สัมผัสแรกกับ NIKON D3 กล้องในฝัน

สัมผัสแรกกับ NIKON D3 กล้องในฝัน

สัมผัสแรกกับ NIKON D3 กล้องในฝัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แรกสัมผัสกับ NIKON D3 กล้องในฝัน

เป็นธรรมเนียมของคนบ้าอุปกรณ์ NIKON แบบเหมือนถูกฉีดเข้าไปในสายเลือด เมื่อมีกล้องใหม่โดยเฉพาะรุ่นสูงสุดออกมาและมีโอกาสที่จะได้จับต้องตัวจริงเสียงจริง (จะได้ไม่ต้องไปเล่าให้คนอื่นฟังจากการอ่านแค่คู่มือหรือที่คนอื่นเค้าเขียนบน Internet) จึงไม่ปล่อยให้โอกาสนั้นหลุดลอยไป กับกว่าหนึ่งชั่วโมงที่ได้สัมผัส ถึงแม้จะเป็นกล้อง NIKON D3 ที่ยังถือว่าไม่ใช่ official หรือตัวที่จะนำมาขายกันจริงๆในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (ตามตารางของประเทศญี่ปุ่น) แต่ก็ถือว่า NIKON D3 ตัวที่ได้สัมผัสนี้ “น่าจะ” ใกล้เคียงกับตัวที่จะวางตลาดจริงมาก อาจจะต่างกันแค่ในเรื่องของ software ที่ยังอาจจะพัฒนายังไม่เสร็จ หรือยังมีโอกาสที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นก่อนที่กล้องจะวางตลาดในอีกสามเดือนข้างหน้า

NIKON D3

การออกแบบและรูปทรง

รูปทรงที่เห็นครั้งแรกในภาพจากจอคอมพิวเตอร์ เริ่มตั้งแต่ภาพหลุดๆทาง Internet ไม่ว่าจะภาพ outline จากเมืองจีน (ที่ภายหลังพบว่าเป็นภาพจริง) หรือภาพมัวๆจากอีกหลายๆเวบ ในที่สุดเมื่อตัวจริงของ D3 ออกมาก็พบว่า D3 มีลักษณะรูปทรงคล้ายๆกับ D2 แต่ที่แตกต่างกันคือบริเวณหัวกระโหลกที่ต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อที่จะรองรับภาพที่จะสะท้อนขึ้นมากจากช่องรับภาพที่ต้องสนับสนุนตัวรับ ภาพแบบ Full Frame ในใจเมื่อเห็นภาพจริงครั้งแรกขอบอกเลยว่าสงสัยในการออกแบบส่วนหัวเป็นอย่างมาก ยังดูแปลกๆเหมือนกับไม่สมส่วน แต่เมื่อได้เห็นตัวจริงๆ ความรู้สึกแปลกๆนั้นหมดไปทันที ความลงตัวในการออกแบบโดยนาย Giorgetto Giugiaro ได้แสดงพลังออกมาอย่างชัดเจน ส่วนหัวที่ดูในรูปไม่สมส่วนกลายเป็นส่วนโค้งมนที่สวยงามเมือ่ได้พบกับ D3 ของจริง

สัมผัสแรกจริงๆที่ได้จับ D3 ต้องบอกได้เลยว่าความรู้สึกใกล้เคียงกับ NIKON D2Xs ที่ใช้อยู่เป็นอย่างมาก แทบจะไม่รู้สึกแตกต่างเลย ต้องยอมรับว่า D2 Series เป็นบอดี้ที่จับได้ถนัดมือมากทั้งแนวนอนและแนวตั้ง (และออกแบบได้ดีมาก ต่างกับ Minolta 9xi ถึงแม้จะจับถนัดทั้งแนวนอนและตั้งแต่การออกแบบดูขัดๆไปหน่อย) ความรู้สึกนั้นได้ถูกถ่ายทอดมาให้กับ D3 อย่างสมบูรณ์แบบ ปุ่มต่างๆ ถึงแม้มีการปรับปรุงบ้างแต่ก็ไม่รู้สึกติดขัด จากการทดสอบใช้งานแบบรวดเร็วก็รู้สึกได้เลยว่าหากออกภาคสนามจริงๆจะสามารถใช้ประสบการณ์จากการใช้กล้อง D2 มาใช้กับกล้อง D3 ได้อย่างสบาย นี่นับเป็นการออกแบบที่สุดยอดของที่ผสมผสานระหว่างการใช้งานและความงดงามได้อย่างลงตัว

NIKON D3

ในความเป็นจริงแล้ว D3 มีขนาดและน้ำหนักที่ต่างกับ D2 พอสมควร โดยมีน้ำหนักหนักว่า D2 อยู่ 170 กรัมและมีความสูงมากกว่าเล็กน้อย แต่จากการที่ได้ถือและมองรูปร่างคร่าวๆ ต้องบอกได้เลยว่าน้ำหนักที่เพิ่มไม่เป็นปัญหาเมื่อใช้งานเลย แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าได้จับและใช้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นจึงขอยกยอดไปทดสอบการใช้งานจริงแล้วจะกลับมารายงานถึงเรื่องน้ำหนักที่แตกต่างต่อไป

 ฟังก์ชั่นการทำงานและข้อมูลทางเทคนิค
ต้องบอกเลยว่าขนาดแค่อ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ที่พูดถึงสิ่งต่างๆที่ใส่เข้ามาในกล้อง NIKON D3 ก็รู้สึกดีที่ทาง NIKON ยังมีความพยายามที่จะรั้งหรือดึงลูกค้า NIKON ให้อยู่ด้วยกันต่อไปด้วยการออกกล้อง D3 ที่เปี่ยมไปด้วยฟังก์ชั่นการทำงานที่หลากหลายและอีกทั้งยังมีนวัฒกรรมใหม่ๆที่ไม่เคยเห็นในกล้อง DSLR ตัวอื่นๆในโลกใบนี้อีกหลายประการ

 FX-format CMOS 12.1MP : เริ่มต้นกันด้วยหัวใจของกล้อง DSLR ทุกตัวนั่นก็คือตัวรับภาพ ซึ่งอย่างที่เกริ่นไปหลายรอบแล้วว่าในที่สุดทาง NIKON ก็ได้เข้ามาสู่ตลาดของ Full Frame DSLR อย่างเต็มตัว หลังจากที่ปล่อยให้ค่ายอื่นๆ (รวมไปถึง KODAK ที่ใช้เมาท์ NIKON) กินส่วนแบ่งตลาดนี้ไปนานกว่า 5 ปี การเปิดตัว D3 ด้วย CMOS เซ็นเซอร์ขนาด 36x23.9mm จึงนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่สุดก้าวหนึ่งของ NIKON ที่จะพัฒนาและแข่งขันต่อไปในตลาดกล้อง DSLR ระดับสูงสุด หลังจากที่ทำสำเร็จโดยการยึดเจ้าตลาดกล้องระดับล่างโดยการส่ง D40 และ D40x ไปครองเป็นเจ้าตลาดในญี่ปุ่นได้สำเร็จ

 CMOS ตัวนี้มีหลายคนถามว่าใครเป็นผู้ผลิต เพราะถ้าดูจากประวัติของ DSLR NIKON จะพบได้ว่าเกือบ 100% ของกล้อง NIKON ต้องพึ่งผู้ผลิตตัวรับภาพอย่าง SONY มาตลอด ยกเว้นแต่ D2H/s ที่ใช้ตัวรับภาพ LBCAST ที่ NIKON ทำการผลิตเอง อย่างไรก็ตาม ตัวรับภาพของ D3 นี้มีข่าวลือหนาหูว่าทาง NIKON เป็นผู้ผลิตเอง ซึ่งต้องรอข้อมูลที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการต่อไป แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะถ้าประสิทธิภาพกับราคาเป็นไปตามที่ตลาดต้องการ นั่นคือคำตอบที่น่าจะหามากกว่า

การขยับตัวเองจาก FOV 1.5X มาเป็นระบบ Full Frame (หรือที่ NIKON เรียกว่า FX format) นับว่าเป็นก้าวสำคัญและจะมีผลต่อการถ่ายภาพของช่างภาพอีกหลายๆคน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการถ่ายภาพในมุมกว้าง หากมองถึงหลักความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ กล้อง 35mm มักจะมีมุมหักเหของแสงที่เหมาะสมอยู่ราวๆเลนส์ 45mm ซึ่งจะทำไม่ได้ภาพไม่บวมหรือบีบมากเกินไป ดังนั้นเลนส์มุมยิ่งกว้างโอกาสที่ภาพเกิดการบิดเบือนย่อมมีสูงขึ้น อีกทั้งขนาดของเลนส์มุมกว้างก็จะเพิ่มมากขึ้นหาก ตัวอย่างเช่นหากถ่ายภาพด้วยเลนส์ 20mm สำหรับตัวรับภาพแบบ Full Frame หากต้องการภาพที่กว้างเท่าๆกันเมื่อใช้ FOV 1.5X ก็ต้องหาเลนส์ 14mm มาใช้ ซึ่งใหญ่และหนักกว่ามาก (ถ้าเป็นเลนส์ 35mm ปกติไม่ใช่ DX) อีกทั้งการบิดเบือนของภาพของเลนส์ 14mm ย่อมมีมากกว่าเลนส์ 20mm ถึงแม้จะเป็นการ crop เอาส่วนที่ต้องการตรงกลางก็ตาม

ถึงแม้ตัวรับภาพจะมีขนาดเทียบเท่ากับฟิลม์ 35mm แต่ทาง NIKON ก็ยังไม่ทิ้งเพื่อนปัจจุบันอย่างเลนส์อนุกรม DX ที่ผลิตมาเพื่อใช้กับกล้อง DSLR ที่มีตัวรับภาพ FOV 1.5X เมื่อนำเลนส์ DX มาใช้งานกับกล้อง D3 กล้องจะทำการปรับหน้าจอให้มีแถบกรอบดำครอบอัตโนมัติ โดยส่วนที่เหลือจะเท่ากับ FOV 1.5X พอดี ซึ่งฟังก์ชั่นนี้ก็เป็นไปตามคาดที่ทาง NIKON ยกเอาฟังก์ชั่น Hi Speed Cropped ของ D2Xs มาใส่กับ D3 เหมือนกับในภาพตัวอย่าง

 นอกจากนี้ NIKON ยังให้ format ที่ไม่เคยมีมาก่อนในกล้อง DSLR ของ NIKON ก็คือ format 5:4 ซึ่งเหมาะกับการนำไปพิมพ์รูปในรูปแบบ 5:4 ได้ทันที อย่างไรก็ตามการนำเอาเลนส์ DX มาใช้กับ D3 ก็จะมีโอกาสที่เห็นขอบดำของการออกแบบของเลนส์ DX ซึ่งอาจจะดูแปลกตาในระยะแรกไปบ้าง

 ISO Sensitivity : นับเป็นอีกจุดที่กลายเป็นจุดขายและจุดที่ทำให้กล้อง DSLR แตกต่างจากกล้องฟิลม์แบบสิ้นเชิง กล้อง D3 ผลิตออกมาเพื่อให้ครอบคลุมตลาดทั้งสองตลาดคือตลาดกล้องความละเอียดสูงและตลาดกล้องความเร็วสูง การมี ISO ที่ปรับได้ตั้งแต่ 100 ไปจนถึง 25,600 นับว่าเป็นนวัฒกรรมใหม่ของกล้อง DSLR ในยุคนี้เลยทีเดียว จริงอยู่ถึงแม้ ISO พื้นฐานจริงๆของ D3 จะอยู่ที่ 200-6400 (ความหมายอธิบายง่ายๆคือ ถึงแม้จะปรับไปที่ ISO100 (LO) ก็จะได้ภาพที่มีสัญญานรบกวนมากกว่าที่ ISO200 เนื่องจากไม่ใช่เป็นความไวของ CMOS จริงๆแต่เป็นปรับ pull สัญญานให้ต่ำลงกว่าปกติ เหมือนกับ ISO50 ของกล้อง EOS 1D/1Ds Mk II/III)

 การมี ISO ที่สูงถึง 25,600 ก็นับว่าเป็นสวรรค์สำหรับช่างภาพที่ต้องการความเร็วอย่างช่างภาพกีฬา หรือช่างภาพในสถาณการณ์ที่แสงน้อยๆ ถึงแม้คุณภาพของภาพจะสู้ที่ ISO ต่ำๆไม่ได้และอาจจะดูไม่สวยงาม แต่ในบางกรณีการที่ได้ภาพก็ยังดีกว่าไม่ได้ภาพเลย ตัวอย่างเช่นการถ่ายภาพข่าวเป็นต้น

 เป็นที่รู้กันดีว่าข้อด้อยของการมี ISO สูงๆก็คือสัญญานรบกวนหรือที่เรียกกันว่า noise ซึ่งมีผลทำให้ภาพขาดความคมชัดและสีสันจะถูกเก็บไม่ครบเหมือนกับถ่ายด้วย ISO ต่ำๆ NIKON D3 ได้พัฒนาในส่วนนี้ขึ้นมามาก ถึงแม้กล้องตัวที่ได้ทดลองเล่นดูจะยังไม่ใช่กล้องที่จะออกวางจำหน่าย แต่จากการที่ได้ดูภาพจากจอ LCD ขนาด 3” ที่ละเอียดที่สุดในตลาด ณ วันนี้นั้น ยอมรับเลยว่าภาพที่ ISO สูงๆของ D3 นั้นมีคุณภาพเหนือกว่ากล้องทุกตัวของ NIKON และไม่แพ้คู่แข่งไม่ว่ายี่ห้อไหนๆในระดับเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นเป็นเหมือนการปักธงอีกธงนึงของ NIKON ที่จะก้าวไปสู่การแข่งขันที่สูสีกันมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามก็ต้องรอดูผลการทดสอบจากกล้องตัวที่จะจัดจำหน่ายจริงในเดือนพฤศจิกายนนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ทาง NIKON น่าจะเปิดโอกาสให้ทดสอบและนำภาพเหล่านั้นมาแสดงราวๆหนึ่งเดือนก่อนวางจำหน่าย โดยเฉพาะจากนิตยสารในประเทศญี่ปุ่น

 SPEED with EXPEED : NIKON ไม่เคยโฆษณาหรือนำเอาหน่วยประมวลผลของการเก็บภาพ (Image Processing) ในกล้องมาเป็นจุดขาย แต่สำหรับ D3 ทาง NIKON ได้พัฒนาหน่วยประมวลผลใหม่ซึ่งเน้นเรื่องคุณภาพและความเร็วควบคู่กันไปภายใต้ชื่อว่า EXPEED  ซึ่ง D3 ยังสามารถประมวลผลภาพแบบ 14-bit ได้ ซึ่งสูงกว่า 12-bit ของ D2X/s จึงน่าจะเก็บรายละเอียดโดยเฉพาะค่าของสีในจุดต่างๆของ pixel ได้ดีขึ้น

 กล้อง D3 เป็นกล้องที่มีความเร็วสูงมาก โดยสามารถเปิดใช้งานภายในระยะเวลาแค่ 0.12 วินาที และก็ยังมี shutter lag ที่ต่ำมากเหมือนกล้องรุ่นสูงสุดที่ผ่านมาของ NIKON คืออยู่ที่ 0.37 milliseconds แต่จุดขายที่สำคัญสำหรับ D3 ก็คือการที่ทำความเร็วในการถ่ายต่อเนื่องได้ 9 เฟรมต่อวินาทีในภาพขนาด 12.1MP และขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 11 เฟรมต่อวินาทีเมื่อใช้ DX format ในภาพขนาด 5.1MP (ซึ่งขนาดภาพเล็กไปนิดเมื่อเทียบกับ 6.8MP ที่ 8 FPS ของ D2X/s)

เมื่อได้ทดสอบกล้องที่ความเร็ว 11 FPS บอกได้คำเดียวว่า “สะใจ” และน่าจะถูกใจช่างภาพที่ต้องการความเร็วสูงเช่นช่างภาพกีฬาเป็นอย่างมาก เพราะจะสร้างโอกาสที่ได้ภาพมากขึ้นอีกร่วมๆ 40% เมื่อเทียบกับ 8 FPS ในกล้อง D2

ที่มา : www.nikonianthailand.com

ส่วนภาพแกลอรี่ด้านล่างเป็นภาพที่ถ่ายจากกล้อง NIKON D3 โดยป้าชู ลองเข้าไปเยี่ยมชมฝีมือถือการถ่ายสวย ๆ ของ "ป้าชู" ได้ที่ http://sexymin.multiply.com/

"ไม่ใช้แฟลช ไม่แต่งภาพ ISO 1000-2000 วัดแสงแมนนวล แบบเฉพาะจุด ไวท์บาลานซ์ออโต้ เพี้ยนไปมั่งอย่าไปสนใจ นั่งเลือกภาพก้อตาลายแล้ว ใช้ 70-200 มม.ตัวเดียวจร้า"

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ สัมผัสแรกกับ NIKON D3 กล้องในฝัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook