ซื้อโน้ตบุ๊กมือสองแจ่ม ๆ สักเครื่องควรระวังสักนิดจะได้ไม่เสียใจ

ซื้อโน้ตบุ๊กมือสองแจ่ม ๆ สักเครื่องควรระวังสักนิดจะได้ไม่เสียใจ

ซื้อโน้ตบุ๊กมือสองแจ่ม ๆ สักเครื่องควรระวังสักนิดจะได้ไม่เสียใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซื้อโน้ตบุ๊กมือสองแจ่ม ๆ สักเครื่องควรระวังสักนิดจะได้ไม่เสียใจ

ปัจจุบันแม้โน้ตบุ๊กจะมีราคาถูกลง แต่สำหรับหลาย ๆ ท่านที่เพิ่งตั้งตัว หรือต้องการซื้อให้ลูกหลานที่ไม่ต้องการสเปกใหม่มาก ราคาถูกสุด ๆ

การซื้อโน้ตบุ๊กมือสองก็เป็นอีกทางเลือกที่ไม่เลวเลย เพราะว่าบางรุ่นสเปกเก่าหน่อยแต่ก็ยังถือว่าแรง แถมยังได้ราคาถูกกว่าเห็น ๆ แต่แน่นอนว่าโน้ตบุ๊กมือสองนั้นเป็นโน้ตบุ๊กที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว จึงอาจจะมีปัญหาได้ เพราะว่ามันไม่ใช่เครื่องมือหนึ่งเปิดซิง เจอคนขายที่ดีก็ดีไป จริงใจบอกหมดว่ามีไม่มีปัญหาอย่างไร แต่พวกที่ย้อมแมวขายก็มีอยู่ไม่น้อย ประมาณว่าเครื่องมีปัญหาเลยรีบขายก่อนจะขายไม่ได้ ทีมงานจึงมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อเครื่องมาให้ชมกันครับ (ส่วนการเช็กเครื่องนั้นสามารถใช้บทความนี้ได้เลยครับ)

แบบที่ 1 ซื้อตามร้านขายของมือสองตามห้างไอที แบบนี้เหมาะกับผู้ที่อาจไม่มีประสบการณ์มากนัก แต่สนใจเครื่องมือสองก็จะมีร้านขายโน้ตบุ๊กมือสองอยู่ตามห้าง IT ทั่วไป เช่น พันธุ์ทิพย์ เซียร์

จุดเด่น

  • ร้านตั้งเป็นหลักแหล่งหาง่าย
  • มีการรับประกันจากทางร้านเอง
  • มีหลายรุ่นให้เลือก

ข้อเสีย

  • ราคาสูงกว่าซื้อตรงจากคนขายเอง
  • บางร้านก็ถอดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์บางอย่าง เช่น ลดสเปกฮาร์ดดิสก์หรือแรม

 

แบบที่ 2 ซื้อตรงจากคนขายที่ประกาศขายตามเว็บบอร์ด แบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีประสบการณ์เล็กน้อย เพราะเราต้องเช็กเองหมด แต่ก็จะทำให้เราสามารถหารุ่นที่ต้องการได้ พร้อมกับเทียบราคากับรุ่นอื่น ๆ

จุดเด่น

  • ได้รุ่นที่ต้องการในราคาถูกกว่าซื้อร้าน
  • ไม่เสียเวลาเดินทางไปห้างต่าง ๆ สามารถนัดเจอได้ตามสะดวก
  • โอกาสต่อรองราคาได้สูง

ข้อเสีย

  • ถ้าเครื่องมีปัญหาโอกาสตามหาคนขายมารับผิดชอบได้ยาก
  • เช็กเครื่องได้ไม่สะดวกครอบคลุมเท่าที่ร้าน

แต่ไม่ว่าจะซื้อจากแบบไหน ข้อสังเกตก็คล้าย ๆ กันเพื่อความมั่นใจก่อนจ่ายเงิน

  1. ก่อนซื้อขายลองนำ ชื่อ เบอร์โทรคนขายไปค้นหาข้อมูลจาก Google ว่าเคยมีปัญหาการซื้อขายไหม หรือดูจากประวัติของ user นั้น ๆ ว่าเคยซื้อขายเป็นอย่างไรบ้าง
  2. พยายามดูเครื่องที่มีการรับประกันจากศูนย์ของแบรนด์นั้น ๆ อย่างน้อย 2-3 เดือนเพื่อความอุ่นใจ พร้อมหลักฐานการรับประกันตามเวลานั้น ๆจริง เช่น ใบเสร็จ หรือภาพเซฟจากหน้าเว็บ
  3. ถ้าเครื่องหมดประกันแล้วต้องมีการรับประกันจากคนขายเอง 14–30 วัน ถ้าเป็นร้านก็ควรจะมีหลักฐานการซื้อขายเก็บไว้ แต่ถ้าเป็นการซื้อกันเอง อย่างน้อยก็ควรจะมีหลักฐานเป็น SMS หรือ Email
  4. ตอนซื้อควรจะมีเพื่อนที่ชำนาญการซื้อเครื่องหรือเรื่องคอมพิวเตอร์ไป ด้วยเพื่อช่วยกันเช็กเครื่อง เพราะถ้าจ่ายเงินไปแล้ว แม้จะมีการรับประกัน โอกาสได้เงินคืนก็น้อยมาก เอาชัวร์ดีกว่า
  5. อย่าลืมโปรแกรมเช็กเครื่องเด็ดขาดไม่ว่าจะเช็กจุดบอดที่จอภาพ หรือสเปกเครื่องโดยเฉพาะแรมและฮาร์ดดิสก์ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ง่าย
  6. ไฟฉาย เพื่อนำไปส่องตามพอร์ตว่ามีคราบตะกรันหรือสนิมหรือไม่ ตามน็อตว่าเครื่องเคยเปิดหรือซ่อมมานานแค่ไหน ข้อต่อต่าง ๆ มีการแตกหักหรือไม่
  7. เก็บหลักฐานการซื้อขายไว้ไม่ว่าจะ PM Mail หรือ SMS ไว้ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม หรือถ้ามีปัญหาจะได้มีหลักฐานในการเอาผิดครับ

แบบโอนเงินส่งพัสดุ

อีกส่วนที่ผมอยากแนะนำเลย คือ ผู้ที่ซื้อแบบโอนเงินส่งพัสดุ ผมแนะนำว่าให้ซื้อขายกับคนที่ชัวร์ มั่นใจได้จริง ๆ เช่น มีระบบการันตีจากเว็บนั้น ๆ หรือเครดิตดีซื้อขายในเว็บนี้มานานไม่เคยมีปัญหา เพราะว่าเราไม่ได้เจอตัว ไม่ได้เช็กเครื่อง โดยเฉพาะโอนเงินก่อนนี่ยิ่งอันตรายเลยนะครับ ถ้าให้ดีน่าจะมีเพื่อน ญาติ หรือคนรู้จักเช็กเครื่่องให้จะดีกว่านะครับ อาจจะเสียค่าน้ำร้อนน้ำชาให้หน่อย แต่ก็เพื่อความสบายใจ หรือสำหรับที่เป็นแบบเก็บเงินปลายทางนั้น ก็แนะนำว่าให้แกะของเช็กต่อหน้าไปรษณีย์หรือบริษัทที่มาส่ง เพื่อจะได้เป็นพยานครับว่าได้ของที่สั่งถูกต้องหรือไม่ หรือถ้าของหายไปจะได้รู้ และเราจะได้ไม่เสียเงินนะครับ

สุดท้ายแล้วสำหรับมือใหม่ที่ซื้อโน้ตบุ๊กเครื่องแรกเลย ผมก็ยังแนะนำให้ซื้อเครื่องมือหนึ่งดีกว่าครับ เพราะสบายใจและชัวร์กว่าครับว่าจะได้รับการรับประกันและเครื่องที่ใหม่ซิ งจริง หรือถ้าเครื่องมีปัญหาก็ยังสามารถเคลมหรือเปลี่ยนได้ตามระบบ ไม่ต้องมานั่งเสียใจว่าซื้อเครื่องมือสองแล้วมีปัญหาครับ

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ : notebookspec.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook