาดของเวลาหรือจิตเตอร์จึงไม่มีอีกแล้ว..
   
ข้อมูลถูกต้องมากกว่า (ในรูปของไฟล์ WAV) + ไร้ซึ่งปัญหาจิตเตอร์รบกวน.. ผลลัพธ์?
   
มันจึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของคุณภาพเสียงที่ไม่เคยพานพบมาก่อน สิ่งที่ปรากฏเด่นชัดคือ ‘ความนิ่ง’ ซึ่งเป็นความนิ่งที่เปรียบเสมือนกับการดูหนังที่ฉายลงบนผืนจอผ้าใบ ความเคลื่อนไหวที่ปรากฏจึงมีเฉพาะตัวละครในหนังเท่านั้น ซึ่งเป็นความนิ่งที่เหนือกว่าความนิ่งที่ได้จากเครื่องเล่นซีดีที่เปรียบ เหมือนการฉายหนังลงบนสายน้ำตก ด้วยความนิ่งที่ได้จากระบบการเพลย์แบ็คด้วยซิสเต็ม Server ที่มี Akurate DS เป็นดีทูเอฯ นี้ ส่งผลต่อพ่วงไปถึง ความคมของตัวเสียง, ความแม่นยำของตำแหน่ง, ความใสโปร่งที่ทะลุถึงมิติลงไปเป็นชั้นๆ, ความเปิดโล่งที่เป็นอิสระอย่างยิ่ง, ไดนามิก คอนทราสต์ที่ราบรื่น แนบเนียน และ รายละเอียดที่เจาะลึกทะลุทะลวงที่โดดเด่น ตามมา
 
จริง อยู่ว่า คุณสามารถพบเจอคุณสมบัติเหล่านี้ได้จากเครื่องเล่นซีดีราคาแพงๆ ทั้งหลาย แต่จากซิสเต็มนี้ที่มี Akurate DS ต่อเชื่อมอยู่ มันได้เติมเปอร์เซ็นต์ของคุณสมบัติเหล่านี้ให้สูงขึ้นกว่าที่คุณเคยสัมผัสมา ให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ (ควรจะ) อยู่ในแผ่นซีดีมากขึ้นไปอีก อาจจะดูเหมือนแค่ดีกว่า ‘นิดหน่อย’ อย่างที่ผมเกริ่นไว้ในตอนแรก แต่นี่คือ ‘นิดหน่อย’ เมื่อเทียบกับเสียงของเครื่องเล่นซีดีที่ดีที่สุดในโลกเท่านั้น
   
มันคืออีกไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของเสียงที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพเสียงที่เกือบจะเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์.!

(b) beyond 44.1kHz/16bit
ใน กล่อง NAS ที่เจ้าหน้าที่ของ บ. เดโค้2000 มาติดตั้งไว้ให้นั้น มีไฟล์เพลงที่เรโซลูชั่นสูงกว่ามาตรฐานซีดี 44.1kHz/16bit มาให้ลองฟังด้วย เป็นไฟล์ FLAC ที่ลินน์วางขายอยู่ในเว็บไซต์ของเขา www.linnrecords.com โดยเขาใช้ชื่อเรียกไฟล์ที่มีรายละเอียดสูงนี้ว่า ‘Studio Master’ แต่เขาก็ไม่ได้ใช้มาตรฐานของเรโซลูชั่นเดียวกันสำหรับไฟล์เสียงระดับนี้ บางชุดนั้นก็ใช้ขนาดความละเอียดของข้อมูลที่ระดับ 44.1kHz/24bit บ้างก็ใช้ 88.2kHz/24bit ในขณะที่บางชุดนั้นก็ไปถึง 96kHz/24bit ก็มี ส่วนรูปแบบของไฟล์ที่ใช้แพ็คนั้นมีอยู่ 2 ฟอร์แมตคือ FLAC กับ WMA แต่ที่ใส่มาให้ลองฟังใน NAS นั้นเป็นไฟล์ FLAC อย่างเดียว เนื่องเพราะ Akurate DS ไม่สามารถระเบิดไฟล์ WMA ได้
   
ผมลองดึงไฟล์เสียงที่ต่างกันทั้ง 3 แบบคือ 44.1kHz/24bit (เพลง Happy This Way ของ Judith Owen), 88.2kHz/24bit (เพลง Chorus: And The Glory of The Lord ของวงประสานเสียง Dunedin Consort) และไฟล์ 96kHz/24bit (เพลง The Meaning Of The Blues ของ Claire Martin) ขึ้นมาจาก library เข้าไปจัดไว้ใน playlist เดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการฟังเทียบกัน นอกจากนั้น ในกล่อง NAS ที่ บ. เดโค้2000 ยกมาให้ฟังนั้นมีเพลงของ Deep Purple อัลบั้มชุด Machine Head ที่ rip จากแผ่นซีดีด้วยไฟล์ FLAC อยู่ด้วย ผมจึงให้คุณธนภณช่วย rip เพลง When The Blind Man Cry เพลงช้าเพลงหนึ่งในอัลบั้มชุดนี้ที่อยู่ในแผ่น DVD-Audio ซึ่งถูกเก็บไว้ในรูปของไฟล์เสียง Dolby Digital โดยแปลงเป็นสัญญาณ PCM ที่ระดับ 48kHz/24bit แล้วดึงเข้าไปเก็บไว้ใน NAS ในรูปของไฟล์ WAV เพื่อเอามาลองฟังเทียบกับไฟล์ PCM 44.1kHz/16bit ที่ถูกแพ็คอยู่ในรูปของไฟล์ FLAC ด้วย
   
หลังจากเปิดฟังเทียบกันวนไปวนมาอยู่หลายครั้ง พอจะได้ข้อสรุปคร่าวๆ ดังนี้..
    
ด้วย ชุดเครื่องเสียงชุดเดียวกัน ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนฟังเพลงที่มีความละเอียดของไฟล์เสียงต่างกัน ผมจะพยายามควบคุมระดับความดังของเสียงให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันที่สุด เพื่อไม่ให้ความดังของเสียงที่ต่างกันเข้ามาทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการ เปรียบเทียบ ซึ่งระดับเสียงที่ตั้งเป็นมาตรฐานไว้นั้นเป็นระดับความดังของเสียงที่สูงมาก พอที่จะทำให้เสียงโดยรวมมีช่วงการสวิงไดนามิกได้อย่างเต็มที่ (อยู่ในระดับ unity gain ของซิสเต็ม)
   
สิ่งแรกที่รู้สึกได้ถึงความแตกต่างของเสียงระหว่างไฟล์เสียงที่มีความละเอียดต่างกันก็คือ ‘ความเนียน และ ความหนาแน่น’ ของเนื้อเสียง ซึ่งเสียงที่ได้จากไฟล์ที่มีความละเอียดสูงกว่าจะให้เนื้อเสียงที่มีความอัด แน่นของมวลมากกว่า  ส่งผลให้เนื้อเสียงที่ได้จากไฟล์ที่มีความละเอียดสูงกว่ามีลักษณะที่เนียน ละเอียดมากกว่าไปด้วย กล่าวคือ ไฟล์เสียงที่มาจากฟอร์แมต 44.1kHz/16bit จะแสดงอาการหยาบของเนื้อเสียงให้เห็น คือเมื่อฟังเปรียบเทียบกันแบบ A/B Test จะรู้สึกได้ง่ายว่า เสียงของไฟล์ที่มาจากฟอร์แมตซีดี 44.1kHz/16bit นั้นจะมีลักษณะเหมือนกับเสียงที่ประกอบขึ้นจากเม็ดทรายฝอยๆ อัดขึ้นรูปมา ฟังแล้วมีความรู้สึกว่าแต่ละตัวเสียงมันมี ‘เม็ดเกรน’ หยาบๆ ฝังตัวอยู่ ไม่เนียนลื่นเป็นผืนเดียวกันเหมือนอย่างเสียงที่ได้ยินจากไฟล์ที่มีความละเอียดสูงกว่า
   
ในประเด็นข้างต้นนี้ แค่ฟังเทียบระหว่างไฟล์ 44.1kHz/16bit กับไฟล์ 44.1kHz/24bit ก็รู้สึกแล้วว่าไฟล์เสียงอย่างหลังให้ความหนาแน่นของเนื้อเสียง มากกว่าอย่างชัดเจน
   
ไฟล์ เสียงที่ลินน์ให้มาทดลองฟังซึ่งมีฟอร์แมตต่างกันนั้น ผมลองฟังเทียบกันดูแล้วระหว่างไฟล์ที่เพิ่มเติมเฉพาะส่วนของ bit แต่คง sample rate เอาไว้อย่างไฟล์ 44.1kHz/16bit กับไฟล์ 44.1kHz/24bit จะพบว่าไฟล์ 24bit ให้เนื้อเสียงที่มีความหนาแน่น มีความเข้มข้นของเนื้อมวลสูงกว่า แต่รู้สึกว่า ตรงปลายๆ เสียงมันมีอาการอั้นๆ อยู่นิดหนึ่ง คล้ายว่าการแตกกระจายของปลายเสียง (การแพร่กระจายตัวของฮาร์มอนิก) มันไปไม่สุด คล้ายว่าไฟล์ 24bit ไปเน้นมวลเนื้อขึ้นมาแต่ไม่ได้ขยายแบนด์วิธของความถี่ขึ้นมารับ
   
เมื่อผมทดลองฟังเทียบระหว่างไฟล์ 44.1kHz/24bit กับไฟล์ 88.2kHz/24bit พบว่า อาการอั้นๆ ตรงปลายเสียงลดลงไปเยอะเลย และจะรู้สึกถึงความโปร่งโล่งทะลุไปถึงบรรยากาศ atmosphere ของเสียงได้อย่างเด่นชัดมากขึ้นก็ตอนฟังไฟล์ 96kHz/24bit นั่นแล..
   
เพลง The Meaning Of The Blues ของ Claire Martin ที่ดาวน์โหลด มาในรูปของไฟล์ 96kHz/24bit ให้คุณภาพเสียงที่เพอร์เฟ็กต์มาก.! มันถึงพร้อมทั้งความแน่นของเนื้อเสียง, บรรยากาศที่เปิดโล่ง และความพลิ้วลื่นไหลของไดนามิกเร้นจ์..
   
ฟังแล้วหูเสียไปเลย กลับไปฟังไฟล์ 44.1kHz/16bit แล้วรู้สึกหงุดหงิดเล็กๆ ขึ้นมาทันที.!!

สรุป
ผมคิดว่า เหตุผลสำคัญที่ Linn แนะนำไฟล์ FLAC มีอยู่ 2 ประการ (1) คือว่ามันเป็นแพ็คไฟล์ (ผมไม่อยากจะใช้คำว่า compress file เลย) ที่คืนรูปออกมาแล้วให้คุณภาพเสียงใกล้เคียงกับสัญญาณ PCM มากที่สุดเมื่อเทียบกับแพ็คไฟล์ประเภท lossless ทั้งหลายแหล่ และ (2) เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ในการเก็บไฟล์ WAV แล้ว ไฟล์ FLAC ประหยัดพื้นที่บนฮาร์ดดิสก์ได้มากถึงเกือบ 50%
   
แต่ สำหรับผม ไหนๆ ก็ไหนๆ ล้มควายแล้วจะมามัวเสียดายเกลือไปใย แม้ว่าในอนาคตราคาของฮาร์ดดิสก์อาจจะไม่มีวันถูกลงก็จริง แต่ด้วยราคาที่เท่ากัน วันหน้ามีแต่คุณจะได้ฮาร์ดดิสก์ที่มีความจุสูงกว่าวันนี้ไปเรื่อยๆ ในระดับของราคาที่คุณจ่ายเท่ากับวันนี้ ฉะนั้น สำหรับการ rip สัญญาณจากแผ่นซีดี ผมเลือกไฟล์ WAV ครับ ยอมสละพื้นที่เพื่อคุณภาพเสียง แต่ก็คงจะยอมใช้ไฟล์ FLAC สำหรับสัญญาณเสียงที่มีเรโซลูชั่นสูงกว่าซีดี อย่างเช่นไฟล์ 96kHz/24bit หรือ 192kHz/24bit เพราะถ้าทำเป็นนามสกุล WAV ก้อนไฟล์จะใหญ่โตมโหฬารมาก เกะกะพื้นที่เกินไป และถึงแม้จะจับแพ็คด้วยไฟล์ FLAC แต่พอระเบิดออกมาแล้วก็น่าจะได้คุณภาพเสียงสูงกว่าฟอร์แมต 44.1kHz/16bit ของซีดีอยู่ดี
   
เอ๊ะ.. อ้าว..?  นี่สรุปว่าผมกำลังจะไปเวย์นี้แล้วรึเนี่ย.? ช่วยไม่ได้จริงๆ ครับ ได้ลองกับหูตัวเองแล้ว มันช่วยไม่ได้จริงๆ ที่จะต้องเริ่มขยับตั้งแต่ตอนนี้ซะแล้วล่ะครับ ว่าแต่คุณล่ะ.. จะร่วมตีตั๋วรถด่วนขบวนนี้ไปด้วยกันมั้ย.?  @
 
.....................................................................................................
 
คุณสมบัติสำคัญ
Type    digital music player
Size    (H) 80 mm x (W) 381 mm x (D) 360 mm
           (H) 3.1 inches x (W) 15 inches x (D) 14.2 inches
Weight    4.2 kg (9.2 lb)
Supported file types   WAV, FLAC, MP3
Audio sample rates   44.1 k, 48 k, 88.2 k, 96 k, 176.4 k, 192 k
Word depths   16 – 24 bits
Analogue audio outputs Stereo RCA phono sockets (1)
balanced audio outputs stereo XLR (1)
Ethernet interface   100Base-T RJ45
Control protocol   Compatible with UPnP? media servers, UPnP? AV 1.0 control points
Local control   Front panel 6 button interface RS232 x 4
                        Luminous remote control handset
                        128 x 32 front panel display
Power supply   Switching power supply with auto-ranging
                         (AC 100 – 120 V @ 50 – 60 Hz)
                         (AC 220 – 240 V @ 50 – 60 Hz)
Power consumption   13 W

.....................................................................................................
 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท Deco2000
โทร.0-2256-9700
ราคา :
265,000 บาท/เฉพาะ Akurate DS อย่างเดียว

.....................................................................................................
 
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ :
ลำโพง :  Totem Model One (single-wire), NHT Two (single-wire)
อินทิเกรตแอมป์ : Melody SP9 (tube)
ปรีแอมป์ :  Stello DP200 (solid state), Mark Levinson No.326s (solid state)
เพาเวอร์แอมป์ : Marsh Sound Design M450A (solid state)
สายสัญญาณ : Nordost Valhalla & Blue Heaven (XLR), Virtual Dynamic David 2.0 (RCA), Kimber Kable Hero (RCA)
สายลำโพง : Analysis Plus Oval 8 (single-wire), Kimber Kable 4 TC (single-wire)
สายไฟเอซี :  Virtual Dynamic David 2.0, Kimber Kable PK-10, Clef Audio
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์ : Clef PowerBRIDGE-8
ชั้นวางเครื่อง : Rezet 

.....................................................................................................

* NAS คืออะไร?
คือฮาร์ดดิสก์เก็บไฟล์ข้อมูลที่สามารถติดต่อกับอุปกรณ์ตัวอื่นๆ
ในระบบได้ผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook