Musical Fidelity A1008 Integrated Amplifier

Musical Fidelity A1008 Integrated Amplifier

Musical Fidelity A1008 Integrated Amplifier
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Musical Fidelity
A1008
INTEGREATED AMPLIFIER

 

 

HF   ยุคสมัยนี้ดูเหมือนว่าปรีแอมป์+เพาเวอร์แอมป์แบบแยกชิ้นจะไม่ค่อยได้รับความ นิยมไปซะแล้ว เนื่องด้วยสัญญาณเอาต์พุตจากอุปกรณ์ ฟร้อนต์-เอ็นด์ในยุคดิจิตอลมันให้ความแรงสัญญาณค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเอาต์พุตของเครื่องเล่นซีดีสมัยนี้ อุจจาระหมู-อุจจาระหมาก็ไม่ต่ำกว่า 2 โวลต์ขึ้นไปทั้งนั้น ยิ่งถ้าเป็นเครื่องเล่นซีดีราคาแพงๆ หรือเอาต์พุตของพวกดีทูเอฯ ก็มักจะสูงเกินสองโวลต์ขึ้นไปเกือบ.. หรือบางรุ่นก็อาจจะถึง 4 โวลต์ก็มี
  
ไม่เหมือนในยุคอะนาล็อกสมัยที่เราใช้เครื่องเล่นเทปคาสเส็ต ยุคนั้นต่อให้เป็นเครื่องเล่นเทประดับสุดยอดของวงการอย่าง Nakamichi รุ่น Dragon ก็ยังให้เอาต์พุตออกมาได้แค่ 1V เท่านั้นเอง หรืออย่างพวกสัญญาณจากหัวเข็มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงก็ยิ่งเบาหนักเข้าไป อีก พวกนี้ให้ได้ไม่ถึงโวลต์ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพวกหัวเข็ม MC Low-output ด้วยแล้วเอาต์พุตที่ได้ยิ่งกระพร่องกระแพร่งหนักเข้าไปอีก เวลาใช้งานจึงต้องหาตัวสเต็ปอัพมาใช้เพิ่มความแรงสัญญาณเข้ามาอีกทอดหนึ่ง ก่อนจะถึงมือปรีแอมป์
   
นั่นเป็นเหตุผลที่ ทำให้ในยุคสมัยก่อนตอนที่ยังใช้มาตรฐานของระบบอะนาล็อกจำเป็นต้องมีปรีแอมป์ เข้ามาช่วยขยายสัญญาณจากแหล่งต้นทางเหล่านี้ให้อยู่ในระดับที่สูงพอเพียง สำหรับส่งต่อไปให้เพาเวอร์แอมป์ทำการขยายเพิ่มอีกขั้นก่อนที่จะส่งออกไปขับ ดันลำโพง
   
ไม่ทำงี้ ปล่อยให้เพาเวอร์แอมป์รับสัญญาณจากอินพุตไปขยายเอาดื้อๆ ความเพี้ยนจะมหาศาลครับ.!
   
สัญญาณเอาต์พุ ตของอุปกรณ์ต้นทางก็ยังไม่แรงพอ บวกกับเพาเวอร์แอมป์ในยุคนั้นก็ยังให้กำลังขับได้ไม่เยอะพอ สองเหตุผลนี้แหละที่ทำให้ปรีแอมป์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับยุคนั้น ถ้าจำกันได้ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนโน้น แม้แต่เครื่องในระดับล่างๆ ตัวละไม่กี่พันบาทยังต้องมีปรีแอมป์ออกมาขายกันเลย
 
อินทิเกรตแอมป์+ภาคโฟโน+DAC ?
นอก จากภาคอินพุตสำหรับสัญญาณฟร้อนต์เอ็นต์อะนาล็อกที่มีมาให้ใช้กับ CD, Tuner, Tape (playback/record) และช่องอินพุต AUX/HT ที่สามารถใช้เพื่อเป็นช่องผ่านสัญญาณตรง (bypass) จากโปรเซสเซอร์โฮมเธียเตอร์ (สามารถสับสวิตช์เปลี่ยนมาใช้เป็นช่อง AUX ได้) รวมถึงช่องสัญญาณขาออกสำหรับ Pre-Out เพื่อไปจับกับเพาเวอร์แอมป์ตัวอื่นแล้ว A1008 ตัวนี้ยังมีภาคขยายหัวเข็มสำหรับเครื่องเล่นแผ่นเสียงมาให้ด้วย
   
ซึ่งภาคขยาย Phono ของ A1008 ตัวนี้ได้ออกแบบโดยเอาค่า bias ของทั้งมาตรฐาน RIAA และ RIAA/IEC เข้ามาผสมรวมกันแล้วตั้งเป็นค่าเฉลี่ยเอาไว้ ซึ่งโดยปกติแล้วมาตรฐานของทางฝั่ง RIAA จะทำการ ‘กด’ สัญญาณความถี่ต่ำตั้งแต่ประมาณ 125Hz ลงไปถึง 20Hz มากกว่ามาตรฐาน RIAA/IEC อยู่เกือบ 5dB คือค่อยๆ มากขึ้นทีละนิดจาก 125Hz จนไปเท่ากับ 5 dB ที่ 20Hz เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า แผ่นเสียงทุกแผ่นที่ปั๊มขึ้นมาบนโลกนี้จะต้องใช้ compressor ไม่แบบใดก็แบบหนึ่งระหว่างมาตรฐาน RIAA กับมาตรฐาน RIAA/IEC
   
ดังนั้น ถ้าวงจรโฟโนออกแบบโดยใช้มาตรฐานใดมาอ้างอิงโดดๆ ก็จะทำให้เวลาเล่นแผ่นเสียงที่ปั๊มมาจากอีกมาตรฐานหนึ่งเกิดความผิดเพี้ยนใน แง่โทนัลบาลานซ์ของเสียงขึ้นได้ ซึ่งจริงๆ แล้วก็อาจจะไม่ใช่ความผิดเพี้ยนใหญ่หลวงอะไรมากหรอกครับ ‘ถ้า’ คุณไม่ใช่คนที่พิถีพิถันมากๆ ในเรื่องคุณภาพของเสียง แต่การที่อินทิเกรตแอมป์ตัวนี้ให้ความสำคัญตรงจุดนี้แสดงว่า กลุ่มคนออกแบบอินทิเกรตแอมป์ตัวนี้เป็นคนถี่ถ้วนและแสดงถึงความตั้งใจจริงใน การออกแบบแอมป์ตัวนี้
   
อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจจริง ย่อมมีค่าเสมอ..
   
นอกจากนั้น ภาคขยายหัวเข็มของแอมป์ตัวนี้ยังถูกจัดให้มี ‘ความไว’ ในการตอบสนองต่อสัญญาณจากหัวเข็มได้ทั้ง MM และ MC โดยติดตั้งสวิตช์โยกตัวเล็กๆ มาให้ที่แผงหลังสำหรับโยกเลือกระดับความไวของภาคขยายข้างในให้สอดคล้องกับ ความแรงของสัญญาณเอาต์พุตของหัวเข็มที่คุณใช้ สำหรับหัวเข็ม MM เขาใช้ค่าความไวที่ 2.5mV เป็นเกณฑ์ ในขณะที่ใช้ค่าความไวที่ระดับ 0.5mV เป็นเกณฑ์สำหรับตอบรับกับสัญญาณจากหัวเข็มแบบ MC ซึ่งคุณไม่ต้องเกรงกลัวว่าหัวเข็มของคุณที่มีค่าเอาต์พุตต่างไปจากนี้จะใช้ ไม่ได้ นั่นเป็นการกำหนดค่าตายตัวสำหรับอินพุตเท่านั้น แต่ทางด้านเอาต์พุตของแอมป์ตอนส่งไปขับลำโพงนั้นมันจะต้องไปผ่านการคำนวณ เพิ่ม-ลดโดยอัตราขยายของภาคเพาเวอร์แอมป์ทางวอลุ่มอีกทอดหนึ่ง กล่าวคือ ถ้าคุณใช้หัวเข็ม MM ที่มีความแรงสัญญาณต่ำกว่า 2.5mV คุณก็อาจจะต้องไปเร่งวอลุ่มที่แอมป์มากขึ้นหน่อย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระดับความดังของเสียงที่คุณจะได้ออกมาตอนท้ายสุดนั้นมันก็จะต้องขึ้นอยู่กับ ลำโพงที่คุณใช้อีก คือหัวเข็มเดียวกัน แต่เปลี่ยนลำโพงที่มีความไวไม่เท่ากัน คุณก็ต้องเร่งวอลุ่มต่างกันเพื่อให้ได้ระดับความดังรวมออกมาเท่าๆ กัน ซึ่งจากการทดลงใช้งานกับทั้งหัวเข็ม MM และ MC ดูแล้ว ผมก็ไม่พบว่ามันจะมีปัญหากับหัวเข็มตัวไหน เพียงแต่ว่ากับหัวเข็ม MC ที่มีความแรงต่ำอาจจะต้องเร่งวอลุ่มขึ้นไปสูงหน่อยเท่านั้นเมื่อใช้ลำโพงที่ มีความไวประมาณ 84dB อย่าง ATC SCM7 แต่เท่าที่พบก็คือว่า แม้วอลุ่มของ A1008 จะถูกเร่งขึ้นไปสูงมากๆ จนเกินเที่ยงลงไปประมาณบ่ายสองถึงบ่ายสามมันก็ยังสามารถรักษาโทนัลบาลานซ์ ของเสียงเอาไว้ได้อย่างมั่นคงมาก แสดงว่ามีการคำนวณการทดกำลังระหว่างภาคปรีฯ กับภาคเพาเวอร์แอมป์เอาไว้ได้ลงตัวดีทีเดียว
   
ใช่เพียงเท่านี้.. ถ้าไม่บอกคุณจะรู้มั้ยว่า ภายในตัว A1008 ตัวนี้มี DAC อยู่ด้วย.?
   
มันมีช่อง Digital input มาตรฐาน S/PDIF มาให้โดยติดตั้งช่องอินพุตมาให้ใช้ทั้งแบบ Coaxial (RCA) และ Optical รวมถึงช่องอินพุต USB จากคอมพิวเตอร์ด้วย!
   
ว๊าว..!!  นั่นก็หมายความว่า ไม่เพียงคุณจะสามารถต่อเชื่อมสัญญาณดิจิตอลของแผ่นซีดีจากเครื่องเล่นซีดี หรือซีดี-ทรานสปอร์ต หรือจากเครื่องเล่นดีวีดีเข้ามาทำการถอดรหัสที่ A1008 ได้เท่านั้น แต่ต่อจากนี้ไป คุณจะสามารถส่งสัญญาณดิจิตอลจากคอมพิวเตอร์มาทำการถอดรหัสด้วยภาค DAC ในแอมป์ตัวนี้ได้ด้วย      
   
ภาค DAC ที่ใช้อยู่ใน A1008 เป็นแบบบิตสตรีม Delta-Sigma DAC แยกแชลแนลซ้าย-ขวาอิสระ โดยใช้ชิพระดับ 192kHz/24bit ประมวลผลในการแปลงสัญญาณดิจิตอลเป็นอะนาล็อกด้วยวงจร upsampling 8 เท่าของสัญญาณจริง ซึ่งเป็นภาค DAC ที่ถอดแบบมาจากอุปกรณ์ DAC แบบแยกชิ้นของเขาเอง แต่การนำเข้ามาบรรจุไว้ในแอมป์อย่างนี้จะมีข้อดีคือช่วยย่นรอยต่อระหว่างภาค เอาต์พุตของ DAC กับแอมป์ลงไปได้ด้านหนึ่ง ทำให้ปัญหา jitter ถูกกำจัดลงไปได้ส่วนหนึ่ง มีผลให้ค่าจิตเตอร์ลดต่ำลงเหลือแค่ไม่เกิน 135pS (พิโค-เซ็กคัล) เท่านั้น
   
ใครที่กำลังคิดจะ เปลี่ยนเครื่องเล่นซีดีใหม่ลองแวะมาดูทางนี้ก่อน ภาค DAC ใน A1008 ตัวนี้ไม่ใช่ขี้ไก่นะครับ มันเป็น DAC ยุคใหม่เพราะใช้ชิพที่มีความละเอียดสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งการันตีได้ว่าให้รายละเอียดเสียงได้ดีกว่า DAC ในเครื่องเล่นซีดีที่ออกมานานเกิน 2 ปีอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นซีดีที่มีราคาสูงแค่ไหนก็ตาม
   
สิ่งที่มีผลต่อ คุณภาพเสียง หรือตัวแปรที่จะเข้ามาทำให้ได้คุณภาพเสียงจากภาค DAC ของแอมป์ตัวนี้ออกมาสูงสุดแค่ไหนนั้นมีอยู่ 2 ประเด็นด้วยกัน อันแรกคือภาคทรานสปอร์ตที่ใช้ กับอันที่สองก็คือ สายดิจิตอลที่คุณใช้เชื่อมต่อระหว่างทรานสปอร์ต (หรือเครื่องเล่นซีดี) กับภาคดิจิตอล-อินพุตของแอมป์ตัวนี้ ซึ่งจากการทดสอบพบว่า สายดิจิตอลมีผลมากครับ.. ถ้ามีโอกาสให้ลองหาสายดิจิตอลมาลองแมตชิ่งดูหลายๆ เส้นหน่อย หากลงตัวกันดี (ระหว่างทรานสปอร์ต+สายดิจิตอล+ภาคอินพุต DAC ของแอมป์ตัวนี้) คุณจะได้เครื่องเล่นซีดีระดับไฮเอ็นด์ชั้นดีราคาเรือนแสนแถมมาฟรีๆ และไม่คิดจะไปเปลี่ยนเครื่องเล่นซีดีอีกเลย สาบานได้!
 
โมโนบล็อกเพาเวอร์แอมป์+การเชื่อมต่อ
อย่าเพิ่งงงถ้าแกะกล่อง A1008 ออกมาแล้วพบว่ามันมีเครื่องอยู่ 2 ตัวในนั้น!
   
ไม่ต้องยกไปคืนร้านเค้านะครับ.. เพราะมันต้องใช้ร่วมกัน เจ้ากล่องเล็กนั่นคือภาคเพาเวอร์ซัพพลาย (PSU = Power Supply Unit) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมพลังคอยป้อนไฟเลี้ยงให้กับการทำงานของทุกภาคส่วน ที่บรรจุอยู่ในกล่องใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นไฟเลี้ยงสำหรับวงจรควบคุมสั่งงานทุกรูปแบบของภาคปรีแอมป์ รวมถึงยังจ่ายไฟให้กับภาคเพาเวอร์แอมป์ของ A1008 ด้วย ซึ่งจุดนี้ทำให้รู้ว่า วงจรเพาเวอร์แอมป์ในตัว A1008 นั้นถูกแยกออกเป็น Mono-block อิสระต่อกันระหว่างเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ขับลำโพงข้างซ้ายกับที่ใช้ขับลำโพง ข้างขวา นอกจากนั้น ตัว PSU ของ A1008 ตัวนี้ยังมีช่องจ่ายไฟเลี้ยงให้กับเครื่องเล่นซีดีของเขาด้วย (ถ้าซื้อเครื่องเล่นซีดีซีรีส์เดียวกันมาใช้ คุณสามารถต่อเชื่อมไฟเลี้ยงจาก PSU ตัวนี้ไปใช้ได้เลย)
   
จากตัว PSU จะมีสายต่อจากช่องไฟเลี้ยงของแต่ละอุปกรณ์ที่กล่าวมาข้างต้น ‘แยกอิสระ’ จากกันเด็ดขาดพร้อมแถมสายต่อมาให้เสร็จสรรพภายในกล่อง เวลาใช้งานต้องเสียบสายเหล่านี้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะเสียบปลั๊ก-กด สวิตช์ปล่อยไฟเข้าเครื่องนะครับ
   
ฟังดูแบบไม่เห็นเครื่องเหมือนจะยุ่งยาก แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่ได้ซับซ้อนยุ่งยากอะไรเลย..
   
A1008 มีขั้วต่อสายลำโพงมาให้แค่ชุดเดียว เป็นแบบไบดิ้งโพสต์ที่ขันยึดก็ได้ เสียบหัวแจ๊คบานาน่าก็ได้ หัวแจ๊คหางปลาก็ได้ สะดวกมาก แต่ถ้าใช้กับสายลำโพงไบ-ไวร์ ต้องจั๊มส่วนปลายที่ต่อกับแอมป์ให้เป็นชุดเดียวก่อน ส่วนอินพุตของไฟเอซีนั้นเป็นแบบปลั๊กสามขา แยกกราวนด์ แถมสายมาในกล่อง คุณสามารถเปลี่ยนไปใช้สายไฟเอซีคุณภาพสูงๆ ได้    
 
คุณภาพเสียง
Musical Fidelity มีชื่อเสียงมานานแล้วครับ เกี่ยวกับคุณภาพเสียงที่นุ่มหวาน ดุลเสียงที่เป็นกลาง ให้ซาวนด์สเตจที่โปร่งกว้างและลึกสมมาตรกัน กับลักษณะการขยับไหวของชิ้นดนตรีที่ลื่นไหลต่อเนื่อง แต่ไม่อืดช้า ให้การเขยื้อนตัวของเสียงที่มีอัตราสวิงสวายไดนามิกได้อย่างฉับไวเป็น ธรรมชาติ ทั้งในส่วนที่เป็นคอนทราสต์-ไดนามิกและทรานเชี๊ยนต์-ไดนามิก เหล่านั้นนั่นตราตรึงในหูและในใจนักเล่นฯ มาตั้งแต่อินทิเกรตแอมป์ตัวจ้อยรุ่น A1 solid state class A ในอดีตแล้ว
   
ต่อเมื่อภายหลัง ดีไซเนอร์ของ MF หันมาทำแอมป์ที่มีกำลังเยอะขึ้น พวกเขาจึงเริ่มหันมาจับคู่ระหว่างภาคปรีแอมป์ที่อาศัยหลอดสุญญากาศเป็นต้น ทางเข้ากับภาคเพาเวอร์แอมป์โซลิดสเตทที่วางวงจรขยายเอาต์พุตด้วย class AB แล้วปรับแต่งกันมาหลายปี จนมาเข้าที่เข้าทางตอนออกรุ่น A1000 เมื่อต้นปี 1994 ได้ส่วนผสมของเสียงออกมาดีมาก ทั้งหวานลื่น โปร่งใส และได้พละกำลังที่หนาแน่น ไม่ขาดแคลน หลังจากนั้นทาง MF ก็ได้อาศัยแนวทางในการออกแบบ A1000 มาพัฒนาใช้ในการออกแบบอินทิเกรตแอมป์ยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
   
ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะอิทธิพลของภาคปรีแอมป์ที่เอาหลอดเบอร์ ECC88 มาใช้เป็นตัวบัฟเฟอร์ะหว่างเอาต์พุตจากแหล่งสัญญาณที่ป้อนเข้ามากับภาค อินพุตของเพาเวอร์แอมป์ จึงทำให้โทนเสียงของแอมป์ตัวนี้มีความโปร่งและเนียนลื่นซึ่งเป็นบุคลิกหลัก ที่โดดเด่นมาก เรียกว่าไม่ทิ้งลายเสียงหวานโปร่งแบบ single ended class A อย่างที่รุ่น A1 ของเขาเคยสร้างชื่อเอาไว้ 
   
ความโปร่ง (transparent) ของ A1008 มิได้เกิดจากการ ‘ตัดทอน’ ฮาร์มอนิกของอิมเมจ (ตัวเสียง) ลงเหมือนแนวทางที่แอมป์โซลิดสเตทมักจะเป็น แต่มันเป็นการ ‘เปิดช่อง’ ให้ส่วนที่เป็นฮาร์มอนิกของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างเต็มที่ ซึ่งยังผลให้เกิดเป็น ‘ช่องไฟ’ ระหว่างชิ้นดนตรีขึ้น ช่วยถ่างระยะห่างระหว่างชิ้นดนตรีออกไปโดยไม่ไปทำลายส่วนรายละเอียดสำคัญของ ชิ้นดนตรีเหล่านั้น (ซึ่งก็คือฮาร์มอนิก) ลงไป ผลคือได้เสียงที่โปร่งด้วย กว้างด้วย ในขณะเดียวกัน ตัวเสียงก็ไม่บางและผอมเล็ก แต่กลับอวบอิ่มนิ่มเนื้อมีสัดส่วนตรงตามที่ควรจะได้ยินจากสภาพอะคูสติกจริง โดยไม่มีการขยายด้วยวงจรอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาเกี่ยวข้อง จุดประเด็นนี้จะถูกเปิดเผยให้คุณรับรู้ได้อย่างเด่นชัดเมื่อลองฟังแผ่นที่ บันทึกด้วยกระบวนการที่เบสิกมากๆ อย่างเช่นระบบ minimalist แบบ single stereo-pair microphone ของค่าย DENON จากอัลบั้มเพลงคลาสสิกชุด ‘Welcome To The Concert’ ด้วยการฟังงานบรรเลงผลงานของ Vivaldi: 5 Concerto for Bassoon, Strings & Continuo ซึ่งนอกจาก A1008 จะถ่ายทอดบรรยากาศของการบรรเลงภายในฮอลล์ซึ่งเป็น perspective ในมุมกว้างออกมาได้อย่างโอ่อ่าสถาพรมากแล้ว มันยังสามารถถ่ายทอดเสียงของมวลหมู่สตริงเครื่องสายและเสียงเครื่องดนตรี อื่นออกมาได้อย่างพริ้งพราวพรรณรายซะสุดแสนจะบรรยาย ซึ่งประเด็นหลังนี้ถือเป็นความสามารถในมุมแคบแต่เชิงลึกสำหรับแอมปลิไฟล์ตัว นี้
   
เพราะมันไม่เฉพาะฉายภาพความโอ่อ่าของวงและโถงฮอลล์ออกมาได้เท่านั้น แต่ยังสามารถ ‘เจาะทะลวง’ ลงไปสกัดเอาชิ้นรายละเอียดของดนตรีแต่ละชิ้นที่กำลังเคลื่อนไหวไหลลื่นอยู่ พร้อมกัน ให้กระจ่างออกมาแก่โสตของผมได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ๋ว เหมือนตีตั๋วขี่ไทม์แมชชีนย้อนกลับไปนั่งฟังการบรรเลงกันสดๆ ที่วิหาร Villa Contarini ในอิตาลีปี 1990 นั่นเลย! จากซีดีแผ่นนี้ กับ 1008 ผมได้ยินเสียงบาสซูนของ Milan Turkovic ที่มีครบทั้งความอวบอิ่มและโมชั่นที่ฉับไว-ไหลลื่น สะท้อนว่า A1008 ให้ความถี่เสียงในย่านกลางต่ำ (lower-mid) ที่ไม่บาง มีมวลที่หนาแน่นในขณะที่ไม่หม่นทึบซะด้วย (ตัวเสียงแน่น แต่บรรยากาศรอบๆ ตัวเสียงโปร่งใส) ซึ่งถือว่าย่านเสียงนี้เป็นไม้เบื่อไม้เมากันเลยสำหรับอินทิเกรตแอมป์ คือถ้าไม่โด่งพรวดขึ้นมา ก็มักจะบางเบาซะจนแทบจะมองไม่เห็นทรวดทรงของชิ้นดนตรี แต่ A1008 ของ Musical Fidelity ตัวนี้พิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถสอบผ่านข้อสอบหินๆ ข้อนี้ไปได้อย่างสบาย
   
ความเนียนลื่นของ แอมป์ตัวนี้ก็เป็นอีกลักษณะเด่นอันหนึ่งของแอมป์ตัวนี้ มันให้อัตราการไต่ระดับความดังทั้งขาขึ้น (จากเบาไปหาดัง) และขาลง (จากดังลดลงมาหาเบา) ที่ราบเรียบ เป็นอัตราทดความดังที่เนียน ไร้รอยขยักของเสียงให้สะดุดหูแม้แต่น้อยนิด ทางเทคนิคเขาต้องสรุปว่า ไดนามิก-คอนทราสต์เยี่ยมยอดมาก.! แต่กระนั้น ก็ใช่ว่า การสวิง ‘จั๊มพ์’ กระโดดของระดับเสียงจะไม่ดีนะครับ นั่นคือในแง่ ‘ทรานเชี๊ยนต์-ไดนามิก’ ของเสียงเครื่องดนตรีที่ใช้กรรมวิธีตี ทุบ เคาะ ก็มีความฉับพลันที่สดและไวเหมือนจริงอีกด้วย
   
ที่ผมสุดแสนจะแฮปปี้กับแอมป์ตัวนี้อีกประการหนึ่งก็คือ ‘ความเนียนของเนื้อเสียง’ ครับ!
   
นอกจากมันจะให้ตัว เสียงที่มีส่วนสัดชัดเจนแล้ว มันยังให้เนื้อเสียงที่เนียนละเอียดอีกด้วย นวลเนียนในระดับที่ช่างถ่ายภาพเขาเรียกว่า ‘ไร้ซึ่งเกรนหยาบกระด้างโดยสิ้นเชิง’ นั่นเลย!
   
พิสูจน์กันง่ายๆ จากเสียงร้องจะชัดเจนมากในประเด็นนี้ ทั้งเสียงร้องชายอย่าง Aaron Neville ในเพลง Don’t Go Please Stay แทร็ค 5 จากอัลบั้ม Warm Your Heart (A&M 75021 5354 2) และจากเสียงร้องใสๆ หวานๆ เนียนๆ ของ Stacey Kent เพลง Don’t Be That Way แทร็ค 9 จากอัลบั้มชุด Love Is.. The Tender Trap (Chandid CCD 79751) และที่น่าทึ่งและน่าสนใจมากๆ ก็คือว่า แม้จะฟังกับเพลงป๊อปยุคใหม่ๆ อย่างเสียงร้องของ James Blunt จากเพลง Goodbye My Lover แทร็คที่ 4 จากอัลบั้มชุด Back To Bedlam (Atlantic/Custrad 7567-93451-2) ซึ่งเป็นแผ่นธรรมดา เมดอินไทยแลนด์ ก็ยังได้สุ้มเสียงออกมาดีมาก ชัดเจน นวลเนียน และได้ความเป็นดนตรีอย่างยิ่งยวด
   
ภาคโฟโนของแอมป์ ตัวนี้ก็ไม่ใช่ของแถมที่เปล่าประโยชน์นะครับ แต่มันเป็นเหมือนเพชรที่ถูกเก็บงำไว้มากกว่า เมื่อลองฟังแผ่นเสียงกับแอมป์ตัวนี้ มันทำให้มั่นใจได้ว่า แผ่นเสียงจำนวนร่วมพันแผ่นกับชุดเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่ผมมีอยู่มันคือคลัง สมบัติทางเสียงที่ประเมินค่ามิได้ เมื่อเล่นผ่านแอมป์ตัวนี้ มันคือคุณภาพเสียงระดับอ้างอิงในแง่ของความเป็นดนตรีที่ดีที่สุดที่จะสามารถ หาได้ในพื้นพิภพแห่งนี้
   
มันเป็น King of all Format! อย่างแท้จริง!!     
 
สรุป
อ่าน ดูก็คงจะรู้.. ว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ผมมีความรู้สึกสุขใจและสนุกสนานไปกับการทำทดสอบ มากเป็นพิเศษ ยอมรับว่า ตลอดทุกนาทีที่ใช้ชีวิตอยู่กับแอมป์ตัวนี้ มันได้ขุดคุ้ยเอาอารมณ์อยากฟังเพลงของผมให้คุกรุ่นขึ้นมาตลอดเวลา หลังจากฟังแผ่นนี้จบ ก็ให้นึกอยากหยิบแผ่นโน้นขึ้นมาฟังต่อไม่รู้จบ ฟังจนไม่อยากจะปิดเครื่อง ไม่อยากจะลุกจากเก้าอี้ไปไหน อยากจะจ่อมอารมณ์อยู่กับมันตรงนั้น นานตราบเท่านาน..
   
A1008 เป็นอุปกรณ์เครื่องเสียงที่บรรจุทุกอย่างมาให้ ด้วยสมรรถนะที่ครบถ้วนทั้งในส่วนของ ‘ประสิทธิภาพการใช้งานที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ’ และ ‘คุณภาพเสียงระดับไฮเอ็นด์’ ซึ่งเป็นสองปรารถนาสำหรับนักเล่นเครื่องเสียงทุกคน
   
ในอดีต (อันไกลโพ้น) ผมเคยประทับใจอินทิเกรตแอมป์ของ Jeff Roland รุ่น Concentra II โดยชอบในน้ำเสียงของมัน และเคยฝันว่าอยากจะมีไว้ใช้สักตัว ต่อมาในอดีตที่ใกล้ตัวมากขึ้นมาอีกหน่อย ผมก็นอกใจ JR โดยปันใจไปให้อินทิเกรตแอมป์ของ ASR รุ่น Emitter II Exclusive แทน เพราะสุ้มเสียงของมันมีความบริสุทธิ์สูงกว่า JR Concentra II ขึ้นไปอีกระดับ เหตุมันเนื่องเพราะ Emitter II Exclusive ใช้ไฟจากแบตเตอรี่ป้อนให้กับการทำงานของตัวเครื่อง อีกทั้ง Emitter II Exclusive ยังให้กำลังขับเยอะกว่า JR ด้วย
   
เมื่อนั้น ผมก็ละความฝันจาก Concentra II ไปหา Emitter II Exclusive ทันที แต่ดูเหมือนว่ามันจะเป็นความฝันที่ลอยห่างความจริงออกไปมากยิ่งขึ้น เพราะราคาของ ASR รุ่นนั้นมันเหยียบ 25,000 เหรียญยูเอส. ในขณะนั้น (ประมาณปี 2006) อ๊ากกก..!!
   
มาถึงวันนี้ may 2008 ผมก็พานพบความฝันครั้งใหม่อีกแล้ว คราวนี้มาเป็น A1008 ของ Musical Fidelity ตัวนี้ ซึ่งนอกจากจะสวยงาม เพียบพร้อมเรื่องคุณภาพเสียง ให้กำลังขับสูง อีกทั้งยังน่าสนกว่าตรงที่มีภาค DAC รองรับทั้งปัจจุบันและอนาคตแล้ว..
   
ยิ่งไปกว่านั้น A1008 ตัวนี้ยังมีราคาที่ฟังดูไม่หนักหนาเหมือน ASR ด้วย
   
อืมม.. !!  รู้ใช่มั้ยว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่.?  @
 
.............................................................................

อุปกรณ์ร่วมทดสอบ :
ลำโพง :   Totem The One (bi-wire), NHT Two (single-wire),  ATC SCM7(bi-wire)
สายสัญญาณ :  Nordost Quatro Fil (RCA), Virtual Dynamic David 2.0 (RCA), Kimber Kable Hero (RCA), Audience AU24 (RCA)
สายลำโพง :  Analysis Plus Oval 8 (single-wire), Kimber Kable 4 TC (single-wire), Nordost  Heimdall (bi-wire)
สายไฟเอซี:  Virtual Dynamic David 2.0, Kimber Kable PK-10, Clef Audio, Shunyata Research Python
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์ :  Clef Audio PowerBRIDGE-8
ชั้นวางเครื่อง :  Rezet

...............................................................................

คุณสมบัติสำคัญ :
Type    Hybrid Integrated Amplifier And DAC
Size    Main Unit (H) 5 inches x (W) 17.3 inches x (D) 15.75 inches / Power Supply (H) 5 inches x (W) 10 inches x (D) 15 inches
Weight    Main Unit 13kg, Power Supply 9.7kg
Voltage, RMS  45 Volts 20Hz to 20 kHz
Voltage, Peak-to-peak  127.3 Volts
Power   250 Watts per channel into 8 Ohms (24dBW) 400 Watts per channel into 4 Ohms
Current peak-to-peak  75 Amps
Damping factor  140
Output devices per channel 4
Pre-out impedance  50 Ohms
DAC circuit  24 bit Delta-Sigma (Bit stream) dual differential 8X over sampling
Total correlated jitter  < 135 pS
Phono input response RIAA/IEC combined
Input sensitivity  2.5mV (MM) 0.5mV (MC)
Input impedance  47K Ohms (MM and MC)
Power consumption   13 W

...............................................................................
 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย :
บริษัท เอลป้า ชอว์ โทร.0-2256-9683-5
ราคา :
210,000 บาท/ต่อชุด รวมภาคจ่ายไฟ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook