ทำไมคนจึงต้องต่อต้าน SOPA, กฏหมายไทยเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากฏหมายฉบับนี้

ทำไมคนจึงต้องต่อต้าน SOPA, กฏหมายไทยเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากฏหมายฉบับนี้

ทำไมคนจึงต้องต่อต้าน SOPA, กฏหมายไทยเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากฏหมายฉบับนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทำไมคนจึงต้องต่อต้าน SOPA, กฏหมายไทยเองก็ไม่ได้ดีไปกว่ากฏหมายฉบับนี้

SOPA - ปรากฎการณ์เว็บทั่วโลกร่วมกันต่อต้านร่างกฏหมายต่อต้าน Stop Online Piracy Act ตลอดวันนี้ เว็บที่เข้าร่วม เช่น Wikipedia, Scribd, Wired หรือ EFF บทความนี้จะแนะนำว่าทำไมหน่วยงานจำนวนมากในโลกจึงต่อต้านกฏหมายฉบับนี้ และเมืองไทยเองเพิกเฉยต่อกระบวนการเหล่านี้มาอย่างไรกันบ้าง เพื่อบางทีที่เรามองเหตุการณ์ในต่างประเทศแล้วเราอาจจะมองเห็นภาพที่สังคมอินเทอร์เน็ตต่อการเซ็นเซอร์
ที่มากฏหมาย


ขอบคุณภาพประกอบจาก : gayzach.tumblr.com

ในสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ การบล็อคเว็บมีจำนวนไม่มากนัก และมักจำกัดอยู่เฉพาะคดีภาพอนาจารเด็ก เช่น ปฏิบัติการ Protect Our Children การดำเนินการทั้งหมดอาศัยการดำเนินคดีกับผู้จดทะเบียนโดเมน โดยหลังจากดำเนินคดีแล้ว จึงยื่นให้บริษัทผู้ให้บริการดำเนินการปิดโดเมนนั้นๆ ลงไป การดำเนินคดีแบบนี้จะมีผลกับทั้งโลก เพราะโดเมนนั้นๆ ถูกปิดลงไปจริงๆ

การปกป้องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอยู่ในรัฐธรรมนูญข้อแรกของสหรัฐฯ และได้รับการอ้างอิงค่อนข้างมาก ปรกติแล้วผู้ให้บริการมักไม่สามารถปิดกั้นข้อมูลได้ หากปิดก็มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้อง

กฏหมาย SOPA ถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดการเซ็นเซอร์ได้ง่ายขึ้น ผู้ให้บริการทั้งด้านอินเทอร์เน็ต และด้านการเงินสามารถหยุดให้บริการกับเว็บใดเว็บหนึ่งได้โดยไม่แม้ตัวเองไม่ใช่บริการ "ต้นทาง" ที่ผู้กระทำความผิดมาซื้อบริการ หากแต่เป็นตัวกลางที่นำข้อมูลใดๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตมาสู่ผู้ใช้

เช่นทุกวันนี้เวลาเราเชื่อมต่อสัญญาณ ADSL บริการที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ADSL (ที่เราเรียกว่า ISP) จะมีให้เสมอคือบริการ DNS ที่ใช้แปลงชื่อจากชื่อโดเมน เช่น www.blognone.com เป็นหมายเลขไอพี 203.150.228.223 ฐานข้อมูลนี้มีขนาดใหญ่ และมีการใช้งานสูงมาก ทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตถูกออกแบบให้ทุก ISP สามารถมีเซิร์ฟเวอร์ DNS ของตัวเองได้

แต่บางครั้งผู้ให้บริการจดทะเบียนโดเมนนั้นก็ไม่อยู่ในสหรัฐฯ ทำให้อำนาจศาลของสหรัฐฯ เองไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับผู้ให้บริการจดโดเมนเหล่านั้นได้ ส่วน ISP ก็ปฎิเสธที่จะดำเนินการอื่นใดเนื่องจากกฏหมายไม่รับรองอำนาจเอาไว้
ลักษณะของกฏหมาย

กฏหมาย SOPA จึงถูกเสนอเข้ามาเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ISP ที่จะสามารถปิดกั้นโดเมนบางโดเมนผ่านทางบริการ DNS ของตัวเอง ตัว SOPA เองยังเพิ่มฐานความผิดขึ้นเป็นวงกว้าง มันกำหนดภาระหน้าที่ให้เว็บไซต์ต่างๆ ต้องถอดลิงก์จากเว็บที่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นเว็บสนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา, บริการที่สร้างรายได้ใดๆ ไม่สามารถทำธุรกรรมกับเว็บเหล่านั้น, บริการทางการเงินต้องหยุดให้บริการ, และ ISP ต้องปิดกั้นเว็บ

นอกจากการกำหนดภาระให้กับหน่วยงานต่างๆ SOPA ยังเปิดให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถพิจารณาปิดเว็บที่เข้าข่ายความผิดของ SOPA โดยที่ผู้เสียหายไม่ต้องดำเนินการทางกฏหมายกับเจ้าของเว็บไซต์เหล่านั้น

เว็บที่ SOPA มุ่งเอาผิดนั้นมีความหมายกว้างมาก คือ เว็บที่สร้างขึ้นหรือถูกใช้งานเพื่อ สนับสนุน, กระตุ้น, หรืออำนวยความสะดวกให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ การกำหนดความหมายในวงกว้างเช่นนี้แทบจะทำให้เว็บใดๆ ที่เปิดให้มีการโพสอย่างอิสระ หรือเว็บที่สร้างเนื้อหาจากผู้ใช้ทั้งหลาย สามารถเข้าข่ายความผิดของ SOPA ได้ในทันที รวมถึงเครื่องมือที่ใช้สำหรับการหลบเลี่ยงการบล็อคต่างๆ ก็อาจจะถูกฟ้องในฐานะเครื่องมือที่ช่วยทำผิดกฎหมายได้
ผลที่จะเกิดขึ้น

ผลกระทบที่ตามมาจาก SOPA นั้นจะทำให้ภาระต้นทุนของเว็บเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากเพราะต้องคัดกรองลิงก์ไม่ให้ไปลิงก์ไปยังเว็บใดๆ ที่ SOPA กำหนด, รวมถึงต้องระวังไม่ให้เว็บของตนเองถูกใช้ในทางใดๆ ที่อาจจะเข้าข่ายความผิดของ SOPA เสียเอง

บริการด้านเทคนิคหลายอย่างอาจจะถูกทำให้เป็นบริการผิดกฏหมาย แม้แต่บริการพื้นฐานเช่น DNSSEC ที่ทั่วโลกกำลังอัพเกรด (1, 2) กลับกลายเป็นบริการผิดกฏหมายไป เพราะในบริการ DNSSEC เมื่อผู้ให้บริการขั้นต้นพยายามปลอมแปลงข้อมูลในการตอบ DNS ผู้ร้องขอ DNS จะร้องขอไปยังเซิร์ฟเวอร์ลำดับถัดๆ ไปโดยอัตโนมัติ จนกว่าจะได้ค่าที่ถูกต้อง ผู้ให้บริการรายใดที่ตอบ DNS ที่ถูกต้องจะกลายเป็นการอำนวยความสะดวกให้เกิดการหลีกเลี่ยงการบล็อคเว็บตามรายการของ SOPA ทันที

ในเชิงสังคมแล้ว SOPA ไม่ได้สร้างโครงสร้างการตรวจสอบอำนาจที่กฏหมายได้ให้ไว้แต่อย่างใด เจ้าของลิขสิทธิ์อาจจะสั่งการโดยตรงไปยังผู้ให้บริการใดๆ โดยไม่มีบันทึกอย่างเป็นทางการ จนกว่าผู้ให้บริการจะขัดขืนไม่ทำตามและเกิดเป็นคดี
ไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

ขณะที่ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับ SOPA น่าแปลกใจที่ประเทศไทยอยู่กับกฏหมายที่ให้อำนาจระดับใกล้เคียงกันมาแล้วหลายปี นับแต่ก่อนพรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยเริ่มบล็อคเว็บเช่น torproject.org ในช่วงเดือนเมษายน 2549 จนถึงการบล็อคเว็บใหญ่ๆ เช่น YouTube และ CNN.com ในช่วงการใช้ประกาศคปค. ฉบับที่ 5

ตัวพรบ.คอมพิวเตอร์เองมีการกำหนดแนวทางการบล็อคเอาไว้เป็นแนวกว้างโดยไม่กำหนดถึงกระบวนการในโลกความเป็นจริงแต่อย่างใด โดยกำหนดไว้เพียงว่าให้ "ระงับการทำให้แพร่หลาย" ตามมาตรา 20 ทำให้ไม่แน่ชัดว่าผู้ให้บริการต่างๆ มีความรับผิดชอบในระดับไหน เราจึงได้เห็นการบล็อคแบบแปลกๆ เช่นการบล็อกจาก URL หรือการบล็อคจาก IP ที่บางครั้งทำให้บริการจำนวนมากที่อยู่บนหมายเลขไอพีเดียวกันใช้งานไม่ได้ไปด้วย จนถึงความเป็นไปได้อื่นๆ เช่นการสร้างหน่วยงานโจมตีโต้ตอบเพื่อ "ระงับ" เว็บเหล่านั้น แนวทางของเว็บที่ถูกบล็อคได้นั้นถูกกำหนดไว้กว้างๆ คือ เว็บที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคง, ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

แม้พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ นั้นจะมีมาตรา 10 ที่ห้ามไม่ให้มีการระงับการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ว่ามีความผิด แต่ในทางปฎิบัติแล้ว กระทรวงไอซีทีเสียเองกลับเลือกที่จะกดดันให้ด้วยการขอความร่วมมือให้ ISP ต่างๆ บล็อคและป้องกันเว็บไซต์ที่อาจผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ กระบวนการขอความร่วมมือเช่นนี้ทำให้ไม่มีการตรวจสอบว่าการปิดเว็บโดยไม่ผ่านกระบวนการนั้นมีเหตุผลเป็นเช่นใด และมีจำนวนมากน้อยเพียงใด การคานอำนาจและการตรวจสอบในทุกวันนี้จึงยังคงเป็นเรื่องต้องตั้งคำถามจากพรบ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปัจจุบัน

ในแง่ของการลิงก์นายอนุดิษฐ์ นาครทรรพเองก็เคยให้ข่าวกับต่างประเทศว่าการกด Share/Like แม้จะเป็นชาวต่างชาติและกระทำในต่างประเทศก็จะถูกดำเนินคดีหากเดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมถึงการตีความว่าการเข้าไปยังเว็บที่ถูกบล็อคไว้ก็เป็น Unauthorized Access ที่มีความผิดตามมาตรา 7

ความตื่นตัวกับ SOPA ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างมวลชนกับสส. ที่กำลังผ่านร่างกฏหมาย อาจจะชวนให้ตั้งคำถามถึงการตระหนักรู้ในสิทธิประชาชนต่อกระบวนการทางกฏหมายว่าในประเทศประชาธิปไตยนั้นการผ่านกฏหมายที่มีผลกระทบเช่นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก และกดดันผ่านเสียงประชาชนไปยังเหล่าผู้แทนอย่างไร
ผลต่อจากนี้

เรื่องน่าสนใจคือทางด้านทำเนียบขาวได้ออกมาตอบข้อเรียกร้องของประชาชนผ่าน Whitehouse.gov แล้วว่าทางทำเนียบขาวไม่เห็นด้วยต่อการเข้าไปทำลายระบบ DNSSEC และการออกกฏหมายเพื่อลดการละเมิดลิขสิทธิ์ต้องมีทางออกที่ดีกว่านี้ หากทำเนียบขาวทำตามประกาศนี้จริง แม้ SOPA จะผ่านสภาขึ้นมาได้ ประธานาธิบดีก็มีสิทธิ์วีโต้กฏหมายให้ตกไปได้ทันที

พร้อมๆ กับการหยุดกฏหมาย SOPA (และ PIPA ที่มีเนื้อความคล้ายกัน) สส. อีกกลุ่มหนึ่งก็พยายามหาทางออกร่วมกันกับโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการเสนอร่างกฏหมาย OPEN โดยตอนนี้ร่างกฏหมายนี้กำลังอยู่ระหว่างการฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อเสนอแก้ไขก่อนผลักดันเข้าสู่สภา

เว็บที่ต่อต้าน SOPA มาตลอดอย่างกูเกิลก็เริ่มเปิดรับลงชื่อเพื่อร่วมต่อต้าน SOPA แต่ก็ยังมีความไม่แน่ชัดของสภาผู้แทนของสหรัฐฯ ว่าจะเจรจากันได้หรือไม่จากข่าวว่าวิปเสียงข้างมากอาจจะคว่ำร่างกฏหมายนี้ทิ้ง

 

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
By:

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook