Melody SP9 Stereo Integrated Tube Amplifier

Melody SP9 Stereo Integrated Tube Amplifier

Melody SP9 Stereo Integrated Tube Amplifier
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Melody
SP9
STEREO INTEGRATED TUBE AMPLIFIER

 

HF  รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม สำหรับความสามารถในการคว้า Melody เข้ามาไว้ในสังกัดการจัดจำหน่ายของ วีพี มีเดีย กรุ๊ป ในตลาดบ้านเรา ผมเองตามข่าวคราวของผลิตภัณฑ์ภายใต้เนมแบรนด์ Melody นี้มาตลอด (เฉพาะอย่างยิ่งรุ่น I2A3) เพราะขนาด Steve Harris (แห่งสำนัก HI-Fi News) และ Ken Kessler (แห่งสำนัก Hi-Fi Choice) ยังเอ่ยปากชมปรีแอมป์รุ่น pure black ไว้ในทิศทางเดียวกัน และยังถึงกับได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบในประเทศจีนมาแล้วด้วย พร้อมทั้งระบุไว้อีกว่า Melody นี้หนาราคาไม่แพงและให้สมรรถนะที่คุ้มค่ามากอย่างไม่น่าเชื่อ ...ผมเองจึงสนใจมากเป็นพิเศษและดีใจเป็นยิ่งนักที่จะได้มีโอกาสรับฟัง Melody ตัวจริงเสียงจริง มิใช่เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากบทวิจารณ์ของต่างประเทศ
 
ความเป็น Melody
Melody Valve HiFi Pty เป็นบริษัทผู้ผลิต “Melody” ที่ได้จดทะเบียนธุรกิจไว้ในประเทศออสเตรเลีย แต่ใช้โรงงานที่น่าเชื่อถือมาก (state-of-the-art factory) ใน Shenzhen ประเทศจีนเป็นแหล่งผลิต โดย Mr. Allen Shi He Wang ดำรงตำแหน่งประธานบริษัท (The president of Melody Valve HiFi Pty) พร้อมทั้งทำหน้าที่ chief engineer (เขาผู้นี้ยังอยู่เบื้องหลังความโด่งดังของ Mystere อีกแบรนด์หนึ่งด้วย) ให้กับ Melody Valve HiFi Pty อีกด้วย “Melody” นั้นเริ่มโด่งดังเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย ภายหลังการเปิดตัวปรีแอมป์ระดับรุ่นเรือธง “P1688” ในสหรัฐฯประมาณช่วงปลายปีค.ศ.2006 [แต่ตัวเขาได้ออกจำหน่ายปรีแอมป์แบบเดียวกันนี้ แต่ภายใต้ชื่อรุ่นว่า “SHW-1688” (โดยนำเอาอักษรย่อตัวนำหน้าชื่อของเขามาใช้เป็นชื่อรุ่น) สำหรับตลาดในแถบเอเชียมาตั้งแต่ปีค.ศ.1998 โน่นแล้ว]
   
Mr. Wang ยึดมั่นปรัชญาการออกแบบในหลักการลดความสลับซับซ้อนของวงจรการทำงานลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ “ทางเดินสัญญาณ” หรือ signal path นั้นจึงทั้งเรียบง่ายและสั้นที่สุด (ตรงที่สุด เพื่อลดการสูญเสียรายละเอียดสัญญาณ และยังช่วยลดการเหนี่ยวนำสัญญาณรบกวนแทรกซ้อนอีกด้วย) ทั้งยังพยายามที่จะลดสิ่งใดๆที่ “อาจ” ส่งผลรบกวนต่อสมรรถนะ-คุณภาพเสียงก็จะถูกหลีกเลี่ยงการนำไปใช้งาน หรือ ละทิ้งไปในทันที ไม่เว้นแม้กระทั่งวงจรควบคุมการใช้งานจากระยะไกล (remote control) ที่มุ่งหมายให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกสบายในขณะใช้งาน แต่อาจกลับไปเสริมสร้างสัญญาณรบกวนช่วงความถี่สูงๆได้เช่นกัน
   
นี่จึงเป็นสาเหตุที่เรา-ท่านจักได้พบเห็นอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูงถูกบรรจุใช้งานอยู่ในเครื่องรุ่นต่างๆของ Melody อาทิ paper-in-oil capacitors, Jensen capacitors และ poloypropylene capacitors, tantalum film resistors, หม้อแปลงแบบ custom designed พันขดลวดด้วยมือ (hand wound transformers), ที่เสียบต่อสายสัญญาณชุบเคลือบทองอย่างดีจาก CMC ของอเมริกา, ที่เสียบต่อสายลำโพงชุบเคลือบทองอย่างดีแบบ WBT-style speaker binding posts, ขั้วเสียบหลอดฯแบบ เซรามิก  รวมไปถึงหลอดสุญญากาศที่ผ่านการคัดเกรดมาอย่างดี (ซึ่งน่าจะเป็นจาก Shuguang)
 
คุณลักษณ์ของ SP9
SP – series นับเป็นซีรี่ส์ใหม่ล่าสุด (นอกเหนือจาก Pure Black – series) ของ Melody ที่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Stereo Integrated Tube Amplifier ซึ่งได้ผลิตออกจำหน่ายมา 2 รุ่นได้แก่ SP9 และ SP3 โดยที่ “SP9” นี้เป็นพี่ใหญ่ที่ให้กำลังขับ 50 วัตต์ต่อแชนแนล ด้วยการใช้หลอดฯภาคเอ๊าต์พุทเป็น KT88 ในขณะที่น้องนุชสุดท้อง “SP3” นั้นให้กำลังขับออกมาได้ 38 วัตต์ต่อแชนแนล ด้วยการใช้หลอดฯภาคเอ๊าต์พุทเป็น 6L6 (5881) ทว่าแม้จะเป็นสเตอริโอ อินทิเกรทเต็ดแอมป์ซีรี่ส์ใหม่ของ Melody แต่กลับเป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันแพร่หลายที่สุดและยังเป็นสเตอริโอ อินทิเกรทเต็ดแอมป์ที่ขายดิบขายดีที่สุดของ Melody อีกด้วย
   
SP9 มีขนาดตัวเครื่องที่จัดว่า ไม่ใหญ่โตนัก (กว้างxสูงxลึก : 430x215x380 ม.ม.) ทว่ากลับมีน้ำหนักมิใช่น้อยถึง 26 กก.ทีเดียว โดยมีตัวเครื่อง (ซึ่งขึ้นรูปจาก อลูมิเนียมหนา) 2 สีให้เลือกคือ สีเงินเมทัลลิก กับ สีดำมันคลับแบบเปียโน (โดยส่วนตัวเห็นว่า สีดำนั้นเข้มขรึมดูทะมึนดี ตัดกับสีมลังเมลืองของหลอดสุญญากาศในขณะใช้งาน-ชอบครับแบบนี้)

บนแผงด้านหน้าที่ผ่านการขึ้นรูปจากวัสดุ MDF แล้วทำสีอย่างดี (สีเงินเมทัลลิก หรือ สีดำเปียโน) มีความหนาถึง 25 ม.ม.จะมีปุ่มปรับหมุน (กลึงขึ้นรูปจากอลูมิเนียม) อยู่ 3 ปุ่มด้วยกัน ปุ่มซ้ายสุดจะทำหน้าที่เป็นสวิทช์ ON/OFF (เปิด/ปิดการทำงานเครื่อง) ส่วนปุ่มกลางที่มีขนาดใหญ่กว่าเพื่อนนั้นทำหน้าที่เป็น Volume Control (ซึ่งมีความไม่เหมือนใครซุกซ่อนอยู่) ในขณะที่ปุ่มขวาสุดนั้นทำหน้าที่เป็น Input Selector ให้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะรับแหล่งสัญญาณขาเข้าจากอะไร – Input 1, Input 2, Input 3 หรือ Input 4 สุดแท้แต่ว่าผู้ใช้จะเลือกเสียบต่อแหล่งสัญญาณขาเข้าอะไรเข้ากับช่องเสียบ ต่อ (socket) แบบ RCA ชุดไหน (ซึ่งติดตั้งอยู่ทางด้านหลังเครื่อง) เนื่องจาก SP9 นั้นรองรับได้เฉพาะกับ Line-level Input อย่างเช่น TUNER, CD, DVD หรือว่า TAPE เท่านั้นครับ (ไม่มี Tape Out หรือ Pre Out/Main In มาให้)
   
สำหรับปุ่มควบคุมระดับความดังเสียง หรือ Volume Control ของ SP9 นั้นมิได้เป็นแบบฟรีล็อคที่ให้การปรับตั้ง-กำหนดระดับความดังเสียงได้อย่าง เป็นอิสระตามความต้องการหรอกนะ เพราะใช่ว่าเป็น Volume Control แบบ potentiometer ที่มักใช้กันอยู่ในเครื่องโดยทั่วไป หากแต่เป็นแบบ click – switch จำนวน 24 ตำแหน่ง (step) ที่ใช้ตัวต้านทานแบบคัดเกรด-จับคู่ (precision matched resistors) จำนวน 24 คู่ เพื่อใช้ควบคุม “ความต่าง” ของระดับความแรงสัญญาณขาเข้าที่ส่งผ่านตรงมาจาก Input Selector ได้ถึง 24 ระดับ ก่อนที่จะส่งเข้าสู่ภาคไดรเวอร์ในการควบคุมระดับความดังเสียงที่รับฟัง
   
ตรงจุดนี้ ถือเป็น “จุดเด่นสำคัญ” เพราะทำให้การควบคุมระดับความดังเสียงของ SP9 นั้นมีความแม่นยำและยังช่วยลดทอนการสูญเสียรายละเอียดสัญญาณในขณะส่งผ่าน ช่วงของการควบคุมระดับความดังเสียง อันสืบเนื่องจากการลดความซับซ้อนของช่วงทางเดินสัญญาณให้สั้นลงนั่นเอง ซึ่งนี่เองที่ส่งผลโดยตรงต่อการส่งมอบสภาพอิมเมจ-ซาวนด์สเตจได้อย่างน่าทึ่ง พร้อมทั้งการเปิดเผยรายละเอียดต่างๆในช่วงย่านเสียงกลาง-สูงได้อย่างดียิ่ง ผมขอยืนยัน...
    
ส่วนทางด้านหลังตัวเครื่องจะติดตั้งขั้วเสียบสาย ไฟฟ้าเข้าเครื่อง ซึ่งเป็นแบบมาตรฐาน IEC – 3 ขามาให้ พร้อมทั้งขั้วเสียบต่อสายสัญญาณชุบเคลือบทองอย่างดีแบบ RCA สำหรับรองรับกับแหล่งสัญญาณขาเข้าจำนวน 4 ชุด และยังถูกติดตั้งขั้วเสียบสายลำโพงชุบเคลือบทองอย่างดีแบบ binding posts และมีมาให้ทั้งสำหรับระบบลำโพงค่าความต้านทาน 4 โอห์มและ 8 โอห์มแยกต่างหากจากกัน
  
SP9 นั้นถูกออกแบบมาให้ทำงานในลักษณะของ push / pull configuration สมบูรณ์แบบ (ไม่สามารถปรับเลือกการทำงานเป็นแบบ TRIODE ได้) ด้วยการใช้หลอดฯภาคเอ๊าท์พุตแบบ pentode เบอร์ KT88 จำนวน 1 คู่ทำงานร่วมกันในแต่ละแชนแนล ซึ่งสามารถให้กำลังขับออกมาได้ 50 วัตต์ต่อข้าง (ทั้งที่ค่าความต้านทาน 4 และ 8 โอห์ม) ส่วนภาคปรีแอมป์ของ SP9 นั้นใช้หลอดสุญญากาศเบอร์ 6SN7 จำนวน 4 หลอดทำงานร่วมกัน (2 หลอดต่อแชนแนล) เพื่อทำหน้าที่ขยายสัญญาณช่วงต้น และควบคุมหลอดฯภาคเอ๊าท์พุต (ทำหน้าที่เป็นหลอดฯ driver) ไปพร้อมกัน ส่วนหลอดฯเบอร์ 5AR4 จำนวน 1 หลอดนั้นทำหน้าที่เป็น rectifier แบบ full cycle สำหรับหลอดฯทุกหลอดฯ ยกเว้นหลอดฯภาคเอ๊าท์พุต ซึ่งได้รับแหล่งพลังงานตรงจากหม้อแปลงไฟขนาดใหญ่ที่ภายในนั้นได้รับการพัน ชุดขดลวดทุติยภูมิไว้เป็น 2 ชุด แยกเป็นอิสระสำหรับหลอดฯภาคเอ๊าท์พุตในแต่ละแชนแนลโดยเฉพาะ จึงเท่ากับว่า SP9 นั้นมีภาคจ่ายไฟสำหรับหลอดฯภาคเอ๊าท์พุตเป็นแบบ dual-mono กันเลยทีเดียว นับเป็นอีกจุดโดดเด่นหนึ่งของการออกแบบ SP9 (อนึ่งหลอดฯทุกหลอดที่ใช้ใน SP9 ล้วนมีตราประทับคำว่า Melody อยู่บนตัวหลอดฯ เพื่อแสดงว่าผ่านการคัดเกรดจาก Melody Valve HiFi Pty)
 
ผลการรับฟัง
ผม ใช้เวลาในการเบริ์น-อินเจ้า SP9 ตลอดช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์เพื่อให้บรรลุเข้าสู่ช่วงของความพร้อมที่ จะส่งมอบสมรรถนะในการใช้งานออกมาได้อย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเหมือนกับว่า SP9 มีอะไรไม่พร้อมซ่อนอยู่ เพราะบุคลิกเสียงที่ได้รับ “มันไม่น่าจะใช่” ตัวตนความเป็นเครื่องหลอดฯชั้นดีอย่างที่ SP9 ควรจะเป็น ทั้งๆที่ผ่านชั่วโมงของการเบริ์น-อินไปแล้วกว่า 60 ชั่วโมง จนต้องโทรฯปรึกษาทางตัวแทนจำหน่ายเพื่อขอเปลี่ยนตัวสำแดงเดช ...ก็เลยต้องมานับหนึ่งใหม่ในการเบริ์น-อินเจ้า SP9 อย่างเร่งด่วน..... SP9 ที่ได้รับมาใหม่จึงถูกผมโหมกระหน่ำในการ “เผาหัว” รวดเดียว 2 วัน 2 คืนติดต่อกัน บวกกับการรับฟังจริงจังอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 8 ชั่วโมงรวมแล้วก็ร่วมๆ 60 ชั่วโมงเช่นกัน (เล่นเอาภรรยาสุดที่รักบ่นอุบเรื่องค่าไฟฟ้า) ซึ่งสะท้อนถึงสมรรถนะการใช้งานของ SP9 ได้ดีทีเดียว และผลลัพธ์ทางเสียงที่ผมได้รับเป็นดังนี้ครับ
   
โดยธรรมชาติแล้ว ลักษณะบุคลิกสุ้มเสียงของแอมป์หลอดฯนั้น ฟังทีไรก็ให้ความรู้สึกชื่นมื่น ชุ่มฉ่ำใจ และมักจะให้ความมีชีวิตชีวาของเสียงสมจริงยิ่งกว่าแอมป์แบบ Solid – State ฟังแล้วติดหู ติดใจ อยากจะฟังไปเรื่อยๆ แต่สำหรับเจ้า SP9 ได้ฟังแล้วจะแปลกใจ เพราะให้ความโปร่งกระจ่างเป็นอย่างมาก แตกต่างจากบุคลิกเสียงของแอมป์หลอดฯโดยทั่วไป ที่มักจะฉ่ำเย็น เรื่อยระรื่น ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม (ง่วง) ทว่า SP9 กลับเต็มเปี่ยมด้วยความสดใส ไหลระรื่น ฉับไว รุกเร้าใจ ให้ความเปิดเผยในรายละเอียดเสียง ใกล้เคียงกับแอมป์โซลิด-สเตทชั้นยอดนั้นเลยเทียวแหละ
   
ช่วงย่านเสียงทุ้มที่อุ้ยอ้าย เฉื่อยช้า ควบคุมจังหวะจะโคนได้ไม่เด่นชัด ขุ่นและฟุ้ง ซึ่งเคยคุ้นจากลักษณะเสียงประจำตัวของแอมป์หลอดฯนั้น แต่สำหรับเจ้า SP9 จะทำให้คุณสามารถจับจังหวะจะโคนของการเดินเบสส์ได้อย่างชัดแจ้ง มีความกระชับ ควบคุมวรรค-ตอนได้อย่างรวดเร็ว-แม่นยำ ทั้งยังจำแนกแยกแยะลักษณะความต่างกันของเสียงเบสส์ได้อย่างน่าทึ่ง บอกกันตรงๆว่าไม่เหลือเค้าของบุคลิกเสียงเบสส์ที่เป็นข้อด้อยของความเป็น แอมป์หลอดฯมาโดยตลอดเลยขอรับ
   
SP9 มีมัดกล้ามที่ทรงพลังพอประมาณ ไม่เบ้อะบ๊ะ หรือถึงกับล้นหลาม ทว่าให้เรี่ยวแรงปะทะที่หนักหน่วง แม้ว่าจะไม่ถึงกับทิ้งทอดตัวลงไปลึกถึงก้นบึ้ง แต่ด้วยความกระชับ-ฉับไวในการตอบสนองเสียงเบสส์ของ SP9 นี่แหละที่จะชักนำให้คุณเพลิดเพลินไปกับท่วงทำนองของสารพัดเสียงเบสส์ SP9 ทำให้ผมรับฟังการรัวกลองไฟฟ้าที่กำลังประชันไปพร้อมกับการโหมกระหน่ำกลอง kodo ของ kitaro (จากเพลง Matsuri ของ KITARO Live in America) ได้เด่นชัด ไม่ถูกกลบกลืนไป (อันเป็นอานิสงส์จากภาคจ่ายไฟแบบ dual-mono นั่นเอง) ทั้งยังรับรู้ได้ถึงระลอกคลื่นเสียงจากหนังหน้ากลองใหญ่ที่กำลังสั่นกระพือ มากระทบผิวสัมผัสของตัวเราอีกด้วย
    
ลักษณะเบสส์ที่เล่นในอัลบั้ม “The Sheffield Jazz Experience” ซึ่งบันทึกเสียงแบบ Live studio recording ด้วยรายละเอียดข้อมูล “20+16” (เป็นแผ่นทอง) นั้น กระชับ อิ่ม-ใหญ่ และแน่น ให้แรงปะทะที่เด็ดขาด หนักหน่วง และทิ้งทอดตัวยืดขยายลงไป ไร้ซึ่งความอึดอัด ยิ่งฟังยิ่งเร้าใจ พร้อมด้วยรายละเอียดเสียงและมวลอากาศห้อมล้อม-อบอวล ทั้งยังบ่งบอกความเป็น “เบสส์ยืน” (Acoustic bass) ชัดเจน แทบจะมองเห็นลีลาการกระตุกสายเบสส์ของนักดนตรี ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นเป็นอิสระ กระจายตัวอย่างมีอาณาบริเวณหน้า-กลาง-หลัง ไม่เบียดเสียดหรือกระจุกตัวอยู่เฉพาะแถวกลางๆระหว่างลำโพงซ้าย-ขวา เสียงปืนยาวเสียงปืนใหญ่ ในแผ่น Ein Straussfest ของ TELARC ให้ความกัมปนาทมีระลอกคลื่นอากาศอย่างสมจริง เช่นเดียวกับเสียงเฮลิคอปเตอร์ ในแผ่น PINK FLOYD ชุด The Wall ของ MFSL นอกจากจะมีความหนักแน่นแล้ว ยังรับรู้ได้ถึงระลอกคลื่นของแรงลมที่ถูกใบพัดยักษ์โหมกระพืออยู่เหนือหัวเรา ในเพลงที่ 3 จากอัลบั้ม "Discovered Again” (สังกัด Sheffield Lab หมายเลขแผ่นซีดี CD-5) สัมผัสได้ถึงบรรยากาศของโถงบันทึกเสียงอบอวลเป็นฉากหลัง โดยมีชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นค่อยๆผุดขึ้นมา ตรงโน้น ตรงนี้ ตรงนั้น กระจายตัวกันอยู่ในซาวนด์สเตจที่เป็น 3 มิติ เฉพาะอย่างยิ่งเสียงเปียโนที่พละพลิ้ว อ่อนหวาน เสียงเครื่องเคาะจังหวะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ เสียงกระดิ่ง) ชัดใส กังวาน แผ่ไปไกลสุดๆไม่มีอั้น
   
ในอัลบั้ม “LET IT GO” (สังกัด Sheffield Lab หมายเลขแผ่นซีดี 10029-2) เพลงแรกจะรับฟัง-รับรู้ได้ถึงสภาพซาวนด์สเตจเสียงซึ่งวงออร์เคสตร้า (เครื่องสาย) เล่นเป็นแบ็คกราวนด์อยู่ด้านหลัง (เป็น Back-stage) ที่มีอาณาบริเวณเสียงแยกตัวออกมาเป็นระยะถอยห่างมาพอควรจากอาณาบริเวณของวง ดนตรีที่บรรเลงเป็นหลักให้กับ Clair Marlo (เป็น Center-stage) โดยจะมีตำแหน่งเสียงร้องของ Clair Marlo และผองเพื่อนอยู่หน้าสุด (เป็น Front-stage)
   
ยิ่งในเพลง LET IT GO จะยิ่งรับฟังได้ชัดเจนมากถึงการแยกแยะอาณาบริเวณเสียงของกลุ่มนักร้อง เสียงนักร้องแต่ละคนล้วนมีมวลมีน้ำหนักมีตัวตนให้ได้สัมผัส ที่สำคัญเป็นลักษณะเสียงของมนุษย์ที่เปล่งออกมาจากปากอย่างมีลมหายใจ (breathing) เสียงเครื่องเคาะจังหวะเป็นเสียงที่ “ผลุดโผล่” ขึ้นมาอย่างฉับไว มีมวลอากาศรายรอบและหางเสียงกังวานทอดยาว
   
SP9 ให้ความโดดเด่นอย่างสุดพิเศษกับการส่งมอบสภาพอิมเมจและซาวนด์สเตจ ที่จะทำให้คุณรับรู้ได้ถึงความสมจริงราวเป็น 3 มิติออกมา คุณจะรู้สึกราวกับว่า ผนังหลังลำโพงนั้นถอยหลังลึกโล่งออกไป ผนังด้านข้างก็กว้างขวางขึ้น โดยมีระยะความสูงของปริมณฑลเสียงที่ลอยตัวอยู่เหนือลำโพงขึ้นไป แม้ในช่วงที่ดนตรีโหมประโคม ประชันกัน แผดสนั่น
   
สุ้มเสียงที่รับฟังก็ยังปราศจากอาการตีรวน ปนเปกัน สัญญาณเสียงฉับพลัน จะผุดโผล่อย่างฉับไว และให้อาณาบริเวณเสียงที่มีตัวตน ระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ไม่เบียดบังซ้อนทับกัน ในขณะที่ชิ้นดนตรี หรือ นักร้องจะเด่นลอยออกมาจากพื้นเสียงดนตรีที่บรรเลงอยู่ ให้ความรู้สึกสัมผัสว่า นักร้อง หรือ ชิ้นดนตรีที่เล่นโซโลอยู่นั้นไม่ไกลจากตัวเรา (forward)
   
สรรพเสียงที่รับฟังยังเปี่ยมด้วยความกังวานหวาน พลิ้วในทุกอณูเสียง สัมผัสได้ถึงตำแหน่งแห่งที่ของเสียงนั้นๆ พร้อมทั้งความมีตัวตนของเสียง เป็นเสียงที่มีวิญญาณ มีลมหายใจ มิใช่เป็นเพียงแค่เสียงนั้นๆ แม้แต่เสียงประสานของนักร้องหมู่ ก็แทบจะแยกแยะออกมาได้เป็นเสียงเฉพาะตัวของแต่ละคน-แต่ละคน-เป็นคนๆไปกันเลย ทีเดียว (เสียงประสานจากหมู่นักร้องหญิง-ชายกว่า 200 ชีวิตในแผ่น POSTCARDS ของ REFERENCE RECORDINDS)
   
ยิ่งรับฟังจากเพลงร้อง SP9 จะให้ลักษณะเสียงร้องอันน่าทึ่ง เป็นเสียงที่มีตัวมีตนของมนุษย์ซึ่งเปล่งออกมาจากปากอย่างมีลมหายใจ (breathing) มีวิญญาณ สัมผัสได้ถึงห้วงอารมณ์ของการร้อง พร้อมการแยกแยะอาณาบริเวณเสียงของกลุ่มนักร้อง เสียงนักร้องแต่ละคนล้วนมีมวลมีน้ำหนักมีตัวตน (ทำเอาผมประทับใจมาก) ยามที่ฟังเพลงคลาสสิกแผดสนั่น ประโคมคำรนอย่างเต็มที่ (POMP&PIPES! ของ REFERENCE RECORDINDS) ความกระหึ่ม กึกก้องของวงออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ ที่กำลังบรรเลงแบบ ฟูล สเกลนั้น เสียงทุกเสียงก็ยังคงยิ่งใหญ่ไม่ปรากฏอาการอั้นเครียดเค้นหรือตื๊อแต่อย่าง ใด จากอัลบั้ม “CANTATE DOMINO” เจ้า SP9 ส่งมอบความสั่นไหวของมวลอากาศเป็นระลอกบรรยากาศอันอบอวล กระทั่งเสียงออร์แกนท่อที่พ่นเป็นลมเป็นมวลอากาศออกมาให้รับรู้ได้ สภาพบรรยากาศในโถงของโบสถ์ที่ใช้บันทึกเสียงนั้นอบอวลเลยทีเดียว เมื่อฟังจากอัลบั้ม “Victory at sea” (สังกัด Telarc หมายเลขแผ่นซีดี CD-80175) จะรับรู้ได้ถึงสภาพเวทีเสียงที่โอ่อ่า อลังการด้วยเครื่องดนตรีนับร้อยชิ้น รายละเอียดเสียงเครื่องดนตรีประกอบมากมายทั้งระฆัง-กระดิ่ง-ฉาบใหญ่-ไตรแอ งเกิล ที่ไม่ปรากฏอาการตีรวนปนเปกันเมื่อเครื่องดนตรีต่างๆประโคมประชันพร้อมกัน
   
ในความคิดเห็นของผมนั้น Mr. Wang ทำการออกแบบ SP9 ไว้ให้มีรูปแบบการทำงานในลักษณะที่เป็น push / pull configuration ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งค่า damping factor ที่สูงขึ้น สามารถควบคุมระบบลำโพงที่มีโหลดซับซ้อนได้ดียิ่งกว่าที่ได้รับจากรูปแบบการ ทำงานในลักษณะที่เป็น sngle-ended เพื่อยกระดับการควบคุมจังหวะจะโคนในการตอบสนองเสียงเบสส์ให้แม่นยำ นำมาซึ่งความกระชับ ฉับไว ไม่อุ้ยอ้ายรุ่มร่าม ขุ่นมัว หนาทึบ เพราะยิ่งฟังก็ยิ่งนึกถึงแอมป์หลอดฯแบบ sngle-ended ซึ่งบอกตรงๆว่า บุคลิกลักษณะเสียงของ SP9 มาในแนวทางนั้นจริงๆครับ
   
SP9 จะบ่งบอกสภาพเสียงที่มีมวลอากาศห้อมล้อม อบอวล ทำให้รับรู้ได้ถึงสภาพบรรยากาศของสถานที่การแสดงดนตรีนั้นๆถูกบันทึกมา ได้ราวกับตัวเรากำลังนั่งฟัง-ดื่มด่ำในอรรถรส ท่ามกลางห้วงอารมณ์ดนตรี ณ สถานที่แห่งนั้นได้อย่างสมจริงมาก บ่งบอกอิมเมจที่สามารถแยกแยะเป็นแถวเป็นแนวชัดเจน ในสภาพเวทีเสียงอันกว้างขวาง ที่สรรพเสียงล้วนกระจายตัวอย่างมีอาณาบริเวณ มิได้กระจุกรวมเป็นกลุ่มเป็นก้อน
 
ช่วงย่านเสียงกลางต่อเนื่องไปจนสุดปลายเสียงสูง ที่รับฟังได้จาก SP9 นั้น ให้ความหวานใส เนียนนวล ปลอดโปร่ง ลอยตัว หางเสียงทอดยาวกังวานไกล ให้ความไหลระรื่นต่อเนื่อง มีความเป็นตัวตน ระบุตำแหน่งแห่งที่ของเสียงนั้นๆได้อย่างชัดเจน แยกแยะรายละเอียดที่แทรกซ้อนออกมาได้แจ่มชัด เสียงเครื่องเคาะจังหวะเป็นเสียงที่ “ผลุดโผล่” ขึ้นมาอย่างฉับไว มีมวลอากาศแผ่กระจายรายรอบ ไม่แห้งผาก ให้ความรู้สึกเสมือนจริงของทั้งเสียงร้องและเสียงดนตรี (หรือสรรพเสียงใดก็ตาม) ที่มีความชัดเจนปราศจากความคลุมเครือ การออกเสียงอักขระชัดเจนมาก บ่งบอกรายละเอียดความแตกต่างกันของแต่ละบุคลิกเสียงนักร้องได้ดี
   
ขอยืนยันว่า SP9 นั้นมิใช่แอมป์หลอดฯประเภทแช่มช้า เนิบนาบ อย่างที่เคยได้รับจากบุคลิกเสียงของแอมป์หลอดฯยุคเก่า เพราะสิ่งที่คุณจะได้รับจาก SP9 จะเป็นบุคลิกเสียงแอมป์หลอดฯที่อบอุ่น สว่างสดใส สามารถตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้อย่างฉับไว ไร้อาการเฉื่อย-เนือย มีชีวิตชีวาและมีมวลอากาศห้อมล้อม พร้อมด้วยความมีตัวตนของทุกสรรพเสียง ซึ่งขอทิ้งท้ายไว้หน่อยว่า อยากให้คุณได้ลองฟัง SP9 แม้สักครั้งจริงๆครับ (ไม่อยากระบุ
ราคาจำหน่ายเล้ย... เพราะอยากให้คุณอึ้งเมื่อได้ฟัง)  @
 
...........................................................................................
 
หมายเหตุ : แหล่งกำเนิดสัญญาณเป็นเครื่องเล่นซีดีแยกชิ้นรุ่น CD-12/DA-12 ของ marantz ส่งผ่านสายสัญญาณรุ่น The First ของ VDH เข้าสู่ระบบลำโพงรุ่น Forte’ 2 ของ KLIPSCH ผ่านทางสายลำโพงรุ่น SILVER-3 MIX ของ monitor das hifi-kabel และทุกเครื่องวางทับส่วนบนหม้อแปลงไฟด้วย EMX จาก ออดิโอ คอนซัลแตนท์ และเสียบต่อผ่านเครื่องควบคุม-กรองไฟรุ่น Power Stream 1000 ของ AV ZONE (ยกเว้น Melody SP9)
...........................................................................................
 
ผู้แทนจำหน่าย :
บริษัท วีพี มีเดีย กรุ๊ป จำกัด
โทร. 0-2880-8240 ต่อ 105
ราคา :
39,900 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook