ล่าพิกัดพื้นที่ ปลอดภัย บนอินเทอร์เน็ต

ล่าพิกัดพื้นที่ ปลอดภัย บนอินเทอร์เน็ต

ล่าพิกัดพื้นที่ ปลอดภัย บนอินเทอร์เน็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

          เพราะอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่สาธารณะซึ่งไม่มีข้อจำกัดว่า"ห้ามเข้า"ดังนั้นคนทั่วทุกมุมโลกต่างยึดพื้นที่แห่งนี้ทำ กิจกรรมทุกอย่างกันอย่างเสรี
        

         แม้หลายๆ ประเทศ จะพยายามหากฎหมาย หรือกฎระเบียบ เพื่อนำมาใช้กับพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ แต่ดูเหมือนว่า "มักไม่ค่อยได้ผล" เพราะส่วนใหญ่จะถูก "ต่อต้าน" จากคนที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต โดยพวกเขาถือว่านี่คือ พื้นที่สาธารณะ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่บ่อยครั้งบนโลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถทำได้

         แต่ปัจจุบันความมีอิสระ เสรี เหนือสิ่งอื่นใด ไปกระตุ้นต่อม "คนเลว" ให้หันมาใช้ความได้เปรียบบนอินเทอร์เน็ต "ทำชั่ว" ต่อผู้อื่นมากขึ้น มากขึ้น อินเทอร์เน็ตจึงกลายเป็นพื้นที่อันตรายของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะบรรดาเยาวชน และเด็กวัยเรียน ที่ผู้ปกครองจะต้องมีส่วนช่วยในการ "อธิบาย" ถึงประโยชน์ และการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกวิธี

          มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผนึกกำลังกับอุทยานการเรียนรู้ "ทีเค พาร์ค"  จัดกิจกรรม "มหกรรมอินเทอร์เน็ตปลอดภัย และสร้างสรรค์ครั้งที่ 4" ขึ้น ระหว่างวันที่  5-7 ก.พ. นี้ โดยมีจุดประสงค์ให้เยาวชนไทย รวมถึงผู้ปกครองตระหนักถึงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

          นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลด้านสื่อ ให้ความเห็นว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสื่อที่คนทั่วโลกใช้ ตัวเองก็เป็น 1 ในผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยประมาณ 16 ล้านคน และมีชีวิตส่วนหนึ่งอยู่บนโลกไซเบอร์เกือบทุกวัน ขณะที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกขณะนี้อยู่ที่ 1.7 พันล้านคน หรือประมาณ 25.6% ของ ประชากรทั้งโลก

          "เพราะอินเทอร์เน็ต กลายเป็นสื่อที่ทั่วโลกใช้งาน เป็นเหตุผลที่เราจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้งาน โดยเฉพาะทำอย่างไร ให้เด็กไทย รู้ทัน ฉลาดใช้ และไม่เป็นทาสของเทคโนโลยี"

          เขาระบุว่า ปัจจุบัน เด็กๆ หลายคน ใส่รูปตัวเอง ใส่เบอร์โทรศัพท์ หรืออีเมลไว้บนบล็อก คิดเพียงว่าจะให้เพื่อนๆ มาดู โดยไม่ทันคิดว่า คนร้ายก็เข้ามาดูด้วย และเอาเบอร์ไปโทรข่มขู่ หรือเอาภาพไปตัดต่อโพสต์ขายบริการทางเพศได้ แม้กระทั่งผู้ใหญ่บางคน ยังโดนหลอกให้โอนเงินลงทุนทำธุรกิจ  หรือโดนหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวบนเว็บไซต์ ปลอม ที่ถูกทำขึ้นมาเลียนแบบเว็บไซต์ธนาคาร

          "สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความประมาท ไม่เท่าทันกลโกงรูปแบบใหม่ๆ การรู้เท่าทันสื่อออนไลน์ ว่ามีทั้งด้านบวก และลบ เพื่อนที่ออนไลน์มีทั้งดี และไม่ดี เนื้อหาข้อมูลที่พบบนเว็บไซต์ อาจไม่ใช่เรื่องจริง  ไม่ใช่เรื่องดี หรือน่าอ่านเสมอไป"

          ขณะที่ ปัจจุบันได้มีการเปิดเว็บไซต์ไทยฮอตไลน์ www.thaihotline.org เพื่อรับแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือผิดกฎหมาย สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสอดส่องสื่อไม่ดี เป็นต้น

          สำหรับงานมหกรรมอินเทอร์เน็ต ที่จะจัดขึ้นที่ "ทีเค พาร์ค" เซ็นทรัลเวิลด์นั้น มีทั้งงานสัมมนา เช่น เรื่องภัยผู้หญิงบนโลกไซเบอร์  และแนวทางพ่อแม้แก้ลูกติดเกม เวทีแสดงผลงานโครงการศึกษาการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างสื่อดิจิทัล ได้แก่ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ค) การวาดการ์ตูนด้วยคอมพิวเตอร์ การสร้างแอนิเมชัน การตัดต่อภาพ เสียงวีดิโอ เป็นต้น

          ยกตัวอย่าง ข้อควรระวังของการ "แชท" สำหรับน้องๆ วัยเรียน ที่ปัจจุบันหากใครไม่มีแอคเคาท์อีเมลไว้สำหรับพูดคุยโต้ตอบบนอินเทอร์เน็ต ก็ดูเหมือนว่าจะตามไม่ทันโลก เช่น อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวกับเพื่อนบนเน็ต อย่านัดพบกับเพื่อนบนเน็ต เพราะอาจเป็นมิจฉาชีพ หรือผู้ไม่ประสงค์ดี

          โปรดระลึกไว้เสมอว่า....สิ่งที่เพื่อนแชทบอก อาจไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook