AudioQuest Interconnect & Speaker Cable

AudioQuest Interconnect & Speaker Cable

AudioQuest Interconnect & Speaker Cable
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

AudioQuest
Interconnect & Speaker Cable
Colorado & CV-8

 
เรื่อง : ธานี โหมดสง่า    
ภาพ : ปฐวี โอฐสร้อยสำอางค์

....................................................................................................

 

AudioQuest Interconnect & Speaker Cable


‘..The Colorado & CV-8’s DBS puts a continuous 72 volt potential (DC bias) between the very center of cable, and an outer shield-like layer. All the dielectric in-between is fully aligned all the time. There is no interaction with the signal conductors. Nothing is put in the signal path.’
 

‘..อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล..’ ข้อความที่ตัดตอนมาจากบทกลอนสอนใจของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่คนไทยเราคุ้นหูท่อนนี้ดูจะเป็นจริงเสมอ โดยเฉพาะเมื่อยกขึ้นมาเทียบเคียงกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่รอบตัวเรา ไม่เว้นแม้ในวงการเครื่องเสียงแห่งนี้

ยี่ห้อที่มุ่งมั่นผลิตสินค้าประเภท ใดประเภทหนึ่งอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน โดยไม่วอกแวกไปกับการผลิตผลิตภัณฑ์อื่นๆ เลย ย่อมมีความชำนาญในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากเป็นพิเศษ และมักจะเป็นคนที่นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการออกแบบและผลิตสินค้าประเภทนั้นออกมาอยู่เนืองๆ   
 
AudioQuest กับ DBS
William E. Low หัวหน้าวิศวกรและผู้ก่อตั้ง เริ่มออกแบบสายออดิโอ เคเบิลยี่ห้อ ‘AudioQuest’ มานานเกือบสามสิบปีแล้ว ซึ่งตลอดเวลาร่วมครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา Bill Low ได้ทำการทดลองและค้นคว้าปัจจัยที่มีผลกับเสียงมาแล้วทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยพื้นฐานหลักๆ ของสาย อย่างเช่น ตัวนำ (conductor) และฉนวน (dielectric) ไปจนถึงปัจจัยทางด้านเทคนิคของการออกแบบสายที่มีผลต่อเสียง อาทิ รูปแบบโครงสร้างการจัดเรียงตัวนำ, ลักษณะการออกแบบขั้วต่อที่ใช้กับสายชนิดต่างๆ ฯลฯ

ซึ่งเทคนิคที่เขางัดออกมาใช้ในการ ออกแบบช่วงแรกๆ นั้นก็ไม่ค่อยที่จะหวือหวาอะไรมากมายนัก เนื่องเพราะว่ามันเป็นเทคนิคที่ผู้ผลิตสายเจ้าอื่นๆ เขาก็คิดแบบเดียวกัน.. 

จนถึงเทคนิคพิเศษที่ชื่อว่า DBS หรือ Dielectric-Bias System ที่เขานำมาใช้ในการออกแบบสายช่วงหลังๆ นี่เองที่ทำให้ AudioQuest โดดเด่นขึ้นมาในแวดวงของ ‘คนชอบเล่นสาย’ ระดับไฮเอ็นด์อย่างมาก เพราะเจ้ากระบอกใส่ถ่านไฟฉายขนาดเล็กที่แพ็คติดมาข้างๆ ตัวสายนั่นแหละที่ดึงดูดความสนใจ และทำให้สายเคเบิลของยี่ห้อนี้ดูแตกต่างไปจากสายออดิโอ เคเบิลทั่วๆ ไป เห็นแล้วให้ความรู้สึกว่ามันมีอะไร ‘พิเศษ’ ซ่อนอยู่แน่ๆ

DBS คืออะไร.?

อธิบายสั้นๆ ได้ว่า คือเทคนิคพิเศษที่ Bill Low คิดค้นขึ้นมาเพื่อจัดการกับไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นบนฉนวนของสายออดิโอ เคเบิล ไม่ให้ส่งผลเสียต่อคุณภาพเสียง โดยการใช้ถ่านไฟฉายที่มีกำลังไฟสูงถึง 72V ปล่อยกระแสไฟ DC วิ่งวนระหว่างแผ่นฟอยล์ที่หุ้มอยู่รอบนอกของตัวนำกับเส้นตัวนำที่แทรกอยู่ บริเวณแกนในของสาย เพื่อให้สนามพลังแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดจากการไหลของระบบ DBS ไปเหนี่ยวนำให้ไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นบนฉนวนที่หุ้มอยู่รอบๆ ตัวนำของสาย มีทิศทางที่ไม่ส่งผลกระทบต่อกระแสอิเล็กตรอน (สัญญาณ) ที่ไหลผ่านตัวนำในสายเคเบิลเส้นนั้นไป

 

โดยปกติแล้ว เมื่อมีสัญญาณเสียงที่อยู่ในรูปของสัญญาณไฟฟ้า วิ่งผ่านตัวนำภายในสาย จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าขึ้นมารอบๆ ตัวนำ และพลังงานของสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่เกิดขึ้นนี้จะไปมีผลเหนี่ยวนำโมเลกุลของ ฉนวนที่อยู่รอบๆ ตัวนำให้เรียงตัวไปในลักษณะที่ทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตขึ้นบนฉนวนเหล่านั้น และเนื่องจากไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นบนฉนวนนั้นเป็นไฟฟ้าสถิตที่เกิดขึ้นเพราะ การเหนี่ยวนำของกระแสไฟเอซี (สัญญาณ) ที่วิ่งไปตามสายตัวนำนั่นเอง ทำให้ไฟฟ้าสถิตบนฉนวนมีรูปแบบ,ทิศทาง และกำลังที่ส่งผลสัมพันธ์กับการไหลของกระแสไฟฟ้า (สัญญาณ) ภายในตัวนำในลักษณะที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งกันและกัน (reaction) และเมื่อไฟฟ้าสถิตที่เกิดบนฉนวนนี้ไปผนวกเข้ากับปัญหา skin effect ของสายตัวนำ (ที่ออกแบบไม่ถูกต้อง) เอง นี้จึงเป็นที่มาของปัญหาความเพี้ยนของเสียง 2 ประการสำคัญ อันแรกคือ (1) non-linear phase error คือ ทำให้เฟสของสัญญาณเพี้ยนไปจากต้นแบบที่เข้ามาทางอินพุตของสาย และเป็น phase-error แบบไม่คงที่ซะด้วย ส่วนปัญหาประการที่สองคือ (2) Different amonts of time delay for different parts of the signal คือทำให้เกิดการหน่วงของเวลาในการเดินทางผ่านสายตัวนำของสัญญาณเสียงเป็น จุดๆ แบบไม่สม่ำเสมอขึ้น
 
ปัญหาทั้งสองประการที่เกิดจากปรากฏการณ์นี้ ก่อให้เกิดความผิดเพี้ยนของสัญญาณที่วิ่งผ่านสายเส้นนั้นไป ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพเสียงในขั้นตอนสุดท้ายหลังจากที่มัน (สัญญาณ) ผ่านออกไปทางด้านเอาต์พุตของสายแล้ว  
 
ลูกศรแสดงทิศทางของสาย สัญญาณ ซึ่งจะเห็นว่า กระบอก DBS ของสายสัญญาณได้ถูกติดตั้งไว้ทางด้าน ‘ต้นทาง’ ผิดกับสายลำโพง ซึ่งจะติดตั้งกระบอก DBS ไว้ทางด้านปลายทาง
 
 
AudioQuest : Colorado + CV-8
interconnect + speaker cable


สายสัญญาณกับสายลำโพงที่ผม ได้รับมาทดสอบครั้งนี้ชื่อรุ่นว่า Colorado เป็นสายสัญญาณที่ติดขั้วต่อแบบ RCA ความยาวข้างละ 1 เมตร ฉนวนภายนอกนั้นหุ้มด้วยโพลี่ฯ ลายดำ-เทา-แดง เนื้อตัวนำข้างในเป็นทองแดงที่ผลิตด้วยกรรมวิธีพิเศษเรียกว่า Perfect-Surface Copper+ (PSC+) ซึ่งเป็นทองแดงแกนเดี่ยว (solid core) ที่มีความบริสุทธิ์สูง ผ่านการหลอมและดึงให้เป็นเส้นด้วยกรรมวิธีพิเศษ ทำให้โมเลกุลของเส้นทองแดงถูกยืดขยายออกไปเป็นเส้น ซึ่งท่ากับว่า เส้นตัวนำแบบ PSC+ นี้มีจำนวนโมเลกุลในเนื้อสายที่น้อยมาก ซึ่งมีข้อดีคือทำให้การถ่ายเทอิเล็กตรอนไปบนเนื้อสายมีความต่อเนื่อง ลื่นไหล ไม่เกิดอาการสะดุดเนื่องจากอิเล็กตรอนกระโดดข้ามระหว่างโมเลกุล

Colorado ใช้เส้นทองแดงตัวนำถึง 3 เส้น (แต่ละเส้นมีขนาดหน้าตัดเท่ากับ 20 AWG) เรียงตัวกันอยู่ภายในสายด้วยรูปแบบที่เรียกว่า Triple-Balanced สามารถนำไปเชื่อมต่อกับขั้วต่อ XLR ใช้งานกับสัญญาณบาลานซ์ได้โดยไม่ต้องเบิ้ลสาย เส้นตัวนำแต่ละเส้นถูกห่อหุ้มไว้ด้วยฉนวนที่เขาเรียกว่า Teflon Air-Tubes เป็นท่อเทฟล่อนที่มีอากาศเติมอยู่ในท่อเพื่อช่วยลดความต้านทานกับปัญหา skin effect ก่อนจะถูกหุ้มห่อด้วยแผ่นฟอยล์ที่เชื่อมกับขั้วลบของระบบ DBS ก่อนจะทับหน้าด้วยสิ่งที่ออดิโอเควสเรียกว่า Noise-Dissipation System คือวัสดุฉนวน 3 ชั้นที่ช่วยป้องกันคลื่น RF ในอากาศแทรกเข้าไปรบกวนความบริสุทธิ์ของสัญญาณที่วิ่งอยู่ในสายตัวนำ   

ส่วน CV-8 ซึ่งเป็นสายลำโพงที่ส่งมาพร้อมกันนั้น เป็นสายลำโพงที่มีสีสันของเปลือกฉนวนภายนอกเหมือนกับสายสัญญาณ Colorado คือเล่นสีแดง-เทา-ดำ มีการเชื่อมต่อขั้วต่อลำโพงแบบ single bi-wire คือใช้สายลำโพงแบบซิงเกิลที่มีตัวนำจำนวน 8 เส้นมาทำเป็นสายไบ-ไวร์ฯ โดยติดตั้งขั้วต่อ +/- ทางด้านอินพุตของสาย (จากหลังแอมป์) ไว้แค่คู่เดียว ส่วนทางด้านเอาต์พุตของสาย (เข้าที่หลังลำโพง) ถูกแยกขั้วต่อมาให้ 2 คู่ (+/- อย่างละสอง) เหมาะใช้งานกับลำโพงที่มีขั้วต่อสาย 2 ชุด
   
ทั้ง Colorado และ CV-8 ใช้เทคนิค DBS System ทั้งคู่ ..      
 
ติดตั้ง+เซ็ตอัพ
ที่ จริงแล้ว สำหรับระบบ DBS นั้น คุณสามารถเลือกที่จะใช้ (เสียบสายแบตฯ) หรือไม่ใช้ (ดึงสายแบตฯ ออก) ก็ได้ หรือจะลองเปรียบเทียบผลของเสียงระหว่างใช้กับไม่ใช้ DBS ก็ได้ แต่สำหรับผม จำเป็นต้องลองเพราะมันเป็นงานครับ ผมจำเป็นต้องค้นหาว่า DBS มันเข้าไปทำอะไรให้เกิดขึ้นกับคุณภาพเสียงบ้าง..

ซึ่งหลังจากลองเทียบกันแล้ว ผมบอกคุณได้คำเดียวว่า ที่เขาใส่มาให้นั้นมันมีทั้งเหตุผล และมูลค่าในตัวมันเอง จึงไม่มีเหตุผลที่จะไม่ใช้มัน และเท่าที่ผมลองดูก็ยังไม่พบว่าจะมีสถานการณ์ไหนที่ทำให้การไม่ใช้ DBS แล้วจะให้เสียงออกมาดีกว่าที่จะใช้ (แบตเตอรี่ที่อยู่ในกระบอก DBS มีอายุหลายปีครับ และมันก็เป็นถ่านไฟฉายที่มีราคาไม่แพง หาซื้อได้ทั่วไป)

AQ ให้ความสำคัญกับ ‘ทิศทาง’ ของตัวนำด้วย เขาจะพิมพ์ลูกศรแสดงเส้นทางเดินของสัญญาณไว้บนขั้วต่อ RCA ทั้งสองด้าน ส่วนสายลำโพงก็เช่นกัน มีลูกศรแสดงทิศทางกำกับไว้ เวลานำไปต่อเชื่อมในซิสเต็มต้องตรวจเช็กทิศทางที่ว่านี้ด้วย ระหว่างสายสัญญาณกับสายลำโพงเขาติดตั้งระบบ DBS ไว้คนละด้านกัน คือตัวสายสัญญาณ Colorado นั้นเขาติดตั้งกระบอก DBS ไว้ทางด้าน ‘ต้นทาง’ ของสาย ส่วนกระบอก DBS ของสายลำโพง CV-8 นั้นเขาติดตั้งไว้ทางด้านปลายทางของสาย (ด้านที่ใกล้กับลำโพง มีพิมพ์ตัวอักษรคำว่า ‘SPEAKER END’ เอาไว้)

สายลำโพงตัว CV-8 ที่ผมได้รับมาทดสอบนี้เป็นแบบ 1>2 คือทางฝั่งที่ต่อกับเอาต์พุตของแอมป์มีขั้วต่อ +/- อยู่แค่คู่เดียว ส่วนทางด้านที่ต่อเข้ากับลำโพงนั้นมีอยู่ 2 คู่ (+/- อย่างละสอง) และมีตัวอักษรเขียนกำกับไว้ชัดเจนว่าคู่ไหนใช้ต่อกับขั้วต่อลำโพงเสียงแหลม (Treble) และคู่ไหนใช้ต่อกับขั้วต่อสายลำโพงเสียงทุ้ม (Bass) เวลาต่อใช้งานควรปฏิบัติตามนั้น

สายสัญญาณและสายลำโพงคู่นี้แสดงพฤติกรรมออกมาบางประการที่แตกต่าง ไปจากสายออดิโอ เคเบิลอื่นๆ ที่คุ้นเคยมา คือผมรู้สึกว่ามันใช้เวลาในการเบิร์นอินน้อยมาก!

ปกติแล้ว ถ้าเป็นสายระดับออดิโอไฟล์ที่มีราคาสูงๆ คุณไม่ควรจะรีบด่วนสรุปกับน้ำเสียงของมันถ้ายังใช้งานไม่ถึง 100 ชั่วโมง เพราะโดยมากแล้ว ลักษณะเสียงที่ได้ในการใช้งานชั่วโมงแรกๆ มักจะออกมาทึบและอั้นตื้อ ไม่เปิดเผยเท่าที่ควร อีกทั้งรายละเอียดก็จะยังออกมาไม่กระจ่างชัด ต้องผ่านการใช้งานไปแล้วอย่างต่ำ 20-30 ชั่วโมงเสียงที่ได้จึงจะค่อยๆ คลี่คลายออกมาในแต่ละด้าน แต่กับสายเคเบิลของออดิโอเควสคู่นี้ผมพบว่า มันแทบจะให้เสียงที่เปิดเผยและหลุดลอยเป็นอิสระออกมาตั้งแต่ชั่วโมงแรกที่ ได้ลองใช้งานนั่นเลย

น่าแปลกมาก..!!

แม้ว่าในชั่วโมงแรกๆ ของการใช้งานนั้น ‘เนื้อเสียง’ โดยรวมจะยังคงมีอาการทึบแน่น ยังไม่ผลิฉ่ำเท่าที่ควร แต่ทางด้าน ‘เวทีเสียง’ และ ‘ไดนามิกเสียง’ นั้นมีลักษณะของการผ่อนปรนและเปิดเผยออกมาแทบจะในทันทีที่เสียบใช้งาน เมื่อเทียบกับสายทั่วไปคุณจะพบว่าสายเคเบิลของ AQ ใช้เวลา ‘เผาหัว’ สั้นกว่าสายยี่ห้ออื่นมาก ผมคิดว่า ระบบ DBS ที่เข้าไปช่วยปรับสมดุลเรื่องไฟฟ้าสถิตของฉนวนไม่ให้ไปรบกวนการไหลของกระแส สัญญาณบนตัวนำ อาจจะเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เสียงออกมาเปิดเผยและผ่อนคลายเร็วอย่างที่ว่า และจากการทดลองฟังติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพบว่า อาการเปิดเผยและผ่อนคลายที่ว่านี้ จะมีความเสมอต้นเสมอปลายโดยตลอดซะด้วย คือคุณจะรู้สึกว่า เสียงดนตรีมันเคลื่อนไหวดำเนินลีลาต่อเนื่องไปเรื่อยๆ คล้ายกับว่า เสียงที่ได้ยินมันไม่มีอะไรมา ‘ดึงรั้ง’ หรือคอย ‘กระตุก’ ให้เวทีเสียงและไดนามิกมีอาการผลุบๆ โผล่ๆ หรือรั้งๆ ปล่อยๆ เหมือนสายเคเบิลทั่วไป

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อใช้งานด้วยการฟังเพลงหลากหลายแนวด้วยระดับความดังที่สลับไป-มาระหว่าง ดัง-ค่อยไปอีกระยะหนึ่ง (ประมาณ 50 ชั่วโมงผ่านไป) สิ่งที่แปรเปลี่ยนไปก็คือ ‘เนื้อเสียง’ ซึ่งจะพบว่ามีลักษณะความนวลเนียนมากขึ้น ความรู้สึกหยาบกร้านลดน้อยลง กับอีกจุดหนึ่งที่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงก็คือ ‘ความต่อเนื่อง’ ของการปรับเปลี่ยนระดับความดังของเสียง (ไดนามิก คอนทราสต์) ที่ดีขึ้น การสวิงของเสียงทั้งจากดังไปเบาและจากเบาไปดังของเครื่องดนตรีประเภทเครื่อง สายอย่างพวกไวโอลิน,เชลโล ฯลฯ เสียงร้อง และเครื่องเป่าอย่างพวกแซ็กโซโฟน,คลาริเน็ต,ฟรุ๊ต ฯลฯ มีความราบรื่น เกาะเกี่ยวต่อเนื่องลื่นไหลเป็นเนื้อเดียวกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นช่วงที่รู้สึกได้ว่า ตัวสายมันสามารถ ‘แสดง’ ความไพเราะของเพลงที่ฟังออกมามากยิ่งขึ้น สามารถปลดปล่อยความลุ่มลึกของอารมณ์เพลงออกมาได้มากยิ่งขึ้น

หลังจากพ้น 50 ชั่วโมงไปแล้ว เมื่อมีการใช้งานต่อเนื่อง พบว่า น้ำเสียงโดยรวมของสายคู่นี้เริ่มที่จะ ‘นิ่ง’ แล้ว เริ่มไม่แสดงความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนักแล้ว
 
วิธีการเช็กปริมาณไฟใน กระบอก DBS หากยังมีไฟเต็ม จะมีไฟแอลอีดีสีเขียวสว่างขึ้นมาให้ทราบ เมื่อคุณออกแรงกดลงไปบนปุ่มตรวจเช็กอันเล็กๆ ที่อยู่ข้างหลอดไฟค้างไว้
 
 
เสียง!
‘.. a manufacturer should not be limited by opinions about what somebody else has made. But the reviewing community, people who aren’t actually going to go design and manufacture the product, in many ways are better off turning off their brains and just listening..’

Bill Low แสดงความเห็นข้างต้นนี้ไว้ในบทสัมภาษณ์ที่เขามีให้กับนักวิจารณ์เครื่อง เสียงคนหนึ่งในเว็บไซต์ ซึ่งผมเห็นว่ามันเป็นมุมมองที่น่าสนใจทีเดียว เขาว่า ผู้ผลิต (อุปกรณ์เครื่องเสียง) ไม่ควรจะจำกัดความคิดเห็นของตนเองเอาไว้แค่สิ่งที่คนอื่นเคยทำมา ส่วนนักวิจารณ์เครื่องเสียง ซึ่งไม่ใช่กลุ่มคนที่จะมีหน้าที่เป็นผู้ผลิตเครื่องเสียงนั้น ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน (เขาว่า) มันควรจะดีกว่า ถ้า (นักวิจารณ์) จะใช้สมองในการคิดให้น้อยลง แล้วเปลี่ยนมาเป็นแค่ (ใช้หู) ฟังเท่านั้นพอ..

แนวคิดของ Bill Low ในประเด็นนี้จะคล้ายกับสิ่งที่ผมยึดเหนี่ยวอยู่ทุกวันนี้ในการทำหน้าที่ วิจารณ์อุปกรณ์เครื่องเสียง คือผมจะทดลองฟังเสียงของมันให้รู้ก่อนว่าคุณภาพเสียงเป็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยไปสนใจว่า (อุปกรณ์ชิ้นนั้น) ถูกออกแบบมาอย่างไร.? เพราะผมว่ามันเป็นวิธีที่ไม่เสียเวลาดี คือถ้าลองฟังแล้วเสียงไม่ถูกใจ ออกมาไม่ดีตามมาตรฐานของผม ผมก็จะผ่านมันไปโดยไม่ต้องเสียเวลาไปศึกษาว่ามันถูกสร้างขึ้นมาด้วยวิธีการ ใด

สิ่งแรกที่สายสัญญาณและสายลำโพง AQ คู่นี้สะดุดหูผม นั่นคือ คุณสมบัติของความอิสระโล่งของเสียงที่แสดงตัวออกมาให้ได้ยินตั้งแต่ชั่วโมง แรกๆ ของการใช้งาน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ถือว่าแปลกมากสำหรับสายออดิโอ เคเบิลที่ผมเคยฟังมา และถือว่าเป็นจุดเด่นมากๆ สำหรับสายเคเบิลของ AQ คู่นี้ คุณสมบัติเด่นข้อนี้ของมันทำให้เกิดมรรคผลต่อเสียงในแง่ของเวทีเสียงครับ.. คือมันจะทำให้เวทีเสียงมีลักษณะที่เปิดกว้าง มิใช่เพียงแค่มิติใดมิติหนึ่ง หากแต่เป็นการแผ่ขยายรูปวงออกไปรอบด้านทั้งสามมิติ คือกว้าง, ลึก และสูง กอปรเป็นรูปวงที่มีมิติครบทุกด้าน ให้มุมมองของเลย์เอาต์ของตำแหน่งชิ้นดนตรีที่จัดเรียงกันอย่างเป็นสัดส่วน ครบทั้งสามมุมมอง มีหน้า-มีหลัง ซ้าย-ขวา และสูง-ต่ำ

ความเด่นชัดของตัวตน (image) ของเสียงดนตรีแต่ละชิ้นก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่สายเคเบิลคู่นี้โชว์ออกมาได้ อย่างโดดเด่นมาก มันสามารถสกัดชิ้นดนตรีขึ้นมาในอากาศให้ปรากฏแก่หูได้อย่างกับว่ากำลังสดับ ฟังเสียงจริงของเครื่องดนตรีชิ้นนั้นถูกบรรเลงสดๆ อยู่ภายในห้องฟัง ต่อหน้า-ต่อตา โดยไม่มีม่านหมอกมากั้นขวาง

สายเคเบิลบางตัวที่ไม่สามารถสกัด กั้น noise หรือสัญญาณรบกวนออกไปจากระบบได้หมดสิ้นนั้น จะให้บุคลิกเสียงที่มีลักษณะเหมือนเรากำลังนั่งอยู่นอกห้อง ฟังวงดนตรีที่กำลังบรรเลงกันอยู่ภายในห้องโดยมีแผ่นกระจกขวางกั้นอยู่เบื้อง หน้า ความสดของบรรยากาศของวงที่กำลังบรรเลงมิได้ถูกถ่ายเทมาถึงตัวตรงตำแหน่งที่ เรานั่งฟังอยู่ ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากจากอุปกรณ์เครื่องเสียงทั่วไป แต่สายสัญญาณและสายลำโพงคู่นี้ให้ออกมาได้..!!

 


ในอีกด้านหนึ่ง นั่นสะท้อนถึงคุณสมบัติทางด้าน ‘ความใส’ ของพื้นเสียงที่ยอดเยี่ยมที่สายเคเบิลคู่นี้ถ่ายทอดออกมาด้วย ความรู้สึกนี้พุ่งทะลุเข้ามาในใจผมตอนนั่งฟัง Joe Morello ตวัดไม้กลองหวดฉาบตรงท่อนส่งของเพลง Blue Rondo a la Turk (แทร็คแรกในอัลบั้มชุด Time Out! ของ Dave Brubeck Quartet : Columbia/Legacy CK 65122) ลงไปอย่างแรงนั้น กับสายเคเบิลคู่นี้ มันทำให้ผมรู้สึกได้ว่า หลังใบฉาบถูกตีแล้วนั้น มันได้แสดงอาการสั่นระรัวและแผ่หางเสียงกระจายออกไปรอบๆ ตัวเอง ในขณะที่ส่วนใหญ่แล้ว เวลาเอาเพลงนี้มาฟังทดสอบในสภาวะทั่วไป บ่อยครั้งที่ผมมักจะ ‘ได้ยิน’ แค่เสียงของฉาบที่ถูกตีกระจายอยู่เบื้องหน้า แต่ไม่รู้สึกถึงการแตกตัวของเสียงหลังจากนั้นอีก คล้ายกับเสียงฉาบที่ถูกตีนั้นมันรวบตัวกันเป็นกระจุกหนาๆ อยู่แค่ตรงตำแหน่งที่ถูกตี ไม่แผ่ขยายกระจายเป็นริ้วของหางเสียงออกไปรอบด้านเหมือนตอนที่ฟังผ่านสาย เคเบิล AQ คู่นี้ และไม่ค่อยจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่เรียกว่า ‘บรรยากาศ’ ของเสียงที่เกิดขึ้นหลังเสียงตีฉาบนั้นแผ่ขยายออกมาให้รู้สึกสัมผัสได้ชัดๆ เหมือนตอนที่ใช้สาย AQ คู่นี้ด้วย

สรุปคือสาย AQ ชุดนี้สามารถแจกแจงเสียงฉาบนั้นออกมาให้เห็น ‘รายละเอียดของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง’ ในปริมาณที่มากกว่าที่ผมเคยสัมผัสจากสายตัวอื่น มันให้หัวเสียง (หรืออิมแพ็ค) ของจังหวะกระทบครั้งแรกสุดระหว่างไม้กลองกับใบฉาบที่ชัดเจน มีพลัง และยังสามารถแสดงให้เห็นถึงสภาวะของเสียงใบฉาบหลังถูกตีที่แตกตัวฟุ้งกระจาย เป็นเม็ดฝอยเล็กๆ แผ่ออกไปโดยรอบเหมือนพลุ ก่อนที่จะค่อยๆ โรยตัวกลืนหายลงไปกับความมืดดำของพื้นเสียงที่เป็นฉากหลังแบบมีลีลา คือไม่ได้หายวับไปอย่างรวดเร็ว แต่ทิ้งช่วงเวลาให้หูสามารถตรวจจับได้อยู่วูบหนึ่ง ก่อนจะล่วงสลายไปจากการได้ยินของหูในที่สุด
 
จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในย่อหน้าข้างต้นนั้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงแค่วูบเดียวเท่านั้น แต่เนื่องเพราะว่าสาย AQ คู่นี้สามารถถ่ายทอดรายละเอียดของเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นออกมาได้อย่างต่อ เนื่อง ไม่ตกหล่น ทำให้ ‘ภาพ’ ของเสียงนั้นปรากฏต่อหูของผมได้อย่างชัดเจน.. ชัดเจนซะจนสามารถสาธยายมันออกมาเป็นฉากๆ โดยไม่ขาดตอนอย่างที่คุณได้อ่านไปนั่นแหละ

ถ้าจะเทียบกับเรื่องของภาพ ผมอยากจะพูดว่า ลักษณะของเสียงที่สาย AQ คู่นี้ถ่ายทอดออกมานั้น มันมีลักษณะคล้ายการสร้างสัญญาณภาพแบบ Progressive scan ที่ทีวีคุณภาพสูงยุคใหม่ถ่ายทอดออกมา ซึ่งมิได้แค่มีความละเอียดสูงกว่าภาพแบบ interlace scan อย่างที่ทีวียุคเก่าให้ออกมาเท่านั้น หากแต่ยังมีลักษณะของ ‘โมชั่น’ หรือการเคลื่อนดำเนินไปของภาพที่ราบรื่นและต่อเนื่องมากกว่าอีกด้วย

และเมื่อได้ลองฟังทั้งแผ่นเสียงและ แผ่นซีดีผ่านไปอีกจำนวนหนึ่ง ผมก็ได้มองเห็นถึงลักษณะ ‘ความใส’ ที่สาย AQ คู่นี้ถ่ายทอดออกมาได้ชัดขึ้นไปอีกระดับ และอยากจะยกขึ้นมาพูดถึง เพราะผมถือว่าสิ่งนี้เป็นคุณสมบัติที่ดีเยี่ยมอีกประการหนึ่งของสายเคเบิล AQ คู่นี้ที่สมควรจะยกย่องครับ.!

คือความใสของเสียงที่สาย AQ คู่นี้แสดงออกมานั้น มิได้เป็นความใสในลักษณะของการ ‘ดัน’ ตัวเสียงของชิ้นดนตรีที่อยู่ในสนามเสียงให้ ‘พุ่งล้ำ’ กระโดดออกมาข้างหน้ากว่าปกติ ซึ่งแบบนั้นไม่ถือว่าเป็นคุณสมบัติที่ดีในความเห็นของผม เพราะแม้ว่ามันจะทำให้เราได้ยินเสียงชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นชัดขึ้นก็จริง แต่มันก็มีผลข้างเคียงที่ไม่ดีติดมาด้วย คือทำให้รูปวงของเวทีเสียงเสียไป มีผลต่อความเป็นสามมิติของเวทีเสียงอย่างมาก คือเสียงโดยรวมจะออกมาแบนและพุ่ง (forward) มิติด้านลึกเสียไป ภาษาจิ๊กโก๋เขาเัรียกว่ามันใสแบบ push SOUND forward, leave NOISE behind ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้กำจัดสัญญาณรบกวนออกไป มันยังคงอยู่ แต่สายเคเบิลพวกนั้นพยายาม ‘ดัน’ เสียงดนตรีให้ดังกว่าเสียงรบกวนขึ้นมา

ความใสที่สาย AQ คู่นี้ถ่ายทอดออกมานั้น เป็นผลที่ได้มาจากการ ‘ชะล้าง’ ขยะและฝุ่นควันที่คละคลุ้งอยู่ในอณูอากาศของพื้นเสียงออกไป ให้เหลือแต่บรรยากาศใสๆ ไล่ตั้งแต่อาณาบริเวณที่อยู่ใกล้ตัวเราทะลุเลยระนาบของเวทีด้านหลังสุดลงไป โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับตัวเสียงเลย จึงทำให้ตำแหน่งของชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นที่รายเรียงกันอยู่บนเวทีเสียงนั้นถูก ปล่อยให้ยึดตรึงอยู่กับที่เดิม ตรงนั้น เมื่อสัญญาณรบกวนซึ่งเปรียบเสมือนม่านหมอกถูกชะล้างทิ้งไป เราจึงมองเห็น (ด้วยหู) ชิ้นดนตรีเหล่าั้นั้นขยับตัวเคลื่อนไหวไปมาด้วยลีลาท่าทีที่เด่นชัดจะแจ้ง มากขึ้น สามารถรับรู้ถึงความเหลื่อมล้ำของความตื้น-ลึกของแนวระนาบของตำแหน่งชิ้น ดนตรีแต่ละระนาบได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยที่ตำแหน่งของชิ้นดนตรีทั้งหมดไม่เปลี่ยนไป

สำคัญเหรอ ตรงจุดนี้..??

คนที่ชอบฟังเพลงคลาสสิกจะเข้าใจความ หมายนี้ได้ และสามารถรับรู้ถึงคุณสมบัติเด่นข้อนี้ได้เป็นอย่างดี กับเพลงประกอบละครบัลเล่ต์เรื่อง La Fille Mal Gardee จากแผ่นเสียงสปีด 45 ของ DECCA เบอร์ SXL 2313/45 ที่ผมชื่นชอบมากๆ เป็นตัวพิสูจน์สิ่งที่พูดถึงนี้ได้อย่างชัดเจน แม้เสียงฟรุ๊ตกับเสียงกระตุกสายดับเบิ้ลเบสที่แผ่วเบาซึ่งสถิตอยู่แทบจะแถว หลังสุดของเวทีเสียงห่างจากจุดนั่งฟังลึกลงไปเป็นเมตรๆ ก็ยังแสดงตัวให้ได้ยินอย่างชัดเจนอย่างนั้นโดยไม่รู้สึกว่ามันถูกผลักดันให้ ลุกล้ำขึ้นมาข้างหน้าแต่อย่างใด หรือกับเสียงนักร้องกลุ่มประสานเสียงชาย-หญิง และเด็กในแผ่นเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าชุด Now The Green Blade Riseth (แผ่นของ Proprius PRCD 9093) ก็ถูกสาย AQ คู่นี้ตรึงเป็นแถวเดินแนวระนาบลึกลงไปอยู่ด้านหลังตำแหน่งลำโพงอย่างเด่นชัด แบ่งแยกนักร้องเหล่านั้นออกเป็นกลุ่มก้อนอย่างเป็นระเบียบ เวลาร้องประสานขึ้นมาพร้อมๆ กัน เสียงที่ได้จะถูกสวิงขึ้นมาด้วยพลังที่หนักแน่นมั่นคง แสดงศักดิ์อำนาจดึงดูดความรู้สึกได้อย่างล้ำลึกโดยไม่มีความผิดเพี้ยนทาง อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ เข้ามาปะปน รบกวนในช่วงเวลาสำคัญนี้เลยแม้เพียงน้อย ทำให้ฟังแล้วเหมือนผม

หลุดเข้าไปนั่งอยู่ในโบสถ์ขนาดใหญ่ ที่มีบรรยากาศอบอุ่น น่าเลื่อมใส โดยมีวงประสานเสียงขนาดใหญ่กับออร์แกนท่อขนาดยักษ์กำลังบรรเลงอยู่ข้างหน้า ฟังแล้วได้อารมณ์ที่หลุดลอยไปไกลทีเดียว

แน่นอนครับว่า สายเคเบิลของ AQ คู่นี้ไม่ได้เป็นคนสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ทั้งหมดนั้นมันเป็นสิ่งที่ถูกบันทึกอยู่ในแผ่นอย่างนั้นมาโดยตลอด และสายสัญญาณกับสายลำโพงของ AudioQuest คู่นี้แค่ทำหน้าที่ปลดปล่อยมันออกมา.. เท่านั้น!

โดยไม่ไปเปลี่ยนแปลง บิดเบือน หรือปนเปื้อนสิ่งใดๆ ลงไปทั้งสิ้น ซึ่งนั่นคือหน้าที่ของสายสัญญาณและสายลำโพงในอุดมคติที่ควรจะเป็น   
 
ขั้วต่อของสายลำโพง ด้านที่ใช้ต่อเชื่อมกับขั้วต่อของตัวลำโพงของ Audioquest CV-8 ถูกแยกเป็น 2 ชุด สำหรับการใช้งานต่อเชื่อมระบบแบบ bi-wire
     
สรุป
ตอน ท้ายๆ ของการทดสอบ ก่อนปิดสำนวน ผมได้ขอยืมสายสัญญาณรุ่น Sky ที่มีราคาสูงกว่า Colorado ประมาณ 3 เท่า !! ซึ่งเป็นสายสัญญาณตัวท็อปสุดของซีรีส์นี้มาทดลองฟังด้วย โดยส่วนตัวนั้นอยากจะรู้ว่ามันจะดีกว่า Colorado สักแค่ไหน เพราะดูจากลักษณะดีไซน์แล้ว มันใช้เทคนิคเดียวกันกับรุ่น Colorado ที่ผมทำการทดสอบในเล่มนี้เกือบทุกอย่าง ต่างกันตรงที่สีของเปลือกนอกกับรุ่น Sky ใช้ตัวนำที่ทำมาจากโลหะเงินที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ชื่อว่า PSS (Solid Perfect-Surface Silver) ในขณะที่ Colorado ใช้สายตัวนำที่ทำมาจากทองแดง PSC+

ตอนเอา Sky ต่อเชื่อมเข้าไปที่ต้นทางระหว่างเครื่องเล่นซีดีมาที่ปรีแอมป์ แล้วต่อเชื่อม Colorado จากปรีแอมป์ไปหาเพาเวอร์แอมป์ โดยใช้สายลำโพง CV-8 เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเอาต์พุตของ
เพาเวอร์แอมป์กับลำโพง พบว่า มันทำให้บุคลิกแต่ละด้านที่กล่าวมาข้างต้นมีความโดดเด่นมากขึ้นมาอีกหลาย เปอร์เซ็นต์ทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความใส,รายละเอียด,ความผ่อนคลาย,ความต่อเนื่อง และที่เยี่ยมยอดสุดๆ ก็คือเวทีเสียงที่เปิดกว้างออกไปทุกด้านแบบไม่มีขีดจำกัด โล่งทะลุผนังออกไปพร้อมๆ กันทุกมิติ

เป็นสายสัญญาณและสายลำโพงที่จะทำให้ คุณเลิกสนใจ ‘ฮาร์ดแวร์’ และหันไปหมกมุ่นกับความล้ำลึกที่แอบซ่อนอยู่ในแผ่นเพลงมากขึ้น.. มากขึ้น.. และมากขึ้น.!
....................................................................................................
 
ราคา :
  สายสัญญาณ Colorado = 32,900  บาท /ต่อคู่/ความยาวข้างละ 1 เมตร
  สายลำโพง CV-8 = 29,900 บาท /ต่อคู่/ความยาวข้างละ 2.40 เมตร (8 ฟุต)
นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท Global Star Worldwide Co.,Ltd.
โทร.0-2576-0317

 
อุปกรณ์ร่วมทดสอบ:
เครื่องเล่นซีดี :  Marantz SA11S2, Marantz DV8400 เป็นทรานสปอร์ต+DAC ของ Assemblage DAC 2.6
เครื่องเล่นแผ่นเสียง : Acoustic Signature Manfred + หัวเข็ม Benz Micro Wood M2 (MC) + โฟโนสเตจ Benz Micro Lukascheck PP1 & DACT CT100
ปรีแอมป์ :  Audible Illusion Modulus M3A (Tube/Active), ภาคปรีเอาต์ของอินทิเกรตแอมป์ Creek 4330 (Solid State/ Passive), Marantz SC-7s2 (Solid State/Active)
เพาเวอร์แอมป์:  Pass Lab ALEP30, Magnet MA-400 Limited Edition, Marantz MA-9s2
ลำโพง : Totem The One, Paradigm Studio 20v4, ATC SCM7, Vivid B1
สายไฟเอซี :  Furutech Power Link-400, Virture Dynamics David 2.0, Shunyata Research Python
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์ : Clef PowerBRIDGE-8, Shunyata Research Model 6
เอซี-คอนดิชั่นเนอร์ : Quantum Qx4
เอซี-สเตบิไลเซอร์ : Clef Audio PureSINE-1000
ชั้นวางเครื่อง :  Rezet

 
....................................................................................................

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook