มินิรีวิว Samsung Series 7 CHRONOS

มินิรีวิว Samsung Series 7 CHRONOS

มินิรีวิว Samsung Series 7 CHRONOS
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มินิรีวิว Samsung Series 7 CHRONOS

ซัมซุงส่งโน้ตบุ๊ก Samsung Series 7 CHRONOS มาให้ผมลองเล่น (อ้างอิงข่าวเก่า Samsung Series 7 CHRONOS โน้ตบุ๊กสายบางเบาหน้าจอ 14" และ 15") ก็ขอเขียนถึงสั้นๆ เป็นมินิรีวิวละกันนะครับ

Series 7 เป็นโน้ตบุ๊กขนาดมาตรฐาน (14-15 นิ้ว) รุ่นท็อปของซัมซุง ในแง่การทำตลาดคงเป็นรองแค่ Series 9 ที่เป็นสาย 13 นิ้วบางเบาเท่านั้น (รีวิว Series 9) ถ้าเทียบกับคู่แข่งก็คงเป็น MacBook Pro หรือว่า HP Envy นั่นเอง


 

สเปก Samsung Series 7

ตัวที่ได้มาเป็นรุ่นหน้าจอ 15 นิ้ว (ความละเอียดหน้าจอเท่ากันที่ 1600x900 สัดส่วน 16:9) แต่ซัมซุงโฆษณาว่าอยู่ในบอดี้ขนาด 14 นิ้ว

  •     ซีพียู Intel Core i5 2430M 2.40GHz ดูอัลคอร์
  •     แรม 8GB
  •     ฮาร์ดดิสก์ 720GB เป็น Hitachi
  •     ไดร์ฟ DVD Super Multi ในตัว
  •     หน้าจอ 15 นิ้ว ความสว่าง 300nit จอ Anti-reflective
  •     การ์ดจอ AMD Radeon 6750M
  •     Windows 7 Home Premium 64 บิต
  •     น้ำหนักตามสเปกบอกว่า 2.3 กิโลกรัม


รูปลักษณ์ภายนอก


รูปทรงของ Samsung Series 7 ค่อนข้างออกไปในทางยาว ใช้วัสดุเป็นโลหะสีเงินเข้ม (แบบเดียวกับ Series 9) ฝาปิดด้านนอกไม่มีอะไรนอกจากโลโก้ซัมซุง ส่วนพลาสติกที่เห็นนั้นผมไม่ได้ลอกออกครับ

ถ้าเทียบกับโน้ตบุ๊กตระกูล ultrabook ตัวเครื่องคงไม่สามารถเรียกได้ว่าบาง แต่ถ้าพิจารณาเทียบกับโน้ตบุ๊กสาย workstation ก็ถือว่าบางพอตัว โดยเฉพาะเมื่อคิดว่ามันใส่ optical drive เข้ามาด้วย

จุดขายสำคัญในแง่การออกแบบอยู่ที่ "ขอบจอ" ที่บางมาก ทำให้ยัดจอขนาด 15.6" ลงมาในบอดี้ขนาดเล็กกว่าได้

จอภาพเป็นจอแบบ anti-glare ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน (เยี่ยม!) ส่วนเรื่องความสว่างที่เป็นจุดขายอีกประการ ผมยังเฉยๆ คือไม่ถึงกับสว่างมากจนโดดเด่นนัก แต่ก็ใช้งานได้ดี

พอร์ตเชื่อมต่อ

อันนี้คงดูกันเองได้ไม่ยากนะครับ ฝั่งซ้ายมี HDMI, LAN (ต้องกางพอร์ตออกเพื่อเสียบ), USB 3.0 x2, VGA (มีตัวแปลงมาให้), หูฟัง/ไมโครโฟน

ฝั่งขวาเป็น optical drive และ USB 2.0 x1

ด้านหน้าฝั่งซ้ายมือ เป็นช่องเสียบ SD card


คีย์บอร์ด

คีย์บอร์ดเป็นแบบชิคเล็ตตามสมัยนิยม สกรีนภาษาไทยมาเรียบร้อย ตัวปุ่มมี backlight ทำงานในที่มืดได้ และมีปุ่ม function สำหรับงานเฉพาะกิจต่างๆ

ส่วนของคีย์ตัวอักษรคงไม่ต่างกันมาก แต่ปุ่มเสริมอื่นๆ ก็มีขนาดใหญ่พอสมควร ปุ่มลูกศรไม่กั๊กขนาด

การใช้งานทั่วไปพิมพ์ได้โอเคครับ เพียงแต่ขอบของที่วางมือค่อนข้างคมไปหน่อย (แต่คมน้อยกว่า MacBook Air) วางมือแล้วอาจจะเสียดสีและแสบนิดหน่อยได้

ทัชแพด

ทัชแพดเป็นแบบไม่แยกปุ่ม และคลิกลงไปทั้งอัน (ตามสไตล์แอปเปิล) ขนาดใหญ่ไม่หวงเนื้อที่

แต่จากการลองใช้ ผมพบว่าเป็นทัชแพดที่แย่มากอันหนึ่งเท่าที่เคยใช้มาเลยครับ (แย่ที่สุดคือ Chromebook Cr-48)

  •     การแตะเพื่อคลิก (tap to click) ไวมาก แยกแยะการแตะเพื่อลากนิ้วและการแตะเพื่อคลิกจริงๆ ได้ยาก ทำให้คลิกผิดบ่อยมาก (ต้องปิดความสามารถนี้ทิ้ง)
  •     ปุ่มคลิกขวาไม่ค่อยแม่น มักจะเลื่อนโฟกัสประจำ
  •     รองรับ gesture แบบหลายนิ้ว แต่การ scroll แบบสองนิ้ว (ที่น่าจะใช้กันบ่อยที่สุด) กลับไม่สามารถลากต่อเนื่องได้ ต้องยกนิ้วขึ้นก่อนแล้วกดลงไปใหม่ ถึงจะลากต่อเนื่องได้

ปัญหาพวกนี้คงแก้ได้ด้วยไดรเวอร์ แต่ถ้าเอาค่าตั้งต้นตามที่ให้มาด้วย ถือว่าแย่พอสมควร

ซอฟต์แวร์

ซัมซุงให้โปรแกรม Easy Settings ที่สามารถเข้าถึงได้โดยกด Fn+F1 ก็อำนวยความสะดวกได้พอสมควร

ส่วนของปุ่ม Function อื่นๆ ที่เป็น on-screen display เช่น เพิ่ม-ลดเสียงหรือความสว่าง ก็ทำได้สวยงาม

โปรแกรมอื่นๆ ที่ให้มาด้วยคือ Norton Internet Security, Skype, CyberLink Media Suite, เกมจาก WildTangent อีกจำนวนหนึ่ง ส่วนโปรแกรมของซัมซุงเองก็มีหลายตัว ที่น่าสนใจคือมี Kies มาให้ด้วย

โปรแกรมที่ขึ้นมาเตือนจนสร้างความรำคาญมีสองตัวคือ Samsung Recovery Solution และ Norton Internet Suite อันนี้คงถือได้ว่าเป็น bloatware ที่มากับเครื่อง และยังเป็นปัญหาเรื้อรังของคอมพิวเตอร์สายพีซีตลอดมา
ประสิทธิภาพ

ผมไม่ได้รันเบนช์มาร์คทดสอบจริงจัง ดูคะแนนคร่าวๆ จาก Windows Experience Index กันเองดีกว่า

แบตเตอรี่ก็ไม่ได้ทดสอบจริงจัง จากตัวเลขประมาณการณ์ของ Windows 7 เปิดความสว่างสูงสุด, เปิด Wi-Fi, เลือก power profile เป็น High Performance อยู่ได้ประมาณ 4 ชั่วโมงนิดๆ

สรุป

Samsung Series 7
เป็นโน้ตบุ๊กขนาดใหญ่สำหรับงาน workstation ที่ดีเกือบทุกอย่าง ยกเว้นทัชแพดที่แย่เอามากๆ

ข้อดี

  •     จอ anti-glare ความสว่างสูง
  •     ประสิทธิภาพสูง แบตเตอรี่ใช้ได้นานพอสมควร
  •     งานประกอบดี หนักแน่น
  •     คีย์บอร์ดมี backlight

ข้อเสีย

  •     ทัชแพดแย่มาก
  •     หนักไปหน่อยถ้าเทียบกับมาตรฐานโน้ตบุ๊กในปัจจุบัน ไม่เหมาะกับงาน mobility เท่าไรนัก
  •     bloatware มากับเครื่อง สร้างความรำคาญประมาณหนึ่ง

ราคาขายอย่างเป็นทางการในไทยอยู่ที่ประมาณ 40,000 บาท

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: mk

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook