DNP Supernova Core

DNP Supernova Core

DNP Supernova Core
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

‘Perfact partner’


 


อุปกรณ์ ประเภทพาสซีฟ หรืออุปกรณ์ที่ไม่ต้องการอะไรมากระตุ้นให้มันทำงานของภาพจอยักษ์ในโฮมเธีย เตอร์ ถ้าไม่ใช่จอรับภาพ หรือสกรีนแล้ว ผมไม่เห็นว่าจะมีอุปกรณ์อื่นที่สำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว แต่ก็นั่นแหละคนส่วนใหญ่จะทุ่มเทไปที่เครื่องฉายภาพเป็นหลัก ลืมไปว่าสิ่งที่สะท้อนแสงจากโปรเจ็กเตอร์มาสู่สายตาของเรามันสำคัญพอกัน พอภาพของโปรเจ็กเตอร์ตัวนั้นไม่ดี สีสันไม่ถูกใจ ก็ยกยอดจำเลยตกไปที่โปรเจ็กเตอร์ ไม่เคยคิดเลยว่าโปรเจ็กเตอร์มันก็น้อยใจหากคุณจับมันไปเข้าคู่กับจอรับภาพ ที่ไม่ได้ตั้งใจทำขึ้นมาสำหรับการใช้งานในโฮมเธียเตอร์โดยเฉพาะ
 
ถ้าจอรับภาพโปรเจ็กเตอร์ที่ใช้อยู่ของ คุณเจ๋งอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไรครับ คิดซะว่า...เราควรมารู้จักกับเทคโนโลยีจอรับภาพโปรเจ็กเตอร์ในทศวรรษนี้อีก ยี่ห้อ ที่จริงต้องบอกว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าที่คร่ำหวอดในวงการนี้อีกรายหนึ่ง เฉลยเลยก็แล้วกันครับ DNP เป็นชื่อย่อของบริษัท Dai Nippon Print Co.Ltd คงสงสัยว่าทำไมไปเติบโตอยู่ที่เดนมาร์ก ซึ่งที่จริงแล้ว DNP ของเดนมาร์กเป็นบริษัทลูกของ DNP ญี่ปุ่น แต่ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เพราะ DNP ใช้ที่นี่เป็นเซ็นเตอร์สำหรับค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านจอภาพ ที่เรารู้จักกันล่าสุดในชื่อ Optical screen

ย้อนหลังไปหน่อยตอนที่ Rear Projection TV เฟื้องฟู 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ของ RPTV ที่ขายๆ กันอยู่ตอนนั้นใช้จอของ DNP เจ้านี้ทั้งหมด เมื่อปัจจุบันนี้ RPTV ไม่ได้รับความนิยมแพร่หลายเหมือนอย่างแต่ก่อน DNP จึงหันมาเน้นจอภาพที่ใช้สำหรับฟร้อนต์โปรเจ็กเตอร์อีกโปรดักต์หนึ่ง โดยใช้ชื่อสินค้าว่า ‘Supernova optical front projection screen’ ดังที่เรากำลังจะพูดถึงกันเล่มนี้
 
ทำไมต้องเป็น Optical Screen?
เราทราบกันดีว่าจอรับภาพเป็นฉากที่ใช้ สะท้อนแสงจากโปรเจ็กเตอร์ก่อนที่จะมาเข้าตาเรา โดยทั่วไปวัสดุที่ใช้ทำจอนี่นิยมใช้ไวนิล หรือวัสดุอื่นที่พอจะทึบแสงหน่อย และขึงให้ตึงได้ เอามาพ่นเคลือบสารด้านหน้าด้วยขั้นตอน และวัตถุดิบที่เป็นลักษณะเฉพาะของใครของมัน เพื่อที่ให้การสะท้อนแสงเหมาะสมกับการใช้งาน มีเรื่องมุมมองของภาพ (view angle) และค่าเกรนของจอ เป็นตัวเลขสเปคที่กำหนดสำหรับผู้บริโภคในการเลือกใช้อยู่บ้าง แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วการเลือกจอภาพสำหรับโปรเจ็กเตอร์ตัวแรกก็ใช้วิธีเลือกตามคำเชียร์ มากกว่า หรืออย่างแย่ที่สุดเขาก็ใช้จอภาพนี่แหละครับเป็นของแถม ถ้าได้จอที่ไม่ได้ทำขึ้นมาสำหรับโฮมเธียเตอร์ก็ซวยไป ทำให้มูลค่าความน่าเชื่อถือของอุปกรณ์ชิ้นนี้มันถูกลดเครดิตลงไปมาก

ตลอดสิบ ยี่สิบปีที่ผ่านมา ห้องโฮมเธียเตอร์ถูกจำกัดด้วยการตกแต่งที่ต้องมืดทึบ กันการสะท้อนแสง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะแสงที่สะท้อนจากผนัง หรือเพดานห้อง มันก็จะกลับเข้ามาสะท้อนอยู่บนจออีกอยู่ดี แต่ถ้าจะให้โฮมเธียเตอร์ทุกห้องต้องทำสีดำทั้งหมด จะมีสักกี่คนล่ะครับที่อยากมีโฮมเธียเตอร์ เป็นที่มาของการนำเอาเทคโนโลยีของ Optical Screen เข้ามาช่วย เป็นเทคโนโลยีที่สามารถดูดซับแสงสะท้อนที่ตกกระทบบนจอไม่สะท้อนมาเข้าตาเรา แต่ยกเว้นในทิศทางเดียวกับแสงที่มาจากโปรเจ็กเตอร์ ที่โฆษณาว่าเพิ่มคอนทราสต์ขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็เข้าใจว่าหักลบกับแสงที่สะท้อนของห้องนี่แหละพอดีกัน อันนี้เป็นการสรุปเพื่อให้เข้าใจหลักการของมันง่ายๆ นะครับ วิธีการของมันซับซ้อนกว่าที่จะอธิบายตรงนี้อยู่อีกเยอะ เรียกว่าเขาจดเป็นสิทธิบัตรไว้เรียบร้อย หลายยี่ห้อที่เข้าข่ายโฆษณาว่าเป็น optical screen ก็ต้องมาจาก DNP เท่านั้น ส่วน Supernova นี่เป็นลูกหม้อของ DNP เพื่อใช้ทำตลาดภายใต้การบริหารของ DNP นั่นเอง
 
รูปลักษณ์และคุณภาพการใช้งาน
มาดูรูปร่างหน้าตาของมันก่อน จอที่เราได้มาเป็น Supernova Core ที่มีค่าเกรนจอประมาณ 0.8 ยกมาเป็นผืนใหญ่ๆ ติดตั้งตัวเนื้อจอมาพร้อมกับเฟรมเรียบร้อย สัมผัสดูที่เนื้อจอจะเป็นเหมือนฟิล์มหนาๆ ซ้อนกันหลายชั้น แตกต่างจาก Supernova One ที่ตัวนั้นจะเป็นฮาร์ดสกรีนเอามือเคาะลงไปได้เลย เพราะชั้นนอกเขาทำมาจากอะคริลิก ดูเนื้อจอแล้วน่าจะคงทน และทำความสะอาดง่ายกว่าจอไวนิลเยอะ ความแข็งแรงก็ไม่ต้องกลัวว่าจอจะพลิ้วไปตามแรงเป่าของแอร์ บางบ้านที่ผมเห็นไม่รู้นึกยังไงเอาช่องแอร์ไปเป่าอยู่หน้าจอ ภาพกระเพื่อมเป็นคลื่นเลยก็มี ถ้าเป็น Core เนื้อนี้ รับรองเป่าให้ตายก็ไม่รู้สึก

เนื้อจอที่เป็นเหมือนฟิล์ม ตัวนี้ถูกขึงอยู่บนเฟรมอะลูมิเนียมหุ้มกำมะหยี่หนา 3 นิ้ว ตามมาตรฐาน วัดด้านในของเฟรมที่เป็นเนื้อจอทแยงมุมลงมาแล้วได้ 100 นิ้วตามสเปคพอดี การขึงก็ใช้นอตเกี่ยวอยู่กับเฟรมสิบกว่าตัว ก็ทำให้มันตึงเรียบอยู่ได้ เข้าใจว่าโครงสร้างของมันแข็งแรงอยู่แล้ว จึงแค่ขึงให้แขวนลอยอยู่กับเฟรมเท่านั้นก็พอ โดยมีน้ำหนักพร้อมเฟรมเบ็ดเสร็จอยู่ที่ 12.2 กก. แค่นอตตัวเล็กๆ สองตัวก็แขวนอยู่ได้สบาย

เรื่องของการติดตั้งพอจะรู้มาบ้าง ว่าจอประเภทนี้ต้องใช้ประสบการณ์พิเศษ เพราะเขาซีเรียสเรื่องของแสงที่ตกกระทบ แสงที่สะท้อน แต่ไม่ต้องเป็นห่วงครับเรื่องการติดตั้งคงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทน จำหน่ายในบ้านเราที่ถูกอบ ถูกรม มาอย่างดี ในห้องทดสอบของเรามีข้อจำกัดเรื่องนี้อยู่บ้าง คือเราวางโปรเจ็กเตอร์บนโต๊ะทำให้แสงจากจอจะสะท้อนข้ามหัวไปเมื่อนั่งดู อาศัยวางโปรเจ็กเตอร์ออกมาให้ไกลที่สุด แล้วบางครั้งต้องยืนขึ้นเพื่อเปรียบเทียบกับภาพที่เห็น แต่การสะท้อนของแสงก็ไม่ได้ถึงกับวูบวาบเหมือนการนั่งชม RPTV หรอกนะครับ   
 
ตามเอกสารที่ให้มาของ DNP เขาจะมีเนื้อจออยู่สองชนิด โดยเฉพาะเนื้อจอของ Supernova Core นี่ได้รับการรับรองจากสถาบัน ISF (Imaging Science Foundation) เรียบร้อย ชื่อเสียงของสถาบันนี้ถ้าไม่อยู่ในวงการคุณอาจจะไม่คุ้นหู แต่รู้ไว้เถอะว่า ‘กูรู’ ทางด้านภาพเกือบทั่วโลกต้องเคยผ่านสถาบันนี้มาก่อน จึงมั่นใจได้ว่า Supernova Core จอนี้ไม่ธรรมดา มีข้อแม้นิดหนึ่งสำหรับการติดตั้งที่ผมเจอคือ ตำแหน่งการวางโปรเจ็กเตอร์ สำหรับจอขนาด 100 นิ้วนี่ เขาแนะนำว่าไม่ควรจะตั้งโปรเจ็กเตอร์อยู่ใกล้จอเกินกว่า 3.3 เมตรเท่านั้น เพราะว่าจะมีปัญหาเรื่อง ‘Hot Spot’ ได้ ที่จริงก็เป็นปัญหากับจอทุกตัวแหละครับ วางใกล้ ลำแสงของโปรเจ็กเตอร์ก็เป็นลำพุ่งไปหาจอ

มองจากสายตาเมื่อเปรียบเทียบกับ เนื้อจอของเดิมที่เราใช้อยู่ Core ตัวนี้จะเป็นสีเทาออกดำมากกว่า ตอนให้โปรเจ็กเตอร์ปล่อยสีพื้นที่เป็นแบค กราวนด์สีน้ำเงินออกมา วางสองจอเทียบกัน เริ่มจากปิดไฟมืด ดูจากแพตเทิร์นนี้เห็นได้ชัดว่าความเข้มข้น ความถูกต้องของสีไม่แตกต่างกันเลย พอเริ่มเปิดไฟด้านหลังห้องตรงข้ามจอ เป็นไฟเพดานแบบหลอดประหยัดไฟสองดวง แสงไฟเริ่มเข้าไปมีผลต่อทั้งสองจอในสัดส่วนที่ทำให้คอนทราสต์ของแสงสี น้ำเงินตกลง แต่ในอัตราส่วนที่เกือบเท่ากันทั้งสองจอ เมื่อเปลี่ยนเป็นเปิดไฟที่อยู่กลางห้อง แสงสีน้ำเงินบนจอก็มีคอนทราสต์ที่ตกลงไปอีกหน่อย ก็ยังสูสีกันอยู่ดี แต่พอเปิดดวงที่อยู่ด้านหน้าจอเท่านั้นแหละครับ จอเดิมของเราดูไม่ได้เลย สีน้ำเงินกลายเป็นฟ้าจางๆ ขณะที่ของ Supernova Core ยังมีสีสันที่ใกล้เคียงกับตอนที่เปิดไฟดวงที่อยู่กลางห้อง ยังคงมีความเข้มของสีฟ้ามากกว่า จางลงไปน้อยกว่า นั่นแสดงว่าเอฟเฟ็กต์ของแสงที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ประมาณ 1/3 ของห้องถูกจอตัวนี้ดูดกลืนไว้หมดอย่างที่คุยไว้  และต้องระวังแสงที่มาจากด้านหลัง ซึ่งมันก็คงแยกไม่ออกว่าอันไหนแสงที่มาจากโปเจ็กเตอร์อันไหนแสงที่ไม่ต้อง การให้สะท้อน

ใส่ภาพ HD ที่บันทึกการแข่งขันฟอร์มูล่าวันลงไป สีสดลานตาทีเดียว มาสะดุดอยู่ตรงสีแดงของค่ายเฟอร์รารี่ เริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างจากจอเดิมของเรา โดยเฉพาะช่วงที่อยู่ในร่ม ใต้เงา ช่วงประมาณต่ำกว่า 60 IRE ลงมา ภาพจาก Core มันให้สีแดงที่หนักแน่น อมดำนิดๆ ไม่ฟุ้งๆ เหมือนก่อน มาพร้อมกับรายละเอียดที่ชัดขึ้นอีกนิด ไม่ใช่คมขึ้นนะครับ  ชัดขึ้น คงเป็นเพราะว่าจากที่แสงมันลดความฟุ้งลง เหมือนตอนที่คุณลองใส่แว่นตากันแดด ไอ้ที่ประเภทเลนส์ถูกๆ กับเลนส์แพงๆ ยังงั้นแหละ มันกันแดดเหมือนกัน แต่ภาพที่เห็นมันชัดต่างกัน ผมรู้สึกอย่างนั้น แต่ในช่วงสีอื่นคอยนั่งจับผิดก็ไม่รู้สึกเท่าสีแดง อ้อ ผมลืมบอกไปว่านี่เป็นการพิสูจน์แบบปิดไฟดู ตัดเรื่องแสงแวดล้อมออกไปก่อน

ทีนี้เอาแบบที่ DNP เขาถนัด เปิดไฟเพดานด้านที่อยู่หน้าจอ เท่านั้นแหละครับ จอเก่าของเราก็กลับบ้านเก่าเหมือนกัน โดนแสงเลียหน้าจอฟุ้งๆ ขาวๆ แต่ DNP ยังให้สีสันได้ ผมยังไม่ย่ามใจ อยากต้องการเล่นอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ดูบ้าง พอดีมีโปรเจ็กเตอร์ที่ให้ความสว่างได้สะใจขึ้น

เท่านั้นแหละครับ ทั้งๆ ที่โปรเจ็กเตอร์ตัวนี้ให้คอนทราสต์แค่ 500:1 !!!  ตามสเปค แต่เมื่อจัดแสงดังกล่าว โดยได้ Supernova Core มาช่วย ใครบอกว่า 5000:1 ผมก็เชื่อ
 
และเชื่อว่ามีคนที่ต้องการแบบนี้ อยู่อีกไม่น้อย มันให้สีสันที่ยังอิ่มสด และไม่เป็น hot spot เหมือนจอเกรนสูงๆ ทั่วไป แต่ก่อนเราไม่มีทางเลือกมุ่งไปที่พลาสมาทีวี และแอลซีดีทีวีกันหมด เห็นราคาพวกจอแบนขนาดใหญ่ๆ หลายๆ แสนก็ยังมีหลายคนที่ซื้อไม่ลง ที่สำคัญการนั่งดูอยู่นานๆ ยังไงซะ ก็ยังสู้ภาพแบบสะท้อนจอไม่ได้
 
 ความแตกต่างของจอ 2 จอ จากบนลงล่าง
1. ไล่มาจากปิดไฟมืด
2. เปิดไฟด้านหลังห้อง
3. เปิดไฟกลางห้อง
4. และสุดท้าย เปิดดวงที่อยู่หน้าจอ ดูจากภาพเห็นความแตกต่างชัดเจน และรับรองว่า ไม่ได้มีการใช้เทคนิคใดๆ ช่วย ด้วยประการทั้งปวงครับ

สรุป
ผมว่าผมมองออกนะว่า DNP คิดยังไง Supernova Core เป็นจอภาพที่ถึงพร้อมสำหรับคนสองประเภท ประเภทหนึ่งคือพวกที่ต้องการคุณภาพสูงสุดกับการชมภาพในโฮมเธียเตอร์ ที่ต้องปิดไฟดู เลี่ยงไม่ได้ต้องหาโปรเจ็กเตอร์ดีๆ ขณะที่มันมีความสว่างจำกัด จอตัวนี้อยู่ในระดับที่ผ่านการรับรองจากกูรูด้านภาพจาก ISF ผมคงไม่ต้องการันตีซ้ำ

กับคนอีกประเภทที่ไม่ชอบห้อง มืดๆ มีแสง ไม่ถึงกับสว่างโร่ จัดแสงสวยๆ รู้ข้อแม้ของจอตัวนี้ และที่สำคัญ ขอโปรเจ็กเตอร์ระดับความสว่างสัก 2500–3000 ANSI ...อีกตัว ไม่ต้องเชื่อผมตอนนี้ก็ได้ครับ แต่ผมขอทายไว้ก่อนเลยว่า โปรเจ็กเตอร์สำหรับโฮมเธียเตอร์จะแข่งกันเรื่องความสว่างที่มากขึ้น แล้วเมื่อนั้นคุณจะนึกถึง Supernova Core

จอเดียวแต่ให้ได้ทั้งสองบทบาท
............................................................................................
 
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ
เครื่องเล่นบลู-เรย์ดิสก์   Pioneer BDP-LX70A
โปรเจ็กเตอร์    JVC DLA-HD1, Epson EMP-1825
เครื่องเล่นดีวีดี    Dvico TVX HD M-6500A
วิดีโอโปรเซสเซอร์   DVDO Iscan VP-50
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์    Clef PowerBRIDGE-8
สายสัญญาณ   WireWizard HDMI, QED Qunnex HDMI-P
ชั้นวางเครื่อง    Rezet

 
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย
บริษัท เดโค2000 จำกัด โทร.0-2256-9700
ราคา : ขนาด 100” / 140,000 บาท

 
อ่านข้อมูลรายละเอียดใน Home Theater Today ของเล่มนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook